สรุปการเสวนาเรื่องผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

2009.03.27 23:40

จากงานราชดำเนินเสวนา วันที่ 27 มีนาคม 2552

สรุปความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ *ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของรัฐ* จำนวน 5 ราย

ผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของรัฐ ภายหลังกฏหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550

  1. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘พระยาพิชัย’ อาชีพ ผู้ดูแลเว็บ (Web administrator) เป็นชายอายุประมาณ 37 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ด้วยความผิดตามมาตรา 14 (1) และ (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกฝากขังเป็นระยะเวลากว่า สองอาทิตย์ จากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2550 ด้วยการใช้ตำแหน่งข้าราชการของญาติมาประกัน ตามวงเงินประกัน 100,000 บาท
  2. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘ท่อนจัน’ อาชีพอิสระ และเป็นบล็อกเกอร์ (Blogger) ผู้หญิงอายุ 30 ปี ถูกบุกจับกุมตัวในวันเดียวกันกับ ‘พระยาพิชัย’ และถูกฝากขังจากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550 ด้วยวงเงิน 1 แสนบาท
  3. ทั้งสองถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษคลองเปรม โดยที่สังคมไม่ได้รับรู้และไม่ได้รับการประกันตัวจนกระทั่งมีกระแสข่าวจากสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว จึงทำให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวจากองค์กรสื่อและสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นทั้งสองได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละหนึ่งแสนบาท โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ทั้งสองมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งต่อมาทั้งสองคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าทางอัยการได้สั่งฟ้อง อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี

  4. นายสุวิชา ท่าค้อ อายุ 34 อาชีพ วิศวกร ถูกตำรวจจับกุมตัวที่ขณะกำลังเดินซื้อของในจังหวัดนครพนม พร้อมกับถูกบุกค้นบ้านในกรุงเทพที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 โดยแผนกสอบสวนพิเศษ Department of Special Investigation (DSI) ข้อหาตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ มาตรา 112 ประมวลกฏหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่ถูกฝากขังนายสุวิชา ได้ขอประกันตัว สองครั้งแต่คำร้องถูกยกทั้งสองครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 อัยการได้ส่งฟ้องศาลกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยการโพสต์รูปและข้อความลงบอินเตอร์เน็ต โดยใช้นามแฝง 2 ชื่อ
  5. ทั้งนี้ อัยการ ระบุว่า ผู้ต้องหาซึ่งถูกอัยการสั่งฟ้องกระทำความผิดโดยร่วม กับพวกที่หลบหนี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่า จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กโทรนิกส์หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่า จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14, และ 16 จำเลยให้การต่อศาลรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา โดยศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น.ที่ ศาลอาญารัชดา

  6. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 25 ปี ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นเจ้าของนามแฝง ‘Buffalo Boy’ ถูกจับกุมช่วงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 สืบเนื่องจากข้อความที่ถูกโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท หลังจากถูกฝากขังได้สักระยะ จึงได้มีการขอประกันตัวออกไปด้วยวงเงิน 2 ล้านบาท ปัจจุบันไม่มีใครทราบรายละเอียดของผู้ถูกดำเนินคดีรายนี้ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ข่าวออนไลน์ประชาไท ได้รับทราบเรื่องนี้จากตำรวจเนื่องจากนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการประชาไทได้รับการเชิญตัวไปให้ปากคำในฐานะพยานในกรณีดังกล่าว
  7. นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร อายุ 42 ปี ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดของ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท www.prachatai.com ถูกจับกุมและบุกค้นสำนักงานโดยกองปราบปราม (Crime Suppression Division) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตามความผิดในมาตรา 14 และ 15 ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องด้วยข้อกล่าวหาว่า ได้ดำเนินการปล่อยให้ข้อความของ Buffalo Boy ซึ่งถูกนำมาโพสต์โดยผู้ใช้ชื่อว่า Bento ในพื้นที่เว็บบอร์ดเป็นระยะเวลากว่า 20 วันก่อนที่จะลบข้อความออก นางสาวจีรนุชได้รับการประกันตัวออกไปในวันเดียวกันด้วยหลักประกันประมาณ 70,000 บาท ทั้งนี้ได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการมหาวิทยาลัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว

    คดีของนางสาวจีรนุชถือเป็นรายเดียว ที่ได้รับการประกันตัวในวันที่ถูกจับกุมในขณะที่รายอื่นโดนฝากขังเป็นระยะ เวลาประมาณหลายอาทิตย์หรือไม่ได้รับการประกันตัวอย่างกรณีของนายสุวิชา ท่าค้อ

ในทุกกรณีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการ ยึด และตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีของนางสาวจีรนุชที่ตำรวจได้มีการ โคลน (Clone) หรือลอกข้อมูลจากหน่วยความจำทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ออกมาแล้วคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับนางสาวจีรนุช

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ระบุว่า

ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตาม มาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดตามมาตรา 14

สรุปข้อมูล โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต
27 มีนาคม 2552