2013.01.11 12:01
ผู้อ่านหลายท่านคงยังจำกันได้ว่า ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในปี 2552 (ซึ่งน่าเศร้าที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่รายงานว่าเป็นข่าวสำคัญ)
คือกรณีที่ทางการจับกุมผู้ต้องหา 4-5 ราย ในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”)
การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวลือว่าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรุดหนักลง ข่าวลือดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกตื่น นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 คนที่ตกใจกว่าใครคือนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขายหุ้นออกมามากที่สุดในรอบหนึ่งปี กดให้ดัชนีตลาดหุ้นระหว่างวันตกลงไปกว่าร้อยละ 4.3 ก่อนจะขึ้นมาปิดตลาดที่ 731.47 ลดลงร้อยละ 2 ต่ำสุดในรอบสองปี
ถึงแม้สื่อกระแสหลักไทยจะไม่ทำข่าวนี้ (ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะกลัวโดนด่าหรือกลัวว่าใครจะไปแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่ข่าวลือดังกล่าวเป็นข่าวลือจริงๆ ส่งผลให้หุ้นตกจริงๆ และลำพังการรายงานว่าหุ้นตกเพราะข่าวลือก็ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ ต่อให้ขึ้นศาลก็น่าจะชนะ) สื่อต่างประเทศหลายค่ายก็ทำข่าว เพราะหุ้นตกขนาดนี้ไม่ได้เห็นบ่อยนัก
Bloomberg สำนักข่าวการเงินชื่อดังของสหรัฐ ลงข่าวพาดหัวว่า “Thai Stocks, Baht Slump on King’s Health Speculation” ยืนยันว่าตลาดหุ้นไทยตกเพราะข่าวลือดังกล่าว เนื้อข่าวนี้ระบุด้วยว่า Bloomberg ได้สอบถามไปยังสำนักพระราชวัง แต่เจ้าหน้าที่สำนักฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
พอไม่มีใครออกมาชี้แจงข่าวลือ ตลาดหุ้นวันต่อมาคือ 15 ตุลาคม 2552 ก็ร่วงต่อ ปิดตลาดที่ 692.72 จุด ติดลบถึงร้อยละ 5.30
หลังจากหุ้นตกถล่มทลายก็มีบางกระแสข่าวบอกว่า มีคนจงใจ “ปล่อยข่าวอัปมงคล” เพื่อทุบหุ้นทำกำไร เช่น นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักลงทุนและนักธุรกิจชื่อดัง ระบุว่า “มีการเจตนาทำของกลุ่มโบรกเกอร์สัญชาติสิงคโปร์แต่ชื่อจีน ร่วมกับพวกจ้องล้มล้างสถาบัน” โดยชอร์ตสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX หลายพันสัญญา ก่อนไปปล่อยข่าวลวงที่สิงคโปร์ ผ่านมายังเมืองไทย
หลังจากนั้นก็มีข่าวว่า ก.ล.ต. เริ่มสอบสวนกรณีปั่นหุ้น แต่เวลาผ่านไป 3 ปีกว่า การสอบสวนเรื่องนี้กลับเงียบหายไปกับสายลม แต่
วันที่ 25 ธันวาคม 2555 ศาลอาญาพิพากษาคดี นายคธา ปาจริยพงษ์ อายุ 35 ปี พนักงานการตลาดบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง หนึ่งในผู้ต้องหา 4-5 คนที่กล่าวถึงข้างต้น ในข้อหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน” หรือมาตรา 14 (2) ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ”) โดยตัดสินจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษเหลือจำคุก 4 ปี
ข่าวผู้จัดการออนไลน์ สรุปใจความของคำพิพากษาว่า “จำเลยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูงลงเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับข่าวลือร้ายแรง จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีมูลค่าซื้อขายลดลงอย่างมากภายในวันเดียว”
ผู้เขียนเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวอาจเป็นการตอกตรึงบรรทัดฐานแย่ๆ ของการใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ให้ดำรงอยู่ต่อไป
ข้อเท็จจริงสามข้อสำคัญที่เกี่ยวกับคดีดังกล่าวได้แก่
1. นายคธาโพสต์ข้อความที่ระบุชัดว่าหุ้นกำลังตกเพราะมี “ข่าวลือ” เกี่ยวกับพระอาการประชวร ไม่ได้อ้างว่าข่าวลือนั้นเป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ได้โพสต์ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
พูดอีกอย่างคือ คำพิพากษาของศาลเท่ากับว่า การพูดว่า “ตอนนี้มีข่าวลือว่า xxx” ผิดกฎหมายเท่ากับการพูดว่า “ตอนนี้ xxx” ตราบใดที่ข่าวลือนั้นเป็นเท็จ ผู้เขียนมองว่าการตีความกฎหมายแบบนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เนื่องจากเท่ากับว่าเราทุกคนมีภาระจะต้องไปตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่า ข่าวลืออะไรเป็นความจริง ข่าวลืออะไรเป็นความเท็จ ก่อนที่จะโพสต์ข้อความใดก็ตามบนอินเทอร์เน็ต จะบอกว่ามันเป็นข่าวลือก็ไม่ได้!
2. นายคธาไม่ได้โพสต์ข้อความก่อนที่หุ้นจะตก โพสต์ตอนบ่ายหลังจากที่หุ้นตกมาตั้งแต่เช้าแล้ว มิหนำซ้ำเว็บบอร์ดที่เข้าไปโพสต์คือเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เว็บที่นักลงทุนเข้ามาแลกเปลี่ยนเคล็ดลับหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น ใครที่อยากปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับหุ้นไปปล่อยที่อื่นอย่างห้องสินธร เว็บพันทิปดีกว่า ดังนั้นจึงไม่มีทางที่โพสต์ของนายคธาจะเป็นต้นเหตุที่ “ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีมูลค่าซื้อขายลดลงอย่างมากภายในวันเดียว” ตามที่ศาลบอกได้เลย
3. นายคธาไม่ได้ถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าข้อความของเขามีองค์ประกอบใดที่ศาลมองว่า “หมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง” ผู้ต้องหาก็ควรถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ ไม่ใช่ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ก่อนหน้าที่ศาลจะตัดสิน ผู้เขียนเคยบันทึกความคิดเห็นต่อกรณีนี้ในคอลัมน์นี้ ตอน “ข่าวลือ ตลาดหุ้น และพฤติกรรมนักลงทุน” วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ว่า
“กรณีเดียวที่การโพสต์ข่าวลือบนเว็บไซต์ควรมีความผิดตามกฎหมาย คือ กรณีที่พฤติกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทุบหุ้น อันเป็นความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ …ข่าวลือกับตลาดหุ้นเป็นของคู่กันมาช้านาน …วิธีแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามแต่ที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของข่าวลืออันเป็นเท็จก็คือ การออกมาเปิดเผยความจริงให้เร็วที่สุด”
ในฐานะพยานจำเลยในคดีนี้ ผู้เขียนรู้สึกผิดหวังที่ศาลไม่ให้น้ำหนักกับคำให้การของผู้เขียน โดยเฉพาะประเด็นที่พยายามชี้ว่า ลำพังโพสต์ของนายคธาไม่มีทางเป็นต้นเหตุให้หุ้นตกได้ เพราะโพสต์ข้อความหลังจากที่หุ้นเริ่มตก บนเว็บบอร์ดที่นักลงทุนไม่ใช้เป็นแหล่งข้อมูล อีกทั้งยังไม่ได้อ้างว่าข่าวลือนั้นเป็นความจริง
ถ้ากรณีแบบนี้ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สำนักข่าวที่รายงานข่าวลืออย่าง Bloomberg ก็ควรจะถูกจับในข้อหาเดียวกันด้วย และในโลกออนไลน์ก็ไม่มีใครคุยกันเรื่องข่าวลืออะไรได้ ต้องสวมหมวกนักข่าวสืบสวน ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริงก่อน ถ้าไม่อยากเสี่ยงโดนจับ
น่าเศร้าใจว่า คงอีกนานกว่าเราจะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ที่เข้าใจและเท่าทันธรรมชาติของข่าวลือและการแสดงออกในโลกออนไลน์
เผยแพร่ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ, 7 ม.ค. 2556
Tags: commentary, Computer-related Crime Act, Katha Pajariyapong, Sarinee Achavanuntakul