2011.11.16 13:09
โดย จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล (@jittat), 16 พ.ย. 2554
การสอบถามกับผู้ดูแลเว็บว่าหน้าเว็บนี้อยู่ที่ไหน คงไม่ต่างกับการสอบถามแม่ค้าขายข้าวผัดกะเพราไก่ว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ของข้าวกลางวันจานนี้มาจากไหน
เมื่อเราพิจารณาข้าวผัดกะเพราจานหนึ่ง เราอาจจะพอทราบว่าข้าวต้องมาจากที่นาปลูกข้าว ไก่ต้องมาจากฟาร์มเลี้ยงไก่ พริกต้องมาจากสวน ถ้าสอบถามต่อไปอาจจะทราบว่าไก่มาจากบริษัทอะไร แต่แม่ค้าคงไม่ทราบว่าฟาร์มอยู่ที่ไหน
ในกรณีของหน้าเว็บหนึ่ง ๆ ก็ไม่ต่างกัน กว่าที่หน้าเว็บเหล่านั้นจะถูกส่งมาแสดงบนเบราว์เซอร์ของเราได้นั้น มีการทำงานเบื้องหลังเกิดขึ้นมากมายในระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเว็บไซต์
เมื่อเราพิมพ์ URL (เช่น http://www.google.com หรือ https://www.facebook.com) ลงในเบราว์เซอร์ เบราว์เซอร์ก็จะติดต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ระบุใน URL เพื่อขออ่านหน้าเว็บที่เราระบุ ในการอ่านนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเบราว์เซอร์จะสนทนากับซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ระบุใน URL เพื่อขอหน้าเว็บมาแสดง
ลักษณะการทำงานทั่วไปแสดงดังรูปด้านล่าง
ถ้าเป็นเมื่อสักสิบปีก่อนเว็บไซต์หนึ่ง ๆ อาจจะประกอบด้วยแฟ้มเอกสารจำนวนหนึ่งที่เชื่อมโยงกันด้วยลิงก์ ซอฟต์แวร์ที่ทำงานที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเว็บไซต์ก็จะทำหน้าที่เพียงแค่เปิดแฟ้มเอกสารให้สอดคล้องกับ URL ที่ระบุ
แต่เว็บไซต์จำนวนมากในปัจจุบันที่มีการแก้ไขและปรับปรุงข้อมูลตลอดเวลา เช่น เว็บไซต์ข่าว เว็บบอร์ด เว็บบล็อก มีการเก็บข้อมูลที่ซับซ้อนกว่านั้น
เมื่อผู้ใช้เปิดหน้าเว็บหนึ่ง ๆ ข้อมูลของหน้าเว็บนั้นจะถูกสร้างขึ้นโดยการทำงานประสานกันของระบบของซอฟต์แวร์จำนวนหนึ่ง เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ประมวลผลเพื่อสร้างหน้าเว็บ ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการข้อมูลที่เก็บเนื้อหาและข้อมูลต่าง ๆ ของเว็บไซต์ ซอฟต์แวร์สำหรับรับส่งข้อมูลกับเบราว์เซอร์ ลักษณะการทำงานแสดงดังรูปด้านล่าง
ถ้าซอฟต์แวร์ทั้งหมดทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน เช่นเว็บไซต์ทั่วไปในปัจจุบัน การจะกล่าวว่าหน้าเว็บหนึ่ง ๆ อยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นคงไม่ผิดพลาดอะไร อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรรับประกันว่าซอฟต์แวร์ที่ทำงานประสานกันเหล่านี้จะต้องทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เดียวกัน
ด้วยการสนทนาระหว่างซอฟต์แวร์ในลักษณะที่ไม่ต่างจากการที่เบราว์เซอร์เรียกอ่านหน้าเว็บจากซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ระบุใน URL ซอฟต์แวร์ที่ใช้ประมวลผลเพื่อสร้างหน้าเว็บก็อาจจะเรียกข้อมูลจากซอฟต์แวร์สำหรับจัดการข้อมูลที่ทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ได้ และเป็นไปได้ที่คอมพิวเตอร์เหล่านี้จะอยู่คนละศูนย์ข้อมูล หรืออาจจะไกลข้ามประเทศเลยก็เป็นได้
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการหน้าเว็บ ก็อาจจะมีการพัฒนาโครงสร้างของระบบเว็บให้สลับซับซ้อนขึ้นไปอีก ทั้งนี้เพื่อกระจายงานให้คอมพิวเตอร์จำนวนมากขึ้นช่วยกันรับภาระประมวลผลข้อมูลที่มากขึ้นได้ ด้วยโครงสร้างของระบบเว็บที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้เราอาจจะต้องพิจารณาคำถามว่า “หน้าเว็บอยู่ที่ไหน?” อย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
เราคงไม่อาจบอกได้ว่า หน้าเว็บนี้อยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเครื่องใดอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะว่าเป็นไปได้ที่ซอฟต์แวร์แต่ละส่วนจะแยกกันทำงานอยู่คนละเครื่อง และเนื่องจากในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเครื่องเสมือนมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็เป็นไปได้ด้วยว่า แม้แต่ผู้พัฒนาเว็บเองก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าซอฟต์แวร์ที่เห็นว่าทำงานอยู่บนเครื่องเสมือนเครื่องหนึ่งนั้น แท้จริงแล้วทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดบนโลกกันแน่
นอกจากนี้ สำหรับคำถามว่า “หน้าเว็บอยู่ที่ไหน?” นั้น เราอาจจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า คำถามดังกล่าว มีเป้าหมายที่แท้จริงเพื่ออะไร ถ้าเป็นไปเพื่อระบุผู้รับผิดชอบของหน้าเว็บนั้น เราจำเป็นต้องแยกแยะผู้รับผิดชอบในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ใช้ประมวลผลหน้าเว็บรวมถึงรูปภาพและการออกแบบต่าง ๆ ออกจากผู้ที่มีสิทธิ์ในการดูแลและจัดการข้อมูลที่เป็นเนื้อหาของเว็บ ซึ่งปัจจุบันเนื้อหาในหน้าเว็บหนึ่ง ๆ อาจมีที่มาจากหลายแหล่งซึ่งมีผู้รับผิดชอบแตกต่างกัน และไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกับผู้ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์นั้น ๆ ก็ได้
Tags: digital forensics, intermediary liability, Internet 101, Jittat Fakcharoenphol