ดักฟังแค่ #metadata น่าจะโอเคไหม?

2013.07.07 02:22

“ดูแค่ว่าส่งจากไหนไปไหน ไม่ได้ดูเนื้อหาเสียหน่อย ไม่รู้อะไรหรอก”

หนึ่งในข้อถกเถียงที่ถูกยกขึ้นมาคุยกันใหม่อีกรอบหลังเหตุการณ์เปิดโปงโครงการดักฟัง ‎#PRISM ของสหรัฐอเมริกา ก็คือ การดักฟัง “เมทาดาตา” (metadata) นั้น ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?

“เมทาดาตา” คืออะไร? ว่ากันสั้นๆ มันคือ “ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูล” (data about data)

ตัวอย่างใกล้ๆ ตัวเช่น ถ้าเรามีไฟล์รูปถ่ายอยู่รูปหนึ่ง ตัวข้อมูล (data) ก็คือรูปถ่าย ที่เรามองเห็นเป็นภาพ ส่วนเมทาดาตาก็คือ ไฟล์นี้ขนาดกี่ MB กว้างxยาวกี่พิกเซล เป็นไฟล์ชนิดไหน (jpg, png, gif ฯลฯ) ถ่ายวันไหน แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ใครเป็นคนถ่าย ฯลฯ

ใน Windows ถ้าเราลองคลิกขวาที่ไฟล์แล้วเลือก “Properties” สิ่งที่เราเห็น ก็คือ metadata ของไฟล์นั้นนั่นเอง (ใน Mac เลือก Get Info)

อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ metadata แนะนำลิงก์นี้ครับ A Guardian guide to your metadata โดยหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน

อดีตหัวหน้าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ Michael Hayde ให้สัมภาษณ์ว่า การเก็บเมทาดาตาของการโทรศัพท์ (เราโทรไปหาใคร ใครโทรมาหาเรา เมื่อใด คุยกันนานแค่ไหน) นั้นถูกกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

MIT Media Lab มีของเล่นมาให้เล่น วาดภาพ visualize ให้เห็นว่า ลำพังเมทาดาตาของการส่งอีเมล (ใครส่งหาเรา เราส่งหาใคร เมื่อใด) นั้น บอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราไม่ได้เลยจริงๆ รึเปล่า ?

ไปที่ลิงก์นี้ https://immersion.media.mit.edu/ และคลิก “Login securely via Gmail” (ตอนนี้ใช้ได้เฉพาะ Gmail) ตกลงให้โปรแกรมดึงข้อมูล metadata ของเราจาก Gmail แล้วเข้าคิวสักสองสามนาที รอให้โปรแกรมมันวาดกราฟการส่งอีเมลของเราทั้งหมด

ทันทีที่เห็นภาพ เราจะตอบคำถามดังกล่าวด้วยตัวเองได้ทันที ว่าเมทาดาตานั้น ควรจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่

visualization of e-mail metadata

ภาพนี้เป็นการคุยอีเมลของแอดมิน ช่วงปี 2005-2007 โดยเอาป้ายชื่อออก ไม่ให้เห็นว่าคุยกับใครบ้าง (เราเลือกในโปรแกรมได้) แต่ก็จะยังเห็นว่ามีการจับกลุ่มกี่กลุ่ม คุยกับกลุ่มไหนมากน้อยแค่ไหน เชื่อมโยงกันยังไง และถ้าลองเลื่อนเวลาให้โปรแกรมมันวาดภาพของปีต่างๆ เทียบกัน เราจะเห็นเลยว่า ชีวิตเราเคลื่อนจากคนกลุ่มนึงไปอีกกลุ่มนึงช่วงไหน ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็พอจะบอกได้ว่า ตอนนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่

***** เล่นเสร็จอย่าลืมกด log out & delete เพื่อสั่งให้โปรแกรม Immersion ลบข้อมูลของเราที่มันดูดๆ ไปทั้งหมด แล้วไป revoke access ของโปรแกรม Immersion ใน Google เพื่อให้โปรแกรมนี้มาดูดข้อมูลเราไม่ได้อีกจนกว่าเราจะอนุญาตมันอีกครั้ง *****

*** ก่อนเล่นแอพพวกนี้ ที่มันจะดูดข้อมูลเราไปทำนั่นนี่ เช็คที่มาของแอพก่อนนะครับ บางแอพอาจจะเอาข้อมูลเราไปทำอย่างอื่นต่อ โดยไม่บอกเรา ที่แชร์แอพนี้เพราะที่มาคือ MIT Media Lab ที่คิดว่าน่าจะเชื่อใจได้ครับ ***

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: