2009.03.27 23:40
จากงานราชดำเนินเสวนา วันที่ 27 มีนาคม 2552
สรุปความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ *ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของรัฐ* จำนวน 5 ราย
ผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของรัฐ ภายหลังกฏหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘พระยาพิชัย’ อาชีพ ผู้ดูแลเว็บ (Web administrator) เป็นชายอายุประมาณ 37 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ด้วยความผิดตามมาตรา 14 (1) และ (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกฝากขังเป็นระยะเวลากว่า สองอาทิตย์ จากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2550 ด้วยการใช้ตำแหน่งข้าราชการของญาติมาประกัน ตามวงเงินประกัน 100,000 บาท
- ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘ท่อนจัน’ อาชีพอิสระ และเป็นบล็อกเกอร์ (Blogger) ผู้หญิงอายุ 30 ปี ถูกบุกจับกุมตัวในวันเดียวกันกับ ‘พระยาพิชัย’ และถูกฝากขังจากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550 ด้วยวงเงิน 1 แสนบาท
- นายสุวิชา ท่าค้อ อายุ 34 อาชีพ วิศวกร ถูกตำรวจจับกุมตัวที่ขณะกำลังเดินซื้อของในจังหวัดนครพนม พร้อมกับถูกบุกค้นบ้านในกรุงเทพที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 โดยแผนกสอบสวนพิเศษ Department of Special Investigation (DSI) ข้อหาตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ มาตรา 112 ประมวลกฏหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่ถูกฝากขังนายสุวิชา ได้ขอประกันตัว สองครั้งแต่คำร้องถูกยกทั้งสองครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 อัยการได้ส่งฟ้องศาลกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยการโพสต์รูปและข้อความลงบอินเตอร์เน็ต โดยใช้นามแฝง 2 ชื่อ
- ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 25 ปี ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นเจ้าของนามแฝง ‘Buffalo Boy’ ถูกจับกุมช่วงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 สืบเนื่องจากข้อความที่ถูกโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท หลังจากถูกฝากขังได้สักระยะ จึงได้มีการขอประกันตัวออกไปด้วยวงเงิน 2 ล้านบาท ปัจจุบันไม่มีใครทราบรายละเอียดของผู้ถูกดำเนินคดีรายนี้ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ข่าวออนไลน์ประชาไท ได้รับทราบเรื่องนี้จากตำรวจเนื่องจากนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการประชาไทได้รับการเชิญตัวไปให้ปากคำในฐานะพยานในกรณีดังกล่าว
- นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร อายุ 42 ปี ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดของ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท www.prachatai.com ถูกจับกุมและบุกค้นสำนักงานโดยกองปราบปราม (Crime Suppression Division) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตามความผิดในมาตรา 14 และ 15 ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องด้วยข้อกล่าวหาว่า ได้ดำเนินการปล่อยให้ข้อความของ Buffalo Boy ซึ่งถูกนำมาโพสต์โดยผู้ใช้ชื่อว่า Bento ในพื้นที่เว็บบอร์ดเป็นระยะเวลากว่า 20 วันก่อนที่จะลบข้อความออก นางสาวจีรนุชได้รับการประกันตัวออกไปในวันเดียวกันด้วยหลักประกันประมาณ 70,000 บาท ทั้งนี้ได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการมหาวิทยาลัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว
คดีของนางสาวจีรนุชถือเป็นรายเดียว ที่ได้รับการประกันตัวในวันที่ถูกจับกุมในขณะที่รายอื่นโดนฝากขังเป็นระยะ เวลาประมาณหลายอาทิตย์หรือไม่ได้รับการประกันตัวอย่างกรณีของนายสุวิชา ท่าค้อ
ทั้งสองถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษคลองเปรม โดยที่สังคมไม่ได้รับรู้และไม่ได้รับการประกันตัวจนกระทั่งมีกระแสข่าวจากสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว จึงทำให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวจากองค์กรสื่อและสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นทั้งสองได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละหนึ่งแสนบาท โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ทั้งสองมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งต่อมาทั้งสองคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าทางอัยการได้สั่งฟ้อง อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี
ทั้งนี้ อัยการ ระบุว่า ผู้ต้องหาซึ่งถูกอัยการสั่งฟ้องกระทำความผิดโดยร่วม กับพวกที่หลบหนี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่า จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กโทรนิกส์หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่า จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14, และ 16 จำเลยให้การต่อศาลรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา โดยศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น.ที่ ศาลอาญารัชดา
ในทุกกรณีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการ ยึด และตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีของนางสาวจีรนุชที่ตำรวจได้มีการ โคลน (Clone) หรือลอกข้อมูลจากหน่วยความจำทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ออกมาแล้วคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับนางสาวจีรนุช
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ระบุว่า
ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตาม มาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดตามมาตรา 14
สรุปข้อมูล โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต
27 มีนาคม 2552