Digital Weekly: 7-13 มีนาคม 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.03.15 16:59

สรุปข่าวไอทีประจำสัปดาห์: กฤษฎีกาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมเผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ล่าสุด, รัฐมนตรีไอซีทีมั่นใจ ประมูลคลื่น 4 จีได้ภายในก.ย.นี้, กสทช.ยื่นข้อเสนอ นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตส่วนหนึ่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ, คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ประชุมครั้งแรกวันที่ 18 มีนาคมนี้ เปิดรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 8 คน, ไมโครซอฟท์ร่วมมือพันธมิตรจัดโครงการ “#WeSpeakCode” สอนเด็กไทยเขียนโค้ด

โครงการ "#wespeakcode" จัดโดยไมโครซอต์และพันธมิตร (ภาพจาก smallroomgadget.com)

โครงการ “#wespeakcode” จัดโดยไมโครซอต์และพันธมิตร (ภาพจาก smallroomgadget.com)

7 มีนาคม 2558

กระทรวงส่งเสริมอุตสาหกรรมขานรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการประกาศใช้จ่ายงบประมาณ 170 ล้านบาทสนับสนุนโครงการ “DIP digital knowledge” และดิจิทัลเอสเอ็มอี พร้อมเผยนโยบายดิจิทัล 5 ด้านได้แก่ 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล (New Digital Entrepreneurs) 2. เอสเอ็มอีอัจฉริยะ (Intelligence SMEs) 3. การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโอทอป (Digital OTOP) 4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล (Digital Knowledge Society) และ 5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Digital Service Provider)

ที่มา The Nationข่าวประชาสัมพันธ์ กระทรวงอุตสาหกรรม

9 มีนาคม 2558

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีมั่นใจ ประมูลคลื่น 4 จีได้ภายในเดือนกันยายน 2558

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเดินหน้าเปิดประมูล 4 จี เพื่อนำเรื่องดังกล่าวบรรจุในวาระการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะมีขึ้นกลางเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าจะเปิดประมูล 4 จีได้ไม่เกินเดือนกันยายน 2558

ที่มา The Nation, ไทยรัฐ

กสทช.ยื่นข้อเสนอ นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตส่วนหนึ่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ

กสทช.หารือร่างพ.ร.บ.กสทช.กับกฤษฎีกา เสนอโอนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทั้งโทรคมนาคมและกระจายเสียง ร้อยละ 60 เข้าคลัง และเงินที่เหลือให้ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ที่จะตั้งขึ้นใหม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันกสทช.ต้องโอนจากการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมทั้งหมดเข้าคลัง ส่วนเงินจากการประมูลคลื่นความถี่กระจายเสียงจะนำเข้ากองทุนกทปส. ซึ่งหากเป็นไปตามร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ที่ผ่านการอนุมัติจากครม. เงินที่จะต้องนำส่งกองทุนกทปส.ทั้งหมดจะถูกนำส่งกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ แทน

กสทช.ยังยื่นข้อเสนอให้ส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของกสทช. ร้อยละ 75 เข้าคลัง และที่เหลือให้ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ จากที่ปัจจุบันกสทช.ต้องนำเงินส่วนนี้ทั้งหมดส่งคลัง

ที่มา The Nation

10 มีนาคม 2558

ทีโอทีเตรียมโละบุคลากร 3,500 คน ระบุเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ทีโอที จัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ (เออร์ลี่รีไทร์) เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการองค์กร ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทีโอทีมีพนักงานประมาณ 16,500 คน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 13,900-14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยพนักงานทีโอทีเงินเดือนเฉลี่ย 50,000 บาทต่อเดือน

ที่มา ไทยรัฐ

11 มีนาคม 2558

กฤษฎีกาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมเผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ล่าสุด

กฤษฎีกาเผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ล่าสุด ตัดกสท.และทีโอทีออกจากคณะกรรมการดิจิทัลฯ คงการประมูลคลื่นไว้สำหรับการใช้เชิงพาณิชย์ แต่ตั้งเงื่อนไขการประมูลให้ “คำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้” ไม่ยุบกองทุนกทปส.แต่จะแบ่งเงินออกไปส่วนหนึ่ง ด้านผู้ร่วมเสนอความเห็นต่อร่างกฎหมายวิพากษ์ ร่างกฎหมายใหม่ให้สิทธิ์สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ร่วมทุนเอกชน แต่เอกชนฟ้องไม่ได้ ประธานทีดีอาร์ไอระบุหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่มีแนวทางขับเคลื่อนชัดเจน ชี้รื้อกฎหมายกสทช.แก้ธรรมาภิบาล ด้านมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ยินดีรับทุกข้อเสนอ

ที่มา เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ผู้จัดการออนไลน์

ไมโครซอฟท์ร่วมมือพันธมิตรจัดโครงการสอนเด็กไทยเขียนโค้ด

ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) ร่วมกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน และ Change Fusion จัดโครงการ “#WeSpeakCode” มีเป้าหมายให้เยาวชนไทย 2 หมื่นคนเรียนรู้การเขียนโค้ด ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในโลกศตวรรษที่ 21

ที่มา The Nation

12 มีนาคม 2558

คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประชุมครั้งแรกวันที่ 18 มีนาคมนี้ เปิดรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 8 คน

ในวันที่ 18 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นครั้งแรก โดยคณะกรรมการเตรียมการฯ จะปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่ากฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ขณะนี้คณะกรรมการเตรียมการฯ อยู่ระหว่างการเสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกฯ แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 8 คน โดยมีรายชื่อของนายสิทธิชัย โภไคยอุดม, นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ, นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล, นายไพรัช ธัชยพงษ์, นายชิต เหล่าวัฒนา, นายมนู อรดีลเชษฐ์, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี และนายบุญทักษ์ หวังเจริญ จากข่าวระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากที่รายชื่อดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาก็ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของบุคคลเหล่านี้

ส่วนความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2558

ที่มา ไทยรัฐ

“กทค.” ไฟเขียวแก้ตารางคลื่นความถี่แห่งชาติใหม่ ดันคลื่น 900 MHz ประมูลทั้ง 20 MHz ไม่ต้องมีการ์ดแบนด์ 2.5 MHz พร้อมให้อัพเกรดทรังก์เรดิโอดิจิทัลบนคลื่น 800 MHz

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ย่าน 890-960 MHz มีผลให้การใช้ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz ไม่ต้องกันคลื่นไว้เป็นการ์ดแบนด์ที่ 2.5 MHz เพื่อป้องกันการกวนกันของคลื่น ทำให้การจัดสรรคลื่น 900 MHz นำทั้งหมด 20 MHz ออกประมูลได้ทันที จากเดิมที่เคยเตรียมประมูลคลื่น 900 MHz ภายใต้สัมปทานเอไอเอส ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับไว้ก่อนนำแถบคลื่นมาประมูลแค่ 17.5 MHz แบ่ง 2 ใบอนุญาต (10 MHz และ7.5 MHz)

บอร์ด กทค.ยังอนุมัติให้อัพเกรดการใช้วิทยุสื่อสารทรังก์เรดิโอ 800 MHz จากระบบแอนะล็อกเป็นดิจิทัลได้ แต่ต้องกันคลื่นไว้เพื่อการใช้ในภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการสื่อสารบนรถไฟความเร็วสูง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Tags: , , , , , , , ,
%d bloggers like this: