ภาระรับผิดทางกฎหมายของตัวกลาง: ปกป้องพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมการแสดงออกและสร้างสรรค์นวัตกรรม

2010.05.28 16:08

แปลจาก “Intermediary Liability: Protecting Internet Platforms for Expression and Innovation”, Center for Democracy & Technology, เมษายน 2553 โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ สฤณี อาชวานันทกุล

บทคัดย่อ

1) ตัวกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในโลกอินเทอร์เน็ต

ในทุกๆ วัน นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐ นักหนังสือพิมพ์ นักการศึกษา และนักเรียน และประชาชนทั่วไป นับล้านๆ คนเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูล ผลิตและกระจายเนื้อหา และมีส่วนร่วมในกิจกรรมในแทบจะทุกๆ มิติของชีวิตส่วนตัวและสาธารณะ ดังตัวอย่างเช่น:

  • นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งอัพโหลดข่าวภัยธรรมชาติบนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ของเธอผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) จากนั้นประชาชนในท้องที่ก็เข้ามาแสดงความเห็นในเว็บไซต์
  • แพทย์คนหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโอด้วยภาษาท้องถิ่น โพสต์วิดีโอนั้นลงยูทูป และส่งลิงค์ผ่านเอสเอ็มเอส ไปที่คลินิก เพื่อให้คนไข้ที่อยู่ที่นั่นดู
  • ผู้ประกอบการท้องถิ่นคนขายอุปกรณ์ธุรกิจเหลือใช้ผ่านเว็บไซต์ประมูลออนไลน์
  • แม่บ้านคนหนึ่งเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ของชุมชนเพื่อตำหนิการให้บริการของธุรกิจท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รวมถึงกรณีอื่นๆ อีกมากมาย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องพึ่งพาตัวกลางทางเทคโนโลยีเพื่อส่งหรือฝากข้อมูลข่าวสาร ตัวกลางเหล่านี้รวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทที่ให้บริการฝากเว็บไซต์ ผู้ให้บริการออนไลน์ (อาทิ บล็อก ผู้ให้บริการอีเมล์ เว็บไซต์เครือข่ายสังคม และเว็บไซต์บริการรับฝากวิดีโอและภาพถ่าย) เสิร์ชเอ็นจิ้น และช่องทางการค้าอิเล็กโทรนิคส์ ตัวกลางเหล่านี้ให้บริการช่องทางสำหรับการค้า การแสดงออกส่วนบุคคล การสร้างชุมชน กิจกรรมทางการเมือง และการแพร่กระจายของความรู้

คุณลักษณะเปิดของอินเทอร์เน็ตย่อมหมายความว่า ผู้ใช้อาจจะใช้ตัวกลางเป็นพื้นที่ในการโพสต์เนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายหรือน่ารังเกียจ เป็นที่แน่ชัดว่า ใครก็ตามที่สร้างเนื้อหาที่มิชอบด้วยกฎหมายควรจะต้องรับโทษตามที่กำหนดในกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่ง อย่างไรก็ตาม มันก็มีเหตุผลดึงดูดให้หลายประเทศพยายามควบคุมเนื้อหาที่ไม่พึงปรารถนาโดยการลงโทษทั้งผู้ผลิตเนื้อหาและตัวกลางที่ให้บริการส่งหรือฝากเนื้อหานั้น สภาวะเช่นนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ภาระรับผิดของตัวกลาง” (intermediary liability) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาล (หรือภาคเอกชนผ่านการฟ้องร้อง) สามารถบังคับให้ตัวกลางทางเทคโนโลยี เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ ต้องร่วมรับผิดชอบต่อเนื้อหาผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายที่ผลิตโดยผู้ใช้หรือบุคคลที่สาม

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตแสดงให้เห็นว่า ภาระรับผิดของตัวกลางเป็นภัยคุกคามต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการแสดงออกอย่างเสรี การบังคับให้ตัวกลางต้องมีภาระร่วมรับผิดทำให้เป็นเรื่องยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับตัวกลางในการให้บริการราคาถูกหรือฟรี การคุ้มครองตัวกลางจากภาระรับผิดเป็นประเด็นสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารในโลกอินเทอร์เน็ต

2) นโยบายคุ้มครองตัวกลางจากภาระรับผิดของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

อินเทอร์เน็ตเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในประเทศที่จำกัดภาระรับผิดของตัวกลางทางเทคโนโลยีทั้งทางแพ่งและอาญา ที่โดดเด่นคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งในช่วงต้นของการพัฒนาอินเทอร์เน็ต ได้ใช้กรอบนโยบายที่ให้การคุ้มครองกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการฝากเว็บไซต์ และตัวกลางอื่นๆ จากภาระรับผิดต่อเนื้อหาที่ถูกส่งหรือฝากโดยบุคคลที่สามบนบริการของตนเอง

ในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมาย 2 ตัวที่ครอบคลุมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาระรับผิดของตัวกลาง นั่นคือ มาตรา 230 ในพระราชบัญญัติการสื่อสาร (Communication Act) และมาตรา 512 ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ในสื่อดิจิตอล (Digital Millennium Copyright Act – DMCA) มาตรา 230 ให้การคุ้มครองตัวกลางจากภาระรับผิดต่อเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ใช้ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม และผู้ให้บริการสื่อปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ก็ใช้มาตรานี้เพื่อป้องกันตัวเองจากข้อกล่าวหามากมาย รวมถึงความประมาทเลินเล่อ การฉ้อฉล การฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองสิทธิพลเมือง และการหมิ่นประมาท

กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างจากมาตรา 230 เล็กน้อย แต่ก็ยังจำกัดขอบเขตภาระรับผิดต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรา 512 ในกฎหมาย DMCA กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมี “พื้นที่ปลอดภัย” (safe harbor) และเพื่อให้เข้าข่ายในการได้รับความคุ้มครองจากพื้นที่ปลอดภัย ผู้ให้บริการต้องนำเอาเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกเมื่อได้รับคำเตือนจากเจ้าของลิขสิทธิ์

สหภาพยุโรปก็ให้การคุ้มครองกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน ภายใต้ประกาศการค้าอิเล็กโทรนิคส์ (Electronic Commerce Directive) ประกาศนี้ให้ความคุ้มครองกับตัวกลางใน 3 ลักษณะ:

  • การให้บริการในฐานะ “ท่อเชื่อมต่อในการส่งข้อมูลเท่านั้น” (Mere Conduits)
  • การให้บริการ “เก็บข้อมูลไว้เพียงชั่วคราว” (Caching) คือให้บริการเก็บข้อมูลชั่วคราวเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งข้อมูลเท่านั้น
  • การให้บริการ “รับฝาก” (Hosting) สำหรับเนื้อหาที่ถูกนำขึ้นโดยผู้ใช้ (user-submitted content) ถ้าไอเอสพีนั้นไม่มีเจตนาที่จะทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และนำเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายลงอย่างรวดเร็วทันทีที่รับรู้การมีอยู่ของเนื้อหาเหล่านั้น

ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปตระหนังกถึงประโยชน์จากการคุ้มครองตัวกลาง และการใช้นโยบายเหล่านี้ในช่วงนี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและขยายโอกาสไปสู่การค้าอิเล็กโทรนิคส์และการแสดงออกอย่างเสรี ซึ่งช่วยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างกว้างขวางมากขึ้น

3) ภาระรับผิดของตัวกลางบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการแสดงออกอย่างเสรี

ด้วยหลากหลายเหตุผล ปัญหาจากนโยบายที่บังคับให้ตัวกลางต้องมีภาระรับผิดต่อเนื้อหาที่ผลิตโดยคนอื่นนั้นคือ ความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การปิดกั้นเนื้อหาที่มีความชอบธรรมด้วย เหตุผลแรกคือ ภาระรับผิดต่อเนื้อหาของผู้ใช้ทำให้ตัวกลางไม่อยากเสี่ยงรับฝากเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้อื่น ในความเป็นจริง ภาระรับผิดทำให้ผู้บริการบางประเภทไม่สามารถให้บริการต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น ยูทูปไม่สามารถให้บริการได้หากต้องคอยตรวจสอบวิดีโอทุกชิ้นก่อนที่จะอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์

เหตุผลที่สองคือ ภาระรับผิดของตัวกลางสร้างแรงจูงให้เกิดการบล็อกเนื้อหาเกินความจำเป็น หนทางที่ปลอดภัยที่สุดคือการปฏิเสธให้ฝากเนื้อหา ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐหรือคู่ความที่เป็นเอกชนเรียกร้องให้บริษัทนำเนื้อหาออก ตัวกลางส่วนมากก็จะยอมตามข้อเรียกร้องนั้นโดยไม่พยายามท้าทายหรือปฏิเสธคำสั่งศาล แรงจูงใจนี้จะมีผลมากขึ้นเมื่อนิยามของคำว่าเนื้อหาที่ผิดกฎหมายกำกวมหรือกว้างเกินไป หรือเมื่อไม่สามารถบอกได้โดยง่ายว่าเนื้อหานั้นผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากตัวกลางมีแรงจูงใจเพียงน้อยนิดที่จะท้าทายคำร้องให้นำเนื้อหาออก ภาระรับผิดของตัวกลางยังอาจถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลหรือคู่ความเอกชนเอาเนื้อหาออกไปได้ด้วยเหตุผลที่ไม่ยุติธรรมเพียงพอ

เหตุผลสุดท้าย ภาระรับผิดของตัวกลางยังเป็นการลดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมในเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) บริษัทซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากความผิดย่อมขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ๆ ให้กับเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ใช้เกิดขึ้น ความเสี่ยงต่อภาระรับผิดจึงอาจทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่ไม่คิดจะสร้างสรรค์หรือปรับปรุงแผนทางธุรกิจที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น

4) การสนับสนุนการคุ้มครองตัวกลางเป็นสิ่งที่จำเป็นในระดับโลก

ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเผชิญกับความท้าทายในการกำหนดนโยบายที่มีความซับซ้อนมากขึ้นหลายด้าน – ตั้งแต่การคุ้มครองเด็กไปถึงความมั่นคงของชาติ และการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ – บางรัฐบาลจึงได้เสนอหนทางแก้ไขปัญหาหรือใช้กฎหมายที่บังคับให้ตัวกลางต้องมีภาระรับผิดทางกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมเนื้อหากิจกรรมในโลกออนไลน์

แนวโน้มเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเผด็จการหรือมีการคุมเข้มการใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ศาลของประเทศอิตาลีตัดสินให้ผู้บริหารสามคนของกูเกิ้ลมีความผิดจากวิดีโอที่โพสต์โดยผู้ใช้ผ่านบริการกูเกิ้ลวิดีโอ (ซึ่งตอนนี้หยุดให้บริการแล้ว) แม้ว่าวิดีโอนั้นจะถูกเอาออกภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีการแจ้งเตือนโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในอิตาลี นอกจากนั้นอิตาลียังมีการเสนอให้บังคับใช้กฎเกณฑ์สำหรับควบคุมสื่อกระจายเสียงมาใช้กับเว็บไซต์ที่ให้บริการฝากวิดีโอ รวมถึงระบบการรับผิดที่อาจเกิดขึ้น – ซึ่งเป็นคำสั่งที่จะส่งผลให้เว็บไซต์ให้บริการฝากวิดีโอไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ในทำนองเดียวกัน ประเทศฝรั่งเศสก็เพิ่งผ่านกฎหมาย HADOPI ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปที่การแชร์ไฟล์ผิดกฎหมายในอินเทอร์เน็ต ด้วยการระบุให้ไอเอสพีทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์

ภาคเอกชนเองก็สามารถคุกคามการแสดงความคิดเห็นและนวัตกรรมในโลกออนไลน์ได้ หากพวกเขาสามารถฟ้องคดีความทางแพ่งกับตัวกลางที่รับฝากหรือกระจายข้อคิดเห็นที่ภาคเอกชนต้องการจะยับยั้งเอาไว้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางแพ่ง ซึ่งกำหนดลักษณะที่คู่ความสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับตัวกลางจากเนื้อหาที่โพสต์โดยคนอื่น (เช่น ในกรณีของการหมิ่นประมาทหรือละเมิดความเป็นส่วนตัว)

การคุ้มครองตัวกลางจากภาระรับผิดมีความสำคัญอย่างมากต่อการปกป้องอินเทอร์เน็ตให้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกได้อย่างเสรี เพิ่มเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสร้างสรรค์นวัตกรรม เว็บไซต์ที่ให้บริการเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ใช้ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการแสดงออกในทุกๆ ด้าน ตังแต่การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง ไปถึงการสร้างสรรค์ชุมชนใหม่ๆ และการปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน ถ้าความกังวลต่อภาระรับผิดทำให้ตัวกลางเอกชนต้องปิดพื้นที่เหล่านี้แล้ว ศักยภาพของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีต่อการแสดงออกและการพัฒนาเศรษฐกิจก็จะอ่อนกำลังลง

ในภาวะที่รัฐบาลทั่วโลกต่างดิ้นรนเพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาจากพฤติกรรมผิดกฎหมายในโลกออนไลน์ กลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชน นักรณรงค์ด้านนโยบายอินเทอร์เน็ต และผู้เล่นในอุตสาหกรรม จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณและความต่อเนื่องของการรณรงค์ เพื่อสนับสนุนนโยบายที่คุ้มครองตัวกลางซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ และการพัฒนาของมนุษย์

Download (PDF, 487KB)