2015.08.08 09:31
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว เพิ่มการบริหารสิทธิดิจิทัล/ เตรียมดัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ เข้า สนช.สัปดาห์หน้า/ หนักสุดเป็นประวัติการณ์ จำคุก 60 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊กผิด 112/ คลังตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแลการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ/ Grab Taxi เปิดตัวบริการเรียกรถมอเตอร์ไซต์ผ่านแอป/ ทีโอทียื้อสิทธิใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์/ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ-กสทช.ยืนยัน ประมูล 4 จีไม่เลื่อนแน่นอน ฯลฯ
2 สิงหาคม 2558
ทีโอทียื้อสิทธิใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์
บมจ.ทีโอทีคัดค้านการนำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ไปประมูล 4 จี โดยเห็นว่าสิทธิในการใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ควรอยู่กับบริษัท เพราะบริษัทได้รับการจัดสรรคลื่นมาก่อนที่จะมีการจัดตั้งกสทช. โดยไม่มีการระบุวันสิ้นสุด มนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอทีเผยด้วยว่า บริษัทเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านการคืนคลื่นความถี่ถึงรองนายกรัฐมนตรี ทีโอทียังให้เหตุผลเพิ่มเติมของการคัดค้านการคืนคลื่นว่า หาก กสทช.นำคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ไปประมูล ทีโอทีจะไม่มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ต่อเนื่อง และจะ “ทำให้ตลาดไม่มีหน่วยงานรัฐมาให้บริการถ่วงดุล ลดการผูกขาดของเอกชน” ประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เพื่อรองรับ 3 จีและ 4 จี รวมทั้งคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ไม่เหมาะจะนำมาให้บริการ 4 จีเนื่องจากแถบคลื่นแคบเกินไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
3 สิงหาคม 2558
ประธานกสทช. เบรก “ฐากร” ลาออก เนื่องจากประมูล 4 จียังไม่แล้วเสร็จ
พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เผยถึงกรณีที่นายฐากร ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 กันยายนนี้ว่า ล่าสุดได้ส่งหนังสือดังกล่าวกลับไปให้นายฐากรพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากการประมูล 4 จียังไม่แล้วเสร็จ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กสทช.เปิดเวทีประชาพิจารณ์เกณฑ์ประมูล 4 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่กรุงเทพ
หลังจากการจัดเวทีประชาพิจารณ์เกณฑ์ประมูล 4 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ณ โรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพ โดยมีผู้เข้าร่วมงานราว 500 คน เป็นตัวแทนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นักวิชาการ ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป ประเด็นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะคือ ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล วิธีการอนุญาตและความเหมาะสมของการใช้วิธีการประมูล ราคาขั้นต่ำในการเปิดประมูล ดูความคิดเห็นบางส่วนได้ที่ http://bit.ly/1gOklp2 ส่วนเกณฑ์ประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่จะเปิดประชาพิจารณ์วันที่ 11 ส.ค.
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวด้วยว่า ในวันยื่นซองประมูล ผู้เข้าประมูลต้องเสนออัตราค่าบริการมาพร้อมกันด้วย โดยค่าบริการ 4 จีควรถูกกว่า 3 จี และได้เตรียมเพิ่มเงื่อนไขอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับคนพิการและผู้มีรายได้น้อยเข้าไปในเกณฑ์ประมูล
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ [1], [2]
4 สิงหาคม 2558
พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว เพิ่มการบริหารสิทธิดิจิทัล
พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมเป็นต้นไป มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวให้เป็นภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย โดยหัวใจหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือหากไม่ใช่การทำเพื่อการค้าและมีการอ้างอิงที่มา ภายใต้ข้อยกเว้นคือต้องทำให้ผลประโยชน์ของเข้าของลิขสิทธิ์ลดลง หรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของ ผู้กระทำผิดมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อธิป จิตตฤกษ์ ผู้ศึกษาด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ข้อสังเกตกฎหมายฉบับนี้ว่า การเพิ่มเติมเนื้อหาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 2 เนื้อหาหลักคือเพิ่มเติม “การบริหารสิทธิดิจิทัล” (Digital Right Management หรือ DRM) ส่วนข้อกำหนดหลักอื่นๆ ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ยังอยู่ครบ อ่านข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบันของอธิป
ที่มา: มติชนออนไลน์
5 สิงหาคม 2558
Grab Taxi เปิดตัวบริการเรียกรถมอเตอร์ไซต์ผ่านแอป
ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ “Grab Taxi” เปิดตัวบริการใหม่ “Grab Bike” บริการเรียกรถมอเตอร์ไซต์รับส่งสิ่งของและผู้โดยสาร โดยเริ่มทดลองบริการในที่ 5 ส.ค.เป็นวันแรก ในการใช้งาน ผู้ใช้ต้องเลือกต้นทางและปลายทาง ระบบจะแสดงราคาให้ทราบ ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินก่อนหรือหลังการรับส่งก็ได้ โดยค่าบริการกิโลเมตรแรกเริ่มต้นที่ 35 บาท กิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 12 บาท และ10 กิโลเมตรขึ้นไปกิโลเมตรละ15 บาท พัชร ล้อจินดากุล หัวหน้าแกร็บไบค์ประเทศไทยระบุว่า กรุงเทพเป็นเมืองที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบริการเรียกมอเตอร์ไซค์โดยใช้แอปพลิเคชัน หลังจากที่บริการนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฮานอย โฮจิมินห์ และจาการ์ตา
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
คลังตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแลการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ
รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเผย กระทรวงการคลังจะตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลการเก็บภาษีการซื้อขายผ่านออนไลน์ (e-commerce) ให้รัดกุมขึ้น โดยจะมอบหมายให้ 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบและการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เป็นเพียงการไปดูร้านค้าที่เปิดขายออนไลน์และเชิญเจ้าของมาพูดคุยให้เสียภาษีถูกต้องเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบการดำเนินการทางธุรกรรมที่แท้จริง หรือดูว่ามีรายได้ที่เกิดจากการซื้อขายจริงเท่าไร และเสียภาษีครบหรือไม่
ที่มา: ประชาไท
6 สิงหาคม 2558
เตรียมดัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ เข้า สนช.สัปดาห์หน้า
พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผยว่าในสัปดาห์หน้า (10-14 ส.ค.) กระทรวงไอซีทีจะร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล 3 ฉบับ อันได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา
ที่มา: แนวหน้า
รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ-กสทช.ยืนยัน ประมูล 4 จีไม่เลื่อนแน่นอน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจยืนยันในงานวันสื่อสารแห่งชาติว่า การประมูล 4 จีทั้งบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์และคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จะเกิดขึ้นภายในปีนี้แน่นอน เช่นเดียวกันกับฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. ที่ระบุว่าการประมูล 4 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ฐากรให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า การประมูล 4 จีบนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จากเดิมที่วางเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2558 จะเลื่อนขึ้นมาเป็นช่วงใกล้เคียงกับวันที่ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ส่วนเรื่องการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จะเสนอให้แบ่งใบอนุญาตเป็น 3 ใบ ใบละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์จากเดิมที่แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 17 ส.ค.
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
7 สิงหาคม 2558
ศาลทหารสั่งจำคุก 28 ปี พนักงานโรงแรม โพสต์เฟซบุ๊ก 7 ข้อความผิด 112
ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ตัดสินให้ศศิวิมล (สงวนนามสกุล) พนักงานในโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวน 7 ข้อความ มีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ศศิวิมล ถูกดำเนินคดีจากการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘เฟซบุ๊กเชียงใหม่’ ต่อบัญชีเฟซบุ๊กชื่อรุ่งนภา คำภิชัย ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นไปที่บ้านและมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือจากบ้านของเธอไปตรวจสอบ
ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS
หนักสุดเป็นประวัติการณ์ จำคุก 60 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊กผิด 112
ศาลทหารสั่งพิพากษาจำคุกพงษ์ศักดิ์ ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก “Sam Parr” เป็นเวลา 60 ปีจากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ (6 กรรม) ตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง เหลือ 30 ปี ซึ่งถือเป็นโทษที่สูงที่สุดที่เคยมีมา โดยก่อนหน้านี้ ภายหลังรัฐประหาร พงษ์ศักดิ์มีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของ คสช. ฉบับที่ 58/2557 แต่ไม่ได้ไปรายงานตัว ภายหลังต่อมาจึงถูกจับกุมในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่สถานีขนส่งพิษณุโลกและถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพจำนวน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ที่มา: ประชาไท
Tags: 4G, Computer-related Crime Act, copyright, digital economy, e-commerce, freedom of speech, lese majeste, National Broadcasting and Telecommunications Commission, spectrum, telecom, transportation