สรุปการแถลงข่าวแสดงจุดยืนเรื่อง นโยบายรัฐในการจับกุมปราบปรามอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน

2009.03.28 00:31

สรุปการแถลงข่าว แสดงจุดยืนเรื่อง นโยบายรัฐในการจับกุม ปราบปรามอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน

โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)
เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ ประเทศไทย (FACT)

ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

10 มกราคม 2552

สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต

“เราสนับสนุนเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ไม่สนับสนุนอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ประเด็นคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นในเว็บ ไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าจะปราบปราม เราขอคำนิยามที่ชัดเจนในเรื่องการหมิ่นฯ และวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชัดเจนว่าคืออะไรการแก้ปัญหา เรื่องนี้ไม่ชัดเจนไม่แก้ปัญหาที่เป็นจริง การเซ็นเซอร์ด้วยการบล็อกเว็บนั้นเป็นการปิดกั้นไม่ให้คนเข้าถึงเฉยๆ ไม่ได้เป็นการจับกุมคนสร้างเนื้อหาหมิ่นฯ ยิ่งเซ็นเซอร์คนยิ่งอยากรู้ อยากดู ถ้าเป้าหมายของรัฐคือต้องการกำจัดเนื้อหาหมิ่น ถามว่าการบล็อก(ปิดกั้น) เว็บเป็นการแก้ปัญหาจริงหรือ ตนไม่เชื่อว่าการปิดก้ันเว็บจะแก้ปัญหาได้” เพราะฉะนั้นการไปให้พ้นจากความคลุมเครือ การสร้างความชัดเจน ถึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ การมีส่วนร่วมคือสิ่งที่เราเรียกร้องในขั้นต้นนี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องการมีส่วนร่วมและไม่เห็นด้วยกับการบล็อกเว็บไซต์ ถ้าจะปิดกั้นอย่างน้อยต้องขอหมายศาลตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่รัฐบาล กระทรวงหรือตำรวจมาตัดสินใจ เพราะการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล ในโลกของความเป็นจริง กลับจะยิ่งทำให้คนอยากรับรู้สิ่งเหล่านี้มากขึ้น

สุนิตย์ เชรษฐา เครือข่ายพลเมืองเน็ต

ปัญหาไม่ใช่คือจะปิดเว็บหมิ่นหรือไม่อย่างไร แต่ถามว่ามันแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่าเพราะมันจะเพิ่มขึ้นทวีคูณเหมือนขี่ ช้างจับตั๊กแตน หรือขี่ช้างจับไวรัส ถ้ากฏหมายไม่ชัดเจน ถูกใช้อย่างไม่เป็นธรรม ใช้ไม่ได้จริง มันจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและตกเป็นเครืองมื่อทางการเมือง นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ใช้ข้อหาหมิ่นฯเป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายกัน สร้างวัฒนธรรมที่อยู่บนความกลัว มีการโทษกันไปโทษกันมาเป็นโอกาสดีที่เรามีรัฐบาลใหม่ แทนที่จะโฟกัสเรื่องการจัดการเว็บหมิ่น ควรเน้นเรื่องเปิดเวที ให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง กฏหมายและ กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ทำอย่างไรที่เมืองไทยจะมีไอซีทีที่เป็นฐานความรู้ระดับชาติได้ เราไม่ได้ยินนโยบายเชิงสร้างสรรค์พัฒนาเลย มีแต่ข่าวรัฐจะบล๊อกเว็บ อยู่ตลอดเวลา มีการแถลงงบประมาณ เราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเอาไปใช้อย่างไร

สุภิญญา กลางณรงค์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต

รัฐต้องแยกระหว่างอาชญากรรรมทางคอมพิวเตอร์ออกจากสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร เราสนับสนุนให้ใช้กฏหมาย ปราบปราม คนทำเว็บล่อลวง การโพสภาพโป๊เปลือยเด็กที่ไม่ได้เต็มใจ การโพสคลิปแอบถ่าย แฮคเกอร์ การลักลอบใช้ข้อมูลเช่นเรื่องบัตรเครดิต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นอาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ถ้ารัฐเดินหน้าจะปราบปรามอย่างจริงจัง เราก็อาจต้องมีศาลพิเศษ ต้องสร้างเรือนจำเพิ่ม เพื่อรองรับเรื่องนี้ เพราะจะมี Cyber-dissidents หรือ คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐแล้วแสดงออกในโลกไซเบอร์มากขึ้นจนจับกุมไม่หวาด ไม่ไหว แนวโน้มนี้น่าห่วงในประเทศที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ ตามสถิติ ของ Committee to Protect Journalist (CPJ) 45 % ของนักข่าวที่ติดคุกทั่วโลกเป็นบล็อกเกอร์, ผู้สื่อข่าวของเว็บไซด์หรือบรรณาธิการข่าวออนไลน์ นักข่าวออนไลน์เป็นกลุ่มอาชีพที่ติดคุกมากที่สุดตามรายงานของ CPJ

ต่อไปประเทศไทยก็คงต้องไปแข่งสถิติกับอีกหลายประเทศว่าแต่ละปีจะมีคนติด คุกกี่คน ก็เป็นเรื่องไม่โสภานักสำหรับภาพลักษณ์ประเทศ และไม่ส่งผลดีต่อนโยบายการสมานฉันท์ของรัฐบาล เพราะจะนำไปสู่การต่อต้าน กลายเป็นคลื่นใต้น้ำ หรือพลังเงียบ ต้องไม่ลืมว่า สถิติคนใช้สื่ออินเทอร์เน็ตปัจจุบันประมาณเกือบ 14 ล้าน คนแล้ว คนกลุ่มนี้ถือเป็นพลังที่มีความหมาย รัฐบาลต้องให้ความระมัดระวังและใช้ความละเอียดอ่อนในการดำเนินงาน ส่วนเรื่องการแก้ไข พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เราก็เห็นด้วยเพราะร่างที่ผ่าน สนช. มามีปัญหาในการใช้จริง แต่พอได้เห็นร่างที่เสนอโดย สส.ประชาธิปัตย์ นำโดย รมว.ยุติธรรม คนปัจจุบัน ก็ตกใจ เพราะมีเนื้อหาหลายอย่างน่ากังวลโดยเฉพาะการย้ายอำนาจจากศาลมาอยู่ที่รัฐบาล ในการคุมสื่อใหม่ได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องฟังใคร สุดท้ายมันหนีไม่พ้นกลายเป็นวาระทางการเมืองและกระทบต่อสิทธิพลเมืองได้

ดังนั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยต้องแก้ไขร่างกฏหมายให้รองรับสิทธิของพลเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม ตามนโยบายที่แถลง ไม่ใช่ออกกฏหมายมีเนื้อหาถดถอยกว่าร่างที่ผ่านโดย สนช. ซึ่งเป็นองค์คณะที่มาจากการรัฐประหาร

CJ Hinke เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)

ความพยายามของรัฐที่จะเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นในปี 1997 ต่อมาในยุครัฐบาลทักษิณก็มีการปิดกั้น จนมาสู่ยุครัฐบาลคมช.ก็ได้เจริญรอยตามรัฐบาลทักษิณจน กระทรวงไอซีทีปิดกั้นเว็บไปเป็นหมื่นๆ ตำรวจปิดกั้นไปอีกจำนวนมากนอกจากนั้นยังมีผู้ให้บริการระหว่างประเทศและการสื่อสารฯบล็อกอีกจำนวนมากซึ่งไม่รู้ว่ามากเท่าไหร ISP ทั่วประเทศก็ดำเนินการปิดกั้นด้วยตัวเอง

การปิดกั้นที่ไม่ผ่านศาล ถือว่าผิดกฏหมาย ดังนั้นการปิดเว็บที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีคำสั่งศาล ก็ถือว่าผิดกฏหมาย ปัจจุบัน กระทรวงไอซีที บอกว่า ปิดไปแล้ว 2,300 และจะปิดอีก แล้วก็อ้างว่าเป็นเว็บหมิ่น แต่เราคิดว่าจำนวนที่ถูกบล็อกจริงๆ น่าจะมากกว่านั้น

เราน่าจะมองเรื่องหมิ่นฯ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เว็บหนึ่งคนๆเดียวก็สร้างได้ ดังนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเชื่อได้หรือเปล่าว่า ทั่วโลกมีคนเป็นพันคนที่จะสร้างเนื้อหาที่หมิ่น ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้

กระทรวงไอซีที ประกาศว่าจะสร้างวอร์รูม (War room) เหมือนจะตามนโยบายประกาศสงครามอื่นๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกประกาศ เช่น สงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือสงครามต้านยาเสพติดของไทย วันนี้เป็นสงครามต้านอินเตอร์เน็ตมันก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว ในพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เรามั่นใจไม่ได้ว่า ตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านตอนตีสี่เพื่อจะมาจับเราว่าเราเข้าเว็บอะไรหรือเปล่า

ในประเทศประชาธิปไตยทุกแห่ง กระบวนการทางศาล เปิดเผย โปร่งใส การขอคำสั่งศาลของไอซีทีไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะและประชาชนก็ไม่ได้มี ส่วนร่วมในการตรวจสอบเนื้อหาของเว็บก่อนที่ศาลจะสั่งปิด ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง เช่นหน่วยงานวิชาการและองค์กรพลเมือง ถือว่ารัฐทำเรื่องนี้อย่างลับๆ โดยต้นทุนประชาชนเป็นคนจ่าย วันนี้ กระทรวงไอซีที จะใช้เงิน 80 ล้าน บาทในการจัดตั้ง วอร์รูม คิดว่าเงินจำนวนนี้น่าจะไปทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เช่นเอาไปดำเนินงานสร้างความสมานฉันท์ สันติภาพในภาคใต้ หรือการสร้างการศึกษาบนอินเตอร์เน็ต

ความไร้ประสิทธิผลของการปิดกั้นเว็บไซต์ จริงแล้วที่ผ่านมามีลิสต์รายชื่อที่ไอซีทีปิดกั้น แต่ก็เปิดออกมาจนได้ ดังนั้นองค์กรอย่าง FACT ได้ เผยแพร่เครื่องมือที่สามารถหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ได้อยู่ดี รัฐกำลังทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะสงครามอินเตอร์เน็ต ซึ่งเรามีความขัดแย้งอย่างอื่นมากแล้ว

สุเทพ วิไลเลิศ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)

การใช้กฎหมายความมั่นคงปิดกั้นสถานีวิทยุชุมชนเป็นเรื่องทางการเมืองของ รัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่การนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เพื่อยุติการสื่อสารย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนทั่วไปด้วย ประการสำคัญคือประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือเห็นต่างจาก รัฐบาลได้ ดังนั้นการใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อปิดสถานีวิทยุชุมชนหรือสถานีวิทยุธุรกิจ ในท้องถิ่น จะมีเกณฑ์ชี้วัดใดที่จะแยกแยะได้ว่าสถานีใดขัดต่อความมั่งคงของรัฐ ขัดต่อคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเอง ที่ยืนยันว่าจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในเรื่องสื่อและข้อมูลข่าวสาร ทั้งในด้านการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายที่จะมุ่งให้เกิดความสมานฉันท์จากการปรับปรุงกลไกการสื่อสาร

แนวทางของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของประชาชน เป็นแนวทางที่จะไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ทางการเมืองตามที่รัฐบาลได้แสดง ท่าทีต่อสาธารณะ และจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล

มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

  1. ให้รัฐบาลมีแนวทางผลักดันให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเองทั้งวิทยุชุมชนและกลุ่มประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดเกณฑ์ที่ชัดเจนทั้งในเรื่องความมั่นคง และกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
  2. การปรับแก้กฎหมายสื่อต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม อย่างกว้างขวาง ทั้งการแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2550 เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สรุปตัวแทนทั้งสามองค์กรจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวกับนายก รัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 8.00 น. ก่อนการประชุม คณะรัฐมนตรี

10 มกราคม 2552
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
www.thainetizen.org

Tags: