ปรากฏการณ์ “ตุ๊กตาลูกเทพ” : ในมุมมอง “สิทธิส่วนบุคคล” และ “Online hate speech”

2016.02.19 04:34

“ปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ” อะไรคือสิทธิส่วนบุคคลที่อ้างถึงในปรากฏการณ์นี้? ฝ่ายที่ต่อต้านมีสิทธิแสดงความเกลียดชัง ได้แค่ไหน เพียงไร ? การแสดงความเกลียดชังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “Free speech” ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ ? เส้นแบ่งระหว่าง Free speech กับ Hate speech ควรอยู่ตรงไหน? ปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ จะมีอิทธิพลหรือส่งผลต่อเสรีภาพการสื่อสารในโลกออนไลน์ต่อไปอย่างไร ?

supernatural-dolls

โดย คณาธิป ทองรวีวงศ์

บทนำ

“ถ้านักศึกษาคนไหนนำตุ๊กตาลูกเทพมาเรียน จะไม่อนุญาตให้เข้าชั้นเรียน โปรดทำตัวให้เหมาะสมกับผู้มีการศึกษา”
อาจารย์ท่านหนึ่งโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก และในไลน์กลุ่ม อีกทั้งประกาศในห้อง ด้วยเนื้อหาใจความสำคัญแบบนี้ แม้ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ยังไม่มีนักศึกษาคนไหนนำตุ๊กตาลูกเทพเข้าเรียนในชั้นที่อาจารย์ท่านนี้สอนมาก่อนเลย การประกาศแบบนี้เกิดขึ้นหลังจาก อาจารย์อีกท่านหนึ่งโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นนี้อันเป็นที่ชื่นชมในความสร้างสรรค์ออกตามสื่อต่างๆ เนื้อหามีในลักษณะที่ว่า…

“ถ้านักศึกษาท่านใดที่นำตุ๊กตาลูกเทพมาเรียนด้วย จะต้องให้ตุ๊กตาลูกเทพทำงานส่ง ทำรายงาน เสมือนเป็นนักศึกษาคนหนึ่ง”

…ผู้นิยมเลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพบางราย ที่เคย อัพสเตตัส ขึ้นรูปโพรไฟล์น้องตุ๊กตาหรือตัวเองคู่กับน้องตุ๊กตา เริ่มมีอาการไม่กล้าโพสต์ เพราะอายที่จะถูกเพื่อนในเครือข่ายมองว่า “ไร้สติ” หรือกระทั่ง “บ้า” ในทางกลับกันมีการปรากฏขึ้นของหน้าเพจหลายอันที่แสดงถึงการต่อต้านตุ๊กตาลูกเทพ

…ผู้มีงานอดิเรกในการนำตุ๊กตาสะสม ที่มักจะนำเอาตุ๊กตาไปถ่ายภาพตามร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หวาดระแวงในการทำกิจกรรมงานอดิเรกของตัวเอง เพราะเกรงจะถูกสังคมใช้ไม้บรรทัดตีเส้นแบ่งว่าเป็น “คนบ้า” การโพสต์เรื่องราวตุ๊กตาสะสมในหน้าสาธารณะลดน้อยลงเหลือเพียงในกลุ่มปิด

…อินโฟกราฟฟิก (Infographic) แสดงการสนทนาระหว่างน้องตุ๊กตาลูกเทพกับหมีเท็ด ถูกสร้างขึ้นและแชร์กันอย่างกว้างขวาง “.. ท่าทางฉันเหมือนมีชีวิตเหรอ ถามโง่ๆ …เธอช่วยเรียกเงินทองให้หม่ามิ๊ได้จริงเหรอ….เรียกกะผีสิ มิ๊ฉันมีเงินใช้เพราะออกไปทำงานเองทุกวัน….”

…มีคนสร้างเพจสำหรับการ “ต่อต้าน” ตุ๊กตาลูกเทพ ขึ้นมาโดยเฉพาะ มีภาพล้อเลียน เสียดสี ด่าทอ แสดงความไม่พอใจต่อฝ่ายนิยมตุ๊กตาลูกเทพ

ในเฟซบุ๊ก ในไลน์ จะพบการสื่อสารแสดงความเห็นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผู้เลี้ยงตุ๊กตา ในลักษณะที่ว่า

“การอุ้มตุ๊กตาลูกเทพเป็นสิ่งดี เพราะทำให้แยกได้ระหว่าง คนดี กับคนบ้า” “ไร้สติ งมงาย เบาปัญญา ไร้การศึกษา”

นอกจากในระดับการสื่อสารของบุคคลทั่วไปแล้ว องค์กรธุรกิจผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ ยังทำการสื่อสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ โดยแบ่งออกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายแรก ใช้ประโยชน์จากกระแสลูกเทพ ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดตอบสนอง เช่น จัดให้มีสินค้า บริการแบบใหม่ สำหรับผู้นิยมตุ๊กตาลูกเทพ เราจะเห็นบริการใหม่ๆ พาน้องทัวร์ รับจ้างเลี้ยงน้อง รับฝากดูแล ทำผม ทำสปา หรือแม้กระทั่งสอนหนังสือ อบรมให้ความรู้ ธุรกิจรับขนคนโดยสารก็มีการปรับกลยุทธ์เกี่ยวกับที่นั่งสำหรับผู้พาตุ๊กตาลูกเทพเดินทาง ร้านอาหารบุฟเฟต์ก็จัดโปรโมชั่นลูกเทพคิดราคาเท่าเด็ก เป็นต้น
การตอบสนองด้วยวัตถุประสงค์ทางการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายนี้ กลับส่งผลให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพิ่มระดับความ “เกลียดชัง” ยิ่งขึ้นไปอีก เช่น มีการเปรียบเทียบน้อง (คนจริง) ผู้หิวโหย กับ น้อง (ตุ๊กตา) ที่ได้กินอาหารดีๆ (คุณแม่ลูกเทพเป็นคนกิน หรืออาจจะสั่งมาแล้ว “ทิ้งไว้อย่างนั้น” ทำให้ฝ่ายที่ไม่ชอบเกิดความเสียดายทรัพยากรโลกแทน และหมั่นไส้)

ฝ่ายที่สอง เอาใจฝ่ายต่อต้านตุ๊กตา โดยประกาศ ไม่รับ ไม่บริการ ตุ๊กตาลูกเทพ (ซึ่งแท้จริงก็คือไม่บริการผู้นิยมตุ๊กตาลูกเทพ) มีข้อน่าสังเกตว่า ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ไม่เพียงปฏิเสธเฉยๆ แต่ยังมีการสื่อสารในลักษณะ “Hate speech” พ่วงมาเป็น “เหตุผล” ด้วย เช่น ผู้ให้บริการโรงแรม รีสอร์ท บางแห่ง โพสต์ประกาศอย่างเป็นทางการในหน้าเพจว่า ห้ามนำตุ๊กตาลูกเทพเข้าพัก ให้เหตุผลว่า “ไร้สติ เป็นแบบอย่างไม่ดีแก่เยาวชน” มีการเรียกตุ๊กตาเหล่านี้ว่า “ตุ๊กตาผี” เหตุผลดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้ให้บริการอีกหลายรายที่ นำไปใช้ตามๆ กัน

จะเห็นว่า เนื้อหาของการสื่อสารที่ยกตัวอย่างมาเหล่านี้ นัยหนึ่งมองได้ว่าเป็นเรื่องเสียดสีขำขัน แต่อีกนัยหนึ่งสื่อความหมายตำหนิว่า ผู้นิยมตุ๊กตาลูกเทพเป็นผู้ งมงาย ไร้สติ ไร้การศึกษา หลงผิด ฯลฯ เป็นการสื่อสารที่สะท้อนถึงความ “เกลียดชัง” หรือ “Hate speech” ระหว่างคนสองฝ่ายที่มีความ “เห็นต่าง” ดังที่เราอาจจะเคยพบเห็นมาแล้วในกรณีประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมอื่นๆ

ผู้เขียนไม่สามารถสรุปถึงความ ถูก หรือ ผิด ของทั้งสองฝ่าย แต่ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คือ มุมมองเชิงสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Free speech) และ การสื่อสารที่แสดงถึงความเกลียดชัง (Hate speech) อันนำไปสู่คำถามต่างๆ : อะไรคือสิทธิส่วนบุคคลที่อ้างถึงในปรากฏการณ์นี้ ? ฝ่ายที่ต่อต้านมีสิทธิแสดงความเกลียดชัง ได้แค่ไหน เพียงไร ? การแสดงความเกลียดชังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “Free speech” ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ ? เส้นแบ่งระหว่าง Free speech กับ Hate speech ควรอยู่ตรงไหน? ปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ จะมีอิทธิพลหรือส่งผลต่อเสรีภาพการสื่อสารในโลกออนไลน์ต่อไปอย่างไร ?

จากการล่าแม่มด สู่การ ล่า (แม่) ลูกเทพ

“การล่าแม่มด” จะเห็นได้จากหนังหลายเรื่องที่แสดงฉากเหตุการณ์ในยุคมืดยุโรป ซึ่งสังคมหวาดกลัวกับ “แม่มด” ว่าเป็นผู้มีเวทมนต์ชั่วร้าย ทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนในชุมชน ใครเกิดความเจ็บป่วย ทุกข์ยาก ภัยธรรมชาติ ที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือแม้แต่หาสาเหตุได้ก็ตาม แต่ จึงเกิดการ “ลงโทษในทางสังคม” ที่สนับสนุนด้วยความเชื่อทางศาสนา การไล่ล่า จับผู้หญิงต้องสงสัย มาทำการประชาทัณฑ์ด้วยการเผาทั้งเป็นหรือเอาหินว้างให้ตาย มีให้เห็นในหนังหลายเรื่อง แม่มด ถูกสังคมตีตราว่าเป็น ฝ่ายร้าย

การล่าแม่มด จึงเป็นการกระทำของสังคมชุมชนส่วนใหญ่ บนพื้นฐานกรอบแนวคิดที่ใช้ ความคิด ความเชื่อ กระแสหลัก มาเป็นไม้บรรทัด ใครเห็นต่าง นอกกระแส ไม่บูชาสิ่งที่คนส่วนใหญ่บูชากัน ต้องเจอข้อหาแม่มด คนเผาแม่มด ไม่ได้มองว่าตนเองทำร้ายผู้อื่น แต่มองว่าการกระทำของตนเอง เป็นสิ่งควรทำ เพื่อนำความสว่างกลับมาสู่ชุมชน นำภัยร้าย และความหลงผิด ออกไป

“พฤติกรรมต้องสงสัย” นั้นอาจไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่มดจริงๆ แต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมส่วนใหญ่ในเวลานั้น เช่น เลี้ยงตะขาบไว้ปรุงยา (จริงๆ อาจจะกำลังคิดค้นยาแก้มะเร็งก็ได้) ทำตัวหลบๆ ซ่อนๆ (จริงๆ อาจจะเป็น “ผู้ป่วย” ทางจิตก็ได้)

ในกาลต่อมา มนุษย์มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น คนไม่ได้นั่งจับกลุ่มกันในโบสถ์เพื่อวิเคราะห์ว่าป้าที่อยู่หัวมุมถนนทำตัวแปลกๆ น่าจะเป็นแม่มดหรือไม่ แต่มารวมกลุ่มกันอยู่ในโลกออนไลน์แล้วตัดสินบุคคลอื่นที่ แตกต่าง จากคนหมู่มาก ซึ่งวัดโดยไม้บรรทัดของคนจำนวนหนึ่งในโลกออนไลน์

วิธีการล่าแม่มด ไม่ต้องใช้มีด ดาบ หรืออาวุธพิเศษมากมาย เพียงแต่ใช้ความสามารถ “สืบค้น” ข้อมูลของแม่มด บ้านอยู่ไหน เบอร์โทร อีเมล์ เฟสอะไร ทำงานที่ไหนมาบ้าง น้องแฟนเรียนที่ไหน มา “แปะ” ประจานในโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “เสียบประจาน” สำหรับ “แม่มด” บางรายอาจถูกตั้งเพจหรือเปิดกลุ่มขึ้นมาประจานโดยเฉพาะ

การกระทำเหล่านี้เป็นการรุกล้ำ “สิทธิส่วนบุคคล” และ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ทั้งของผู้ต้องสงสัยเป็นแม่มด ไปจนถึงข้อมูลบุคคลอื่นในเรื่องราวที่ถูกพาดพิง ในแง่กฎหมายการกระทำเหล่านี้ก็จะต้องไปปรับดูกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท สำหรับ พ.ร.บ. คอมฯ นั้น ถ้าข้อมูลที่ประจาน ไม่ใช่ข้อมูลปลอมหรือเท็จ ก็ไม่เข้าข่ายความผิดใด เรายังไม่มี พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจนำมาให้ความคุ้มครองแก่แม่มด ผู้มี “พฤติกรรมต้องสงสัย” ว่าทำผิดอะไรสักอย่าง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ถูกตราหน้าเป็นแม่มดบางคน เป็นเพียงผู้มี “ความคิดเห็นต่าง” จากคนอีกกลุ่ม แทนที่คนอีกกลุ่มนั้นจะโต้แย้งเฉพาะตัวเนื้อหาของสิ่งที่เห็นต่างกัน แต่กลับนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของฝ่ายเห็นต่างมาประจานกันอย่างกว้างขวาง

ปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ ก็เช่นกัน เพราะมันเป็นปรากฏการณ์ระหว่าง “คนเห็นต่าง” สองฝ่าย

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เริ่มปรากฏว่ามีบางคนกระทำการ “ล่าลูกเทพ” เพจต่อต้านตุ๊กตาลูกเทพ กลุ่มต่อต้าน เกิดขึ้น มากมาย ในโลกออนไลน์

แม้ว่าในเฟซบุ๊กจะมีการแชร์ข้อความ “รับจ้างฆ่าลูกเทพพร้อมทำลายซาก” แต่ก็เป็นการ ล้อเลียน เสียดสี ประชด มากกว่าจะเป็นการ “ล่าแม่มด” จริงๆ จังๆ โดยการ ล่าแม่ลูกเทพ แต่ละราย นำมาจับแฉ เสียบประจาน

“อีนี่ คือแม่ลูกเทพ xx” มันบ้านอยู่นี่ นี้คือเฟสมัน ไลน์มัน เบอร์โทรมัน จงร่วมไปด่าให้มันสลดจนพาลูกเทพของมันออกจากเมืองนี้ ฯลฯ

การ “ล่าเสียบประจาน” แบบนี้ในกรณีตุ๊กตาลูกเทพ ยังคงไม่เกิดขึ้นอย่างดุเดือด กว้างขวาง เหมือนการล่าคนที่เห็นต่างในประเด็นการเมืองหรือประเด็นโต้แย้งทางสังคมอื่นๆ

แต่ก็ไม่มีใครรับรองว่า เราจะไปไม่ถึงจุดนั้น

แต่ที่แน่ๆ ณ จุดนี้ การสื่อสารแสดงความเกลียดชัง หรือ Hate speech ของผู้เห็นต่างทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นแล้วมากมายในโลกออนไลน์

การสื่อสารดังกล่าว ทำได้โดยเสรีตามหลัก “Free speech” ?

Free speech และ Hate speech ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

Hate speech เป็นแสดงออกซึ่งความคิด ความเห็น ความรู้สึก อันมีพื้นฐานจากความเกลียดชัง ในรูปแบบต่างๆ เช่น คำพูด ลายลักษณ์อักษร พฤติกรรม กิริยาอาการ ภาพ ป้าย สัญลักษณ์ โดยอาจแสดงออกในช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทั้งทายกายภาพและทางสื่อออนไลน์ ในแง่หนึ่ง Hate speech ก็ถือเป็นส่วนย่อยของ “Free speech” ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศของประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง “เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น” ( Free speech / Freedom of speech / Freedom of expression) อย่างไรก็ตาม กฎหมายของหลายประเทศเข้ามาควบคุมการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในกรณี Hate speech ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ

1. เพื่อป้องกันการนำไปสู่การกระทำความผิดทางกายภาพหรือความรุนแรงในสังคม เนื่องจาก Hate speech อาจกระตุ้นให้เกิดการกระทำรุนแรงระหว่างกลุ่มบุคคลได้

2. เพื่อคุ้มครอง “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” (Human dignity) โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลผู้ถูกเกลียด ที่กฎหมายเห็นว่ามีความเปราะบาง (Vulnerable group) หรือเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ เหตุผลนี้สะท้อนให้เห็นจากหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights 1948) หรือ UDHR ข้อ 19 , อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – ICERD) มีหลักการเกี่ยวข้องกับ Hate speech ในกรณีของการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ , กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ซึ่งแม้รับรอง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เป็นหลักสำคัญในข้อ 19 แต่ก็มี “ข้อจำกัด” สำหรับกรณี Hate speech นั้น สะท้อนให้เห็นจาก ข้อ 20 ที่มีหลักว่า “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย” หลักการนี้เป็นเหตุผลสำคัญให้หลายประเทศตรากฎหมายภายในขึ้นมาควบคุม Hate speech ในฐานะเป็นข้อยกเว้นของ Free speech

ผู้เขียนมีข้อสังเกต 3 ประการคือ

ประการที่ 1 ตามกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้น เสรีภาพในการสื่อสาร หรือ “Free speech” ยังคงเป็นหลักสำคัญ แต่ก็ยอมรับถึงความจำเป็นในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวในกรณี “Hate speech”

ประการที่ 2 กฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้น มีการบัญญัติคำว่าเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกไว้อย่างชัดเจน แต่ ไม่มีการระบุคำว่า “Hate speech” ไว้โดยเฉพาะ โดยจะมุ่งเน้นกรณีการสื่อสารที่ “กระตุ้น หรือ ยุยง” (Incitement) ให้ก่อให้เกิดการกระทำบางอย่าง เช่น การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง

ประการที่ 3 เนื่องจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน มุ่งคุ้มครองการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เท่าเทียมกันด้วย “เหตุบางประการ” เช่น “เพศ อายุ ความพิการ เชื้อชาติ ความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ” ดังนั้น การสื่อสารด้วยความเกลียดชังอันจะเป็น Hate speech ที่กฎหมายควบคุม จะต้องเชื่อมโยงกับ “เหตุบางประการ” นั้นด้วย เช่น “Hate speech” ที่ทำขึ้นเพราะความเกลียดชังด้วยเหตุ ศาสนา ที่แตกต่างกัน หรือ เชื้อชาติ ที่แตกต่างกัน เป็นต้น หาก “Hate speech” ไม่ได้เกิดจาก “เหตุบางประการ” ดังกล่าว ก็ไม่ต้องห้ามตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของหลายประเทศ นั่นหมายถึง การสื่อสาร “Hate speech” ก็สามารถทำได้ภายใต้หลักของ “Free speech” นั่นเอง

ในกรณีปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ ผู้เขียนเห็นว่า การสื่อสารที่เป็น “Hate speech” นั้น ในหลายกรณี สืบเนื่องมาจากเหตุ “ความเชื่อทาง ศาสนา หรือ ลัทธิ” ของผู้นิยมตุ๊กตานั้น ทั้งนี้ศาสนา หรือ ลัทธิ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องเป็นกระแสหลักหรือมีผู้นับถือมากมาย

Online Hate speech ที่อยู่ในขอบเขตของ Free speech

โดยหลักแล้วเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือ Free speech นั้น มิได้จำกัดเฉพาะการแสดงความคิดเห็นในเชิงบวกเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ทั้ง เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ความชื่นชอบ ความไม่พึงพอใจ หรือแม้แต่ความเกลียดชัง การที่รัฐจะตรากฎหมายมาจำกัด Free speech นั้นอาจทำได้แต่เหตุที่จะนำมาจำกัดก็จะต้องมีน้ำหนักเพียงพอด้วย ตัวอย่างของการที่รัฐมีความพยายามตรากฎหมายมาจำกัด Free speech โดยการอ้างเหตุ Hate speech นั้น พบว่าศาลในสหรัฐอเมริกาให้น้ำหนักกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ (First amendment) มากกว่าการจำกัดการสื่อสารที่แสดงความเกลียดชัง กล่าวคือ โดยหลักแล้ว การสื่อสารนั้นแม้จะมีลักษณะของการสื่อสารความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ เช่น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ก็ตาม ศาลก็ยังเห็นว่า รัฐไม่อาจตรากฎหมายเพื่อควบคุมหรือจำกัดการสื่อสารลักษณะดังกล่าวได้ เนื่องจากการสื่อสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม รัฐอาจตรากฎหมายที่เป็นการจำกัดการสื่อสารดังกล่าวได้ หากการสื่อสารนั้นมีการ “แสดงออก” ด้วยพฤติกรรมหรือลักษณะที่รุนแรงด้วย แต่หากเป็นเพียงการสื่อสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่พอใจหรือเกลียดชัง ก็ยังคงทำได้ตามหลัก Free speech

ตัวอย่าง ในปี 1992 หลังจากมีเหตุการณ์วัยรุ่นเผาไม้กางเขนบนสนามหญ้าของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน รัฐบาลท้องถิ่นตรากฎหมายมีเนื้อหาห้ามการแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ที่กระตุ้นหรือยั่วยุผู้อื่นด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ความเชื่อ หรือเพศ ศาลตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลอธิบายว่า การสื่อสารที่ทำให้เกิดความรุนแรง (Fighting words) จะไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะ Free speech แต่การสื่อสารนั้นมิใช่เพียงแต่มีเนื้อหาแสดงความไม่ชอบ ไม่พึงพอใจ เท่านั้น แต่ยังต้องแสดงออกมาในลักษณะที่เป็นการคุกคาม (Threatening manner) ด้วย หลังจากคดีนี้อีก 11 ปี ศาลสูงสุดสหรัฐก็ได้พิจารณาคดีที่มีประเด็นเกี่ยวกับการเผาไม้กางเขนอีกครั้ง ศาลตัดสินว่าแม้การเผาไม้กางเขนจะแสดงถึงการข่มขู่อันมิชอบด้วยกฎหมายได้ในบางกรณี แต่การที่รัฐตรากฎหมายห้ามการเผาไม้กางเขนนั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รัฐอาจตรากฎหมายห้ามเฉพาะรูปแบบหรือวิธีการของการข่มขู่ ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่การกระทำรุนแรงทางกายภาพเช่นการทำร้ายร่างกาย สำหรับกรณีการสื่อสารออนไลน์นั้น ศาลได้ตัดสินในกรณีจำเลยโพสต์ข้อความแสดงความเกลียดชังด้านเชื้อชาติและสีผิวทางอินเทอร์เน็ตนั้น ยังไม่ถึงขั้นเป็นการสื่อสารอันตราย (Dangerous speech) ดังนั้นจึงยังได้รับการคุ้มครองในฐานะ Free speech ตามรัฐธรรมนูญ

ตามกรอบของหลักกฎหมายนี้ ฝ่ายผู้ไม่ชอบตุ๊กตาลูกเทพที่แสดงออกทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ถึงความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้นิยมตุ๊กตาลูกเทพ หรือเกลียดชังต่อแนวคิดการเลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพนั้น ยังคงจัดอยู่ในพื้นที่ของ Free speech ได้ ตราบใดที่ไม่ได้แสดงออกมาด้วยวิธีการหรือลักษณะพฤติกรรมที่รุนแรงหรือเป็นการข่มขู่คุกคาม

Online Hate speech ในกรอบของกฎหมายไทย

การเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับบุคคลที่นิยมตุ๊กตาลูกเทพว่า “ไร้สติ ขาดสติ เบาปัญญา งมงาย โง่เง่า” “การอุ้มตุ๊กตาเป็นสัญลักษณ์แบ่งแยกให้รู้ใครเป็นคนดี คนบ้า” เหล่านี้เป็นคำดูถูกเหยียดหยามด้วยความไม่ชอบ อคติ หมั่นไส้ หรือเกลียดชัง หากเป็นการกล่าวโดยเจาะจงกับคุณแม่ลูกเทพคนใดคนหนึ่ง อาจเข้าข่ายความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทได้ แต่หากเป็นการกล่าวโดยรวมมุ่งต่อคนที่นิยมลูกเทพทั้งกลุ่มใหญ่หรือทั้งหมดโดยไม่ได้เจาะจงผู้ใด ก็ยังไม่เป็นการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม การสื่อสารดังกล่าวยังคงเป็นการสื่อสารที่เหยียดหยามและแบ่งชนชั้นอันก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างบุคคลที่แตกต่างกันสองฝ่าย ด้วยเหตุ “ความเชื่อ” ซึ่งตามกฎหมายไทยปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ “Hate speech” โดยเฉพาะดังเช่นกฎหมายของบางประเทศ

ดังนั้น การกระทำดังกล่าวหากพิจารณาตามกฎหมายไทยที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า “Hate speech” กรณีตุ๊กตาลูกเทพ การแสดงความไม่ชอบ หมั่นไส้ ไม่เห็นด้วย เกลียดชัง ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างไร และถือเป็น “Free speech” ซึ่งทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่ “ข้ามเส้น” ไปเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอื่นๆ เช่น หมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ. คอมฯ หากข้อความแสดงความเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ นั้นเป็นเท็จหรือปลอมขึ้นมา

สิทธิส่วนบุคคล : เส้นแบ่งของสองฝ่าย

ฝ่ายที่ไม่ชอบ มีเหตุผลหลายประการในการโต้แย้งผู้นิยมเลี้ยงตุ๊กตา หากมาดูทางฝ่ายนิยมตุ๊กตาลูกเทพจะพบว่า เหตุผลโต้แย้งหรือข้ออ้างสำคัญอย่างเดียวของฝ่ายนี้ก็คือ “สิทธิส่วนบุคคล”

ประเด็นคือ สิทธิส่วนบุคคลในมิติใดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปรากฏการณ์นี้ เนื่องจากสิทธิส่วนบุคคลอาจมีความหมายหลายนัย เช่น สิทธิในการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความคิด ความเชื่อส่วนบุคคล สิทธิส่วนบุคคลที่จะไม่มีใครมาแทรกแซงหรือสอดส่องการสื่อสารของตน ผู้เขียนเห็นว่า กรณีนี้ เป็นการอ้างสิทธิส่วนบุคคลผสมผสานหลายมิติ แต่โดยหลักก็คือ สิทธิส่วนบุคคลในความคิด ความเชื่อ และ สิทธิส่วนบุคคลในการแสดงออก ซึ่งความคิด ความเชื่อนั้น

ฝ่ายไม่เห็นด้วยบางรายอ้างเหตุผลทางศาสนา เช่น “ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เชื่อเช่นนี้” ซึ่งนั่นก็ถูกต้องถ้านำตำราวิชาการด้านศาสนามาเปิด แต่ประเด็นที่ถูกมองข้ามคือ มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาหลักอื่นๆ หรือแม้แต่คนนับถือศาสนาพุทธที่ยังนับถือศาสนาอื่นผสมผสานไปด้วยอย่างเช่นฮินดู และสิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามก็คือ ไม่ว่าการนิยมตุ๊กตาลูกเทพจัดเป็น “ศาสนา” “ความเชื่อ” “ลัทธิ” ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้นิยม ไม่ว่าศาสนาหรือลัทธินั้น จะเป็น ฝ่ายข้างน้อย หรือ นอกกระแสก็ตาม

คำถามต่อไปก็คือ การพาตุ๊กตาซึ่งในทางกฎหมายก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินชิ้นหนึ่งออกไปในที่สาธารณะนั้น มันไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้อื่นอย่างไร? ตุ๊กตาไม่ได้ลุกขึ้นมาวิ่งไล่กัดหรือทำตัวเป็นชัคกี้เอามีดไล่ฆ่าผู้ใด เพียงแต่นำพาไปในที่สาธารณะ ก็ควรจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลได้เช่นเดียวกับการถือสัมภาระอื่นๆ ?

ประเด็นนี้จากการสนทนาสอบถามจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ผู้เขียนมักจะถามว่า “ขอให้ท่านช่วยยกตัวอย่างกรณีที่ตุ๊กตาลูกเทพละเมิดสิทธิของผู้อื่นในสังคมให้เป็นรูปธรรมหน่อยได้ไหม” หลายๆ ท่านไม่สามารถตอบได้อย่างเป็นรูปธรรม มักจะให้เหตุผลไปในทำนอง “สังคมป่วย ขาดสติ ละเลยการศึกษา ไม่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” ยิ่งกว่านั้น คำตอบสำหรับบางท่านกลับดูย้อนแย้ง เช่น “ ไม่เชื่อเรื่องการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิทำให้รวยได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการพาออกมาเพราะ …กลัวมันมาหลอก !” หรือบางท่านก็แค่รู้สึก “ระคายเคืองทางอารมณ์” โดยไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่ชัดเจนนัก

แต่ผู้เขียนกลับได้คำตอบที่เป็นรูปธรรมจากนักศึกษาท่านหนึ่งที่ทำงานพาร์ทไทม์อยู่ร้านไอศกรีมแห่งหนึ่ง นักศึกษาเล่าว่า ถูกลูกค้าคอมเพลน ด้วยเหตุ “ ไม่รับคำสั่งจากลูกสาวของเธอ ไม่หาโต๊ะสำหรับเด็กมาให้ลูกของเธอนั่ง ฯลฯ” … ลูกสาวของลูกค้านี้ก็คือตุ๊กตาลูกเทพ

ดังนั้น สิทธิส่วนบุคคลของฝ่ายนิยมตุ๊กตาก็อาจ “เกินขอบเขต” หากผู้เลี้ยงตุ๊กตาทำให้บุคคลอื่นในสังคมตกอยู่ในสภาวะที่ต้อง “เข้าร่วม” บทบาทในการเลี้ยงตุ๊กตาของตน อย่างเช่นให้พนักงานรับออเดอร์คุยกับ “น้องตุ๊กตา” “บอกพี่เค้าไปซิจ้ะจะสั่งอะไร” หรือพาไปหาหมอแล้วบอกหมอว่า “น้องเค้าปวดท้องคุณหมอช่วยดูให้หน่อย” แบบนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นที่เขาไม่ชอบ ไม่เชื่อ และไม่อยากจะปฏิบัติต่อตุ๊กตาในลักษณะที่ผู้เลี้ยงปฏิบัติด้วยความรักและความเชื่อนั้น

สรุป ผู้เขียนเห็นว่า ฝ่ายกลุ่มต่อต้านตุ๊กตาลูกเทพ ในแง่หนึ่งก็มี สิทธิส่วนบุคคล ที่จะเกลียด และแสดงความเกลียดออกมาในระดับที่ Hate speech นั้นไม่ “ล้ำเส้น” สำหรับฝ่ายนิยมตุ๊กตา ก็มีสิทธิส่วนบุคคลในความเชื่อ และแสดงออกซึ่งความเชื่อผ่านพฤติกรรมเลี้ยงดูตุ๊กตาในระดับที่ไม่ไป “กระทบสิทธิผู้อื่น”

เส้นแบ่งระหว่าง Free speech กับ Hate speech ในกรณีปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ

กรณีปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ หากเรามองในกรอบของ ความเชื่อทางศาสนา และตีความให้มีความหมายกว้าง กว่าศาสนากระแสหลัก หรือให้รวมถึงความเชื่ออื่นๆ ของบุคคลด้วยแล้ว การแสดงความเห็นต่อต้านตุ๊กตาลูกเทพ อาจแบ่งได้ 4 กรณี

กรณีที่ 1: ถ้าเป็นแค่การ เสียดสี ล้อเลียน ทำอินโฟกราฟฟิกขำๆ ล้อเลียนเปรียบเทียบตุ๊กตาลูกเทพกับตุ๊กตามีชีวิตอื่นๆ เช่น ตุ๊กตาสยองขวัญอันโด่งดังจากหนังเรื่องต่างๆ หรือแสดงความเห็นท้าทายความคิด สถาบัน (กลุ่มคนรักลูกเทพ) ซึ่งการอภิปรายเช่นนั้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดการโต้แย้งและความเข้าใจที่มากขึ้น การให้ข้อมูลว่าพาลูกเทพอย่างไรถึงไม่กระทบสิทธิผู้อื่น เช่นนี้ ก็ยังอยู่ในเขตพื้นที่ของ “Free speech” ในทางกลับกัน ฝ่ายนิยมตุ๊กตาลูกเทพ ก็สามารถโต้แย้ง แสดงการสื่อสารด้านตรงข้าม (Counter speech) ได้เช่นกัน นอกจากนี้ สำหรับฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการสื่อสารในเชิงรังเกียจลูกเทพแบบ “เหมารวม” เช่น ฝ่ายผู้นิยมตุ๊กตาสะสม ก็อาจแสดงความเห็นตอบโต้ (Counter speech) ในรูปแบบของการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง (ว่าตุ๊กตาของตนอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดและรสนิยมอีกชนิดหนึ่ง)

กรณีที่ 2: การสื่อสารที่เห็นได้ชัดว่าแสดงความเกลียดชัง เช่น ด่าว่า “โง่ งมงาย ไร้สติ” ถ้าตีความโดยให้น้ำหนักกับ Free speech อย่างเช่นกฎหมายสหรัฐอเมริกาแล้ว เพียงแค่เนื้อหาในการสื่อสารเช่นนี้ ยังอยู่ในขอบเขตของ Free speech ได้ แต่ตามกฎหมายไทยก็จะต้องดูว่า ไปเจาะจงบุคคลใดอันเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่

กรณีที่ 3: การสื่อสารในลักษณะการส่งเสริมกระตุ้น (Incite) ให้เกลียดชังกลุ่มคนนิยมตุ๊กตาลูกเทพ หรือถึงขั้นให้เกิดการ เสียบประจาน ล่าแม่มด น่าจะถือได้ว่าเป็นการก้าวข้ามขอบเขตของ Free speech ไปสู่ Hate speech ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ล่าแม่มดออนไลน์ โดยการโจมตีผู้รักลูกเทพ เช่น นำเอาข้อมูลส่วนบุคคลหรือเรื่องราวส่วนตัวของเขามาประจาน ในระดับของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์นั้น การกระทำเช่นนี้อาจข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อตกลงการใช้งาน เช่น มาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊ก (Community standard) ซึ่งอาจถูกนำเนื้อหาออกไปหรือระงับใช้งานได้ สำหรับกรณีการโพสต์แสดงความไม่เห็นด้วย เกลียดชัง ด้วยวิธีการรุนแรง เช่น “เจอที่ไหนฆ่าที่นั่น” “จับตบให้หายโง่ทั้งแม่ทั้งลูก” เหล่านี้หากเทียบกับกฎหมายต่างประเทศจะเห็นว่า มีลักษณะ “Fighting words” หรือ “Dangerous words” อันข้ามเส้นของ Free speech ไปแล้ว

กรณีที่ 4: การที่ผู้ประกอบการร้านค้า บริการต่างๆ แสดงการสื่อสารออกมาว่าจะไม่ต้อนรับลูกเทพ (ซึ่งก็คือไม่ต้อนรับบุคคลที่นิยมลูกเทพและพาลูกเทพมาด้วย) การสื่อสารด้วยภาพ ป้ายประกาศ ที่โพสต์ในเว็บหรือเพจของร้านอย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังอย่างชัดเจน เช่น “ตุ๊กตาผี , ไร้สติ, งมงาย, เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่เยาวชน” เหล่านี้หากพิจารณาหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว การปฏิเสธให้บริการเข้าข่าย “การเลือกปฏิบัติ” (Discrimination) นั่นคือ การห้ามมิให้ผู้นำพาตุ๊กตาลูกเทพมาด้วย เข้าใช้บริการ เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยให้คนที่ไม่พาตุ๊กตาเข้าได้ แต่คนพาตุ๊กตามาเข้าไม่ได้ และการเลือกปฏิบัติเช่นนั้นมาจากเหตุผลทางความเชื่อ กรณีนี้ ตามกฎหมายภายในของหลายประเทศ มีการบัญญัติไว้เฉพาะ แต่ไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ห้ามการเลือกปฏิบัติในกรณีการปฏิเสธให้บริการ

บทส่งท้าย: มองเลย “ตุ๊กตาลูกเทพ” ไปสู่ผลกระทบ 5 ขั้นจาก Hate speech ที่น่ากังวลยิ่งกว่า

“ปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพ” อาจจางหายไปในไม่ช้าหรือสักพักอาจแทนที่ด้วยปัญหาใหม่ อย่างเช่น พบตุ๊กตาจำนวนมากไปวางเรียงรายรอบโคนต้นไม้ใหญ่ข้างทาง แต่ผู้เขียนเห็นว่า ตรรกะ แนวคิด รูปแบบพฤติกรรม จากปรากฏการณ์นี้สื่อให้เห็นบางสิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวลกับสังคมไทย โดยอาจแยกเป็นผลกระทบต่างๆ ดังนี้

ผลกระทบที่ 1 การเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับบุคคลที่นิยมตุ๊กตาลูกเทพว่า “ไร้สติ ขาดสติ เบาปัญญา งมงาย โง่เง่า” “การอุ้มตุ๊กตาเป็นสัญลักษณ์แบ่งแยกให้รู้ใครเป็นคนดี คนบ้า” เหล่านี้เป็นคำดูถูกเหยียดหยามด้วยความไม่ชอบ อคติ หมั่นไส้ หรือเกลียดชัง อีกทั้งยังมีนัยแฝงว่า ผู้กล่าวอยู่ในสถานะดีกว่า มีสติมากกว่า มีปัญญาความรู้มากกว่า จิตปกติมากกว่า ซึ่งทำการ สอนสั่ง ตักเตือน ผู้นิยมตุ๊กตาซึ่งเป็น ผู้ต่ำต้อยด้อยความคิด ขาดสติ ไร้ปัญญา ปรากฏการณ์นี้อาจเปรียบเทียบได้กับกรณีความเห็นต่างทางการเมืองที่ฝ่ายหนึ่งมองอีกฝ่ายว่า เป็นผู้ด้อยกว่าทางการศึกษาและสติปัญญา

ผลกระทบที่ 2 การแสดงความเห็นต่อบุคคลที่นิยมตุ๊กตาลูกเทพว่า “เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชนให้หลงงมงาย” การกล่าวเช่นนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็น “ความเกลียดชังอย่างหวังดี” ซึ่งมีนัยสะท้อนแนวคิดที่เป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลหลายประการ เช่น

  • แนวคิดที่ “ผู้ใหญ่” ผู้มีวิจารณญาณอันดี เจตนาดี รักเด็ก มุ่งประสงค์ “กลั่นกรอง” เนื้อหาข้อมูลที่เด็กสามารถรับรู้ เหมือนกับเป็นการพยายามเซ็นเซอร์ ไม่ให้เด็กเห็นภาพสังคมที่มีคนกลุ่มหนึ่งนิยมตุ๊กตาลูกเทพ แนวคิดลักษณะนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับกฎหมายหลายๆ ฉบับที่มุ่งควบคุมเนื้อหาที่ผู้ร่างมองว่า “เป็นอันตรายต่อเด็ก” โดยก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า “ เด็กอาจมีวิจารณญาณกลั่นกรองเลือกรับสื่อได้ ? สิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่า “ไม่เหมาะสม” จะถูกต้องเสมอไป ?
  • แนวคิดดังกล่าวยังเหมือนกับได้วางข้อสมมุติฐานว่า หากเด็กเห็นภาพคนเลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพแล้ว จะต้องรีบไปซื้อหามาเลี้ยงตามเสมอ
  • แนวคิดแบบนี้ ยังเป็นการขยายความแนวคิด “Harmful content” หรือเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ออกไปจาก เหตุหลักๆ ที่ยอมรับกัน เช่น เนื้อหาข้อมูลลามกอนาจารเกี่ยวกับเด็ก ไปรวมถึง “เนื้อหาข้อมูลที่แสดงถึงความเชื่อเรื่องตุ๊กตาลูกเทพ”
  • แนวคิดแบบนี้ จะส่งผลให้ เนื้อหาข้อมูลที่เด็กและเยาวชนควรเข้าถึงหรือพบเห็น จะต้องเป็นข้อมูลที่กระแสหลักของสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นความเชื่อกระแสหลัก จินตนาการใดๆ นอกกระแสจะถูกจำกัด ลองย้อนไปถึงสภาพในห้องเรียนที่มีอาจารย์ผู้ทรงความรู้และ “ศีลธรรม” ที่ห้ามคนเอาตุ๊กตาเข้ามาเรียน หลังกระแสตุ๊กตาลูกเทพแล้ว อาจารย์กลุ่มนี้จะ “ห้าม” สิ่งใดอีก

ผลกระทบที่ 3 ในพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ Hate speech กรณีตุ๊กตาลูกเทพ ได้ส่งผลผลักดันให้ผู้นิยมตุ๊กตา ทั้งลูกเทพ และ ชนิดอื่นๆ ที่โดนผลกระทบไปด้วย ให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ที่จะถูกมองเป็นคน “ไร้สติ และบ้า” คนกลุ่มนี้เกิดความอับอาย จนต้องนำตุ๊กตาที่มีหลีกเร้นเข้าไปเล่นในบ้านหรือที่ส่วนตัวเท่านั้น ไม่สามารถพาออกมาภายนอกได้เหมือนกับทรัพย์สินอื่นๆ พื้นที่สาธารณะทางกายภาพไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับพลเมืองที่มีความหลากหลายในความคิด ความเชื่อ อีกต่อไป แต่กลายเป็นพื้นที่สงวนสำหรับ “คนปกติ คนไม่บ้า คนมีสติ คนมีปัญญา และการศึกษา”

ผลกระทบที่ 4 ในพื้นที่ออนไลน์ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างเว็บบอร์ดที่เปิดให้ทุกคน หรือแม้แต่กึ่งสาธารณะอย่างโซเชียลมีเดียต่างๆ Hate speech ได้ผลักดันให้ผู้นิยมตุ๊กตาลูกเทพ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการอัพโพรไฟล์ภาพถ่ายกับน้องๆ หรือโพสต์กิจกรรมเกี่ยวกับน้องๆ ตุ๊กตา เป็นลดการโพสต์ไปหรือเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นๆ โดยนัยนี้ พื้นที่สาธารณะในโลกออนไลน์ กลายเป็นพื้นที่สำหรับ “คนปกติ คนไม่บ้า คนมีสติ คนมีปัญญา และการศึกษา”

ผลกระทบที่ 5 ถ้าใครได้ดูหนัง “The fifth wave” อาจจะจำได้ว่า คลื่นลูกที่ 5 ซึ่งมนุษย์ต่างดาวใช้โจมตีเผ่าพันธุ์มนุษย์ ก็คือ ให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งใส่แว่นตาที่มองคนอีกกลุ่มเป็น “มนุษย์ต่างดาว” ทำให้มนุษย์ฆ่ากันเอง เหลือไว้แต่มนุษย์ผู้ใส่แว่นซึ่งคิดว่าตนอยู่ “ฝ่ายดี” (หรือสุดท้ายอีกกลุ่มหมดสิ้นแล้ว คนใส่แว่นนี้ก็อาจถูกมนุษย์ต่างดาวกำจัดไปด้วยก็ได้) ในกรณีตุ๊กตาลูกเทพนี้ ผลกระทบจาก Hate speech ทั้ง 4 ขั้นที่ว่ามา ส่งผลเหมือนคลื่นที่ “กวาด” ผู้นิยมตุ๊กตาออกไป

Hate speech กรณีลูกเทพนี้ ได้ส่งผลกระทบ ผลัก คนกลุ่มผู้เลี้ยงตุ๊กตาออกไป ชายๆ ขอบสังคม หรือตกขอบไปเลย โดยเหลือที่ทางไว้ให้เฉพาะ “สังคมที่ดี มีสติ มีปัญญา เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชน” มีแต่คนโพสต์ข้อมูลความรู้วิทยาศาสตร์ อภิปรายแลกเปลี่ยนเลือกการลดโลกร้อน ฯลฯ หลังจากคลื่นเหล่านี้ซัดผ่านไป จะเหลือแต่ สังคมอุดมสติและปัญญาบนพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ แต่กลับมีลักษณะเป็นสังคมที่ ไม่ยอมรับฝ่ายเห็นต่าง หรือ ความเชื่อนอกกระแสหลัก เป็นสังคมที่ไม่เหลือพื้นที่สำหรับผู้ “เห็นต่าง” ได้มีที่ยืน

คลื่นลูกที่ 5 ก็คือ บนพื้นฐานตรรกะ ของปรากฏการณ์ “ตุ๊กตาลูกเทพ” นั้น จะส่งผลให้ในครั้งต่อไป ประเด็นต่อไป หากใครลุกขึ้นมาทำอะไรบนความเชื่อที่ดู “ไร้สาระ ไร้สติ ขาดเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์” เขาเหล่านี้ก็จะถูก “คลื่นลูกที่ 5” และลูกถัดๆ มา ที่ฟอร์มตัวขึ้นมาในตรรกะ “ตุ๊กตาลูกเทพ” พัดพาออกไปจากสังคมทั้งทางกายภาพและออนไลน์ หลังการพัดพาคนเห็นต่างหรือนอกกระแสไปหมดแล้ว จะเหลือพื้นทรายที่ใสสะอาด สังคมจะมีแต่ “คนดีๆ ” ที่คิดเหมือนๆ กันและ ทำอะไรสอดคล้องกันในทุกๆ เรื่อง สิทธิส่วนบุคคล ของคนข้างน้อย ที่ถูกแปะป้ายว่า “ไร้สติ” ก็จะถูกกลืนหายไปกับกระแสของ “Hate speech” ที่เต็มไปด้วย “ความเกลียดชังอย่างหวังดี”

ขอบคุณรูปประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

อ้างอิง

Tags: , , , ,
%d bloggers like this: