2010.11.19 23:34
เวทีเสวนา “การเมืองเรื่องอินเตอร์เน็ตและภาระของตัวกลาง” จัดโดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสาระสำคัญน่าสนใจ ดังนี้
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวนำเสนองานวิจัยของตัวเอง แสดงให้ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการใช้อินเตอร์เน็ต ไม่ว่า กฎหมาย การตลาด การออกแบบสื่ออินเตอร์เน็ต และค่านิยมต่างๆ กลุ่มคนที่เลือกใช้อินเตอร์เน็ต อาจเพราะสื่อกระแสโดนมองว่าลำเอียง ยิ่งในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.ก. ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทั้งเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่างโดนปิดกั้นเหมือนกัน โดยนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาบังคับใช้ ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ระบุว่าผู้บริการอินเตอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ต้องเป็นผู้ผิดชอบต่อการกระทำผิดด้วยเช่นกัน จึงกลายเป็นภาระของตัวกลาง
“เว็บไซต์ อย่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือประชาไท หรือเช่น เว็บพันทิปต่างเคยประสบปัญหาในการปิดกั้น ซึ่งการปิดกั้นเว็บไซต์ในปัจจุบันมี 3 วิธี การบล๊อกไอพี สองการปิดกั้น URL(ที่อยู่ของเว็บไซต์) สามปิดกั้นโดยผู้ใหบริการอินเตอร์เน็ตเอง”
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการปิดคลื่นเอฟเอ็ม 92.25 วิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตย หรือในช่วงปลายรัฐบาล มีการขู่ปิดเว็บแมเนเจอร์ ออนไลน์ ที่วิพากษ์รัฐบาลอย่างรุนแรง สิ่งที่รัฐบาลสมัยทักษิณกลัว คือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และอินเตอร์เน็ต เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไป
“การมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องใช้จัดการคนชั่วที่ใช้อินเตอร์ในทางที่ผิด แต่ตัวพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กลับคลุมเครือ ไม่รู้ใครทราบกันแน่ว่าฝ่ายไหนบล๊อก ได้แต่โยนเรื่องให้ฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้กลับไปกลับมา ทั้งมาตารฐานในการบล๊อกเว็บไซต์ก็ไม่มีข้อบังคับชัดเจน ขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เอง”
อาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตกับการเมืองเกี่ยวข้องกันมานานแล้ว ตั้งแต่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ในการติดสื่อสารระหว่างประเทศ ต่อมาจึงมีคนให้ความสนใจเริ่มเข้ามาใช้จนถึงในปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสื่อทางเลือก เหมือนซอกหลืบลึกลับให้คนสามารถมานัดพบกัน รัฐบาลเข้าถึงได้ยาก อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องสื่อสารการเมืองภายในประเทศกับต่างประเทศ รวดเร็ว จับมือใครดมไม่ได้ อย่างในกรณีคลิปเสียงเป็นต้น กลายเป็นการเล่นเกมส์การเมือง การปิดกั้นเว็บไซต์จึงเป็นเรื่องถูกกฎหมายไป
“หลายมาตรา 14,15, 112 ยังคลุมเครืออยู่ ถ้าอยากแก้ปัญหาเหล่านี้เริ่มแก้ความคลุมเครือในมาตรานี้ก่อน อะไรคือการหมิ่นเบื้องสูงกันแน่”
ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิด ปี 2549 มีเว็บไซด์ที่ถูกสั่งปิดประมาณ 2,500 เว็บไซต์ ปี 2552 มีเว็บไซต์ถูกสั่งปิด 10,000 เว็บไซต์ ปี 2553 มีเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดประมาณ 65,000 เว็บไซต์ ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อการกระทบต่อสถาบัน
สรุปในงานเสวนาแนะทางออก โดยต้องพูดคุยกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาจต้องมีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแล ทั้งผู้ประกอบการเองและผู้ใช้บริการ อินเตอร์เน็ตก็เหมือนเป็นผู้กลั่นกรองร่วมกัน เพราะผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถกลั่นกรองได้หมด หลายฝ่ายจึงควรช่วยกัน
ที่มา:: วงเสวนา การเมืองเรื่องอินเตอร์เน็ตและภาระของตัวกลาง ฟันธง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คลุมเครือ!, มติชน, 17 พ.ย. 2553
Tags: Chavarong Limpattamapanee, Netizen Marathon 2010, Pirongrong Ramasoota, Sawatree Suksri, Thai Netizen Network