2015.05.15 12:35
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กสทช.ย้ำ เอกชนขายอุปกรณ์ดักฟังไม่ได้ เรียกบริษัทอิสราเอลเข้าชี้แจงเอกสาร/ คณะกรรมการดิจิทัลฯ ชุดชั่วคราวเห็นชอบเสนอครม. อนุมัติ 3,700 ล้าน โครงการนำร่อง/ สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีไอซีทีฯ เสนอนายกใช้มาตรา 44 ปรับรูปแบบประมูล 4 จี/ กฤษฎีกายกร่างพ.ร.บ.กสทช.และร่างการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลฯ เสร็จแล้ว คลื่นความถี่โทรคมนาคมให้ใช้ “ประมูล” ยกเว้น “คลื่นที่มีจำนวนไม่จำกัด”-กรณีที่ประสงค์จะนำไปใช้ในกิจการบางประเภท/ กรรมการกสทช.ห่วง ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ปรับคุณสมบัติกรรมการให้เอกชนสมัครได้ หวั่นกระทบความเป็นกลาง/ รายงานผลการจัดอันดับความพร้อมทางไอซีที ระบุ 3G ดันดัชนีผู้ใช้โมบายเน็ตไทยพุ่งพรวด 90 อันดับ
9 พฤษภาคม 2558
กสทช.ย้ำ เอกชนขายอุปกรณ์ดักฟังไม่ได้ เรียกบริษัทอิสราเอลเข้าชี้แจงเอกสาร
กสทช.ทำหนังสือเรียกกิจการร่วมค้า สพิธต้า พีพีเอสซี ผู้นำเข้าเครื่องดักฟังโทรศัพท์ของอิสราเอลเข้าชี้แจงเอกสารในวันที่ 12 พ.ค. หลังจากที่มีข่าวเจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าวได้เข้ามาสาธิตการใช้เครื่องดักฟังให้กับตำรวจ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกสทช.ระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะนำเข้ามาได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคง และต้องได้รับอนุญาตจากกสทช. เท่านั้น และหากไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดฐาน “นำเข้า มี และใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” ตามมาตรา 6 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่ม
ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานข่าวความคืบหน้าการเข้าชี้แจงเอกสารของบริษัทดังกล่าวต่อกสทช.
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
10 พฤษภาคม 2558
กรรมการกสทช.ห่วง ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ปรับคุณสมบัติกรรมการให้เอกชนสมัครได้ หวั่นกระทบความเป็นกลาง
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านดูแลผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.กสทช. ในส่วนการปรับคุณสมบัติกรรมการ ที่ระบุให้บุคคลจากภาคเอกชนเข้ามาสมัครได้ โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องพ้นจากหน้าที่มาแล้วกี่ปี น.พ.ประวิทย์ให้เหตุผลว่า เพราะภาคเอกชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง อาจทำให้การทำงานไม่โปร่งใสและมีข้อสงสัยว่าการกำกับดูแลจะเอนเอียงเข้าข้างผู้ประกอบการรายใดเป็นพิเศษ
ขณะที่สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.เดียวกันว่า การที่ร่างกฎหมายเปิดกว้างด้านคุณสมบัติของกรรมการอาจส่งผลให้ กสทช.ชุดใหม่ ไม่มีตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภค สุภิญญาระบุด้วยว่า อยากให้กฎหมายใหม่จัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ กรรมการทั้งสองเห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้ต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 20 ปีเป็นการกีดกันเกินไป โดย น.พ.ประวิทย์เสนอให้เน้นพิจารณาที่ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ประชาชาติธุรกิจ (15 พ.ค. 58) ระบุความคืบหน้าล่าสุดร่างพ.ร.บ.กสทช.ว่า ร่างกฎหมายได้ลดประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครลงจาก 20 ปีเหลือ 10 ปีแล้ว และเพิ่มคุณสมบัติในภาควิชาการ โดยระบุให้ต้องเป็นรองศาสตราจารย์อย่างน้อย 5 ปี
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
11 พฤษภาคม 2558
คณะกรรมการดิจิทัลฯ ชุดชั่วคราวเห็นชอบเสนอครม. อนุมัติ 3,700 ล้าน โครงการนำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมดิจิทัล
คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดชั่วคราว) มีประชุมนัดที่ 2 มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,700 ล้านบาท สำหรับโครงการนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม รายงานสรุปประชุมไม่ได้ระบุว่าโครงการนำร่องดังกล่าวคือโครงการใด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติ
- เห็นชอบงบประมาณการดำเนินงานโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ จำนวน 1,710 ล้านบาท และการจัดจ้างที่ปรึกษาตามแผนการดำเนินงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 40 ล้านบาท
- เห็นชอบให้ กสทช. ดำเนินโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ พิษณุโลกและหนองคาย และเมื่อสิ้นสุดสัญญาโครงการ 5 ปีแล้ว ให้นำสินทรัพย์ภายใต้โครงการ USO เข้าเป็นส่วนหนึ่งของบรอดแบนด์แห่งชาติ
- เห็นชอบให้ กสทช. พิจารณาหลักการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ และการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
- ให้ กสทช.ประกาศราคากลางสำหรับบริการเสาโทรคมนาคม รวมทั้งให้ใบอนุญาตแก่ผู้ที่สามารถรวมเสาโทรคมนาคมเดิมมาเป็นบริการทั่วไปแก่ผู้ประกอบการทุกรายก่อนการประมูล 4 จี
- ส่วนคลื่นความถี่ที่จะต้องนำมาประมูล หากอยู่ภายใต้การถือครองของหน่วยงานในกำกับของรัฐต้องมีเงื่อนไขการชดเชยให้
- ส่วนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานในกำกับของรัฐกับบริษัทเอกชนตามสัญญาร่วมการงาน ให้มีการบริหารจัดการและใช้ร่วมกัน
- ประชาชาติธุรกิจยังได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติให้กระทรวงไอซีทีตั้งงบประมาณ 1,710 ล้านบาท ให้ บมจ.ทีโอทีวางโครงข่ายไปยังโรงเรียน 5,000 แห่ง ตามโครงการดิจิทัลเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ จากการให้สัมภาษณ์ของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี
ดู สรุปผลการประชุมฉบับเต็ม http://www.thaigov.go.th/th/2012-07-18-11-42-15/item/91905-91905.html
ที่มา: ผลการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2558
สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีไอซีทีฯ เสนอนายกฯ ใช้มาตรา 44 ปรับรูปแบบประมูล 4 จี-เรียกคืนคลื่นดีแทค
สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ปรับรูปแบบการประมูล 4 จี โดยให้เหตุผลว่า จำนวนแบนด์วิธสำหรับคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่กสทช.จะนำออกประมูลนั้นน้อยเกินไปสำหรับการให้บริการ 4 จีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจำนวนแบนด์วิธที่เหมาะสมควรอยู่ที่อย่างน้อย 20 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อใบอนุญาต ทั้งนี้ กสทช.กำหนดให้ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ใบอนุญาตละ 12.5 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 เพื่อเรียกคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ไม่ได้ใช้งานจำนวน 25 แบนด์วิธคืนจากดีแทคเพื่อนำมาประมูล 4 จี ทั้งยังกล่าวด้วยว่า การวางแผนประมูล 4 จีควรรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนด้วย
ที่มา: Bangkok Post
12 พฤษภาคม 2558
เลขากสทช.ลาออก มีผล ก.ย.นี้ ด้านกรมประชาสัมพันธ์-อสมท.ยอมคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กสทช. เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยการลาออกจะมีผลวันที่ 1 กันยายน 2558 ฐากรยังได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธานกสทช.ได้ขอให้ฐากรกลับไปทบทวนเรื่องการลาออกใหม่อีกครั้ง
ฐากรระบุด้วยว่า การลาออกของตนจะไม่กระทบกับการประมูล 4 จี ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.58 ส่วนงานอื่นๆ ในฐานะเลขาธิการกสทช.ที่ฐากรดำเนินการค้างอยู่ มี 5 เรื่อง ได้แก่ การประมูล 4จี การเจรจาเรื่องคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ การลงทะเบียนซิมพรีเพด การประมูลเลขหมายสวย และการวางสายโทรคมนาคมลงใต้ดิน โดยคาดว่า โครงการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่
ส่วนความคืบหน้าเรื่องของการการเจรจาขอคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซคืนจากกรมประชาสัมพันธ์และบริษัทอสมท. นั้น ทั้ง 2 หน่วยงานยินยอมคืนคลื่นเพื่อนำมาประมูลแล้ว
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ
14 พฤษภาคม 2558
กสทช.เผยรายงานผลการจัดอันดับความพร้อมทางไอซีที ระบุ 3G ดันดัชนีผู้ใช้โมบายเน็ตไทยพุ่งพรวด 90 อันดับ
กสทช.เปิดเผยรายงานสถานการณ์ไอทีโลก (Global IT Report) ประจำปี 2015 ของที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยว่า การจัดสรรคลื่นเพื่อให้บริการ 3G/4G เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ดัชนีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 90 อันดับ (จากอันดับ 132 ในปีก่อนขยับมาอยู่ในอันดับ 42 ในปีนี้) ทั้งพบด้วยว่า ดัชนีความพร้อมด้านโครงข่าย (Networked Readiness Index – NRI) ของไทยอยู่ในอันดับ 67 จากการสำรวจ 143 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียนเป็นรองประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การจัดสรรทรัพยากรโทรคมนาคมทั้งคลื่นความถี่และเลขหมาย การส่งเสริมให้มีบริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุม การกำกับดูแลทางด้านอัตราค่าบริการ และกำกับดูแลด้านการแข่งขัน ส่วนรายงานประเมินความพร้อมด้านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้ประเมินว่าไทยจะมีความครอบคลุมของจำนวนประชากรและราคาค่าบริการแบบเติมเงินที่ดีขึ้น มาอยู่ในอันดับที่ 16 ในปีนี้ จากปีก่อนอยู่ในอันดับที่ 30 เป็นผลจากการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ หรือ 3G/4G เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้เคยเปิดเผยรายละเอียดรายงานดังกล่าวแล้วบางส่วน ซึ่งรายงานระบุถึงข้อเสียเปรียบด้านไอซีทีของไทยว่า ได้แก่ ประสิทธิภาพของระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, ความยากลำบากในการเริ่มต้นธุรกิจ, ระดับการจัดซื้อจัดหาที่เกี่ยวข้องกับไอทีของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ, ต้นทุนราคาอินเทอร์เน็ตที่สูง และคุณภาพการศึกษา
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
15 พฤษภาคม 2558
กฤษฎีกายกร่างพ.ร.บ.กสทช.และร่างการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลฯ เสร็จแล้ว คลื่นความถี่โทรคมนาคมให้ใช้ “ประมูล” ยกเว้น “คลื่นที่มีจำนวนไม่จำกัด”-กรณีประสงค์จะนำไปใช้ในกิจการบางประเภท
ประชาชาติธุรกิจอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงไอซีทีว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างพ.ร.บ.กสทช.และร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสร็จแล้วและเตรียมเสนอต่อครม.และสนช. คาดว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับอื่นๆ นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ร่างกฎหมายฉบับที่เหลือจะเสนอสนช.และประกาศใช้ได้หมดภายในสิ้นปีนี้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ครม.ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (เพื่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) และ สนช.ได้เริ่มพิจารณาวาระแรกแล้ว คาดว่าจะประกาศใช้ได้ มิ.ย.นี้
ความเปลี่ยนแปลงในร่างพ.ร.บ.กสทช มีดังนี้
- ปรับลดคณะกรรมการ กสทช.จาก 11 เหลือ 7 คน โดยให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านบรอดแคสต์, โทรคมนาคม, วิศวกรรม, กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่ได้ระบุสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน
- กระบวนการสรรหาได้เพิ่มผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการสรรหาด้วย นอกจากมีประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธาน ป.ป.ช. ประธานคตง. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรเสนอชื่อจากผู้สมัคร เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาด้วยการลงคะแนนลับ
- ปรับปรุงคุณสมบัติผู้สมัคร ในส่วนผู้แทนภาคคุ้มครองผู้บริโภคเดิมกำหนดให้มีประสบการณ์ 20 ปี ลดเหลือ 10 เพิ่มคุณสมบัติในภาควิชาการ โดยระบุให้ต้องเป็นรองศาสตราจารย์อย่างน้อย 5 ปี
- การจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมระบุชัดว่าให้ใช้การประมูล ยกเว้นเป็น “คลื่นที่มีจำนวนไม่จำกัด” หรือผู้ขอรับใบอนุญาตอาจใช้คลื่นความถี่เดียวกันกับรายอื่นได้ หรือประสงค์จะนำไปใช้ในกิจการบางประเภท ตามลักษณะและประเภทที่ กสทช. ประกาศกำหนดไว้ล่วงหน้าจะใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีอื่นก็ได้
- การจัดสรรคลื่นด้านบรอดแคสต์ที่ระบุให้ใช้วิธีการคัดเลือกตามที่ กสทช. กำหนด ทั้งในระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น ยกเว้นการนำไปใช้เพื่อ “ธุรกิจ” จะต้องจัดประมูล
- เงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 25% ต้องส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เหลือส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เช่นกันกับรายได้ 25% ของ กสทช.ทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และการดำเนินการอื่น
- ไม่มีการยุบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) แต่ตามร่างพ.ร.บ.กสทช. ระบุว่า งบประมาณที่ต้องใช้ตามแผนการให้บริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึง (USO) นั้นสามารถโอนทั้งเงินและภารกิจให้หน่วยงานอื่นดำเนินการได้ [ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดที่มาเงินกองทุนว่าจะมาจากการโอนเงินที่ต้องใช้ตามแผน USO (แผนงาน 5 ปีของ กสทช. ปี 2555-2559) วางกรอบไว้ที่ 20,000 ล้านบาท คงไว้เฉพาะ เช่น สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่สำนักงาน กสทช.จัดเงินอุดหนุนให้ 50-150 ล้านบาท]
- การตั้งงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ หากโครงการใดตั้งงบประมาณไว้แต่ไม่เริ่มดำเนินงานภายใน 9 เดือนให้ยกเลิก หากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบว่าไม่มีประสิทธิภาพหรือฟุ่มเฟือยต้องปรับปรุงแก้ไขหรือระงับการดำเนินการโดยเร็ว
- การตรวจสอบการปฏิบัติงานของกสทช. ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของกสทช. แทนคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) ที่จะสิ้นสุดการทำงานทันทีที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (ต่างจากบอร์ดกสทช.ที่ทำงานจนครบวาระใน ต.ค. 2560 ได้)
ความคืบหน้าการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาประมูล 4 จี
- ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีระบุ การเรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซคืนจากกรมประชาสัมพันธ์และบริษัทอสมท.จะเสร็จใน 2-3 เดือน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
“ทรู” จับมือมูลนิธิกระจกเงา เปิดแอปตามหาคนหาย
บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นและศูนย์คนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงาเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ThaiMissing Application” แอปช่วยตามหาคนหาย โดยแอปดังกล่าวจะแจ้งข้อมูลใบหน้าและข้อมูลพื้นฐานของบุคคลที่หายตัวไป และหากมีผู้รู้เบาะแสคนที่หายไปหรือสงสัยว่าอาจจะเป็นบุคคลที่หายตัวไป ก็สามารถที่จะถ่ายภาพบุคคลดังกล่าว พร้อมระบุสถานที่ที่พบ และส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านแอปนี้ได้ แอปดังกล่าวสามารถใช่ได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ iOS โดยโหลดฟรีผ่านเว็ปไซต์ http://goo.gl/9mSRP3 ในระบบแอนดรอยด์ ส่วนระบบ iOS จะดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ การตามหาคนหายของมูลนิธิกระจกเงาใช้วิธีการลงพื้นที่หาข้อมูล ซึ่งล่าช้าและไม่ทันท่วงที ทำให้หลักฐานบางอย่างสูญหายไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
Tags: 4G, consumer protection, digital economy, Digital Weekly, National Broadcasting and Telecommunications Commission, surveillance