อนาคตของเมกเกอร์ (เก็บตกงาน Maker Party ตอนที่ 2)

2015.04.18 08:42

พินดา พิสิฐบุตร

บางคนคงเคยได้ยินคำว่า “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” หรือ Internet of Things (IoT) กันมาบ้าง IoT เป็นแนวคิดที่พูดถึงยุคสมัยที่อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกอย่างจะเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พูดอีกอย่างได้ว่า ยุคดังกล่าวเป็นยุคที่สิ่งของหรือฮาร์ดแวร์ซึ่งมีซอฟต์แวร์ติดตั้งอยู่ภายใน สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้อมูลเพื่อประมวลผลในการทำงาน

เหมือนร่มที่แขวนไว้เฉยๆ ร่มคันนี้จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเข้าสู่เซิร์ฟเวอร์พยากรณ์อากาศ และเมื่อพยากรณ์อากาศบอกว่าวันนี้ฝนจะตก ร่มก็จะกระพริบไฟบอกให้เราหยิบมันไปด้วย

แล้วใครจะมาผลิตร่มแบบนี้ล่ะ ถามได้ ก็เมกเกอร์ไงเล่า

ใครคือเมกเกอร์

“ในภาษาไทยคำว่านักประดิษฐ์ไม่ได้แยกระหว่างคำว่า maker กับ inventor ออกจากกัน คำว่าเมกเกอร์ในที่นี้คือคนที่เอาหลายๆ อย่างมาผสมผสานกันเพื่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เอาดีไซน์ไปใส่กับกลไก หรือเอาดีไซน์ไปใส่กับอิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เมกเกอร์อยากได้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) เขาก็ประกอบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่ต้องเป็นคนคิดสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติขึ้นมา แต่เมื่อประกอบเสร็จเขารู้กลไกการทำงานของเครื่องพิมพ์ 3 มิติแล้ว เขาสามารถที่จะปรับปรุงมันได้ ทำให้มันดีขึ้นได้

“เมกเกอร์ไม่จำเป็นต้องทำเกี่ยวกับพวกอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น มีเมกเกอร์ที่เล่นกับงานไม้ งานอะลูมีเนียม แต่เชียงใหม่เมกเกอร์คลับ (Chiang Mai Maker Club) จะเน้นในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์”

นี่เป็นนิยามของเมกเกอร์ที่ น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน หรือหมอจิมมี่บอกกับเรา หมอจิมมี่เป็นเจ้าของบริษัทจิมมี่ซอฟต์แวร์ สปอนเซอร์หลักของ “เชียงใหม่เมกเกอร์คลับ” (Chiang Mai Maker Club) หนึ่งในชุมชนเมกเกอร์ของชาวเชียงใหม่

หมอจิมมี่บอกด้วยว่า ยุค Internet of Things ที่กำลังจะมาถึงจะเป็นโอกาสทองของเหล่าเมกเกอร์ ซึ่งจะเป็นผู้ผลิต “อุปกรณ์ฉลาด” หรือสมาร์ตดีไวซ์ (smart device) ออกมารองรับการใช้งานเหล่านี้

"หมอจิมมี่" น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน

“หมอจิมมี่” น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน ผู้ผลักดันชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ

นอกจากนี้ เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Industry 4.0 ซึ่งการผลิตกำลังจะเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องมีโรงงานเพื่อผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ (mass production) ไปสู่การผลิตแบบน้อยชิ้น สินค้าจะถูกปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของผู้ซื้อแต่ละคน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ทำให้ต้นทุนของการผลิตแบบน้อยชิ้นมีราคาถูกลงเรื่อยๆ

ถ้าอย่างนี้แล้วเมกเกอร์ไทยควรจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้างนะ

“ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้น ทุกคนกำลังเรียนรู้ เหมือนกับยี่สิบปีก่อนที่เกิดวงการซอฟแวร์ขึ้น วงการซอฟแวร์ใช้เวลานานในการเติบโตเพราะช่วงแรกวงการนี้เป็นโลกของโคลสซอร์ส (closed source) ไม่ใช่โอเพ่นซอร์ส (open source) มันเป็นโลกของไมโครซอฟท์ ทำให้เวลาคนจะมาทำต่อต้องเริ่มใหม่เริ่มจากศูนย์ จนมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ทุกคนบอกว่ามาทำโอเพ่นซอร์สกันเถอะ แล้วพอทำโอเพ่นซอร์ส ทุกคนก็ยืนอยู่บนบ่าของคนอื่นเพื่อที่จะไปต่อข้างหน้า

“เมกเกอร์มันดีตรงที่พอเริ่มต้นมาปุ๊ปมันเป็นโอเพ่นซอร์สเลย เราเรียนรู้จากซอฟท์แวร์มาแล้วว่าโคลสซอร์สไม่มีประโยชน์ การทำโอเพ่นซอร์สมีวิธีหาเงินได้มากมาย ผมเชื่อว่าวงการเมกเกอร์จะเติบโตเร็วมาก เพราะโดยธรรมชาติของวงการนี้เป็นโอเพ่นซอร์ส”

หมอจิมมี่บอกว่า การเกิดงาน Maker Party แบบนี้ หรือการหาเงินทุนด้วยการทำ Funding Pitch เป็นกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับวิธีการของเมกเกอร์ต่างประเทศมากขึ้น การทำ Funding Pitch ยังทำให้คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการหาเงินทุนแบบใหม่ด้วย

การเกิดขึ้นของเมกเกอร์สเปซ (maker space) หรือพื้นที่ที่คนมานั่งทำงานร่วมกัน อย่างโคเวิร์กกิ้งสเปซ (co-working space) ยังทำให้คนต่างสาขาต่างอาชีพได้มาคลุกคลีกัน เช่น วิศวกรมาเจอกับนักออกแบบ ก่อให้เกิดเป็นชุมชนและเครือข่ายขึ้น ทำให้แต่ละคนมีโอกาสพบเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การทำงานร่วมกัน

“การทำงานของคนทุกวันนี้คือ มีไอเดีย ไป maker space หรือ co-working space ไปหาคนที่คล้ายๆ กัน หรือคนที่มีความสามารถแตกต่างกันแต่สนใจเรื่องเดียวกัน แล้วชักชวนกันมาทำ โดยตั้งเป็นบริษัทเล็กๆ แล้วไปขอระดมทุนแบบ crowdfunding (การระดมทุนแบบหนึ่ง โดยคนที่มีความตั้งใจทำโครงการอะไรสักอย่างมาโพสต์ไอเดียของตัวเองลงบนเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ kickstarter.com แล้วคนที่เข้ามาดูก็จะช่วยกันระดมทุนให้ได้ถึงเป้าหมายเพื่อให้เจ้าของโครงการทำโครงการได้สำเร็จ) เพราะฉะนั้นโลกของการพัฒนาจะเปลี่ยนไปหมด”

นอกจากนี้ การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีใน maker space ยังจะส่งผลให้ผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้นอีกด้วย

เชียงใหม่เมกเกอร์คลับ: maker space แห่งใหม่

เมื่อพูดถึง Internet of Things เรานึกถึงหลอดไฟที่สั่งให้เปลี่ยนสีได้ผ่านแอปพลิเคชั่นที่เห็นในงาน Maker Party [กลับไปอ่าน “ปาร์ตี้เหล่าเมกเกอร์” ไปดูซิว่าเขาทำอะไรกัน (เก็บตกงาน Maker Party ตอนที่ 1)]

เมื่อพูดถึงเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เราก็นึกไปถึงตัวโครงของโดรนจิ๋วซึ่งพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่วางโชว์อยู่ในงานเดียวกัน (กลับไปอ่านรายงานงานเดียวกัน)

และเมื่อพูดถึง maker space หรือ co-working space เราก็นึกเป็นอย่างอื่นเสียมิได้ นอกจากห้องรกๆ ของชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ

และเมื่อพูดถึงชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ (จะใช้มุกนี้อีกนานไหม) เราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงที่มาที่ไปของมัน

มาคุยกับณัฐ วีระวรรณ์ ชายหนุ่มซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของชมรมนี้กันดีกว่า

วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ณัฐ วีระวรรณ์ทำงานเป็นนักพัฒนาโปรแกรมอยู่ที่บริษัทที่ชื่อโอเพ่นดรีม ส่วนเสาร์อาทิตย์ เขาเปลี่ยนโหมดมาทำหน้าที่ประธานชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับและสิงสถิตอยู่ที่นี่

ปัจจุบันนี้ชมรมนี้ก่อตั้งมาได้ 1 ปีเต็ม (วันเกิดของชมรมคือวันไหนสักวันในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนปีที่แล้วนี่แหละ ณัฐบอก) และมีสมาชิกเกือบๆ จะ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี มีนักศึกษาปริญญาโทบ้างประปราย บวกกับสมาชิกจากบริษัทโอเพ่นดรีมอีกสามคน

เอาล่ะ เรามาเริ่มกันเสียที ตกลงชมรมเริ่มมาได้ยังไงเนี่ย

“ตอนนั้นเพิ่งเข้าวงการนี้ ต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์เยอะมาก แล้วก็พบว่าของพวกนี้แพง เราก็ไม่อยากเห็นคนอื่นเสียตังค์ ซื้อไปแล้วเอาไปดองไว้ อะไรที่แชร์กันได้ก็น่าจะแชร์ รวมถึงความรู้ด้วย เพราะตอนที่เราหัดใหม่ๆ เราไม่รู้ ก็ถามคนไปทั่ว แล้วก็มีคนใจดีในอินเทอร์เน็ตมาช่วยตอบตั้งแต่ต้น เราก็รู้สึกว่าความรู้ยิ่งควรต้องถูกส่งต่อ พอย้ายมาอยู่เชียงใหม่เราก็ประกาศในเพจส่วนตัวว่าใครสนใจเล่นพวก Raspberry Pi (คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเท่าบัตรเครดิต) บ้าง ถ้าไม่เป็นเลยเราสอนให้ได้ แต่ถ้าเล่นเป็นอยู่แล้วก็มาเอาอุปกรณ์ของเราไปเล่นได้ แชร์กัน เผื่อจะได้ไม่ต้องซื้อ”

ณัฐบอกว่า ช่วงแรกใช้สถานที่ที่บริษัทโอเพ่นดรีมเป็นที่ทำกิจกรรม ก่อนที่ต่อมาจะได้รู้จักกับหมอจิมมี่ที่บอกว่าบริษัทมีห้องว่างอยู่ ไม่ค่อยมีคนใช้และมีอุปกรณ์พร้อม สนใจทำเป็นชมรมไหม

หมอจิมมี่เล่าถึงตอนนั้นว่า “จุดประสงค์คือ เรามีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีเครื่องตัดเลเซอร์ ซึ่งงานในบริษัทเราก็ไม่ได้ใช้เครื่องพวกนี้ 24 ชั่วโมง เมื่อไม่มีงานก็ไม่ได้ใช้ มันมีเวลาว่างของมันอยู่ โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์ซึ่งบริษัทปิด แต่มีเด็กจำนวนมากเลยที่อยากจะเล่น เราก็เปิดพื้นที่ บอกว่าใครอยากมาเล่นก็มา เราจะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้

“ก็ปรากฎว่ามีเด็กมาเล่น พอเด็กเขามาอยู่รวมกันก็เริ่มสร้างโน่นสร้างนี่ มาเป็นเพื่อนกัน แล้วก็มีโปรเจกต์ร่วมกัน เป็นโปรเจกต์เพื่อความสนุก แต่เราก็เห็นและมีผู้ใหญ่หลายคนเริ่มเห็น ก็เริ่มบริจาคของและทุนทรัพย์เข้ามา ชมรมก็เริ่มโตขึ้น” หมอจิมมี่บอก

เราหันไปถามณัฐต่อว่า แล้วมาชมรมมาทำอะไรกันบ้าง

“ใครจะทำอะไรก็ได้ ถ้าใครอยากได้ความช่วยเหลือก็บอกกัน บางคนก็มาทำเว็บพร้อมไปกับฮาร์ดแวร์ บางคนมาทำรถบังคับ คือมันจะเป็นอะไรก็ได้ แล้วก็นิยามไม่ได้ว่ามาทำอะไร

“ที่ผ่านมาเคยจัดกิจกรรมเสวนากันเองภายในชมรม เพื่อให้คนในชมรมมีพื้นที่ได้นำเสนอผลงาน มีจัด Learning Friday ให้คนนำความรู้มาแบ่งปันกัน จัดรายการ Show and Tell ที่ผลักดันให้คนในชมรมนำผลงานที่ทำมาบรรยายให้คนอื่นฟังทุกๆ วันศุกร์”

“การอยู่ด้วยกันทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ตอนเรียนมีวิชา Computer Architecture ซึ่งเรียนไม่เคยเข้าใจเลย พอมาอยู่กับคนที่ทำไมโครคอนโทรลเลอร์ เลยเพิ่งเข้าใจ เพิ่งได้เห็นเหรียญอีกด้านหนึ่ง ตอนนั้นเราเห็นแต่ด้านซอฟต์แวร์ ไม่เข้าใจฮาร์ดแวร์ แต่พอมาอยู่ด้วยกัน มีคนที่พูดถึงฮาร์ดแวร์ว่าธรรมชาติของฮาร์ดแวร์มันเป็นอย่างไง

“การเรียนรู้ร่วมกันในการทำโปรเจกต์ร่วมกันได้ เช่น เราทำแอปได้ แต่ไม่เก่งเรื่องวงจรไฟฟ้า เราอยากได้หลอดไฟที่สั่งเปิดปิดผ่านแอปได้ ก็ไปเขียนแอปมา แล้วบอกคนในชมรมว่าอยากได้ฮาร์ดแวร์แบบนี้นี้ ช่วยทำให้หน่อยได้ไหม เพื่อนก็ไปทำมาให้ สุดท้ายก็ทำสำเร็จ”

ณัฐ วีระวรรณ์ ประธานชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ

ณัฐ วีระวรรณ์ ประธานชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ

ระหว่างนั้น เราหันไปเห็นหนุ่มน้อยคนหนึ่งกำลังขะมักเขม้นทำอะไรสักอย่างกับรถบังคับอยู่ จึงถือโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์เสียหน่อย

มาที่นี่แล้วรู้สึกว่าได้อะไรบ้าง

“เก้า” บอกว่า “ผมมาที่นี่ได้เพื่อนเยอะ ก่อนหน้านี้ผมเล่นอยู่คนเดียวหรือกับเพื่อนสองสามคนที่ห้อง แต่มาที่นี่เจอคนที่คล้ายกัน ทำรถมาสู้กัน ถ้าทำคนเดียวก็ไม่สนุก”

นั่นเป็นคำตอบของหนึ่งในสมาชิกชมรม เก้า-วศิน วงค์คำ นักศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก้าบอกว่า เขาเข้ามาเป็นสมาชิกชมรมนี้ได้ 8 เดือนแล้ว โดยผ่านการชักชวนของน้องคนหนึ่งที่รู้จักกันเพราะเล่นเครื่องบินบังคับเหมือนกัน

แผนต่อไป

มาถึงคำถามสุดท้ายสำหรับณัฐ…แล้วชมรมมีแผนจะทำอะไรต่อ

“กำลังดูๆอยู่ว่าอาจไปขอสปอนเซอร์พวกจักรเย็บผ้าเพื่อมาทำ wearable device เพราะชมรมเรามีสาวๆ ด้วย เป็นเพื่อนของเพื่อนที่สนใจเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

“จะให้เขาไปบัดกรีก็สงสารเขา ถ้ามีจักรเย็บผ้าอาจจะสนุกขึ้น ก่อนหน้านี้เราอยากให้คนที่อยู่ในสายโปรแกรมเมอร์กับสายอิเล็กทรอนิกส์ได้มาคุยกัน ตอนนี้เราก็ผลักดันมาได้สักพักแล้วให้สาวๆ ที่เย็บผ้าได้มาคุยกับฝั่งอิเล็กทรอนิกส์ ทำเป็นของอะไรขึ้นมาสักอย่าง แต่ความประหลาดก็คือ พบว่าสาวๆ เย็บผ้าไม่เป็น จะกลายเป็นหนุ่มๆ มาสอนผู้หญิงเย็บผ้าแทน”

ณัฐพูดประโยคสุดท้ายแบบขำๆ ก่อนที่การสนทนาครั้งนี้จะจบลง โดยณัฐขอตัวลาไปดูความเรียบร้อยของงาน Maker Party ส่วนเราก็ถือโอกาสออกไปกินไอติมฟรีด้านนอก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: