เว็บหมิ่น

2010.08.13 14:59

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

รัฐบาล 4 ชุดหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2549 ล้วนตั้งภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่ตนเองเหมือนกัน คือปิดเว็บไซต์ที่ถูกถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 หรือที่เรียกกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

แสดงให้เห็นปริมาณที่มากมายของเว็บไซต์ซึ่งตกอยู่ในข่าย และแสดงให้เห็นความล้มเหลวในการทำภารกิจอย่างต่อเนื่อง

เว็บที่ถูกถือว่าเป็นเว็บหมิ่นเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างมากหลังรัฐประหาร หรือเกิดขึ้นมาก่อนแล้วก็ตาม แต่ความตื่นตัวที่จะจัดการกับเว็บเหล่านี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ดูเหมือนเป็นคำเตือนของท่านประธานองคมนตรีก่อน และได้รับการขานรับจากกองทัพ, รัฐบาล และผู้หลักผู้ใหญ่บางคนตลอดมา

อันที่จริงจะถือว่าข้อความในทุกเว็บดังกล่าวล้วนผิดกฎหมายอาญา ม.112 ทั้งสิ้นเห็นจะไม่ได้ เพราะข้อความในหลายเว็บมิใช่การ "หมิ่นประมาท, ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" แต่อย่างใด แต่เป็นการวิเคราะห์พระราชดำรัสหรือการกระทำเท่านั้น การวิเคราะห์นั้นอาจผิดหรือถูกก็ได้

ตัวเลขจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ระบุว่า กว่า 80% ของเว็บไซต์เหล่านี้ส่งในต่างประเทศ ที่ส่งในประเทศไทยมีไม่ถึง 20% จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลหลายชุดได้ปิดเว็บประเภทนี้ไปร่วมร้อยแล้ว แต่หากใครยังต้องการอ่าน ก็สามารถค้นหาอ่านได้ไม่ยากด้วยระบบค้นหาข้อมูลปกติธรรมดา (เช่น Google, Yahoo) ผู้รับผิดชอบเคยกล่าวว่า ปิดเว็บไซต์ใดลงวันนี้ วันรุ่งขึ้นเขาก็เปิดใหม่ในชื่ออื่นได้ทันที

ผมไม่คิดว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่จริงใจในการจัดการกับเว็บหมิ่น เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ก็จะประสบความล้มเหลวอย่างเดียวกัน และไม่ว่าจะใช้ความพยายามอย่างเข้มข้นอย่างไรก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะหากพูดกันโดยทางเทคโนโลยีแล้ว การปิดเว็บไซต์ที่มีมากขนาดนี้ทำไม่ได้

จีนลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือและผู้คนมหาศาล ในการควบคุมการไหลของข่าวสารข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต แม้กระนั้นก็ยังมีผู้วิเคราะห์ว่า ยังมีอีก 20% ที่เล็ดลอดเข้าไปสู่สายตาคนจีนจนได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่มีใครสามารถสร้างกำแพงเบอร์ลินบนพื้นที่ไซเบอร์ได้ ไม่ว่าจะลงทุนสักเท่าไร และไม่ว่าจะต้องฆ่าล้างผลาญกันสักเท่าไร

ความจริงข้อนี้ใครๆ ก็รู้ และผมเชื่อว่ารัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาก็รู้ รัฐบาลนี้ก็รู้ เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องขานรับคำเตือนของผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะเป็นการแสดงความจงรักภักดีที่ง่ายที่สุด แม้จะรู้ว่าไม่ได้ผลอะไรมากนักก็ตาม เป็นแต่เพียงท่าทีทางการเมืองที่ "ถูกต้อง" เท่านั้น

(สมาชิกพรรค ปชป.ในขณะเป็นฝ่ายค้าน ก็เลือกแสดงท่าที "ถูกต้อง" ทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน คือเสนอให้เพิ่มโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในขณะที่โทษในปัจจุบันก็สูงมากอยู่แล้ว คือจำคุก 3-15 ปี)

ในขณะที่รัฐบาลไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ด้วยวิธีอื่นใด นอกจากการใช้อำนาจเชิงกายภาพ (กฎหมาย, การลงโทษ, การปิดเว็บไซต์หรือปิดกั้นข่าวสารข้อมูล, ยุให้เกิดจลาจลจนถึงบ้อมผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อดังเหตุการณ์ 6 ตุลา, ฯลฯ) สะท้อนความอับจนของสังคมไทยเองในการปกป้องสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่า กล่าวคือไม่มีวิธีอื่นใดมากไปกว่าอำนาจเชิงกายภาพ (เช่น การปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยการบัญญัติอย่างโต้งๆ ลงไปในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ)

การใช้อำนาจเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวยังทำให้เกิดสถานการณ์ที่น่าเย้ยหยันตามมาด้วย ดังเช่นความพยายามปิดเว็บหมิ่นและข้อความที่สื่อนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในเมืองไทย ทำให้เกิดสถานการณ์ที่คนนอกสามารถรู้ข้อมูลหรือความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระ มหากษัตริย์ไทยได้ทุกอย่าง ในขณะที่คนไทยไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้อย่างเดียวกัน

อำนาจเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวใช้ปกป้องอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปในอดีต หรือมองเลยขึ้นไปจากปัจจุบันถึงอนาคต ทั้งสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในเมืองไทยมานานได้ ก็เพราะได้รับการปกป้องด้วยสติปัญญา อำนาจที่ใช้ในการปกป้องมีความหลากหลายกว่าเชิงอำนาจเพียงอย่างเดียว ทั้งอำนาจในเชิงวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และสังคม ตอบสนองต่อการท้าทายใหม่ๆ ซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในความเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการปรับตัวเอง และนิยามสถานะกับคุณค่าของตนในสังคมใหม่เสมอมา

ในท่ามกลางเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลที่เราเผชิญอยู่ ถึงอย่างไรสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศาสนา, รัฐธรรมนูญ, รัฐสภา, ศาล, กองทัพ, ฯลฯ) ก็จะถูกท้าทายโดยเปิดเผย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากทำในสื่อทั่วไปไม่ได้ ก็จะทำในพื้นที่ไซเบอร์ซึ่งนับวันก็จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเสมอ ยิ่งกว่านั้น โลกที่ไร้พรมแดนย่อมทำให้การท้าทายไม่จำเป็นต้องเกิดในขอบเขตอำนาจรัฐไทย เสมอไป แม้การท้าทายอาจทำในออสโล, ปารีส, ลอนดอน หรือดีทรอยต์ แต่ในแง่ของการเข้าถึงก็ไม่ต่างจากการทำที่บางลำพู

สังคมไทยจะตอบสนองต่อการท้าทายนี้อย่างไร ในเมื่ออำนาจในเชิงกายภาพไม่อาจช่วยปกป้องสถาบันเหล่านี้ได้อีกแล้ว ผมคิดว่ามีหนทางอยู่สามประการที่ต้องทำ

1/ สถาบันสำคัญๆ ของชาติต้องปรับตัวเอง ไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างว่าสถาบันต่างๆ ของไทยนั้นมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร (uniqueness) เพราะในขณะที่อ้างเช่นนั้น เราก็ต้องการความเป็น "สากล" ของสถาบันเหล่านั้นไปพร้อมกัน แม้แต่การเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็ต้องยอมรับ "มาตรฐาน" สากลบางอย่าง หรือการจัดงานเฉลิมวัชราภิเษกครองราชสมบัติครบ 60 ปี และทูลเชิญกษัตริย์จากทั่วโลกมาร่วมงาน ก็คือการประกาศความเป็น "สากล" ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธลักษณะเฉพาะ (uniqueness) ของสถาบันสำคัญของชาติต่างๆ เสียทีเดียว ลักษณะเช่นนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะมีความเฉพาะอย่างไร ก็ต้องสามารถอธิบายได้ด้วยมาตรฐานคุณค่าสากลอยู่นั่นเอง เช่น ประชาธิปไตย, ความยุติธรรม, สิทธิมนุษยชน, ความรับผิดหากทำอะไรที่กระทบถึงผู้อื่น (accountability) เป็นต้น (อย่างเดียวกับที่ฝ่ายกษัตริยนิยมในประเทศไทยอธิบายระบบปกครองโบราณของไทย ตั้งแต่จารึกพ่อขุนรามฯ ว่าเป็นประชาธิปไตย)

ดังนั้น ในการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ จึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องอธิบายหรือชี้ให้เห็นว่า คำพิพากษา, หรือพระราชกรณียกิจ, หรือวัตรปฏิบัติของสงฆ์ไทย สอดคล้องกับหลักการของระบบคุณค่าอันเป็นสากลอย่างไร และพร้อมจะเผชิญกับการทักท้วงของคนอื่นนอกประเทศไทย ด้วยข้อถกเถียงที่มีพลังอธิบายมากขึ้น ไม่ใช่ด้วยการขจัดให้พ้นหน้า (dismiss) ด้วยอำนาจเชิงกายภาพ, หรือเพราะไม่ใช่คนไทยจึงไม่มีทางเข้าใจ

