2018.03.25 22:40
ความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …
(รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2561 – 25 มีนาคม 2561)
เครือข่ายพลเมืองเน็ต 25 มีนาคม 2561
1. นิยาม “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ที่ควรเจาะจงถึงสภาวะของระบบคอมพิวเตอร์ และภัยคุกคามต่อตัวระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์
ร่างฯ มาตรา 3 ระบุว่า
“ไซเบอร์” หมายความว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์การสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์
“ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” หมายความว่า มาตรการและการดำเนินการเพื่อปกป้อง ป้องกัน การส่งเสริม เพื่อรับมือและแก้ไขสถานการณ์ด้านภัยคุกคามที่จะส่งผลต่อไซเบอร์ โดยเฉพาะการให้บริการด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบกิจการสาธารณะสำคัญ ซึ่งเป็นเครือข่ายในระดับประเทศ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางการทหารความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
เสนอแก้ไขเป็น
“ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” หมายความว่า สภาวะที่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย การสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระดับประเทศที่ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานและกิจการสาธารณะสำคัญ มีความพร้อมใช้ ไม่มีการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีความคงสภาพตามที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ร่างมาตรา 5 ระบุว่า
มาตรา 5 การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติต้องดำเนินการ เพื่อปกป้อง รับมือ ป้องกันและลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทหาร หรือที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศทางไซเบอร์ในภาพรวม ให้มีความเป็นเอกภาพ โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี
เสนอแก้ไขเป็น
มาตรา 5 การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติต้องดำเนินการ เพื่อปกป้อง รับมือ ป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดความเสียหายจากสถานการณ์ภัยคุกคามอันกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ให้มีความเป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี
เหตุผล
- ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นสภาวะพึงประสงค์ที่ระบบทำงานไม่ติดขัด ส่วนมาตรการคือวิธีการเพื่อรักษาให้มีสภาวะดังกล่าว
- รวมนิยาม “ไซเบอร์” และ “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” เข้าด้วยกัน โดยใช้คำว่า “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” เพื่อความเจาะจง แทนคำว่า “ความมั่นคงของประเทศทางไซเบอร์” ซึ่งจะถูกใช้ในมาตราอื่นๆ ด้วย
2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ร่างมาตรา 6 (3) ระบุว่า
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและความสามารถเป็นที่ประจักษ์ด้านด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านนิติศาสตร์ ด้านการทำคดีการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม หรือดาวเทียม ด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
เสนอแก้ไขเป็น
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ในด้าน (ก) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ การประกันสารสนเทศ (ข) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือดาวเทียม การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ค) นิติศาสตร์ การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (ง) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ (จ) ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยหนึ่งคนจากด้าน (ก) อย่างน้อยหนึ่งคนจากด้าน (ข) อย่างน้อยหนึ่งคนจากด้าน (ค) และอย่างน้อยหนึ่งคนจากด้าน (ง)
เหตุผล
- เพิ่มด้านการประกันสารสนเทศ (information assurance) และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นแง่มุมสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ความลับและความคงสภาพของข้อมูล)
- กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านต่างๆ
3. หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการในการเสนอแนะและให้ความเห็น
ร่างฯ มาตรา 7 (6) ระบุว่าให้คณะกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(6) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุมัติแผนงาน โครงการ หรือการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ และการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมถึงการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้การดำเนินการปกป้อง รับมือ ป้องกันและลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งจากภายในและภายนอกประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
เสนอแก้ไขเป็น
(6) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุมัติแผนงาน โครงการ หรือการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ และการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมถึงการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการปกป้อง รับมือ ป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดความเสียหายจากสถานการณ์ภัยคุกคามอันกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติทั้งจากภายในและภายนอกประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
เหตุผล
- เนื่องจากร่างมาตรา 5 ระบุให้ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติต้องดำเนินการ […] โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ” และร่างมาตรา 7 ระบุให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ยังไม่ได้เขียนให้มีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะให้ความเห็นต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติในแบบเดียวกัน
- ควรให้คณะกรรมการสามารถให้ความเห็นต่อสภาความมั่นคง เนื่องจากคณะกรรมการต้องทำงานให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายจากสภาความมั่นคงจึงควรมีช่องทางในการสื่อสารทั้งสองทิศทาง จากสภาความมั่นคงสู่คณะกรรมการ และจากคณะกรรมการสู่สภาความมั่นคง
4. อำนาจและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เป็นโดยด้วยวิธีพิเศษตามมาตรา 50
ร่างระบุฯ ว่า
มาตรา 50 เพื่อประโยชน์ในการประสานงานหรือการปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติภารกิจเพื่อตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงทางทหารเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
เสนอแก้ไขเป็น
มาตรา 50 ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการประสานงานหรือการปฏิบัติการ ให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์หรือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด และได้รับมอบหมายในการปฏิบัติภารกิจเพื่อตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติที่กระทบต่อความมั่นคงทางทหาร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ให้มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เฉพาะในส่วนที่กระทบความมั่นคงทางทหารตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
เหตุผล
- เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 50 จะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 50) และอาจได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามที่รัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 49) จึงควรจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 49
- เนื่องจากการมอบหมายภารกิจแก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ทำโดยรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัตินี้ จึงควรจำกัดอำนาจและหน้าที่ให้มีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น (ลักษณะเดียวกับมาตรา 23 วรรคสี่ ของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547)
5. เงื่อนไขในการใช้อำนาจและการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในมาตรา 47
ร่างฯ มาตรา 47 ระบุว่า
มาตรา 47 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(2) มีหนังสือขอให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลใดๆ ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
(3) เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด หรือดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ให้ยื่นคำร้องเพื่อขอคำสั่งศาลในการปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนหากไม่ดำเนินการในทันทีจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติของคณะกรรมการ ดำเนินการไปก่อนแล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่ภาคเอกชนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ขอความร่วมมือ ให้เสนอคณะกรรมการ พิจารณา เพื่อเสนอให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล พิจารณาลงโทษโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย ประกาศ ข้อบังคับอื่นใดที่มีอยู่
การดำเนินการตาม (3) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
เสนอแก้ไขเป็น
มาตรา 47 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(2) มีหนังสือขอความร่วมมือให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลใดๆ ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
(3) เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด หรือดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ให้ยื่นคำร้องโดยระบุเหตุผล ผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลหรืออุปกรณ์ และความจำเป็น ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อขอคำสั่งศาลในการปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ
ในกรณีที่ภาคเอกชนไม่ปฏิบัติตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามหรือขอความร่วมมือตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อแจ้งให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานเอกชนดังกล่าวได้รับทราบ
การพิจารณาออกคำสั่งศาลตามวรรคหนึ่ง (3) ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาสั่งอนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวันโดยกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ โดยให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล หรือสิทธิอื่นใดประกอบกับเหตุผลและความจำเป็นดังต่อไปนี้
(1) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีภัยคุกคามหรือจะมีภัยคุกคามที่จะกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
(2) มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะได้ข้อมูลข่าวสารที่สามารถใช้ยับยั้งภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติดังกล่าวได้
(3) มาตรการตามคำร้อง และขอบเขตและระยะเวลาของมาตรการดังกล่าว ได้สัดส่วนกับขนาดและความร้ายแรงของภัยคุกคาม และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ยื่นคำร้องสามารถจำกัดการดำเนินมาตรการให้อยู่ในขอบเขตและระยะเวลาตามที่ร้องขอได้
(4) ไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้
ภายหลังที่ศาลมีคำสั่ง หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุผลความจำเป็นไม่เป็นไปตามที่ระบุ หรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติตามคำร้องในวรรคหนึ่ง (3) ได้สิ้นสุดลง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าหากไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (3) ในทันทีจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอย่างร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติของคณะกรรมการ ดำเนินการไปก่อนเฉพาะเท่าที่จำเป็น แล้วรายงานให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทราบโดยเร็วภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง
การดำเนินมาตรการตามวรรคหนึ่ง (3) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้รายงานผลการดำเนินมาตรการต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทุกสิบห้าวัน
บรรดาข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาเฉพาะข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติซึ่งได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง และให้ใช้ประโยชน์ในการรักษาหรือยับยั้งภัยคุกคามหรือใช้เป็นพยานหลักฐานถึงภัยคุกคามดังกล่าวเท่านั้น ส่วนข้อมูลข่าวสารอื่นให้ทำลายเสียทั้งสิ้น และให้แจ้งถึงการทำลายดังกล่าวกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดทราบ
เหตุผล
- มาตรา 54 ได้กำหนดโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในมาตรา 47 ไว้แล้ว จึงไม่ควรกำหนดโทษซ้ำอีกในมาตรา 47
- เพิ่มข้อพิจารณาถึงผลกระทบถึงสิทธิและความจำเป็น เพื่อให้ศาลพิจารณาในการตรวจสอบการใช้อำนาจ (ลักษณะเดียวกับมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน)
- เพิ่มเรื่องการทำลายเอกสารแลข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคาม (ลักษณะเดียวกับมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105/1 วรรค 7)