Cyberbullying: การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์และโศกนาฏกรรมของเมแกน ไมเออร์

2016.05.31 16:41

โดย กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

รู้จักการกลั่นแกล้งกันบนพื้นที่ไซเบอร์ผ่านโศกนาฏกรรมของเด็กหญิงเมแกน ไมเออร์

เมแกน เทย์เลอร์ ไมเออร์ (Megan Taylor Meier) เด็กหญิงชาวอเมริกันวัย 13 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองโอฟัลลอน (O’Fallon) เมืองเล็กๆ ในรัฐมิสซูรี่ เมแกนก็เหมือนเด็กสาววัยรุ่นทั่วไปที่รักสุนัข ชอบการว่ายน้ำ ชอบฟังเพลง ตกปลา และมีความสนใจในเพศตรงข้าม แต่เธอมักจะมีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาและน้ำหนักของตัวเองจนเกินเหตุ[1] เธอเคยพยายามอย่างหนักในเรื่องการลดน้ำหนัก และวิตกในเรื่องดังกล่าวจนถึงขนาดที่ทำให้เธอรู้สึกหดหู่ ส่วนในเวลาว่างของเธอนั้นก็มักจะใช้ไปกับการเล่นอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ โดยเฉพาะเว็บไซต์มายสเปซ (MySpace) จนกระทั่งเธอได้พบกับเพื่อนทางออนไลน์ที่อ้างว่าตนเป็นเด็กหนุ่มอายุ 16 ปี ชื่อจอช อีวานส์ (Josh Evans)

cyberbullying

จากปากคำของทิน่า ไมเออร์ (Tina Meier) แม่ของเมแกน กล่าวว่า ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นเด็กหนุ่มชื่อจอช ได้พยายามติดต่อกับลูกสาวของเธอผ่านทางเว็บไซต์มายสเปซ และส่งคำขอเป็นเพื่อนกับเมแกน ทิน่าเคยสอบถามเมื่อลูกสาวมาขออนุญาตให้บอกรับจอชเข้ามาเป็นเพื่อนว่า “รู้จักกับเขาด้วยหรือ” ซึ่งลูกสาวของเธอตอบกลับมาว่าไม่รู้จัก แต่ก็รบเร้าให้ทิน่าอนุญาตให้เธอตอบรับคำขอเป็นเพื่อน

ตลอดระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ที่ลูกสาวของเธอและจอชทำความรู้จักสนิทสนมกันผ่านมายสเปซนั้น อยู่ในสายตาของเธอมาโดยตลอด จอชบอกว่าเขาเกิดในฟลอริดา เพิ่งย้ายมาที่เมืองโอฟัลลอน และเป็นนักเรียนในลักษณะเรียนที่บ้าน (homeschooling) เมื่อตอนเขาอายุได้ 7 ขวบ พ่อได้ทิ้งเขาและพี่น้องอีกสองคนไว้กับแม่ซึ่งไม่ได้ร่ำรวยอะไร ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก[2]

ความสัมพันธ์บนโลกอินเทอร์เน็ตระหว่างเมแกนและจอชดำเนินเรื่อยมาภายใต้การดูแลอยู่ห่างๆ ของครอบครัวไมเออร์ จนกระทั่งในวันที่ 16 ตุลาคม 2006 หลังจากเมแกนเสร็จธุระจากการเชิญเพื่อนๆ มาที่บ้านเนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 14 ของเธอที่กำลังใกล้เข้ามา เมื่อกลับมาถึงบ้าน เมแกนก็รีบขออนุญาตแม่ของเธอเข้าเว็บไซต์มายสเปซ เพื่อเฝ้ารอจอชตอบรับคำเชิญของเธอ ซึ่งบังเอิญว่าในวันนั้นทิน่าต้องรีบพาลูกสาวคนเล็กไปทำพิธีทางศาสนา แต่ก่อนที่จะออกไปนั้น เธอสังเกตเห็นว่าเมแกนมีอาการหงุดหงิด เนื่องจากเด็กหนุ่มส่งข้อความบางอย่างมารบกวนเมแกน และดูเหมือนว่าเขานำข้อความบางส่วนที่สนทนากับเมแกน ส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้อ่านอีกด้วย ซึ่งทิน่าจำได้ว่าเธอได้บอกให้ลูกสาวออกจากระบบของมายสเปซก่อนที่จะออกไปโบสถ์

ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น เมแกนก็ได้โทรศัพท์ไปหาเธอและร้องไห้ เมแกนยังได้พูดคุยกับ รอน ไมเออร์ (Ron Meier) ผู้เป็นพ่อ ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่นานหลังจากนั้น ความสูญเสียครั้งใหญ่ของครอบครัวไมเออร์ก็เกิดขึ้น เมื่อเมแกนตัดสินใจจบชีวิตของตนเองด้วยการผูกคอตายในตู้เสื้อผ้า ก่อนถึงวันครบรอบวันเกิดปีที่ 14 ของเธอเพียงแค่ 3 สัปดาห์

เมื่อเข้าไปดูในบัญชีมายสเปซก็พบว่า ก่อนที่เมแกนจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย มีข้อความสุดท้ายส่งมาจากเด็กหนุ่มชื่อจอชว่า “Everybody in O’Fallon knows how you are. You are a bad person and everybody hates you. Have a shitty rest of your life. The world would be a better place without you.” (“ทุกๆ คนในเมืองโอฟัลลอนรู้ดีว่าแกเป็นยังไง แกมันนังสารเลว และทุกคนต่างก็เกลียดแก ขอให้ชีวิตที่เหลือของแกพบแต่ความฉิบหาย โลกคงจะสูงขึ้นกว่านี้ถ้าไม่มีคนอย่างแก”)

เบื้องหลังโศกนาฏกรรม

ภายหลังการเสียชีวิตของเมแกน ข้อเท็จจริงได้ปรากฏต่อมาว่า เด็กหนุ่มอายุ 16 ปี ที่ใช้ชื่อว่าจอช อีวานส์ แท้จริงแล้วไม่มีตัวตน แต่เป็นเพียงบุคคลสมมติที่ถูกปลอมขึ้นโดยลอรี่ ดรูว์ (Lori Drew) ผู้เป็นแม่ของซาร่าห์ ดรูว์ (Sarah Drew) เพื่อนของเมแกน

ลอรี่ให้เหตุผลที่กระทำลงไปว่า เนื่องจากลูกสาวของเธอเคยเป็นเพื่อนกับเมแกน แต่ต่อมามีปัญหากัน และเมแกนเองก็เคยมีพฤติกรรมที่ไม่ดีกับลูกสาวของเธอก่อน เธอจึงคิดหาวิธีตอบโต้ด้วยการกลั่นแกล้ง โดยเธอรวมถึงลูกสาวและอดีตลูกจ้าง ได้สมคบกันสร้างบุคคลสมมติเป็นเด็กผู้ชายอายุ 16 ปีขึ้นมา

ด้านทิน่า แม่ของเมแกน กล่าวว่า “พวกเขาอยากให้เมแกนได้รู้สึกว่าเคยได้ชอบเด็กผู้ชาย และให้ทุกคนรู้ว่าเรื่องในมายสเปซมันไม่จริง ทุกคนจะได้หัวเราะเยาะเธอ”

ต่อมาลอรี่ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการหลอกลวงบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (hoax on the social networking website) จนเป็นเหตุให้เมแกนฆ่าตัวตาย

กระบวนการพิจารณาคดี

จากเหตุการณ์นี้ พนักงานอัยการได้พยายามหาข้อกฎหมายเพื่อดำเนินคดีอาญากับลอรี่ ดรูว์ แต่ปรากฏว่าการกระทำของลอรี่ ไม่มีข้อบัญญัติของกฎหมายฉบับใดที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นจะสามารถนำมาปรับใช้แก่คดีได้เลย[3] อย่างไรก็ตาม หนึ่งในทีมอัยการผู้ฟ้องคดีเสนอว่า การกระทำของลอรี่ ดรูว์น่าจะอยู่ภายใต้กฎหมายการหลอกลวงและใช้คอมพิวเตอร์ในทางที่ผิด (Computer Fraud and Abuse Act: CFAA)[4] เนื่องจากพฤติกรรมของผู้กระทำอาจตีความได้ว่า มีลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ หรือให้การสนับสนุนในการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่มีอำนาจ (unauthorized) การกระทำของลอรี่ถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิด หรือสนับสนุนให้เกิดการสร้างตัวตนสมมติขึ้นในระบบบัญชีมายสเปซ ทั้งยังเป็นการละเมิดต่อข้อตกลงในการใช้ของมายสเปซอีกด้วย[5]

ลอรี่จึงถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำละเมิดต่อข้อบัญญัติที่ 18 U.S.C. (United States Code: U.S.C.) section 371 และอีกสามข้อกล่าวหาสำหรับการกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ใน CFAA กล่าวคือ ตามข้อบัญญัติที่ 18 ของ U.S.C. section 1030(a)(2)(C) และ (c)(2)(A) และข้อบัญญัติที่ 18 U.S.C. section 1030(c)(2)(B)(ii) ซึ่งเป็นกรณีการฝ่าฝืนการห้ามเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่มีอำนาจ รวมถึงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต (excess of authorization) ในการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารจากระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือการละเมิดนั้น[6]

คำตัดสิน

เมื่อคดีสิ้นสุด คณะลูกขุนได้ตัดสินให้ลอรี่มีความผิดตามข้อบัญญัติที่ 18 United States Code, Section 1030 (a)(2)(C) และ (c)(2)(A) ซึ่งเป็นเพียงความผิดสถานเบา แต่กรณีข้อกล่าวหาว่ากระทำการสมรู้ร่วมคิดนั้น คณะลูกขุนไม่สามารถมีคำวินิจฉัยได้ (unable to reach a verdict) สำหรับข้อกล่าวหาอื่นๆ คณะลูกขุนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ลอรี่ไม่มีความผิด

ผลที่ตามมา

คดีของเมแกน ก่อให้เกิดผลกระทบที่สะเทือนใจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยอมรับว่า ไม่มีบทกฎหมายใดที่จะนำมาปรับใช้กับกรณีของเมแกนได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเนื้อหาของกฎหมายอาญาประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการผลักดันให้มีการเสนอร่างกฎหมาย Megan Meier Cyberbullying Prevention Act ขึ้นในปี 2009 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้ไขกฎหมายอาญาระดับสหพันธ์ (federal criminal code) โดยกำหนดให้คุ้มครองการกลั่นแกล้งกันบนพื้นที่ไซเบอร์ (cyberbullying) และเพิ่มลักษณะของการกระทำผิด เช่น การบังคับ (coerce) ขู่เข็ญ (intimidate) คุกคาม (harass) หรือการกระทำที่เป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดความหดหู่ทางอารมณ์แก่บุคคลใดด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ[7]

(หมายเหตุบรรณาธิการ: ร่างกฎหมาย Megan Meier Cyberbullying Prevention Act เข้าสู่สภาและส่งต่อให้ House Judiciary Subcommittee on Crime, Terrorism, and Homeland Security พิจารณา แต่ในที่สุดไม่ได้รับการพิจารณาต่อจากสภา สหรัฐอเมริกาจึงยังไม่มีกฎหมายกลางระดับสหพันธ์ว่าด้วยการกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากกรณีกลั่นแกล้งรังแกนั้นมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติบนฐานเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ก็ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ใช้ได้อยู่ สำหรับกฎหมายระดับรัฐนั้น มีอยู่ 45 รัฐที่มีกฎหมายระดับรัฐกำหนดให้โรงเรียนของรัฐต้องมีนโยบายรับมือกับการกลั่นแกล้งออนไลน์[8])

นอกจากนี้ ยังก่อตั้งมูลนิธิเมแกน ไมเออร์ (Megan Meier Foundation) รวมถึงการก่อตั้งเว็บไซต์ meganmeierfoundation.org ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจแก่สังคมในเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ รวมถึงการฆ่าตัวตายอีกด้วย

ความสำคัญของคดีนี้

คดีของเมแกน เป็นคดีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อวงการกฎหมายของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกระทำที่มีโทษในทางอาญา เป็นคดีที่ก่อให้เกิดความตระหนักในปัญหาและอันตรายของการกลั่นแกล้งกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมออนไลน์ หรือสังคมในโลกความเป็นจริง และไม่ว่าผู้กลั่นแกล้งหรือถูกกลั่นแกล้งนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

การสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องความแตกต่างของแนวคิดและพื้นฐานทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม บางสังคมให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองถึงสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในสังคมของตนเอง ดังเช่นจากกรณีของเมแกน ซึ่งรัฐให้ความคุ้มครองสิทธิที่จะไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากบุคคลใด ขณะที่ในบางสังคมยังให้ความสำคัญต่อปัญหา รวมถึงการประเมินผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งดังกล่าวนั้นน้อยเกินไป โดยมองว่าเป็นเพียงการหยอกเย้าเล่นกันมากกว่าที่จะมองว่าเป็นการรังแกจนกระทบต่อสภาพจิตใจหรือร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของเมแกนยังทำให้เราเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของการขาดความเชื่อมั่นหรือขาดความนับถือตัวเองในเด็กบางกลุ่ม (low self esteem) ที่แต่ละคนอาจมีไม่เท่ากัน มากกว่าจะมองว่าเป็นเพียงเด็กที่ความรู้สึกเปราะบาง และไม่อาจทนรับแรงกดดันจากสังคมได้ ดังนั้นแล้ว การนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ร่วมกันถึงกรณีศึกษาในเรื่องนี้ จึงน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างความใส่ใจต่อผลเสียหายร้ายแรงจากการกระทำที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงการหยอกเย้ากันเล่นธรรมดา

ความเห็นเพิ่มเติมของผู้เขียน

ทัศนคติของสังคมไทยที่มองว่าปัญหาดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่รับรู้ หรือมีการรับรู้แต่ก็น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่มองว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงการกลั่นแกล้งหรือหยอกล้อกันเท่านั้น[9] แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังตื่นตัวต่อปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเป็นการหยอกเย้าเพื่อสร้างมิตรภาพระหว่างกันในกลุ่มเพื่อนฝูง มากกว่าที่จะรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงและสมควรได้รับโทษตามกฎหมาย

จากการศึกษาปัญหาดังกล่าวในบริบทของสังคมไทย ผู้เขียนยังไม่พบว่ามีกรณีศึกษาที่เป็นปัญหาถึงขนาดที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลในลักษณะดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงเรายังสามารถพบเห็นพฤติกรรมของการกลั่นแกล้งเช่นนี้ในหลายพื้นที่ของสังคมไทย โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่ง่ายต่อการเข้าถึง และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่พฤติกรรมการรังแกกันบนพื้นที่ดังกล่าวได้ ส่วนใหญ่แล้วสังคมไทยมักจะเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาทในลักษณะนี้กันเองโดยผ่านการประนีประนอมจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในสังคมนั้นๆ เช่น ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน

นอกจากนี้ กลไกหรือกระบวนการเผยแพร่เนื้อหาของคำพิพากษาในสังคมไทยที่มักจะใช้คำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดเป็นหลัก แต่หากเป็นคำพิพากษาในศาลล่าง เช่น ศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ กระบวนการในการเผยแพร่คำพิพากษาหรือการเข้าถึงเนื้อหาของคำพิพากษาจะเกิดขึ้นได้ยากกว่า กล่าวคือ แม้จะมีกรณีดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลจริง แต่หากคดีเป็นที่ยุติกันแต่เพียงในศาลชั้นต้น โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกา คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นก็จะเป็นเด็ดขาด และแทบจะไม่มีกลไกใดที่เอื้อต่อการเผยแพร่คำพิพากษานั้นๆ ต่อสาธารณะเลย

สำหรับมุมมองทางด้านสังคม ผู้เขียนพบว่าในสังคมไทยแทบจะไม่ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเองในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกแต่อย่างใด จากการศึกษาพบว่ามีเพียงกรณีเดียวที่เป็นการกลั่นแกล้งกันในโลกออฟไลน์ คือกรณีของเด็กนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คนหนึ่ง ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกเพื่อนล้อเลียนว่าเป็นเด็กไม่มีพ่อแม่[10] อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า เหตุที่สังคมไทยไม่ค่อยมีข่าวหรือคดีความในลักษณะดังกล่าวนั้น อาจเป็นเพราะสังคมยังไม่ให้ความสำคัญ หรือขาดความตระหนักรู้ต่อปัญหาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

อ้างอิง


บทความนี้เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่รวมอยู่ในหนังสือ โลกใหม่ใครกำกับ? กรณีศึกษาเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต จัดทำโดยมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองหาซื้อได้ที่ ร้านหนังสือซีเอ็ด ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Readery

internet-governance-case-study

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: