คำกล่าวเปิดงานสัมมนา “เวทีวิชาการสาธารณะเพื่อพัฒนางานวิจัย ‘ออนไลน์ศึกษา’”

2010.12.03 11:33

ยุกติ มุกดาวิจิตร

ความสำคัญของสังคมออนไลน์ต่อโลกปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องบอกเล่ากันมากมายนัก โครงการออนไลน์ศึกษาที่จัดโดยกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ตคงเห็นถึงความสำคัญของมิติทางสังคมดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา

สังคมออนไลน์เกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยเกื้อหนุน แน่นอนว่าเราคงไม่ปฏิเสธความสำคัญของพัฒนาการของเทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ปฏิเสธความสำคัญของจินตนาการทางสังคม ที่ไม่เพียงจำกัดอยู่ในขอบเขตของชุมชนจินตกรรมระดับชาติ แต่ยังเป็นชุมชนจินตกรรมระดับโลก (Appadurai 1996) และปฏิบัติการทางสังคมที่บางคนเรียกว่าอยู่ในสภาพ time-space compression หรือการอัดแน่นของเวลาและสถานที่ (Harvey 1989)

หากกล่าวถึงภาวะของการติดต่อกันทั่วโลก เราเห็นได้ชัดว่าการติดต่อกันทั่วโลกเกิดขึ้นมานานแล้ว นานก่อนที่จะมีสังคมออนไลน์อย่างทุกวันนี้มากนัก ผลสะเทือนของโลกต่อซอกมุมต่างๆ ของโลกเกิดขึ้นมาอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ที่คนในซีกโลกหนึ่งเริ่มเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้นที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ในโลกที่มีสังคมออนไลน์ ผมอยากตั้งข้อสงสัยว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ สังคมออนไลน์ปฏิวัติ หรือทำได้แค่เพียงเร่งรัดและอัดแน่นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอยู่แล้วในสังคมโลกาภิวัตน์

I. ไปพ้นจากความกลัว ความสับสน และความเฟ้อฝัน

เมื่อเกิดสังคมออนไลน์ขึ้นมา ในยุคเริ่มแรกกระทั่งในปัจจุบัน เราจะเห็นความกังวลใจ ความสับสน และความเฟ้อฝัน ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กัน แม้ในกลุ่มคนที่มีโลกออนไลน์อยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ก็ตาม

ในแง่ของความกังวลใจ เราจะเห็นคนวิตกกังวลกับการที่โลกออนไลน์จะมาครอบงำโลกออฟไลน์ หลายคนเกรงว่าโลกออนไลน์จะกินเวลาส่วนใหญ่ของมนุษย์จนคนเลิกทำความรู้จักคบหากันต่อหน้าต่อตา บางคนกลัวว่าโลกออนไลน์จะทำให้คนกลายเป็นมนุษย์เสมือนจริง หรือไม่ก็โลกออนไลน์จะทำให้คนห่างเหินกัน

โลกออนไลน์ทำให้คนจำนวนมากสับสนว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง หลายคนกลัวความสับสนระหว่างโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ บ้างก็กลัวว่าความเสมือนจริงของโลกออนไลน์จะทำให้คนหลอกลวงกันได้ง่าย บางคนคนไม่เชื่อถือต่อตัวตนออนไลน์ ไม่เชื่อถือต่อความรู้ออนไลน์

พร้อมๆ กันนั้น เราเห็นความเฟ้อฝันที่คนมีต่อสังคมออนไลน์ เราเห็นคนเฟ้อฝันไปว่าโลกออนไลน์จะเป็นพื้นที่ที่คนติดต่อกันได้ไม่สิ้นสุด โลกออนไลน์จะทำให้คนทั่วโลกออฟไลน์รู้จักกันได้ คนจำนวนมากเชื่อว่าโลกออนไลน์จะนำเสรีภาพมาสู่มนุษย์ชาติ จะเป็นพื้นที่แห่งการท้าทายหรือต่อต้านอำนาจครอบงำ บางคนตั้งความหวังว่าโลกออนไลน์จะเปิดพรมแดนใหม่ๆ หรือไม่ก็ทำลายพรมแดนทางวัฒนธรรม พรมแดนทางความรู้ ตลอดจนเพิ่มอำนาจการสื่อสารติดต่อกันทางธุรกิจอย่างไม่มีขีดจำกัด ผมคิดว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องเฟ้อฝัน

ความกังวล สับสน เฟ้อฝันเหล่านั้นคงจะเป็นสิ่งที่ได้รับการตรวจสอบมากขึ้นในการสัมมนาและการวิจัยศึกษาสังคมออนไลน์ในครั้งนี้

II. ความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาแต่สังคมออนไลน์

นักคิดหลายต่อหลายคนหลายสำนักตั้งประเด็นปัญหาเรื่องสถานะความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์ ทัศนะที่ครอบงำกว้างขวางที่สุดได้แก่การมองความจริงในโลกออนไลน์ว่าเป็น “ความจริงเสมือน” ในแง่นี้ โลกออนไลน์ถูกแยกออกจากโลกออฟไลน์ มีการแบ่งโลกและความเป็นจริงทางสังคม ตลอดจนฐานะความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เป็นในกับนอกโลกออนไลน์ และว่ากันว่าโลกออฟไลน์เท่านั้นที่จริงกว่า

แต่เราจะบอกว่า ตัวตนของเราที่อาจไม่เหมือนกันกับตัวตนที่เป็นอยู่ในโลกออฟไลน์ จริงน้อยกว่าตัวตนในโลกออนไลน์ได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เปิดเผยตัวตนออฟไลน์ทุกๆ ตัวตน ให้ทุกๆ สังคมออฟไลน์ที่เราอาศัยอยู่ได้รู้จักเราทุกๆ ด้านเลย เราจะถือว่าภาพ เสียง และข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์เป็นความจริงเสมือนได้อย่างไร ในเมื่อภาพ เสียง และข้อมูลต่างๆ ในจินตนาการของเรา ในหนังสือ ในห้องสมุด ก็มีสถานะความจริงที่ “ไม่จริง” หรือ “จริง” พอๆ กัน เพราะต่างก็เป็นภาพตัวแทนของอะไรบางอย่างทั้งสิ้น

เราจะแยกสังคมออนไลน์ออกจากสังคมออฟไลน์ได้อย่างไร ในเมื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน (และก็แทบจะเมื่อมันเกิดขึ้นมาไม่นานมานึ้นี่เอง) ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากอย่างสมบูรณ์ คนจำนวนมากอาศัยโลกออนไลน์ในการดำรงชีพ หากขาดซึ่งโลกออนไลน์ ชีวิตของคนจำนวนมากก็แทบจะเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว หากจะไม่ถึงกับดำรงอยู่แทบจะไม่ได้

ดังนั้นการแบ่งแยกโลกในกับนอกพื้นที่ออนไลน์จึงไม่ถูกต้องอีกต่อไป เพราะโลกออนไลน์เป็นหนึ่งในข่ายใยทางสังคมที่ครอบคลุมพื้นที่นอกและในพื้นที่ออนไลน์ ในหลายๆ ลักษณะ

III. สู่ออนไลน์ศึกษา

เราอาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า เมื่อเกิดสังคมออนไลน์ขึ้นมาแล้ว ได้เกิดการปฏิวัติอะไรขึ้นมาอย่างพลิกผัน หรือว่าสังคมออนไลน์เป็นได้อย่างมากก็เพียงหนึ่งในลักษณะทั่วไปของสังคมโลกาภิวัตน์ กระนั้นก็ตาม ในการศึกษาสังคมออนไลน์ ก็มีหลายๆ ประเด็นที่เราจะต้องคิดถึงเป็นพิเศษของมันเอง

ผมเองเผชิญหน้ากับปัญหาการศึกษาโลกออนไลน์เมื่อคุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เข้ามาศึกษาโครงการปริญญาโทมานุษยวิทยา แล้วถามผมว่า “จะศึกษาสังคมออนไลน์ด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาได้อย่างไร” ผมไม่ทราบจะตอบอย่างไร เพราะไม่รู้ว่านักมานุษยวิทยาจะเดินเข้าไปในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร จึงต้องมานั่งอ่านหนังสือกับคุณอาทิตย์และเพื่อนๆ เขาอีกหลายคนไปหนึ่งภาคการศึกษา

แน่นอนว่าข้อจำกัดทางวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาหลังกระแสโพสโมเดิร์นได้พาเรามาสู่พื้นที่ใหม่ๆ ของการทำงานทางมานุษยวิทยามากมาย แน่นอนว่าการศึกษาหมู่บ้าน การศึกษาเฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ุ การค้นหาอัตลักษณ์ที่ตายตัว การค้นหาวัฒนธรรมที่แท้จริง การจมจ่อมอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างยาวนาน ความเชื่อมั่นต่อความเป็นวิทยาศาสตร์ของการศึกษาทางมานุษยวิทยา การตัดอคติ อารมณ์ ความรู้สึกออกจากการศึกษามนุษย์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ล้าหลัง ไม่มีใครเขาสอนประเด็นเหล่านี้กันอีกต่อไปในวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยา (หากใครยังสอนแบบนั้นอยู่ ผมก็ขออภัยด้วย แต่ผมไม่สอนแล้ว หากจะสอนก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยา)

แต่ในยุคที่ผมศึกษาอยู่ในห้องเรียนเมื่อปลายทศวรรษ 1990 นั้น George E. Marcus (1995) รวมทั้ง James Ferguson และ Akhil Gupta (Ferguson and Gupta 1997) และ Arjun Appadurai (1996) ผู้เป็นแนวหน้าของนักมานุษยวิทยาที่คิดถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ศึกษาของมานุษยวิทยาอย่างจริงจัง ยังไม่ได้เอ่ยถึงสังคมออนไลน์เลยแม้แต่น้อย อย่างมากพวกเขาก็ทำให้เราคิดถึงแนวทางในการศึกษารัฐ-ชาติและโลกาภิวัตน์ในเชิงมานุษยวิทยา แต่เมื่อมาเจอกับการอัปสเตตัส การโหลดบิต การซื้อ-ขายไอเทมในเกมส์ออนไลน์ อย่าว่าแต่ผมจะรู้วิธีศึกษามันเลย ระดับของการเป็นผู้ใช้พื้นที่ออนไลน์ของผมยังอยู่ในยุคที่เพียงรู้จักใช้เครื่องมือยุคหินของโลกออนไลน์เท่านั้น

ด้วยความท้าทายใหม่ๆ จากโลกออนไลน์ ผมจึงต้องศึกษามากขึ้น และทำให้ได้คำถามมากมายในการศึกษาสังคมออนไลน์ของผมเอง ที่อาจแบ่งออกได้สองระดับ คือระดับวิธีวิทยาและระดับทฤษฎีสังคม

1) ระดับวิธีวิทยา โลกออนไลน์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และอาจจะรวมถึงวิทยาศาสตร์ มากมาย ทั้งในประเด็นของสถานะความเป็นจริง ความเป็นตัวตนของผู้ศึกษา ใครคือผู้ถูกศึกษา จะเข้าถึงความจริงทางสังคมในโลกออนไลน์ได้อย่าง ประเด็นที่สำคัญต่อสาขาวิชาอย่างสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ซึ่งใกล้ตัวผมมากที่สุด ก็คงจะได้แก่ปัญหาที่ว่า ผู้ศึกษาจะเข้าไปสังเกตการณ์ในโลกออนไลน์ได้อย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ดูได้จากอะไร ข้อมูลในโลกออนไลน์จะถือว่าเป็นข้อเท็จจริงได้เพียงไร

ในระดับของปรัชญาความรู้ หากโลกออนไลน์เป็นการสื่อสารที่มีทั้งอักขระและสื่อประเภทอื่นๆ เช่น สื่อทัศนาและสื่อทางเสียง แล้ว เราจะแยกการรับรู้เชิงอักขระออกจากการรับรู้เชิงมุขปาฐะอย่างไร ความรับรู้เชิงมุขปาฐะในรูปอักขระ (เช่นการเขียน “ภาษาเอ็ม”) จะเปิดเผยให้เห็นศักยภาพใหม่ๆ ในการหาความรู้ผ่านการสื่อสารของมนุษย์หรือไม่ เป็นต้น

2) ระดับทฤษฎีสังคม โลกออนไลน์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทฤษฎีสังคม หรือการคิดถึงสภาวะความเป็นสังคม ความเป็นวัฒนธรรม ความเป็นตัวตนของมนุษย์ ในหลายๆ มิติด้วยกัน เช่น

ความเปลี่ยนแปลงในเชิงเวลา นอกเหนือจากการที่โลกออนไลน์ย่นย่อเวลาในการเดินทาง ในการติดต่อสื่อสารแล้ว การใช้เวลาในโลกออนไลน์ยังน่าสนใจหลายประการ เช่น การสื่อสารแบบเครือข่ายทางสังคมอย่างเฟซบุ๊กที่เป็นการพูดคุย หยอกล้อกันผ่านอักษร โดยเขียนทิ้งไว้ เหมือนกระดานที่มีคนมาคอยทิ้งข้อความไว้ แล้วอีกคนก็เข้ามาตอบต่อข้อความไปเรื่อยๆ เป็นการเชื่อมคนที่มีเวลาว่างไม่ตรงกัน ให้ได้คุยกันข้ามเวลาว่างของแต่ละคน ในแง่นี้ การใช้เวลาว่างปะปนกับงาน ที่ทำให้หลายคนเมื่อนั่งอยู่หลังจอคอมพิวเตอร์แล้ว ดูราวกับว่าทำงาน แต่กำลังเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อนๆ อยู่ ทำให้สังคมเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับงานและเวลาว่างไปอย่างไร มีผลต่อการทำงานและการพักผ่อนอย่างไร เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงในเชิงสถานที่ ดูเหมือนว่าโลกออนไลน์จะไร้พรมแดน แต่โลกออนไลน์มีพรมแดนทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร หลากต่อหลายคนพบว่า อันที่จริงแล้วโลกออนไลน์มันหางไกลจากความไร้พรมแดนมาก ดังจะเห็นได้จากการที่โลกออนไลน์ทั่วโลกถูกควบคุมโดยรัฐ ตลอดจนโครงสร้างอำนาจและการควบคุมทางสังคมของชาวออนไลน์เองที่วางกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ก็เพราะว่า สังคมออนไลน์ไม่ได้สร้างขึ้นมาจากสุญญากาศ สังคมออนไลน์สร้างมาจากขอบเขตทางวัฒนธรรมและขอบเขตทางอำนาจ สังคมออนไลน์จึงมีพรมแดน แม้ว่าเราจะไม่สามารถขีดเส้นพรมแดนนั้นได้อย่างชัดเจนนักก็ตาม แต่นักวิจัยสังคมออนไลน์ก็หาพรมแดนนั้นได้เสมอ นอกจากนั้น ในแง่พื้นที่ น่าสนใจหากจะคิดว่า การใช้พื้นที่ออนไลน์ได้เปลี่ยนวิถีของการใช้พื้นที่ออฟไลน์ของคนในแต่ละสังคมไปอย่างไรบ้าง เราเดินทางน้อยลงหรือไม่ หรือเดินทางไปไหน เรานั่งทำงานที่ไหน นั่งเล่นที่ไหน การใช้พื้นที่ออฟไลน์อันเนื่องมาจากการอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้การใช้ และสำนึกรับรู้ต่อพื้นที่บ้าน พื้นที่เมือง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในอนาคตเราจะจินตนาการผังเมืองหรือการออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงการมีอยู่ของพื้นที่ออนไลน์อย่างไรหรือไม่ พื้นที่ซ้อนทับดังกล่าวเป็นอนาคตที่ยาวไกลจากปัจจุบันแค่ไหน

ความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม เกิดคำถามมากมายว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์จอมปลอมหรือของจริง หรืออันที่จริงโลกออนไลน์ไม่ไร้ทิศทาง ไม่เป็นโลกที่เสรีนัก ดังนั้นจึงอาจไม่เป็นดังที่หลายคนหวังว่าจะเป็นพื้นที่ใหม่ของสาธารณชนในอันที่จะสร้างอาณาบริเวณสาธารณะแบบใหม่ๆ ขึ้นมา

ความเป็นวัตถุและโลกทางวัตถุกับโลกวัฒนธรรม โลกออนไลน์ทำให้ความเป็นเจ้าของ ความเป็นปัจจัยการผลิตและการบริโภค เปลี่ยนแปลงไป ความเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมว่า การเปิดกว้างของโลกออนไลน์เป็นภาวะลวง เพราะคนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ ไม่ใช่ด้วยเพียงข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ไม่ใช่ด้วยความหวาดกลัวเทคโนโลยี แต่คือข้อจำกัดในการครอบครองหรือเข้าถึงวัตถุหรือปัจจัยการผลิตวัฒนธรรมโลกออนไลน์

คำถามมากมายเหล่านี้และจะมากมายกว่านี้ คงจะได้รับการพิจารณาในการสัมมนาครั้งนี้

IV. สรุป

ผมหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะสามารถคลายความวิตกกังวล ชี้ให้เห็นถึงชีวิตทางสังคมที่สังคมออนไลน์มีบทบาทจริงๆ ตลอดจนสามารถลด (หรืออาจจะเพิ่ม) ความสับสน และความเฟ้อฝันแบบลมๆ แล้งๆ ต่อโลกออนไลน์ ตลอดจนเป็นการช่วยเริ่มต้นทำความเข้าใจอุปสรรคและโอกาสใหม่ๆ ของโลกออนไลน์ในบริบทของผู้ใช้ผู้อาศัยในโลกออฟไลน์ชาวไทยอย่างเป็นระบบขึ้น

ขอบคุณผู้จัด ที่ให้เกียรติคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดร่วมจัดงาน และขอเปิดงานสัมมนา “เวทีวิชาการสาธารณะเพื่อพัฒนางานวิจัย ‘ออนไลน์ศึกษา’” อย่างเป็นทางการครับ

เอกสารอ้างอิง

  • Gupta, Akhil, and James Ferguson. 1997. Anthropological locations: boundaries and grounds of a field science. University of California Press.
  • Appadurai, Arjun. 1996. Modernity at large: cultural dimensions of globalization. University of Minnesota Press.
  • Harvey, David. 1989. The condition of postmodernity: an enquiry into the origins of cultural change. Blackwell.
  • Marcus, George E. 1995. Technoscientific imaginaries: conversations, profiles, and memoirs. University of Chicago Press.

Download (PDF, 51KB)

—-

คำกล่าวเปิดงานสัมมนา เวทีวิชาการสาธารณะเพื่อพัฒนาคำถามวิจัย “ออนไลน์ศึกษา” 29 พฤศจิกายน 2553 ณ โครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 ตึกสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งเวทีวิชาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลเน็ตติเซ่นมาราธอน 2553 https://thainetizens.org/marathon

Tags: