เมื่อรัฐอยากมี “สิทธิที่จะถูกลืม”: กูเกิลกับความพยายามของรัฐในการขอให้ “ลบ” ข้อมูล

2016.02.22 14:21

หากพลเมืองสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการลบข้อมูลที่ส่งผลกระทบกับตัวเอง บนฐานของ “สิทธิที่จะถูกลืม” ได้ แล้วรัฐสามารถที่จะมีสิทธิอย่างเดียวกันเพื่อทำการ “ลบ” ข้อมูลที่รัฐมองว่าส่งผลกระทบกับตัวรัฐหรือรัฐบาลได้หรือไม่?

google-forgotten

โดย คณาธิป ทองรวีวงศ์

กรณี “ซิงเกิลเกตเวย์” ในปี 2558 แสดงถึงแนวคิดโครงการของรัฐที่อาจกระทบต่อเสรีภาพในการสื่อสารและสิทธิส่วนบุคคลในข้อมูล โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านจากหลายภาคส่วนทั้งองค์กรสิทธิ องค์กรธุรกิจ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป หนึ่งในผลกระทบที่หลายฝ่ายกังวล นอกจากการ “สอดส่อง” ก็คือการ “เซ็นเซอร์” ที่อาจตามมา ไม่นานหลังจากกรณีดังกล่าว เมื่อต้นปี 2559 ยังปรากฏความพยายามใหม่ของรัฐในการร้องขอผู้ให้บริการอย่างกูเกิล “ลบ” ข้อมูล หรือ “ถอด” เว็บไซต์บางอย่างออกจากการเข้าถึงของผู้ใช้งานทั่วไป

หน่วยงานของรัฐในประเทศต่างๆ มีคำร้องขอให้ผู้บริการ “ลบ” ข้อมูลหรือ “ถอด” เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายอยู่บ่อยครั้งจนแทบเป็นเรื่องปกติ ปลายเดือนมกราคม 2559 ปรากฏข่าวว่าหน่วยงานของไทยเจราจาเรียกร้องลักษณะนี้กับกูเกิล เรื่องนี้เริ่มต้นเผยแพร่มาจากสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มสนับสนุนสิทธิเสรีภาพออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยคัดค้านซิงเกิลเกตเวย์ เอกสารหลักฐานที่ปรากฏความพยายามของรัฐในการร้องขอกูเกิลให้ “ลบ” ข้อมูลนั้นคือ “สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 11” ซึ่งปัจจุบันยังเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ เอกสารนี้แสดงการพูดคุยระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับตัวแทนกูเกิล โดยทางฝ่ายไทย “ขอ” ให้ทางกูเกิลช่วย “ถอดเว็บไซต์” ที่มีเนื้อหากระทบความมั่นคง ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยในกรณีเร่งด่วนอาจขอให้ถอดโดย “ไม่ต้องมีคำสั่งศาล”

แม้รูปแบบหรือชื่อเรียกของความพยายามนี้อาจแตกต่างไป แต่สาระหลักยังคงเป็นเช่นเดิม นั่นคือความต้องการให้ข้อมูลบางอย่างที่รัฐเห็นว่าประชาชนไม่ควรรับรู้ ถูก “ลบ” หรือ “หายไป” จากพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลนั้นไม่ได้ “อยู่” ในขอบเขตอำนาจรัฐใดรัฐหนึ่งเป็นการเฉพาะ และเป็นการยากในการใช้กฎหมายบังคับกับ “ผู้ควบคุมข้อมูล”

ในบทความนี้ผู้เขียนจะเสนอการวิเคราะห์ความพยายามดังกล่าวของภาครัฐตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คำร้องขอให้ “ลบ”

คำว่า “ลบ” ในบทความนี้ใช้ในความหมายของการเรียกร้องหรือคำร้องขอให้ข้อมูลบางอย่างไม่สามารถเข้าถึงโดยผู้ใช้งานออนไลน์โดยทั่วไป

เนื่องจากกูเกิลเป็นผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น การค้นข้อมูล สื่อสังคมอย่างยูทูบ (YouTube) อีเมล (Gmail) และบล็อก (Blogger) ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีข้อมูลที่อาจผิดกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรืออาจไม่ใช่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายโดยตรงแต่หน่วยงานรัฐไม่ประสงค์ให้เผยแพร่ ในช่องทางเหล่านี้ ความหมายของการ “ลบ” ในกรณีที่เกี่ยวกับกูเกิลจึงขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบ่งได้สองกรณี

(1 ) ข้อมูลนั้นปรากฏในผลการค้นหา ในฐานะที่กูเกิลทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการสืบค้น หรือทำ “ดัชนี” (index) นำไปสู่เนื้อหา และกูเกิลไม่ใช่ผู้เก็บรักษาข้อมูล​เอง กรณีนี้หากกูเกิลเห็นด้วยกับคำร้องขอ ก็จะทำการ​ “ถอดรายการ” (delist) ทำให้ไม่ปรากฎเว็บไซต์นั้นในผลการค้นหา แต่ข้อมูลในเว็บไซต์นั้นยังคงอยู่ ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าข้อมูลไม่ได้ถูก “ลบ” ไปโดยแท้จริง

(2) ข้อมูลนั้นปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์อื่นของกูเกิล เช่น ยูทูบ หากกูเกิลเห็นด้วยกับคำร้องขอ ก็จะทำการ “remove” หรือ “นำเอาออกไปจากระบบ” กรณีนี้ใกล้เคียงกับคำว่า “ลบ” มากกว่ากรณีแรก

ดังนั้น คำว่า “ลบ” ในที่นี้จึงหมายความกว้างๆ รวมถึงการ “ถอดจากเว็บไซต์” และ “ถอดจากผลการค้นหา” ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือการ “ปิดกั้นเนื้อหา” (censor) นั่นเอง

นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ประชาชนอาจต้องการให้กูเกิล “ลบ” หรือ “ปิดกั้น” ข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับตน เนื่องจากการคงอยู่ของมันกระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของพวกเขา การร้องขอกรณีนี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากกรณีคำร้องของรัฐ แต่ผลสุดท้ายแล้วอาจกล่าวได้ว่าเป็นความต้องการ “ปิดกั้น” นั่นเอง

การเรียกร้องต่อกูเกิล ประกอบด้วยหลายทิศทางซึ่งผู้เขียนสรุปได้ดังนี้

ทิศทางแรก รัฐร้องขอให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูล

ทิศทางที่สอง รัฐร้องขอให้กูเกิล “เปิดเผยข้อมูล” ผู้ใช้งาน​ ในทิศทางนี้มักจะเป็นผลตามมาหรือกรณีสืบเนื่องจากทิศทางแรก (ในบทความนี้จะมุ่งเน้นเฉพาะการขอให้ “ลบ” โดยจะแยกการขอให้ “เปิดเผยข้อมูล” ไปอยู่ในอีกบทความหนึ่ง)

ทิศทางที่สาม ประชาชนเรียกร้องขอให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูล

ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเอาการเรียกร้องของรัฐต่อกูเกิลในกรณีขอให้ “ลบ” ข้อมูลมาเปรียบเทียบกับ การเรียกร้อง “สิทธิที่จะถูกลืม” ของประชาชน

รัฐเรียกร้องให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูล

กรณีแรกนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐ ซึ่งเรียกร้องให้กูเกิล นำเนื้อหาข้อมูลออกจากระบบที่กูเกิล ควบคุมดูแลอยู่ เพื่อมิให้ประชาชนเข้าถึงหรือรับรู้ข้อมูลนั้น โดยอ้างเหตุผลว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลผิดกฎหมาย

คำถามแรกคือ “เนื้อหาข้อมูลนั้น เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอะไร?”

ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อหาข้อมูลที่ “ผิดกฎหมาย” นั้น กฎหมายภายในของแต่ละประเทศกำหนดไว้แตกต่างกัน เนื้อหาข้อมูลหนึ่งอาจเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศหนึ่ง แต่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง ทำให้การพิจารณาว่าจะนำเนื้อหาออกจากระบบหรือไม่ ยุ่งยากและเป็นปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะกรณีข้อมูลที่รัฐบาลหนึ่งเรียกร้องให้กูเกิล “ลบ” นั้น เป็นความผิดตามกฎหมายภายในของรัฐที่ร้องขอ แต่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายภายในของอีกหลายประเทศ ดังนั้นหากกูเกิลทำตามคำขอโดย “ลบ” ข้อมูลนั้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนของประเทศอื่นที่การดำรงอยู่ของข้อมูลนั้นไม่เป็นความผิด

การร้องขอของรัฐในกรณีนี้ ส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมทั้งในทิศทางของการแสดงออกโดยการส่งข้อมูลและในทิศทางของการรับข้อมูลของผู้รับสาร การร้องขอลักษณะนี้อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าส่งผลเป็นการ เซ็นเซอร์ เนื้อหาข้อมูลออนไลน์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจว่าจะ “ลบ” ข้อมูลตามคำขอของรัฐบาลประเทศต่างๆ หรือไม่นั้น กูเกิลก็จะดำเนินการตามหลักการของตนเอง ซึ่งจากนโยบายของกูเกิลก็เน้นย้ำว่าการพิจารณาของตนสอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลอันเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ โดยกูเกิลแสดงความ “โปร่งใส” ของการพิจารณาคำร้องในระดับหนึ่ง ด้วยการทำรายงานสรุปการตอบสนองต่อคำร้องของรัฐบาลประเทศต่างๆ (Google Transparency Report) เปิดเผยในเว็บไซต์

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การนำเนื้อหาออกจากระบบหรือการเซ็นเซอร์นั้น นอกจากกรณีที่รัฐเรียกร้องให้กูเกิลนำข้อมูลออกจากระบบแล้ว ยังอาจมีกรณีกูเกิลนำข้อมูลนั้นออกจากระบบเอง เพราะกูเกิลเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อ “นโยบาย” หรือเกณฑ์ของกูเกิลเอง ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะขัดต่อกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งหรือไม่ก็ตาม

ข้อมูลที่เป็น​ “ประโยชน์สาธารณะ”

แม้ข้อมูลนั้นก่อให้เกิดผลในแง่ลบต่อรัฐที่ร้องขอ หรือถึงขั้นว่าข้อมูลนั้นผิดกฎหมายภายในของรัฐนั้น แต่กูเกิลก็อาจไม่ลบ โดยอ้างเหตุผล “ประโยชน์สาธารณะ” (public interest)

ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า กูเกิลทำหน้าที่คล้ายศาล วินิจฉัยชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับความมั่นคงหรือเหตุอื่นๆ เช่น กรณีที่รัฐร้องขอให้ “ลบ” ข้อมูลหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งข้อมูลนี้อาจเป็นความผิดตามกฎหมายภายใน แต่กูเกิลก็จะพิจารณาว่าข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ถ้าเป็นการใส่ความทำให้เสียหาย กูเกิลอาจ “ลบ” แต่ถ้ามีลักษณะของการเปิดเผยเรื่องราวเพื่อสาธารณชนรับทราบ หรือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในลักษณะของการตรวจสอบ กูเกิลอาจไม่ “ลบ” ข้อมูลนั้น

ตัวอย่างเช่นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐของออสเตรเลียขอให้กูเกิล “ลบ” โพสต์ในบล็อกที่มีเนื้อหากล่าวถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน แต่กูเกิลตัดสินใจไม่ “ลบ” โดยอ้างประโยชน์สาธารณะ

ในหลายกรณี สำหรับปัญหาของการขอให้ “ลบ” ข้อมูลที่ผิดกฎหมายท้องถิ่นของประเทศหนึ่ง แต่อาจจะไม่ผิดกฎหมายประเทศอื่น กูเกิลพยายามประนีประนอมกับกฎหมายภายในของประเทศที่ร้องขอ โดยอาจตัดสินใจ “ลบ” เฉพาะสำหรับการเข้าถึงของประชาชนในประเทศนั้น

ตัวอย่างเช่นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐของอิสราเอลร้องขอให้ “delist” โพสต์ในบล็อก WordPress ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทตัวเขา กูเกิลยอมซ่อนโพสต์ดังกล่าวให้ไม่แสดงในผลการค้นหา-ถ้าทำการค้นหาในเว็บไซต์กูเกิลอิสราเอล (ชื่อโดเมน google.co.il) หรือกรณีที่หน่วยงานรัฐของฟิลิปปินส์ร้องขอให้ “ลบ” เนื้อหาในคลิปยูทูบซึ่งกล่าวหาว่ารัฐบาลคอรัปชั่น โดยระบุว่าคลิปดังกล่าวมีเนื้อหารุนแรงและปราศจากเหตุผล กูเกิลได้ “จำกัด” การเข้าถึงวีดีโอนั้นจากการชมในฟิลิปปินส์ หรือกรณีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อ้างว่าเนื้อหาเสียดสีกลุ่มผู้มีอำนาจปกครองของยูเออีนั้นขัดต่อกฎหมายของตนอย่างชัดเจน กูเกิลพิจารณา “ลบ” ข้อมูลดังกล่าวเฉพาะในส่วนของการเข้าถึงในยูเออี

จะเห็นได้ว่า ถ้ารัฐเรียกร้องให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูลที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แม้ข้อมูลดังกล่าวดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมายภายใน แต่หากข้อมูลดังกล่าวโดยทั่วไปในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่พึงทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย กูเกิลมักจะตอบสนองด้วยการให้น้ำหนักกับประโยชน์สาธารณะและไม่ลบข้อมูลออก

การขอให้ลบโดยอ้างกฎหมายลิขสิทธิ์

การเรียกร้องขอให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูลนั้น มีอีกเหตุหนึ่งซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักแนวคิด วัตถุประสงค์ และหลักกฎหมายที่แตกต่างออกไป นั่นคือการแจ้งลบเพราะเหตุละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของบทความนี้ แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ในบางกรณีรัฐอาจ “อ้างว่า” ข้อมูลที่ประสงค์ให้กูเกิล “ลบ” นั้นเป็นข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ปรากฎว่าในเนื้อหาข้อมูลนั้นอาจไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

เช่น เอกวาดอร์​ร้องขอให้กูเกิลนำเอาคลิปวีดีโอที่มีเนื้อแสดงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมออกจากยูทูบ โดยอ้างกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่กูเกิลพิจารณาไม่นำคลิปนั้นออกจากระบบ หรือในสเปน เมื่อเดือนธันวาคม 2014 มีการร้องขอให้​ “ลบ” ข้อมูล “ละเมิดลิขสิทธิ์” แต่เมื่อดูจากข้อมูลจะเห็นว่าเนื้อหาประกอบด้วยภาพของศาลาว่าการเมืองและโพสต์แสดงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลท้องถิ่น กูเกิลจึงไม่ ​”ลบ” ข้อมูลตามคำขอ

จะเห็นได้ว่า เนื่องจากเหตุผลในการร้องขอให้ “ลบ” ข้อมูลนั้นสามารถมีได้หลากหลาย ทั้งกรณีละเมิดลิขสิทธิ์และเหตุที่ข้อมูลนั้นผิดกฎหมายอื่น​ รัฐจึงอาจใช้ช่องทาง “ละเมิดลิขสิทธิ์” เพื่อขอให้กูเกิล “ลบ” แต่กูเกิลพิจารณาแล้วอาจพบว่าเนื้อแท้ไม่ใช่เรื่องลิขสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องการ “ลบ” ด้วยเหตุผลอื่น จึงตอบสนองโดยการไม่ลบ

ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนว่าผิดกฎหมายภายใน / คำร้องขอที่ไม่เป็นไปตาม “ขั้นตอน”

หลายกรณีที่ รัฐบาลบางประเทศพยายามเรียกร้องให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูลบางอย่างออก โดยที่ข้อมูลนั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อาจส่งผลกระทบบางประการต่อรัฐนั้น เช่น คำขอจากรัฐบาลบางประเทศ ให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูลในยูทูบที่แสดงให้เห็นถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำรุนแรงหรือล่วงละเมิดสิทธิของประชาชน เนื้อหาแบบนี้อาจไม่ใช่เนื้อหาข้อมูลที่ผิดกฎหมาย แม้แต่กฎหมายภายในของประเทศที่ร้องขอนั้นเองก็อาจจะไม่ได้บัญญัติให้เนื้อหาแบบนี้เป็นความผิด ดังนั้นกูเกิลจึงตอบสนองโดยการไม่ “ลบ” เพราะไม่อาจจะระบุเจาะจงว่าข้อมูลนั้นมีเนื้อหาที่ล่วงละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายอย่างไร (unable to identify the offending content)

ดังนั้นการที่รัฐเรียกร้องขอให้กูเกิล​ “ลบ” หรือ ระงับการเผยแพร่เนื้อหานั้น ถ้าเป็นเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายของรัฐนั้นก็ต้องดูว่าเป็น กฎหมายอะไร และกฎหมายนั้นกำหนดกระบวนการไว้อย่างไร

สำหรับกรณีของไทย มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น หากรัฐบาลไทยจะขอให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูลที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการของ พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่งมีหลักเฉพาะสำหรับการ “ปิดกั้น” ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หรือที่กฎหมายใช้คำว่า “ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์” ดังปรากฏในมาตรา 20 ซึ่งตามขั้นตอนแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีไอซีทีก่อนจากนั้นจึงขอให้ศาลมีคำสั่ง

นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ “ผิดกฎหมาย” ตามนัยของมาตรา 20 นี้มีความหมายกว้าง นอกจากข้อมูลที่เป็นความผิดตาม พรบ คอมฯ เองแล้ว ยังรวมถึงข้อมูลผิดกฎหมายอื่นด้วย เช่น “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือ ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ดังนั้น แม้ว่าจะดำเนินการตามกระบวนการของ พรบ คอมฯ แล้วก็ตาม กูเกิลยังอาจปฎิเสธคำขอได้อยู่ดี หรือหากกูเกิลประนีประนอมกับกฎหมายภายในของไทย ก็อาจจำกัดการเข้าถึงเฉพาะในส่วนของประเทศไทยก็ได้ จากรายงานของกูเกิลแสดให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีคำร้องหลายกรณีที่ข้อมูลขัดต่อกฎหมายไทย แม้ข้อมูลนั้นไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายประเทศอื่นหรือประเทศสหรัฐอเมริกา กูเกิลก็ตอบสนองโดยการ “ลบ” ข้อมูลนั้นเฉพาะในส่วนการเข้าถึง (restricted from view in Thailand) ด้วยเหตุว่า “เคารพต่อกฎหมายภายใน” (respect for local law)

ดังนั้น การที่รัฐบาลบางประเทศ จะขอให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูลที่ดูจะเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศนั้น หรือดูจะขัดต่อ “ศีลธรรมอันดี” ของประเทศนั้น ด้วยวิธีการ “ขอ” โดยไม่ทำตามกระบวนการตามกฎหมายอย่างครบถ้วนถูกต้องตามลำดับขั้นตอน กูเกิลก็สามารถปฎิเสธได้ และผู้เขียนเห็นว่าควรปฎิเสธด้วยเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารของผู้ใช้งาน แม้ว่าเสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัด แต่ก็ควรถูกจำกัดในกรณีที่มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ แม้รัฐบาลทำตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายภายในแล้ว กูเกิลก็ยังอาจปฎิเสธได้เช่นกันหากเห็นว่าผลประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลนั้นมีมากกว่า ดังที่เห็นได้จากการรายงานผลของกูเกิลต่อข้อเรียกร้องประเทศต่างๆ

ประชาชนอ้างสิทธิที่จะถูกลืม ขอให้กูเกิล “ลบ” ข้อมูล

การเรียกร้องในมิตินี้เป็นการเรียกร้องของประชาชนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ด้วยความประสงค์จัดการข้อมูลของตัวเองที่แพร่อยู่ในโลกออนไลน์ เนื่องจากพวกเขาอาจไม่ยินยอมให้เผยแพร่ข้อมูลนั้น หรือ ข้อมูลนั้นอาจจะไม่ถูกต้องล้าสมัยไปแล้ว หรือทำให้เข้าใจผิด หรือไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขาอีกต่อไป การมีอยู่ของข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ บุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้ประสงค์ที่จะให้โลกออนไลน์ “ลืม” ข้อมูลดังกล่าวของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพวกเขาเรียกร้อง “สิทธิที่จะถูกลืม” (Right to be forgotten)

การเรียกร้องสิทธินี้ต่อกูเกิล ปรากฏเป็นคดีสำคัญ ในกรณีที่ชาวสเปนคนหนึ่ง ประสงค์ขอให้กูเกิล​ “ลบ” ข้อมูลความเป็นหนี้ล้มละลายของเขาหลายปีก่อน ซึ่งมันยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันซึ่งเขาได้เคลียร์หนี้สินและเริ่มชีวิตใหม่ ศาลยุติธรรมยุโรป (Court of Justice of the European Union) ยืนยันว่า ข้อมูลของเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าหลายสิบปีก่อนจึงเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง (irrelevant) หรือล้าสมัย (outdated) การเก็บรักษาหรือประมวลข้อมูลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกต่อไป เจ้าของข้อมูลจึงมีสิทธิเรียกร้องให้กูเกิลนำผลการค้นหาที่เชื่อมโยงไปยังข้อมูลดังกล่าวออก

แม้ว่าจริงๆ แล้ว สิทธิที่จะถูกลืมไม่ได้หมายถึงการลืมโดยเด็ดขาด หรือการ ““ลบ”” เนื้อหาข้อมูลนั้นออกไปอย่างถาวร เพราะกูเกิลไม่ได้เป็นผู้เก็บข้อมูลนั้น แต่การเรียกร้องให้กูเกิล “delist” หรือยุติการเชื่อมโยงคำค้นชื่อของเขาไปยังผลการค้นหาในเว็บที่แสดงเนื้อหานั้น อย่างน้อยก็ช่วยคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลได้ในระดับหนึ่ง

จากคดีข้างต้น ศาลยุติธรรมยุโรปอาศัยหลักกฎหมายหลายหลักในการคุ้มครอง “สิทธิที่จะถูกลืม” ของชาวสเปนคนนี้ ทั้งกฎหมายคุ้มครองข้อมูล (Directive 95/46/EC) และมาตรา 7 ของ กฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป (Charter of Fundamental rights of the European Union) ซึ่งคุ้มครอง “สิทธิในชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเจ้าของข้อมูล” จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเหล่านี้ล้วนแต่คุ้มครอง “บุคคล” ธรรมดา ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิในชีวิตส่วนตัว ไม่ได้ให้สิทธิแก่ “รัฐ” หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประสงค์จะให้ข้อมูลบางอย่างถูก “ลืม” ไปจากโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม กรณีการเรียกร้องของรัฐให้กูเกิล”ลบ”ข้อมูล นั้นอยู่บนพื้นฐานแนวคิดแตกต่างออกไป เพราะรัฐที่ขอให้ “ลบ” ไม่ได้ประสงค์คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในข้อมูลของประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดความผิดสำหรับเนื้อหาบางอย่าง

สรุป

หากมองว่า การที่บุคคลธรรมดาขอใช้สิทธิที่จะให้โลกออนไลน์ “ลืม” ข้อมูลของตน กับ การที่รัฐขอให้โลกออนไลน์ “ลืม” ข้อมูลบางอย่าง โดยผลสุดท้ายแล้วก็เป็นการ “ปิดกั้น” เนื้อหาข้อมูลเช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นความพยายามบนวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

เราไม่อาจกล่าวได้ว่า ความพยายามของรัฐในการขอให้​ “ลบ” หรือ “ปิดกั้น ข้อมูล เป็นการเรียกร้องสิทธิที่จะถูกลืม เนื่องจากสิทธิเช่นนั้นโดยสภาพแล้วเป็นสิทธิที่มีรากฐานจากสิทธิมนุษยชน เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล จึงเป็นสิทธิของประชาชนคนธรรมดา ในขณะที่การเรียกร้องของรัฐเป็นการพยายามบังคับใช้กฎหมายบางอย่างที่โดยสภาพแล้วเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการคุ้มครองจากอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ เพียงแต่กฎหมายบางอย่างที่ต้องการบังคับใช้นั้น อาจมีอยู่ได้ในฐานะข้อยกเว้นของเสรีภาพ ซึ่งก็จะต้องมีขอบเขตที่แคบและการตีความที่จำกัดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันชอบธรรมของการมีอยู่ของกฎหมายนั้น โดยจำกัดเสรีภาพให้น้อยที่สุด ด้วยวิธีการทางเลือกอื่นหากสามารถมีได้นอกจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายนั้นด้วย

แต่การเรียกร้องของรัฐให้กูเกิล​ “ลบ” ข้อมูล บางกรณีนั้น มีปัญหาที่ตัวคำร้องขอนั้นเอง เพราะร้องขอให้ลบข้อมูลที่มีเนื้อหาบางอย่างอันขัดต่อกฎหมายอะไรสักอย่างที่กว้างๆ เช่น “ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง.. ละเมิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรือแม้กระทั่ง การเรียกร้องขอให้​ “ลบ” ข้อมูล ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการผิดกฎหมายใดดังที่กล่าวมาแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลบางประเทศ แม้ว่ามีกฎหมายกำหนดว่าข้อมูลประเภทใดขัดต่อกฎหมาย และมีการกำหนดกระบวนการดำเนินการต่อการ “ลบ” ข้อมูลนั้น แต่หน่วยงานของรัฐนั้นกลับพยายามเรียกร้องต่อผู้ให้บริการอย่างกูเกิล ให้​ “ลบ” ไปก่อนโดยยังไม่ต้องทำตามกระบวนการ เช่น ต้องมีหมายศาลมาแสดง เพราะเหตุว่า “จำเป็นเร่งด่วน …ซึ่งอาจแก้ไม่ทันต่อสถานการณ์หากต้องรอให้ผ่านกระบวนการทางศาล”

หน่วยงานของรัฐบางประเทศ นอกจากเรียกร้องกูเกิลโดยอ้างความรีบด่วนแบบนั้นแล้วยังพยายามให้เหตุผลแสดงความชอบธรรมแก่คำร้องขอของตนด้วยว่า “…แม้ไม่ผ่านกระบวนการทางศาล แต่ขั้นตอนการร้องขอนั้นก็ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจระงับยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยนัยเช่นเดียวกับศาลอยู่ดี…”

ถ้าในกฎหมายกำหนดว่า การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องผ่านการพิจารณาของศาล แต่รัฐเลือกที่จะก้าวข้ามผ่านขั้นตอนนี้ไป โดยให้หน่วยงานของรัฐอื่นๆ มาพิจารณาแทนศาลเพื่อความรวดเร็ว และอ้างว่า “โดยนัย” แล้วก็เหมือนกับศาลนั่นเอง แบบนี้แสดงให้เห็นความพยายามของภาครัฐในการ “ลบ” ข้อมูลซึ่งอาศัยกระบวนการใหม่ เป็นกระบวนการที่ผิดแผกไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งหากรัฐบาลประเทศใดที่มีคำขอไปยังกูเกิลเช่นนี้ คาดเดาได้ว่ากูเกิลคงจะไม่ยินยอม หากกูเกิลยินยอม ก็เท่ากับกูเกิลร่วมมือกับหน่วยงานที่ดำเนินการโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายและไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ในอีกด้านหนึ่งกูเกิลเองก็อาจเป็นการทำผิด “ข้อตกลงการใช้งาน” ระหว่างกูเกิลกับผู้ใช้งาน กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้ใช้บริการของกูเกิลด้วย อันส่งผลในท้ายที่สุดคือความไว้วางใจต่อผู้ใช้งานที่มีต่อกูเกิลนั่นเอง

อ้างอิง

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: