2013.05.31 14:47
สรุปความจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในรายงานประจำปีเครือข่ายพลเมืองเน็ต ปี 2555
ความวุ่นวายทางการเมืองที่ลดลงทำให้กระแสการเมืองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เคยร้อนแรงในปี 2554 แผ่วลงไปมากในปี 2555 และถูกแทนที่ด้วยกระแสการล้อเลียนเสียดสี (parody) ที่เริ่มแรกเป็นเพียงกระแสอยู่ในกลุ่มเสรีนิยมหรือกลุ่มต่อต้านชนชั้นนำเก่า (anti-establishment) กลุ่มเล็กๆ อย่างแฟนเพจ กูkult, เคนจิโร และศาสดา ซึ่งเน้นล้อเลียนเสียดสีประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก แต่ตอนหลังก็ได้ขยายวงกว้างจนกลายเป็นกระแสหลักบนเฟซบุ๊ก ในปี 2555
แม้การล้อเลียนที่เกิดใหม่ในปีนี้ จะมีความแหลมคมน้อยลงเมื่อเทียบกับของการล้อเลียนของกลุ่มเดิม แต่กลับปรากฏสีสันและกลิ่นอายของวัฒนธรรมร่วมสมัยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ถูกล้อก็ขยายจากวงการเมืองสู่เรื่องอื่นๆ มากขึ้น เช่น ล้อเลียนนักการเมือง ศาสนา หนัง ละคร โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับภาษาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ซึ่งมักมีต้นตอมาจากความขัดแย้งด้านภาษา ระหว่าง ‘ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต’ ที่มักใช้ศัพท์ใหม่ๆ และสะกดคำไม่ตรงตามพจนานุกรม กับ ‘ผู้ใหญ่’ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ที่มองว่าการกระทำดังกล่าวทำให้ภาษาไทยวิบัติ ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดการสร้างแฟนเพจเสียดสีล้อเลียนภาษาไทยกันยกใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวถึงการล้อเลียนภาษาไทยเหล่านี้ไว้ในบทความ แบบเกรียนภาษา ว่า “การตื่นตัวกับภาษาไม่เพียงเป็นภาษาพูด แต่คนในเฟซบุ๊กตื่นตัวกับภาษาเขียน ทุกเพจที่โด่งดังขึ้นมาล้วนใช้ภาษาเขียน เกี่ยวพันกับภาษาเขียน เล่นกับภาษาเขียน“
เพจเฟซบุ๊กประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย (สมาคมนิยมสก๊อย) ที่เอาภาษาและการสะกดคำของกลุ่มวัยรุ่นบนอินเทอร์เน็ตมาทำจนสุดโต่ง เรียกว่า ภาษาสก๊อย และเพจ ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์ ที่นำเอาประโยค วลี ต่างๆ ที่คุ้นหูในวัฒนธรรมสมัยนี้มาแปลงเป็นภาษาโบราณ รวมทั้ง พจนานุเกรียน ที่เป็นพจนานุกรมออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้เสนอคำศัพท์และความหมายเอง ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมคำ ตำย่อ และวลีที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การล้อเลียนตำราเรียนภาษาไทยมานี มานะ เพื่อเสียดสีอุดมการณ์ชาตินิยม (ดังตัวอย่าง รูป 1)
ขณะที่ โหดสัส (ต่อมาย้ายเพจไปเป็น โหดสัส V2) เป็นอีกหนึ่งเพจล้อเลียนที่น่าสนใจ โดยที่แอดมินเพจบอกว่า ต้องการจะกระทบกระเทียบสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่พยายามเสนอตัวว่าเต็มไปด้วย ‘ความดีงาม’ ทั้งที่จริงๆ แล้วสังคมไทยก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี เช่นเดียวกับ ภาพอุจจาระ และอวัยวะเพศ การร่วมประเวณี ที่เพจโหดสัสโพสต์บ่อยๆ ก็เป็นการอยากทำให้คนเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคน “ดี” งามอย่างไร ก็ยังคงมีสามสิ่งนี้อยู่
อีกเพจหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่า เล่นกับภาษา ในลักษณะข้อความ การอ้างอิงข้อความ หรือ โควท คือ มิตรสหายท่าหนึ่ง ซึ่งมาในทั้งรูปแบบ เพจเฟซบุ๊ก และมีมอินเทอร์เน็ต มีมมิตรสหายท่านหนึ่งเริ่มปรากฏอยู่ในทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ประมาณกลางปี 2556 ทั้งในรูปของ การโควทแล้วให้เครดิตเป็นของ “มิตรสหายท่านหนึ่ง” เพื่อเป็นที่รู้กันว่า โควทๆ นี้สามารถนำไปโควทต่อได้เลยทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือให้เครดิต หรือเลือกจะให้เครดิต และผ่านทางเพจ “มิตรสหายท่านหนึ่ง” ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นที่ๆ รวบรวมโควทตั้งแต่ 1 ประโยคไปจนถึงหลายย่อหน้า จากหลากหลายบุคคลอีกที
Tags: Facebook, language, meme, Netizen Report, online culture, parody, social media, Thailand, Twitter