2015.02.06 15:39
ที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจแจง ทุกมาตราที่มีปัญหาในชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล “ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว” ระบุกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลต้องมีความเป็นสากลมากที่สุด เผยร่างกฎหมาย “มั่นคงไซเบอร์ฯ” ได้ต้นแบบมาจากกฎหมาย “Homeland Security” ของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการดิจิทัลฯ มีอำนาจสั่งการกระทรวง หากไม่ทำตามภายในเวลาที่กำหนด รมต.และปลัดมีสิทธิต้องโทษอาญามาตรา 157
6 ก.พ. 2558 – ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล ในงานเสวนา “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ว่า
ตอนนี้ ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล กำลังจะผ่านกฤษฎีกาภายในไม่กี่วันข้างหน้า ก่อนที่ร่างกฎหมายจะกลับมาที่คณะรัฐมนตรีและเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยทั้งหมดนี้น่าจะใช้เวลารวมไม่เกิน 2 สัปดาห์
เผยไม่ต้องการออกกฎหมายเผด็จการ ทุกรายมาตราที่มีปัญหา “ได้รับการแก้ไขหมดแล้ว”
สิทธิชัยเผยด้วยว่า ร่างกฎหมายหลายมาตราที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบางมาตราในร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาตินั้น ขณะนี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
“ที่กลัวกัน แก้ไปหมดแล้ว แก้ทุกมาตราที่จะเป็นเผด็จการหรือละเมิด ท่านรองนายกได้สั่งแก้หมดแล้ว ก่อนจะคลอดจากกฤษฎีกามาอำนาจพวกนี้จะหายหมด ถ้าไม่หายหมดก็ต้องไปแก้ต่อในสนช.
“กฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด จะไม่มีฉบับใดที่จะน่าเป็นห่วงอีกต่อไป ผมรับประกันได้ ถ้าออกมาแล้วยังละเมิดสิทธิอยู่ ผมคงต้องลาออก ผมอยู่ไม่ได้… ท่านนายกสั่งมาโดยตรง ว่าต้องแก้ทุกข้อที่มีคนร้องเรียนท่านไป อย่าให้เป็นกฎหมายเผด็จการโดยเด็ดขาด
“ถ้ารัฐบาลชุดต่อไปไม่มีคุณธรรมจริยธรรมพอก็จะแย่ เพราะฉะนั้นการร่างกฎหมายที่ดีจะต้องไม่มีเผด็จการ เพราะเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ถ้ากฎหมายเผด็จการ ละเมิดสิทธิได้ตามใจชอบ อีกหน่อยลูกหลานเราก็จะโดนเอง”
สิทธิชัยกล่าวด้วยว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลต้องมีความเป็นสากลให้ได้มากที่สุด เพื่อที่บริษัทต่างชาติจะได้มีความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม สิทธิชัยไม่ได้ให้รายละเอียดการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว และไม่ได้ระบุว่าจะมีการเปิดเผยร่างที่ได้รับการแก้ไขแล้วแก่สาธารณะหรือไม่
เผย ร่างกฎหมาย “มั่นคงไซเบอร์ฯ” เลียนแบบกฎหมายกระทรวงความมั่นคงของสหรัฐฯ
สิทธิชัยเปิดเผยด้วยว่า หนึ่งในเหตุผลที่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น เนื่องจากขั้นตอนการร่างกฎหมายมีความเร่งรีบเกินไป
“ตอนนี้ที่กฎหมายทั้ง 10 ฉบับถูกตีเละเทะ เพราะมีการเร่งมาก พอเร่งมากเจ้าหน้าที่ที่เป็นข้าราชการ คุ้นอยู่กับการมีอำนาจ ก็อาจใส่อะไรบางอย่างที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้ทำงานง่าย ซึ่งอันนี้ได้รับการแก้ไขหมด”
พร้อมทั้งยืนยันถึงความจำเป็นในการมีพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยระบุว่า ประเทศมีความต้องการกฎหมายที่เข้มข้นกว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากทุกวันนี้ประเทศเผชิญกับปัญหาการอาชญากรรมไซเบอร์
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่จะเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของประชาชนนั้น ข้อมูลที่ถูกเข้าถึงจะไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในศาลได้ เว้นแต่การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวจะมีหมายศาลเท่านั้น
นอกจากนี้ สิทธิชัยเปิดเผยด้วยว่า แบบอย่างของร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติคือกฎหมายของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ของสหรัฐอเมริกา
“ถ้าท่านอ่านกฎหมาย Homeland Security มีคนอยากให้เราทำกฎหมายแบบอเมริกา เราก็เลยแปลกฎหมาย Homeland Security กับกฎหมายของซีไอเอ พอแปลอย่างนี้แล้วเอาไปให้เอ็นจีโออ่าน ตกใจกัน บอกไม่เอากฎหมายแบบนี้ อ้าวคุณอยากให้แปล อยากได้เป็นแบบอเมริกาไง เราเอาของอเมริกามาเลย ปรากฎว่าละเมิดสิทธิเยอะมาก”
คณะกรรมการดิจิทัลสั่ง กระทรวงไม่ทำตาม ต้องโทษอาญามาตรา 157
สิทธิชัยกล่าวถึงคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า คณะกรรมการดิจิทัลฯ จะมีอำนาจสั่งการกระทรวงต่างๆ และหากกระทรวงไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษทางอาญา ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นวิธีที่จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลสำเร็จได้
“คณะกรรมการดิจิทัลฯ มีมติใดๆ ออกมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด เช่น ถ้าจะบังคับให้กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงอะไร กระทรวงสาธารณะสุขทำอะไร ถ้ากระทรวงไม่ตอบสนองภายในเวลาที่กำหนด รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงจะโดนคดีอาญามาตรา 157
“อันนี้เป็นหัวใจ ถ้าไม่มีมาตรานี้ไว้เราก็เลิกหวังเศรษฐกิจดิจิทัลได้เลย เพราะจะไม่มีใครสนใจ เราพยายามทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มา 20 ปี พยายามทำไรหลายอย่างไม่เคยสำเร็จเพราะไม่มีใครสนใจ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของอาณาจักรของตัวเอง แต่ถ้าคณะกรรมการนี้มีมติออกมา แล้วถ้าไม่ทำตามจะมีมาตรการลงโทษ อันนี้น่าจะสำเร็จ”
ทั้งนี้ มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
สิทธิชัยเผยว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดิจิทัลฯ จะไม่มีสิทธิสั่งการดังกล่าวกับภาคเอกชน
Tags: digital economy, National Cybersecurity Bill, National Cybersecurity Committee, national security, National Security Agency, Sitthichai Pokai-udom