2009.01.29 15:48
องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เพิ่มระดับความวิตกกังวลต่อต่อเสรีภาพของการแสดงความเห็นผ่านโลกออนไลน์ใน ประเทศไทยอีกครั้ง หลัง ใจ อึ๊งภากรณ์ ถูกดำเนินคดีหมิ่นเป็นรายล่าสุด พร้อมประณามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนในการสร้างกลไก รุกรานเสรีภาพในการแสดงออก
บทความ ‘หรือประเทศไทยจะเป็นศัตรูรายใหม่สำหรับอินเทอร์เน็ต’ ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และเครือข่ายจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนทั่วโลก เมื่อ 12 ม.ค. ว่า ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ในพื้นที่อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เนื่องมาจากรัฐบาลใหม่ตัดสินใจจัดลำดับความสำคัญในการจับตาจัดระเบียบพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
รายละเอียดระบุต่อไปว่า นางระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมว่า มีเว็บไซต์มากกว่า 2,300 แห่ง ถูกปิดกั้น (บล็อค) และอีก 400 แห่งอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน งบประมาณราว 2 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 80 ล้านบาท ถูกใช้เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์คัดกรองเว็บไซต์
“เราขอประณามว่ากลไกเหล่านี้ที่ถูกสร้างโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่รุกรานอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงที่มีเป้าหมายในการต่อสู้กับความผิดทางอาญาที่ถูกนิยามอย่างเลวร้าย” ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าว “น่าประหลาดใจที่เรื่องนี้กลายมาเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญ ถึงแม้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังห่างไกลจากความเป็นเรื่องปกติในประเทศไทยทั่ว ๆ ไป มันเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรยอมรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศ
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 ใจ ไจลส์ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกหมายเรียกให้รายงานตัวที่สถานีตำรวจในวันที่ 20 มกราคมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องมาจากหนังสือที่เขาเขียน “รัฐประหารเพื่อคนรวย” “A Coup for the Rich” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของเขาเอง
นักเขียนชาวออสเตรเลียจากเมลเบิร์น แฮรี่ นิโคไลดส์ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2551 ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย เขาเคยสอนที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในภาคเหนือของประเทศไทย และเขียนหนังสือให้กับวารสารและเว็บไซต์ คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวถูกปฏิเสธทั้ง 4 ครั้ง
รัฐมนตรีไอซีทีคนใหม่ ประกาศเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นภารกิจหลักของกระทรวงไอซีที เธอกล่าวด้วยว่า รัฐมนตรีคนก่อนนั้น “เข้าใจผิดพลาดที่ดำเนินการควบคุมเพียงเล็กน้อยต่อกรณีเว็บไซต์ที่มีฐานอยู่ในต่างประเทศ”
2 วันก่อนหน้านั้น สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลได้เสนอ ให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้รุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีการโจมตีพระมหากษัตริย์ โดยสั่งการกับนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาระดับกองพันกว่า 800 นาย โดยระบุว่าทหารแต่ละกองพันมีหน้าที่จับตาเว็บไซต์ 1-2 เว็บไซต์ เพื่อเฝ้าระวังเนื้อหาที่เป็นด้านลบต่อระบอบกษัตริย์
ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 14 ล้านคน คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด องค์กรความร่วมมือที่ชื่อว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen) ได้จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีวันนี้ (13 ม.ค.) เพื่อยื่นหนังสือที่มีเป้าหมายปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์ และเสนอแนวทางประนีประนอมต่อกรณีดังกล่าว การรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นการรวมตัวของบล็อกเกอร์และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เพื่อรณรงค์เสรีภาพในการแสดงความเห็นในพื้นที่ออนไลน์ของประเทศไทย
เมื่อเว็บไซต์ถูกปิดกั้นในประเทศไทย มันถูกทำโดยการที่ฝ่ายรัฐได้ขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ISP คำขอดังกล่าวปราศจากซึ่งสถานะตามกฎหมาย
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บัญญัติไว้ในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี ภายใต้พระราชบัญญัติอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ซึ่งผ่านเป็นกฎหมายเมื่อปี 2550 การบันทึกข้อมูลการใช้คอมพิวเตอร์ของบุคคลจะต้องถูกเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน และถูกเรียกสอบได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล ตำรวจก็สามารถยึดคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำความผิด
ประชาไท แปลและเรียบเรียงจาก
Is Thailand a new enemy of the internet?, 12 Jan 2009 http://www.rsf.org/article.php3?id_article=29945