2/ เปลี่ยนจากการปกป้องด้วยอำนาจเชิงกายภาพมาสู่อำนาจเชิงเหตุผลและวิชาการ และต้องทำอย่างฉลาด คำว่าฉลาดในที่นี้หมายถึงไม่ตอบโต้ในกรณีที่ไม่ควรตอบโต้ เช่น การประณามหยามเหยียดที่ไร้เหตุผล เช่นการนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปแปลงให้น่าเย้ยหยันและกระจายอยู่ในยู-ทิวบ์ แทนที่จะปิดยู-ทิวบ์ก็ควรปล่อยให้ภาพนั้นปรากฏตามปกติ เพราะผู้มีใจเป็นธรรม ไม่ว่าจะมีความคิดเชิงกษัตริยนิยมหรือไม่ก็ตาม ย่อมรังเกียจการกระทำเช่นนั้น การทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คือการโจมตีบุคคลที่ทำให้บุคคลนั้นได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไปมากขึ้น ฉะนั้น การปล่อยภาพเช่นนั้นไว้เสียอีก ที่เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างได้ผลกว่า

ไม่นานมานี้มี บทความในนิตยสาร The Economist วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย แม้ตัวแทนจำหน่ายตัดสินใจไม่จัดจำหน่ายในประเทศไทย (คงเพื่อไม่ต้องเป็นปัญหาในคดีอาญา) แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีผู้อ่านมากกว่าปกติ เพราะสามารถเข้าไปอ่านในอินเตอร์เน็ตได้สะดวก แม้แต่คนที่ไม่เคยอ่าน The Economist เลยก็ได้อ่าน

มีบทความที่เขียน ตอบโต้คำวิพากษ์นี้สองบทความที่ผมเห็นว่าเป็นการตอบโต้ในเชิงของเหตุผลและ ข้อเท็จจริง คือบทความของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร (ในมติชน) และของท่านรองนายกฯนอกตำแหน่ง สุรเกียรติ์ เสถียรไทย (ใน Bkk Post) ไม่ว่าคุณภาพของการตอบโต้เชิงเหตุผลและข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็ยังนับว่าเป็นความพยายามจะเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างคน (และสังคม) ที่มีวุฒิภาวะ

นี่คือตัวอย่างของการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติที่ เหมาะสมสำหรับโลกยุคปัจจุบัน และถ้าสังคมไทยคิดจะปกป้องสถาบันสำคัญของตนต่อไป ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการตอบโต้ในลักษณะนี้ อันประกอบด้วยการไม่ปิดกั้นข่าวสารข้อมูลเป็นเบื้องต้น

3/ ควรทบทวนกฎหมายที่มีทางเลือกแต่เพียงการใช้อำนาจเชิงกายภาพอย่างเดียว ในการปกป้องสถาบันสำคัญๆ ของชาติเสียที เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 ควรให้อำนาจการฟ้องร้องไว้กับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น หรือจะสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องอย่างไรก็ตามขึ้นก็ได้ เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง (ระดับชาติและระดับส่วนบุคคล) หรือถูกนำไปใช้พร่ำเพรื่อเสียจนเป็นที่เยาะเย้ยเหยียดหยันของคนอื่นในโลก

เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ก็ควรนำมาทบทวนให้เกิดความเข้าใจตรงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่นกฎหมายหมิ่นศาล ควรตีความให้แคบและกระชับเพียง การกระทำใดๆ ก็ตามที่ขัดขวางบิดเบือนกระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีเท่านั้น ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา หรือการแต่งกายและนั่งไม่เรียบร้อยในศาล (ถ้าการแต่งกายและการนั่งขัดขวางบิดเบือนการไต่สวนพิจารณาคดี ก็เป็นความผิด)

สถาบันสำคัญของชาติต่างๆ ดำรงอยู่สืบมาและสืบไปได้ ก็ด้วยปัจจัยสามประการนี้คือ ปรับตัวเป็น ตอบสนองการท้าทายใหม่ๆ เป็น และได้รับการปกป้องเป็น

Tags: ,
%d bloggers like this: