2015.04.27 16:57
ภาคประชาสังคมอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถีและอินเทอร์เน็ตจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์มีกฎหมายห้าม cybersex จำกัดเสรีภาพทางเพศ ผู้หญิงในมาเลเซียถูกกดทับจากกฎหมายอิสลามและการกดดันจากสังคมและครอบครัว ตัวแทนจากไทยเป็นห่วงร่างพ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัลกระทบสิทธิกลุ่ม LGBT ในวงยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า สำหรับเพศวิถีในยุคออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวกำลังถูกสังเวยในนาม “ความมั่นคงของชาติและศีลธรรมอันดี”
เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา มีการจัดเวิร์กช็อปหัวข้อ “ความเป็นส่วนตัว เพศวิถี และอินเทอร์เน็ต” (Privacy, Gender, and the Internet) โดย Women’s Legal and Human Rights Bureau (WLB), Persatuan Kesedaran Komuniti Selangor (EMPOWER), ASEAN Youth Forum และ Association for Progressive Communications (APC) โดยเวิร์กช็อปนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนประจำปี 2015 (ASEAN People Forum 2015) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ฟิลิปปินส์
Jelen Paclarin ตัวแทนจาก Women’s Legal and Human Rights Bureau ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึงสถานการณ์อินเทอร์เน็ตและผู้หญิงในฟิลิปปินส์ว่า ในฟิลิปปินส์มีกฎหมายที่ชื่อ “Cybercrime Prevention Act of 2012” ที่ระบุให้ cybersex เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยตัวกฎหมายได้ให้นิยาม cybersex ไว้กว้างมาก นั่นคือ เป็นการกระทำไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่เป็นการเปิดเผยอวัยวะเพศหรือการกิจกรรมทางเพศโดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วย (the willful engagement, maintenance, control, or operation, directly or indirectly, of any lascivious exhibition of sexual organs or sexual activity, with the aid of a computer system, for favor or consideration)
“ซึ่งก็แปลว่า หากคุณมีแฟนและถ่ายรูปเปลือยของแฟนและบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ คุณก็จะมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้”
Paclarin ระบุว่า นิยามของ cybersex ที่กว้างมากดังกล่าวนอกจากจะกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว ยังมีแนวโน้มจะเป็นผลร้ายต่อผู้หญิง ทั้งการแสดงออกทางเพศของผู้หญิงและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกบังคับให้อยู่ในธุรกิจ cybersex คือคนกลุ่มหลักที่จะถูกจับกุมตามกฎหมายฉบับนี้
มาเลเซีย
ทางด้าน Yasmin Masidi ตัวแทนจาก Persatuan Kesedaran Komuniti Selangor (EMPOWER) ประเทศมาเลเซีย เล่าถึงสถานการณ์ผู้หญิงและเทคโนโลยีในมาเลเซียว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่เสรีภาพในการแสดงออกถูกกดทับอยู่แล้ว โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกของผู้หญิง อย่างการมีกฎหมายศาสนา (Sharia Law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของผู้หญิง
นอกจากกฎหมาย ผู้หญิงยังถูกกดดันอย่างไม่เป็นทางการจากสังคม เช่น ครูและเพื่อนที่โรงเรียน รวมทั้งจากศาสนาด้วย ซึ่งรวมไปถึงผู้หญิงที่เป็นกลุ่มชายขอบ อย่างกลุ่มผู้หญิงที่เป็นคนพื้นเมือง กลุ่มหญิงแปลงเพศ ผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กชวล หรือผู้หญิงที่มีฐานะยากจน โดยเทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้รัฐ สังคม และครอบครัวสามารถสอดส่องการกระทำของผู้หญิงเหล่านี้ได้มากขึ้น
Masidi ยังเห็นด้วยว่า ร่างกายของผู้หญิงมักถูกจัดว่าเป็นร่างกายสาธารณะหรือทรัพย์สินสาธารณะ ที่ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม (consent) จากเจ้าของร่างกาย เราจึงได้เห็นการส่งต่อภาพของผู้หญิงในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับรู้หรืออนุญาต ซึ่งถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้หญิง
Jac sm Kee ผู้ดำเนินเวิร์กช็อปกล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า หากตัวคุณ ร่างกายของคุณ และข้อมูลของคุณถูกจัดว่าเป็นเพียงแค่ทรัพย์สินแล้ว คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัว แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนบางคน (ผู้ชาย) มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ขณะที่บางคน (ผู้หญิง) จะไม่มีสิทธิดังกล่าว
ไทย
ด้านชุมาพร แต่งเกลี้ยง สมาชิก ASEAN SOGIE CAUCUS เครือข่ายนักกิจกรรมที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBT (กลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนแปลงเพศ) ในอาเซียน กล่าวถึงสถานการณ์ LGBT และอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า LGBT ในประเทศไทยต้องเผชิญกับคำพูดแสดงความเกลียดชัง (hate speech) จำนวนมากบนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่นในกรณีของทอม มีหลายเพจบนเฟซบุ๊กที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงความเกลียดชังทอมโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์จำนวนมากในปัจจุบันที่สอนวิธีข่มขืนทอม เพราะในสังคมมีความเชื่อว่า การข่มขืนทอมจะสามารถเปลี่ยนทอมให้กลายเป็นผู้หญิงได้
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน กลุ่ม LGBT ก็ได้ใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อเรียกร้องสิทธิทางเพศเช่นเดียวกัน
ชุมาพรกล่าวต่อถึงชุดร่างพ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัลด้วยว่า ทางกลุ่มเป็นห่วงว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่ม LGBT จากการที่กฎหมายอ้าง “ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ” และ “ความมั่นคงของชาติ” ทั้งยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจมากเกินไป
“การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจนั้นไม่ปลอดภัยต่อกลุ่มคนชายขอบอยู่แล้ว คนที่จะได้รับผลกระทบเป็นคนแรกคือคนชายขอบ เพราะถูกมองว่าเป็นคนอื่น กลุ่ม LGBT ก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้นที่สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐและเป็นกลุ่มคนที่รัฐไทยไม่ต้องการตั้งแต่แรก
“ร่างกฎหมายที่จะออกมาสร้างข้อจำกัดให้ไม่มีเสรีภาพ ซึ่งพื้นที่ของ LGBT ในการดำเนินชีวิตหรือเคลื่อนไหวนั้นต้องการเสรีภาพ เราต้องการการเคารพสิทธิส่วนบุคคล
ส่วนเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ชุมาพรกล่าวว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของคนกลุ่ม LGBT เป็นสิ่งสำคัญมาก “เนื่องจากเรายังไม่มีกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ กลุ่มคนที่เป็น LGBT ก็ไม่กล้าเปิดเผยตัวเองออกมา เพราะไม่รู้ว่าสังคมจะยอมรับหรือจะถูกไล่ออกจากงานไหม แล้วเรื่องพวกนี้นายจ้างเขาไปรู้มาจากไหน ก็จากเฟซบุ๊กซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลส่วนตัว” ซึ่งชุมาพรมองว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่ได้คุ้มครองข้อมูลอย่างแท้จริง
ในนามของศีลธรรมอันดี
ชุมาพรเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ของกลุ่ม LGBT ภายหลังรัฐประหารตอนหนึ่งด้วยว่า หลังรัฐประหาร มีการจับกุมกลุ่มกระเทยและหญิงค้าบริการในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลในการจับกุมว่า เป็นไปเพื่อรักษา “ศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ซึ่งวีรฉัตร แก้วประดิษฐ์ จาก ASEAN Youth Forum พูดถึงศีลธรรมอันดีนี้ว่า เคยมีกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่กระเทยคนหนึ่งผ่านผลทดสอบเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า การให้กระเทยเป็นอาจารย์นั้นขัดกับศีลธรรมอันดี
“พูดได้ว่า ทุกวันนี้ เราต้องสละความเป็นส่วนตัวของเราให้กับศีลธรรมอันดีและความมั่นคงของชาติ” วีรฉัตรกล่าว
ด้าน Paclarin กล่าวด้วยว่า เมื่อคุณพูดถึงเพศวิถี ก็ต้องมีเรื่องศีลธรรมมาเกี่ยวข้อง และหากคุณพูดถึงสิ่งที่กระเทือนต่อความมั่นคงและความดีงาม คุณก็จะหนีไม่พ้นที่จะโดนคำพูดแสดงความเกลียดชัง ซึ่งอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียก็มีความสามารถที่จะแพร่กระจายความเกลียดชังนั้นไปได้ไกลมากขึ้น
เพศวิถี : ความเป็นส่วนตัวที่ถูกรุกล้ำ
“กิจกรรมทั้งหลายของเราบนอินเทอร์เน็ตระบุความเป็นตัวเรา อัตลักษณ์ของเรา อาจพูดได้ว่า อัตลักษณ์ของเรากำลังถูกทำให้เป็นดิจิทัล (digitized) มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการที่รัฐเริ่มเก็บข้อมูลกายภาพของเราในรูปดิจิทัล อาทิ การเก็บลายนิ้วมืออยู่ในรูปดิจิทัล ก็อาจพูดได้ด้วยว่า ร่างกายของเราก็กำลังถูกทำให้เป็นดิจิทัลเช่นเดียวกัน อันนำมาซึ่งคำถามที่ว่า แล้วเช่นนี้ เรายังต้องมีความเป็นส่วนตัวอยู่อีกไหมในยุคนี้”
Jac ผู้ดำเนินเวิร์กช็อปตั้งคำถามดังกล่าวขึ้น ก่อนจะกล่าวถึงความเป็นส่วนตัวต่อว่า เพศวิถีคือหนึ่งในความเป็นส่วนตัว และเราควรมีสิทธิควบคุมได้ว่าเราจะเปิดเผยเพศวิถีของเรากับใครบ้าง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นในทางตรงข้าม นั่นคือ ความเป็นส่วนตัวของกลุ่มคนชายขอบซึ่งรวมถึงกลุ่ม LGBT ถูกรุกล้ำโดยรัฐ ซึ่งมีเครื่องมือในการสอดแนมที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไป เพราะรัฐมองว่าคนเหล่านี้คือคนที่เป็นภัยต่อระบบระเบียบของสังคมและเป็นภัยต่อความมั่นคง
และทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่วงสนทนาว่าด้วยความเป็นส่วนตัว เพศวิถี และอินเทอร์เน็ตหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนที่ผ่านมา
Tags: ASEAN People Forum, ASEAN SOGIE CAUCUS, consent, Cybercrime Prevention Act of 2012, cybersex, gender, hate speech, Jac sm Kee, Jelen Paclarin, LGBT, Malaysia, Philippines, privacy, Sharia Law, Yasmin Masidi