2009.03.26 23:52
แถลงการณ์จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)
ลงวันที่ 11 กันยายน 2550
(ก่อนการก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต)
แถลงการณ์กรณีผู้ถูกจับกุมภายใต้ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
จากกรณีหนังสือพิมพ์ไฟแนนซ์เชียลไทมส์ ฉบับสุดสัปดาห์ วันที่ 1-2 กันยายน พ.ศ. 2550 รายงานข่าว ประเทศไทยเลิกแบนเว็บไซต์ยูทิวบ์ โดยความตอนหนึ่งอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ระบุว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ รัฐไทยได้ใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จับกุมคนไทย 2 คน เนื่องจากแสดงความเห็นเข้าข่ายหมิ่นพระมหากษัตริย์ในห้องสนทนาบน อินเทอร์เน็ต ในขณะที่ รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวและทางรัฐบาลไทยก็ไม่ได้ให้คำตอบอย่างเป็นทางการ หนังสือพิมพ์ประชาไท (www.prachatai.com) ได้รายงานว่าพบการจับกุมจริงโดยมีหนึ่งคนอยู่ระหว่างการถูกคุมขัง และ อีกหนึ่งคนได้รับการประกันตัวแล้ว ในขณะเดียวกันองค์กรสื่อและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายแห่งได้ ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใย ต่อเรื่องนี้อย่างมาก
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนในกรณีนี้ต่อสาธารณชน ไทยและประชาคมโลก โดยเฉพาะการต้องมีหลักประกันว่า ผู้ถูกดำเนินคดีจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม และได้รับการคุ้มครองสิทธิโดยไม่ถูกข่มขู่คุกคาม หรือ ถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการก ระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 14 วรรค 2 ที่ว่า “การ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
กฎหมายนี้เป็นกฏหมายฉบับแรกที่ผ่านการพิจารณาของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเต็มไปด้วยข้อกังวลหลายประการ เพราะสะท้อนเจตนาในการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงออกทางความคิด และความรู้สึกของประชาชน อีกทั้งมาตรการในการใช้กฎหมาย รวมถึงกฎกระทรวงและประกาศระเบียบต่างๆ ยังขาดความชัดเจน มีความคลุมเครือ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กฎหมายไปในทางที่มิชอบได้
ดังนั้น รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องทบทวน กฎหมายดังกล่าวในอนาคต อีกทั้งประชาชนต้องแสดงพลังยับยั้ง สนช. ในการผลักดันร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น พระราชบัญญัติความมั่งคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ…. และ พระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ….. เป็นต้น
ทั้งนี้ คปส และ FACT ขอให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพื้นที่ไซเบอร์เฝ้าระวังความปลอดภัยในชุมชน ออนไลน์ เพราะหลังพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2550) เพียง 40 วัน ข่าวการจับกุมกลุ่มคนที่แสดงออกทางการเมืองในชุมชนออนไลน์ (Cyber-dissidents) อย่างเงียบงันได้เกิดขึ้นแล้วเป็นครั้งแรกและคาดว่าจะมีรายต่อไป
คปส และ FACT ขอเรียกร้องให้ องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมนานาชาติติดตามผลกระทบต่อเรื่องนี้อย่างใกล้ ชิด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่าง มีนัยยะสำคัญ อีกประการคือสื่ออินเทอร์เน็ตถือเป็นสื่อสากล ที่ปราศจากเส้นแบ่งเขตแดน ดังนั้นรัฐไทยจำเป็นต้องพลวัตการยอมรับการใช้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสื่อ อินเทอร์เน็ต (Cyber citizens) ตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)
เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)
11 กันยายน 2550