ใช้เน็ตปลอดภัย ด้วย Tor

หลายครั้งที่เราเดินทางไปในประเทศที่เราไม่คุ้นเคย และจำเป็นต้องทำธุรกรรมออนไลน์หรือติดต่อกลับบ้าน แต่เราก็ไม่มั่นใจว่าร้านเน็ตร้านเดียวในเมืองนั้นหรือผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศประหลาดๆ นั้นจะไว้ใจได้ไหม เป็นห่วงว่าข้อมูลส่วนตัวเราจะไม่ปลอดภัย หรือพบว่าโซเชียลมีเดียที่เราใช้กับครอบครัวนั้นถูกบล็อค เราจะทำอย่างไรได้บ้าง?

มีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งซึ่งช่วยให้เราใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น (แม้จะไม่ 100% สุดๆ ก็ตาม เพราะทุกอย่างขึ้นกับพฤติกรรมของเราเองด้วย) ซอฟต์แวร์ดังกล่าวก็คือ “Tor”

อยากใช้ Tor ต้องทำยังไง? ไม่ยาก ไม่ต้องกลัว!

ก่อนหน้านี้ Tor มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเรื่องการติดตั้งที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก คือต้องติดตั้ง Tor ซึ่งเป็นตัวสร้างเครือข่ายพิเศษ และติดตั้งโปรแกรมเสริมลงในเบราว์เซอร์ เพื่อจะให้เบราว์เซอร์ไปเชื่อมอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายพิเศษดังกล่าว ทำให้มีขั้นตอนหลายขั้นไปหน่อย

แต่ตอนนี้ การใช้ Tor นั้นง่ายขึ้นมาก เนื่องจากผู้พัฒนาได้จัดการรวมเอาโปรแกรมที่จำเป็นทั้งหมด มารวมไว้ในชุดเดียวกัน ในชื่อ “Tor Browser Bundle” ซึ่งติดตั้งทีเดียว ก็ใช้ท่องเว็บแทนเบราว์เซอร์เดิมของเราได้เลย วิธีนั้นก็ง่ายๆ

  1. ดาวน์โหลด Tor Browser Bundle ให้ตรงกับกับระบบปฏิบัติการที่เราใช้ – https://www.torproject.org/ (ให้แน่ใจว่ากำลังดาวน์โหลดโดยตรงจากเว็บไซต์ Tor อย่างเป็นทางการเท่านั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากไวรัสหรือมัลแวร์อื่นๆ)
  2. กด Save จากนั้นเปิดไฟล์ขึ้นมาเพื่อทำการติดตั้ง
    tor1
  3. เมื่อการติดตั้งเสร็จสิ้น กด Finish
  4. เปิดโปรแกรม Tor Browser Bundel หลังจาก Tor Network Settings ทำงาน ให้กดปุ่ม Connect เพื่อเริ่มเชื่อมต่อกับเครือข่าย Tor — ในกรณีที่เชื่อมต่อไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านผู้ให้บริการรายที่ใช้อยู่จำเป็นต้องใช้พร็อกซี่หรือพอร์ตเฉพาะ หรือ Tor ถูกปิดกั้นไม่ให้ทำงาน ให้กดปุ่ม Configure เพื่อทำการตั้งค่า (proxy, port และ Tor Bridges) ตามที่โปรแกรมแนะนำ
    tor2
  5. หลังเชื่อมต่อเสร็จแล้ว เบราว์เซอร์ “TorBrowser” จะปรากฏขึ้นมา ให้ทดสอบว่าเชื่อมต่อกับเครือข่าย Tor แล้วจริงๆ โดยการเข้าไปที่เว็บไซต์ https://check.torproject.org/?lang=th
  6. ถ้าตรวจสอบแล้ว่าใช้เครือข่าย Tor อยู่จริง ก็ใช้ท่องเว็บได้เลย ทดแทนการใช้เบราว์เซอร์อื่นๆ อย่าง Internet Explorer, Mozilla Firefox หรือ Google Chrometor3
  7. เมื่อไม่ใช้งานแล้ว กดเครื่องหมาย X มุมขวาบน เพื่อปิดโปรแกรม
  8. ระลึกไว้เสมอว่า Tor ปกปิดตัวตนของจุดตั้งต้นและเข้ารหัสทุกอย่างภายใต้เครือข่ายของ Tor เอง แต่ไม่ได้เข้ารหัสระหว่างเครือข่าย Tor กับเว็บปลายทาง ถ้าคุณสื่อสารข้อมูลที่อ่อนไหวมาก ควรจะระมัดระวังให้ดี คิดถึงการเข้ารหัสที่ซับซ้อนขึ้น เช่น คำนึงถึง HTTPS และใช้การระบุตัวตน (authentification) เพิ่มด้วย
  9. เนื่องจาก Tor จะเปลี่ยนหมายเลข IP ไปที่อื่นทุกครั้งที่เปิด ทำให้เว็บไซต์บางเว็บ เช่น เฟซบุ๊ก อาจสับสนว่าบัญชีคุณโดนแฮ็ก
  10. ความเสี่ยงออนไลน์จำนวนมาก เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานเอง ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีใดช่วยได้

ทำไมต้องเข้ารหัสเมื่อใช้เน็ต?

ทำไมต้องเข้ารหัสข้อมูล (เนื้อความจดหมาย)

  • การส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตนั้น ทำงานคล้ายกับระบบไปรษณีย์ที่เรารู้จัก มีผู้ส่ง มีบุรุษไปรษณีย์ มีสำนักงานไปรษณีย์ มีศูนย์คัดแยก ผ่านเส้นทางต่างๆ ก่อนจะไปถึงผู้รับ
  • ข้อมูลต่างๆ ที่เราส่งไปบนเน็ต โดยไม่เข้ารหัส ก็เหมือนกับการเขียนข้อความลงบนโปสการ์ด
  • มีโอกาสที่บุรุษไปรษณีย์จะอ่านข้อความบนโปสการ์ดของเราโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในสายพานการคัดแยกจดหมาย ไปจนถึงคนที่บ้านของเรา ถ้าเราไม่ได้อยู่รับโปสการ์ดเอง
  • เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายเปิด ใครที่พอมีความรู้นิดหน่อยก็สามารถดักดูข้อมูลทุกอย่างที่วิ่งไปมาบนเครือข่ายได้ ถ้าเราไม่เข้ารหัสข้อมูล ก็มีโอกาสที่ข้อมูลของเราจะถูกดักฟังระหว่างทาง ซึ่งเราคงไม่อยากให้เกิด โดยเฉพาะข้อมูลนั้นเป็นความลับ เช่น เลขบัญชีธนาคาร รหัสบัตรเครดิต หรือเอกสารประมูลงาน
  • ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับศูนย์คัดแยกจดหมายในระบบไปรษณีย์ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการส่งต่อข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงสามารถมองเห็นข้อมูลทุกอย่างที่เราส่งได้ (โดยไม่จำเป็นต้องดัก เพราะเราส่งไปหาเขาเอง)
  • การเข้ารหัสข้อมูล ก็คล้ายกับการนำโปสการ์ดนั้นใส่ซองจดหมายปิดผนึก ทำให้คนอื่นมองไม่เห็นข้อความข้างใน — HTTPS จะช่วยเราตรงนี้ได้ — อย่างไรก็ตามคนอื่นก็ยังเห็นได้ว่า จดหมายนี้จ่าหน้าถึงใคร

ทำไมต้อง “เข้ารหัส” การเชื่อมต่อ (จ่าหน้าซองจดหมาย)

  • นอกจากนี้ ตามกฎหมายในหลายประเทศ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ) ถูกบังคับให้ต้องบันทึกข้อมูลการเชื่อมต่อของเราทุกคนตามระยะเวลาที่กำหนด ข้อมูลที่เก็บ เช่น เราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเมื่อใด เลิกใช้เมื่อใด จากเบอร์โทรศัพท์ไหน เข้าถึงเว็บไซต์ไหนเมื่อเวลาใด
  • เปรียบเทียบกับระบบไปรษณีย์ก็คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องจดบันทึกที่อยู่ผู้รับและผู้ส่งทั้งหมดที่จ่าหน้าบนซอง
  • ผู้ให้บริการจึงมีข้อมูลจำนวนมากของเรา ที่สามารถบ่งบอกพฤติกรรมและเปิดเผยชีวิตส่วนตัวของเราได้ ซึ่งหากผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวอย่างไม่ระมัดระวังเพียงพอ ก็อาจทำให้ข้อมูลหลุดรั่วและมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลไปใช้เป็นโทษกับตัวเราได้
  • ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการ “เข้ารหัส” ที่อยู่ผู้รับและผู้ส่งที่จะจ่าหน้าบนซอง — ซึ่ง Tor จะช่วยทำสิ่งนี้ให้เราได้ (โดยที่อยู่จ่าหน้าซองจะจ่าหน้าไปหาที่อยู่ของ Tor แทน) — แต่ก็ต้องย้ำอีกทีหนึ่งว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ 100%

เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น เราจึงต้องใช้ Tor ร่วมกับ HTTPS และแน่นอน ความระมัดระวังของตัวเราเองระหว่างออนไลน์

เกิดอะไรขึ้นเมื่อใช้ Tor และ HTTPS?

แผนภาพโดยโครงการ Tor ด้านล่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ใครบ้างที่จะดูข้อมูลเราได้ ที่จุดไหน และมีข้อมูลอะไรของเราที่เขาดูได้ (โปรดสังเกตในกล่องสีส้ม ที่จะบอกว่ามีข้อมูลอะไรที่จะถูกดูได้บ้าง)

คลิกที่แต่ละภาพเพื่อขยาย หรือดูแผนภาพแบบ interactive — คลิกที่ปุ่ม Tor และ HTTPS มุมซ้ายบน เพื่อเปิด-ปิดการใช้งาน — สีเขียวคือเปิดใช้อยู่ สีเทาคือปิดใช้อยู่

ภาพที่ 1 : ไม่ใช้ Tor ไม่ใช้ HTTPS ทุกคนในเครือข่ายรู้ได้หมดว่าเราส่งข้อมูลอะไร
ไม่ใช้ Tor, ไม่ใช้ HTTPS

ภาพที่ 2 : ไม่ใช้ Tor ใช้เฉพาะ HTTPS คนไม่รู้ว่าเราส่งข้อมูลอะไร แต่รู้ว่าเราคุยกับใคร เปิดเว็บไซต์ไหน
ไม่ใช้ Tor, ใช้ HTTPS

ภาพที่ 3 : ใช้ Tor แต่ไม่ได้ใช้ HTTPS คนไม่รู้ว่าเราเปิดเว็บไซต์ไหน แต่มีโอกาสจะรู้ข้อมูลของเราถ้าเขาไปดักที่ผู้ให้บริการปลายทาง
ใช้ Tor, ไม่ใช้ HTTPS

ภาพที่ 4 : ใช้ทั้ง Tor และ HTTPS พร้อมกัน การดักฟังและตามตัวจะยุ่งยากขึ้นมาก
ใช้ Tor และ HTTPS พร้อมกัน

ทำไมต้อง Tor?

  • Tor เป็นบริการที่สร้างโดย Electronic Frontier Foundation (EFF): มูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอฟเอฟ) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรด้านสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต บริการนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
  • Tor สร้างเครือข่ายพิเศษขึ้นมาโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครจำนวนมากทั่วโลกส่งต่อข้อมูลไปมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เราเชื่อมต่ออยู่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมอะไร (ทำให้เราเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคจากภายในประเทศได้) และตัวเว็บไซต์ที่เรากำลังเข้าชมก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมจากที่ไหน (ทำให้เราสามารถดูเนื้อหาที่ตัวเว็บไซต์จำกัดไม่ให้ผู้ชมบางประเทศดูได้)
  • การส่งต่อข้อมูลดังกล่าว เกิดขึ้นหลายครั้งข้ามไปมาหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ผู้ไม่หวังดีไม่สามารถย้อนรอยหาตัวตนของเราได้โดยง่าย
  • อย่างไรก็ดี Tor ไม่สามารถช่วยเราจากความไม่ระมัดระวังของเราเองได้ เช่น เมื่อเราใช้ Tor แต่ล็อกอินเข้าเว็บที่ไม่ได้เข้ารหัส (เช่นที่อยู่ url ไม่ได้ขึ้นต้นด้วย https://) หรือเข้ารหัสแต่ใบรับรองความปลอดภัยไม่ปลอดภัยพอ (ซึ่งเบราว์เซอร์โดยทั่วไปจะแจ้งเตือน) ก็ยังคงเป็นไปได้ที่ระหว่างทางจะมีคนดักฟังรหัสผ่านของเราได้
  • ข้อเสียของการใช้ Tor คือ ทำให้การรับส่งข้อมูลช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจลำบากหากต้องรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่

คำแนะนำการรักษาความปลอดภัยดิจิทัลอื่นๆ

คนละไม้คนละมือ ช่วยให้ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยขึ้น

  • สำหรับเจ้าของเว็บไซต์หรือผู้ดูแลระบบ – ควรพิจารณาติดตั้ง HTTPS และลงทะเบียนรับใบรับรอง SSL เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เข้าชมเว็บ – ติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือเว็บโฮสติงของคุณ เพื่อขอทราบรายละเอียด
  • สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ที่เป็นลูกค้าหรือใช้บริการเว็บไซต์ที่ไม่ได้ใช้ HTTPS – อาจลองเขียนอีเมลสั้นๆ ไปบอกผู้ให้บริการถึงความเป็นห่วงในข้อมูลส่วนตัวของเรา และขอให้ผู้ให้บริการ ใช้ HTTPS กับเว็บไซต์ของตัวเอง
  • สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ที่พอจะมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างเสถียร ลองพิจารณาติดตั้ง Tor Relay ให้ทำงานเงียบๆ บนคอม การทำทำแบบนี้จะช่วยให้เครือข่าย Tor มีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งมี Tor Relay มาก เครือข่าย Tor โดยรวมก็จะยิ่งเร็ว ทำให้คนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยได้มากขึ้นตามไปด้วย :)

 

%d bloggers like this: