2010.09.07 02:35
โดย พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ และ นิธิมา คณานิธินันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตีพิมพ์เมื่อ มีนาคม 2547
ในโครงการ “การปฏิรูประบบสื่อ: การกํากับดูแลเนื้อหาโดยรัฐ การกํากับดูแลตนเอง และสื่อภาคประชาชน”
สนับสนุนการวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
by Pirongrong Ramasoota Rananand and Nithima Kananidhinan, Chulalongkorn University
published March 2004
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการกํากับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตจัดทําขึ้นเพื่อนําเสนอแนวคิด บทบาทขององค์กร ตลอดจนกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการกํากับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศและในประเทศไทย เพื่อนําไปใช้วิเคราะห์ปัญหาและนําเสนอแนวทางสําหรับผู้บริหารนโยบาย ทั้งนี้ โดยใช้การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง การสํารวจความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม และการสํารวจเอกสาร เป็นวิธีการหลักในการวิจัย
เมื่อพิจารณาจากกลไกหลักที่ใช้ในการกํากับดูและเนื้อหาอินเทอร์เน็ต อันประกอบด้วย กฎหมาย มาตรการ บทลงโทษ (Legal sanction) การปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหา (Blocking and filtering system) กฎ กติกา มารยาท (Codes of conduct) สายด่วน (Hotlines) และการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) พบว่าประเทศต่าง ๆ ได้ใช้กลไกดังกล่าวนี้ผสมผสานกันในการกํากับดูแลในประเทศของตน ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ใช้การบังคับด้วยกฎหมาย และการปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์เป็นแนวทางหลักโดยกระทําผ่าน Singapore Broadcasting Authority (SBA) ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้แนวนโยบายที่เปิดกว้างและให้ภาคเอกชนเป็นผู้นําในการกํากับดูแลกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เพื่อวางกฏหรือกติกากลางในการกํากับดูแลเนื้อหาและพฤติกรรมทางอินเทอร์เน็ต และในส่วนของสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการพัฒนาและรับรองแผนการสร้างอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยกว่าใน EU (EU Safer Internet Action Plan) โดยเป็นแนวทางของการสร้างวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบร่วมกันในการใช้อินเทอร์เน็ต
สําหรับประสบการณ์ของประเทศไทยนั้น การกํากับดูแลอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานกํากับดูแลใหม่ ชื่อว่า คณะกรรมการสืบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือ Cyber-inspector ซึ่งทําหน้าที่ตรวจสอบดูแลเนื้อหาที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต และเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะปิดกั้นเว็บไซต์อะไรบ้าง และในแง่กฎหมายของไทย ยังไม่มีกฎหมายใดควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ตโดยตรงออกมาบังคับใช้ จึงต้องอาศัยกฎหมายที่มีอยู่เดิมปรับใช้เป็นกรณี ๆ ไป ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีความพยายามในการกํากับดูแลตนเองของภาคอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ร่วมกันพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพสําหรับสมาชิกสมาคมฯ ผู้ให้บริการเว็บไซต์แต่ละรายมีการกําหนดกลไกการตรวจสอบเนื้อหาภายในเว็บไซต์ ชมรมผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่จัดทํา “โครงการร้านอินเทอร์เน็ตที่ดี” ร่วมกับกระทรวงไอซีที ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีบริการ package ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ในส่วนของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายความร่วมมือของนักกิจกรรมและนักวิชาการ รวมไปถึงกลุ่มผู้ปกครองที่มีความห่วงใยก็มีบทบาทสําคัญในการสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มากับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันโรงเรียน มหาวิทยาลัย และเครือข่ายการศึกษาอื่น ๆ ต่างก็แสดงบทบาทของตนโดยเฉพาะในการส่งเสริมให้มีจรรยาบรรณในการใช้อินเทอร์เน็ต (etiquette) ในแต่ละบริบทที่เกี่ยวข้องของตน
ในท้ายที่สุดรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า รูปแบบการกํากับดูแลที่ควรได้รับการส่งเสริมต่อไปในอนาคตคือ การสร้างวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบร่วมกัน การปิดกั้นเว็บไซต์ และการใช้กฎหมายเป็นหลักไม่น่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในระยะยาวเพราะคุณลักษณะเฉพาะทางเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงควรปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาทีาผิดกฎหมาย และควรใช้ภายใต้หลักการ “แจ้งให้ทราบแล้วเอาออก” (notice and take-down) อย่างไรก็ดี การกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นอันตรายควรจะทําในระดับผู้ใช้เท่านั้น เพื่อไม่เป็นการไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ และการแสดงออกของผู้อื่นในระบบ
Tags: Article 19, press freedom