Digital Weekly: 1-17 พ.ย. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบ 2 สัปดาห์ครึ่ง

2015.11.18 10:56

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ตำรวจเข้าคุยมูลนิธิวีรชน แถมขอเป็นเพื่อนทาง LINE หลังพิธีเปิดห้องลุงนวมทอง/ นายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศเสนอ ตั้งหน่วยงานกลางดูแลความมั่นคงไซเบอร์ ย้ำต้องไม่มาจากทหาร/ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงานสื่อไทยหลังรัฐประหาร เสรีภาพสื่อตกต่ำ/ จบประมูลคลื่น 1800 ทรู-เอไอเอส คว้าใบอนุญาต 4 จี/ บอร์ด กทค.มีมติเลื่อนประมูลคลื่น 900 ฯลฯ

จบประมูลคลื่น 1800 ทรู-เอไอเอส คว้าใบอนุญาต 4 จี (12 พ.ย. 58)

จบประมูลคลื่น 1800 ทรู-เอไอเอส คว้าใบอนุญาต 4 จี (12 พ.ย. 58)

2 พฤศจิกายน 2558

บอร์ด กทค.มีมติเลื่อนประมูลคลื่น 900

ฐากร ตัณฐสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค) วาระพิเศษมีมติเลื่อนการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 58 ตามเดิม (ก่อนหน้านี้สำนักงานกสทช.เลื่อนการประมูลให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 12 พ.ย.58 หลังการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ 1 วัน) เนื่องจากมีนักวิชาการเห็นว่าการประมูลคลื่นดังกล่าวอาจเกิดการฮั้วประมูล แม้ว่าสำนักงาน กสทช.จะชี้แจงการป้องกันการฮั้วประมูล ฐากรระบุว่า กสทช.ได้พิจารณาอย่างรอบด้านจึงให้การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ออกไป

ที่มา: เดลินิวส์

4 พฤศจิกายน 2558

ตำรวจเข้าคุยมูลนิธิวีรชน แถมขอเป็นเพื่อนทาง LINE หลังพิธีเปิดห้องลุงนวมทอง

ศรีไพร นนทรี เจ้าหน้าที่มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยให้สัมภาษณ์ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สันติบาลจังหวัดนนทบุรีเดินทางมาที่สำนักงานของมูลนิธิฯ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาขอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดพิธีเปิดห้องประชุมลุงนวมทอง เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมถามศรีไพรว่าการจดทะเบียนมูลนิธิเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีใครเป็นประธานและกรรมการบ้าง มีใครเป็นเจ้าหน้าที่และอยู่ในตำแหน่งอะไรบ้าง โดยมีการขอเอกสารจดทะเบียน และยังได้ถามถึงผู้ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่มูลนิธิด้วย เจ้าหน้าที่พูดคุยกับศรีไพรเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง มีการถ่ายภาพสำนักงานและถ่ายภาพร่วมกัน และยังได้ขอเพิ่มเธอเป็นเพื่อนในแอพพลิเคชั่น LINE

ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

7 พฤศจิกายน 2558

นายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศเสนอ ตั้งหน่วยงานกลางดูแลความมั่นคงไซเบอร์ ย้ำต้องไม่มาจากทหาร

ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ และอุปนายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) ระบุ สาเหตุหนึ่งที่เว็บภาครัฐถูกโจมตีมากเพราะยังขาดมาตรฐานและบุคลากร รัฐยังควรสร้างหน่วยงานกลางรับผิดชอบด้านความมั่นคงไซเบอร์โดยตรง เพราะการไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบทำให้ขาดแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว หน่วยงานนี้ต้องไม่มาจากฝ่ายความมั่นคงทางทหาร หรือหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงไอซีที เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองแทรกแซง และต้องมีกฎหมายรับรองเพื่อให้การออกคำสั่งหรือแก้ปัญหามีความน่าเชื่อถือ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ไมโครซอฟท์เผย กรุงเทพโดนโจมตีไซเบอร์เป็นอันดับ 5 ของอาเซียน จับมือสพธอ.ดูแลลูกค้า

ปิแอร์ โนเอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและที่ปรึกษาฝ่ายความปลอดภัย ไมโครซอฟท์ เอเชียระบุ กรุงเทพเป็นหนึ่งในเมืองที่โดนโจมตีมากที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะธุรกิจการเงินและติด 1 ใน 25 ประเทศที่มีอัตราเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์สูงสุดในโลก โดยอยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียน ด้านคีชาว์ฟ ดาห์คาด นักกฎหมายอาวุโสและผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยอาชญากรรมดิจิทัล ระดับภูมิภาคเอเชีย บริษัทเดียวกันเผยว่า ไมโครซอฟท์ได้ตั้งหน่วยอาชญากรรมดิจิทัลของไมโครซอฟท์ (DCU) ให้ความคุ้มครองลูกค้า โดยประเทศไทยทำงานร่วมกับทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และอยู่ภายใต้ศูนย์ย่อยที่สิงคโปร์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

10 พฤศจิกายน 2558

สหภาพแรงงาน กสท. ยื่นฟ้องระงับประมูล 4 จี

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. กสท โทรคมนาคม เดินทางมายังศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่ากำหนดระยะเวลาในการคืนคลื่นและจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งได้ยื่นขอให้ศาลไต่ส่วนฉุกเฉินและขอให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ด้วยการระงับการประมูลที่ กสทช. มีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 11 พ.ย. 58 ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท.ยืนยันว่าคณะกรรมการ กสท ไม่มีมติฟ้องล้มประมูล 4 จี การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นเรื่องของสหภาพ กสท.

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, เดลินิวส์

กทค.ไฟเขียวให้ กสท. อัพเกรดคลื่น 1800 ทำแอลทีอี

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เห็นชอบให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด สามารถปรับปรุงการใช้งานคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 20 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อนำไปอัพเกรดการใช้งานเทคโนโลยีแอลทีอีได้ โดยอนุญาตให้ใช้ถึงวันที่ 15 ก.ย. 2561 ส่วนกรณีการขอขยายระยะเวลาออกไปถึงปี 2568 นั้น หาก กสท โทรคมนาคม มีข้อมูลเพิ่มเติมก็นำส่งมาให้ กทค. พิจารณาเพิ่มเติมภายหลังอีกครั้ง

ที่มา: เดลินิวส์

12 พฤศจิกายน 2558

จบประมูลคลื่น 1800 ทรู-เอไอเอส คว้าใบอนุญาต ราคารวม 80,778 ล้านบาท

การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ได้สิ้นสุดลงโดยใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 30 ชั่วโมง การเคาะราคาครั้งที่ 86 รวม 2 ใบอนุญาตเป็นเงินทั้งสิ้น 80,778 ล้านบาท แบ่งเป็นล็อตแรก 39,792 ล้านบาท และล็อตสอง 40,986 ล้านบาท โดยบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด (ทรูมูฟ) เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลคลื่นใบอนุญาตแรก แถบคลื่นระหว่าง 1710-1725 และ 1805-1820 เมกะเฮิร์ตซ์ ขณะที่บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอไอเอส) เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในใบอนุญาตที่สอง แถบคลื่น 1725-1740 และ 1820-1835 เมกะเฮิร์ตซ์ ทั้งสองใบอนุญาตมีอายุ 18 ปี การประมูลครั้งนี้ทำรายได้เข้ารัฐทั้งหมด 80,778 ล้านบาท

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ผู้ชนะประมูลได้ยืนยันว่าจะเปิดให้บริการ 4 จี ได้ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.58 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยังได้ออกกฎหมายแล้วว่าการคิดค่าบริการ 4 จี จะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริการ 3 จี ณ วันที่ได้รับอนุญาต หากมีการกำหนดราคาเกินกว่าที่ กสทช.กำหนดและหากตรวจพบจะเตือนให้ยกเลิกและหากผู้ให้บริการยังฝ่าฝืนจะมีการปรับทางปกครองและคืนเงินลูกค้า

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, : เดลินิวส์ (1), (2)

แหล่งข่าว คนร.ระบุ ทีโอที-กสท. จัดอยู่กลุ่มขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้

ประชาชาติธุรกิจอ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่เผยว่า จากการวิเคราะห์สถานะการดำเนินงานของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม พบทั้งคู่จัดอยู่ในกลุ่มขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้ โดยรายได้ต่อจำนวนพนักงานพบว่า พนักงานทีโอทีและ กสท.สร้างรายได้ต่ำกว่าเอกชน แต่ในทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายพนักงานกลับสูงมาก ประชาชาติธุรกิจยังระบุด้วยว่า แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมคนหนึ่งระบุว่า 2 องค์กรยังมีทรัพยากรที่เป็นแต้มต่อทางธุรกิจได้ เช่น ทีโอทีมีคลื่นหลายย่าน ขณะที่ กสท.มีเคเบิลใต้น้ำ และอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

14 พฤศจิกายน 2558

บอร์ดทีโอทีเลือก “เอไอเอส” เป็นพันธมิตรร่วมทำ 3 จีบนคลื่น 2100 ระยะเวลา 10 ปี

มนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที เผย คณะกรรมการทีโอทีมีมติเลือก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เป็นพันธมิตรร่วมให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์เป็นระยะเวลา 10 ปี คาดว่าจะทำให้รายได้ของทีโอทีเพิ่มขึ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ คลื่น 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ดังกล่าว ทีโอทีได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) จำนวนแบนด์วิดท์ 15 เมกะเฮิร์ตซ์และให้ทีโอทีใช้งานคลื่นได้ถึงปี 2568

ที่มา: โพสต์ทูเดย์

16 พฤศจิกายน 2558

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงาน สื่อไทยหลังรัฐประหาร เสรีภาพสื่อตกต่ำ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงานสถานการณ์สื่อไทยหลังรัฐประหาร 2557  ระบุ 18 เดือนที่ผ่านมาสื่อถูกปิดกั้นเสรีภาพ พร้อมระบุถึงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารใช้กับสื่อ 4 ประการ ซึ่งได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์เซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง มีการออกคำสั่งและประกาศกว่าสิบฉบับ ห้ามสื่อและสื่อออนไลน์เสนอข่าวที่อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ 2. ยุทธศาสตร์สร้างความกลัว มีการเรียกบรรณาธิการข่าวของสื่อ 18 แห่งทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้าพบ 3. ยุทธศาสตร์จอดำ โดยก่อนการรัฐประหาร มีการบุกไปยังสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยสิบช่องเพื่อหยุดการออกอากาศ และ 4.ยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ รายงานยังเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของบุคคลคนหนึ่งซึ่งต้องหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว จากการโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และผลกระทบต่อสังคมไทยโดยใช้นามแฝงในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์และทวิตเตอร์ รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปพบพ่อแม่ของเขาและบังคับให้ครอบครัวติดต่อให้เขามาพบตำรวจ เขาตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจระบุตัวเขาจากกิจกรรมออนไลน์ทั้งที่เขาใช้นามแฝง

อ่านรายงานฉบับเต็ม

ที่มา: ประชาไท

17 พฤศจิกายน 2558

เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟเอช เชื่อมต่อระบบ e-wallet

เอไอเอส ภายใต้บริการ mPay, ดีแทค ภายใต้บริการ Jeaw Wallet และทรูมูฟภายใต้บริการ True Money Wallet ได้เชื่อมต่อระบบกระเป๋าเงินออนไลน์บนมือถือ (e-wallet) ร่วมกัน ทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่ายสามารถโอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการข้ามค่ายผ่านโทรศัพท์มือถือได้ จากเดิมที่การโอนเงินจะทำได้เพียงใน e-wallet ของผู้ให้บริการแต่ละรายเท่านั้น เบื้องต้นจะคิดค่าบริการ 5 บาทไปจนถึงสิ้นปี 2559

ที่มา: เดลินิวส์

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: