อย่าโทษคนนำสาร: ภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางและการคุ้มครองหลักการของอินเทอร์เน็ต

2010.08.03 03:51

บทความแปลจาก Don’t Blame the Messenger: Intermediary liability and protecting Internet platforms โดย ซินเธีย หว่อง (Cynthia Wong), 29 กรกฎาคม 2553

การกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาไม่พึงปรารถนาที่ถูกเผยแพร่โดยผู้ใช้บริการเป็นการหน่วงการเกิดนวัตกรรมและการขยายตัวของเทคโนโลยีการสื่อสาร

คุณหว่องเป็นผู้ที่ได้รับทุน รอน เพลสเซอร์ (Ron Plesser Fellowship – ทุนสำหรับนักกฎหมายที่มีความสนใจด้านความเป็นส่วนตัวและนโยบายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต) และเป็นนิติกรที่ศูนย์นโยบายเพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี (Center for Democracy and Technology – CDT) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนสาธารณประโยชน์ที่อุทิศตนเพื่อการดูแลให้อินเทอร์เน็ตมีความเปิดกว้าง แปลกใหม่ และเสรี คุณหว่องช่วย CDT ดำเนินงานด้านเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตสากล บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร อีเจอร์นัล ยูเอสเอ (eJournal USA) ของสำนักงานแผนงานสารสนเทศนานาชาติ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในฉบับ “จำกัดความเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

เมื่อศาลอิตาลีได้ตัดสินให้ยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิล (Google) ต้องรับผิดสำหรับวิดีโอที่ถูกอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์โดยผู้อื่น มันกลายเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งของภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลาง กูเกิลซึ่งเป็นผู้ให้บริการพื้นที่เก็บวิดีโอคือสื่อตัวกลางระหว่างผู้สร้างวิดีโอคลิปและผู้ชม ตัวอย่างของสื่อตัวกลางแบบอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider – ISP) ผู้ให้บริการพาณิชอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) และผู้ให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเช่น ออร์คัต (Orkut) เฟซบุค (Facebook) และยูทูบ (YouTube) บริการเหล่านี้ได้ให้พื้นที่เปิดอันมีค่าสำหรับเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยผู้ใช้เอง ซึ่งส่วนมากไม่เก็บค่าบริการและผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาก

ธรรมชาติที่เปิดกว้างของบริการเหล่านี้ย่อมหมายความว่ามันสามารถถูกใช้ในทางที่แย่ได้เช่นเดียวกับทางที่ดี รัฐบาลที่ต้องการปิดกั้นการแสดงออกอย่างเสรีหรือต้องการจัดการพฤติกรรมบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นอันตรายมักจะหาวิธีกดดัน ข่มขู่ หรือกำหนดอย่างมีเลศนัยให้สื่อตัวกลางทางอินเทอร์เน็ตต้องมีภาระรับผิดทางกฎหมายต่อเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยผู้อื่น วิธีหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้พลเมืองเผยแพร่วิดีโอคัดค้านทางการเมืองก็คือการกำหนดให้ยูทูบต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ผู้ใช้เผยแพร่นั่นเอง

ความยุติธรรมเกี่ยวกับภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางมักจะไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นนี้ บางครั้งแม้แต่รัฐบาลที่มีเจตนาดีก็ยังพยายามจำกัดพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผิด เช่น เรื่องอนาจาร การหมิ่นประมาท คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง การละเมิดความเป็นส่วนตัว (ดังเช่นในกรณีของกูเกิลที่อิตาลี) หรืออาชญากรรม มันเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมการผลักภาระรับผิดทางกฎหมายให้สื่อตัวกลางจึงเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจ ก็เพราะสื่อตัวกลางนั้นมักจะมีขนาดใหญ่โตและระบุตัวได้ง่าย ต่างกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปที่อาจจะตามตัวได้ยากและหลายครั้งอาจอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจศาลหนึ่ง ๆ (แม้ว่านี่ไม่ใช่ประเด็นของคดีที่อิตาลีก็ตาม)

ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะผลักภาระรับผิดทางกฎหมายให้แก่สื่อตัวกลาง ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นตามมาต่อกระแสข้อมูลและการเติบโตของอินเทอร์เน็ตนั้นมีมากกว่าประโยชน์ที่เข้าใจได้ ประการแรก เสรีภาพในการแสดงออกจะถูกจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่นบริการเครือข่ายสังคมที่อาจต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางทรัพย์สินอันเกิดจากเนื้อหาที่ไม่น่าพอใจที่ถูกเผยแพร่โดยผู้อื่น ย่อมต้องการคัดกรองเนื้อหาก่อนการเผยแพร่ สื่อตัวกลางจะป้องกันตัวเองล่วงหน้าจากสิ่งที่ผู้ใช้อาจเผยแพร่ โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายที่กำหนด “เนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นั้นมีความคลุมเครือและกว้างเกินไป หรือเมื่อเนื้อหานั้นไม่เป็นที่พึงปรารถนา มันปลอดภัยกว่ามากที่จะเอาเนื้อหาที่สร้างความขัดแย้งออกแทนที่จะท้าทายคำสั่งศาลให้เอาออก ในหลายกรณี ภาระหน้าที่นี้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงเกินกว่าผู้ให้บริการจะรับไหวจนไม่สามารถให้บริการได้เลย

ประการที่สอง ภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางนั้นขัดขวางการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลและบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการสกัดกั้นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะไม่ลงทุนในเทคโนโลยีที่อาจนำมาซึ่งภาระรับผิดทางกฎหมาย ในอนาคตโลกอาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นนวัตกรรมอย่างทวิตเตอร์ (Twitter) อีเบย์ (eBay) หรือบริษัทเกิดใหม่อื่น ๆ ที่สร้างความหวังว่าจะช่วยลดราคาและเชื่อมโยงตลาดโลก หรือกลุ่มริเริ่มใหม่ ๆ ที่อาจช่วยเพิ่มการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการศึกษา หรือในอีกทางหนึ่งก็ช่วยกระตุ้นการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่กว้างขวางกว่าเดิม ลึกซึ้งกว่าเดิม และยุติธรรมกว่าเดิม

หนทางสู่ภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลาง

ข้อตกลงทางนโยบายในช่วงแรก ๆ นั้นเกิดจากคำถามที่มีต่อความยุติธรรมของภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายสองมาตราที่จัดการกับความกังวลเหล่านี้ มาตรา 230 แห่งรัฐบัญญัติว่าด้วยการสื่อสาร โดยปกติแล้วคุ้มกันสื่อตัวกลางจากคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ในเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยผู้อื่น เช่น ความเลินเล่อ การหมิ่นประมาท และการฝ่าฝืนทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา มาตรา 512 แห่งรัฐบัญญัติว่าด้วยลิขสิทธิ์ดิจิทัลแห่งสหัสวรรษ ได้กำหนด “ข้อยกเว้นความรับผิด” (safe harbour) ให้แก่ผู้ให้บริการออนไลน์หากพวกเขาทำตามข้อกำหนดบางอย่างซึ่งรวมไปถึงการเอาเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎหมายออกเมื่อถูกแจ้งให้ทราบโดยผู้ถือครองลิขสิทธิ์ หรือที่เรียกว่ามาตรการ “แจ้งเพื่อให้ลบออก” (Notice-and-Takedown)

เช่นเดียวกัน สหภาพยุโรปคุ้มครองสื่อตัวกลางหลายประเภท ได้แก่ ตัวกลางที่ “เป็นเพียงท่อเชื่อมต่อ” (Mere Conduits) ในการส่งข้อมูล บริการ “เก็บชั่วคราว” (Caching) ที่ให้พื้นที่เก็บข้อมูลชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการส่งต่อ และบริการ “รับฝาก” (Hosting) ที่จะลบเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายออกทันที่ที่ทราบว่ามี เนื่องจากนโยบายของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปโดยทั่วไปไม่ได้บังคับให้สื่อตัวกลางต้องคอยจับตาดูเนื้อหาหรือค้นหาการใช้งานที่ขัดต่อกฎหมาย นโยบายเหล่านี้จึงช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ หากผู้ให้บริการต้องมีภาระรับผิดทางกฎหมายแล้ว พวกเขาอาจรู้สึกว่าถูกผลักดันให้ต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้มากกว่าเดิม และนานกว่าเดิม

รัฐบาลจีนคือหนึ่งในผู้ที่ใช้วิธีที่แตกต่างออกไปอย่างมาก โดยการกำหนดภาระรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายให้กับทุกบุคคลที่ทุกระดับของการเชื่อมต่อตั้งแต่ผู้ใช้ไปจนถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ผู้ให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมไปจนถึงผู้ให้บริการพื้นที่บนอินเทอร์เน็ต หากสื่อตัวกลางใดยินยอมให้ผู้ใช้เผยแพร่เนื้อหาที่ “เป็นอันตราย” หรือไม่สามารถจับตาดูการใช้งานระบบได้ดีพอ พวกเขาก็อาจจะต้องรับผิดทางอาชญากรรม หรือถูกยกเลิกใบอนุญาตประกอบการ นอกจากนี้รัฐบาลยังให้คำจำกัดความของเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายไว้อย่างคลุมเครือและกว้างเกินไป ผู้ให้บริการบล็อกอย่างบล็อกเกอร์ดอตคอม (Blogger.com) จะตัดสินว่าข้อความไหน “เป็นอันตราย” หรือสร้างความเสียหายต่อ “ผลประโยชน์ของชาติ” ได้อย่างไร? วิธีการที่จีนกำหนดภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางนั้นเป็นปัจจัยสำคัญของระบบควบคุมข้อมูลข่าวสารออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

การจัดการกับความกังวลที่อาจเกิดขึ้น

ข้อโต้แย้งอย่างหนึ่งที่มีต่อการคุ้มครองสื่อตัวกลางก็คือความกลัวว่าการแสดงออกที่ไม่พึงปรารถนาและเป็นอันตรายอย่างแท้จริงจะเพิ่มขึ้นในโลกออนไลน์ แต่กระนั้นแล้วรัฐบาลก็มีเครื่องมือมากมายอยู่แล้วที่จะจัดการกับความกังวลเหล่านี้ และในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อการแสดงออกที่ชอบด้วยกฎหมายและนวัตกรรมอย่างน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจจะส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแก่การที่ผู้ใช้อาสาใช้ซอฟต์แวร์ช่วยคัดกรองเนื้อหาอนาจารและเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ บางประเทศก็กำหนดมาตรการแจ้งเพื่อให้ลบออกเช่นเดียวกับที่ใช้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกาและกฎหมายในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม มาตรการแจ้งเพื่อให้ลบออกนี้ถูกใช้อย่างผิด ๆ บ่อยครั้งในการสั่งปิดปากผู้วิจารณ์ โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าเนื้อหาที่ถูกตั้งข้อสงสัยนั้นขัดต่อกฎหมายจริงหรือไม่ (เช่นในกรณีของการทำให้เสียชื่อเสียง) ท้ายที่สุดแล้วสื่อตัวกลางสามารถจะอาสาลบเนื้อหาที่เป็นอันตรายออกจากบริการของตนเอง (เช่นข้อความโฆษณาหรือเนื้อหาทางเพศที่โจ๋งครึ่ม) โดยที่ไม่ต้องมีการมอบหมายจากรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าการคุ้มครองสื่อตัวกลางนั้นก็ดำเนินไปด้วยกันได้กับการมุ่งไปสู่เป้าหมายอื่น ๆ ทางสังคมที่สำคัญ

ความกังวลอีกประการหนึ่งคือการที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องสามารถที่จะตามจับผู้กระทำความผิดได้ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องสามารถที่จะหาเหตุผลมากล่าวหาผู้ที่ทำอันตรายต่อตน ลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญของหลักการในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคือ การคุ้มครองนี้มีให้เพียงแต่สื่อตัวกลางเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ที่สร้างหรือเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์แต่แรก ไม่มีส่วนใดในกฎหมายของทั้งสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปที่ห้ามการฟ้องร้องหรือกล่าวหาผู้กระทำความผิดตัวจริง หน้าที่ที่เหมาะสมอย่างหนึ่งของสื่อตัวกลางอาจเป็นการให้ความร่วมมือในการตามหาผู้กระทำความผิดตามคำสั่งศาล ตามขั้นตอนที่มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความเป็นนิรนามในระดับหนึ่ง

บทสรุป

การคุ้มครองสื่อตัวกลางจากภาระรับผิดทางกฎหมายมีความสำคัญต่อการคงสภาพอินเทอร์เน็ตไว้ในฐานะเครื่องมือของการแสดงออกอย่างเสรีและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเป็นสิ่งขับดันนวัตกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป หากความกังวลเกี่ยวกับภาระรับผิดทางกฎหมายทำให้เว็บไซต์ที่ให้บริการเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้หรือแหล่งอภิปรายทางสังคม เศรษฐกิจ และการแสดงออกทางการเมืองต้องปิดตัวลง ผลเสียจะเกิดขึ้นกับเราเอง ในทางกลับกันรัฐบาลควรจะส่งเสริมและประกาศใช้นโยบายที่คุ้มครองสื่อตัวกลางในฐานะผู้ทำให้เกิดนวัตกรรม สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ

ข้อคิดเห็นในบทความนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องสะท้อนให้เห็นมุมมองหรือนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

Download (PDF, 56KB)

Tags: