ชวนไปงาน CSDIG (ตอน 1) : สร้างนวัตกรรม & ทำรัฐให้โปร่งใส ด้วย “Open Government Data”

2015.02.10 18:32

ทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกที่รายล้อมไปด้วยข้อมูล ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถิติ ผลวิจัย สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำคลอง ตารางเดินรถ ข้อมูลตลาดหุ้น รายรับ-รายจ่ายของรัฐบาล ฯลฯ ล้วนเป็นข้อมูลที่มีค่า เกินกว่าจะถูกเก็บแน่นิ่งไว้ในไฟล์ให้ฝุ่นจับเล่น เชื่อไหมว่าข้อมูลเหล่านี้มีโอกาสถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกมหาศาล ถ้าเราทำให้เป็น “ข้อมูลเปิด” หรือ Open Data

แล้ว Open Data คืออะไรล่ะ?

นิยามอย่างรวบรัดของ Open Data (ข้อมูลเปิด) ก็คือ ข้อมูลที่เราสามารถนำไปใช้ได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) และแจกจ่ายต่อได้ ทั้งนี้ต้องระบุแหล่งที่มาและต้องใช้เงื่อนไขเดียวกันกับที่มาหรือตามที่เจ้าของงานกำหนด โดยข้อมูลดังกล่าวต้องอยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อและสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ (หรือเรียกได้ว่าอยู่ในรูปแบบที่อ่านได้โดยคอมพิวเตอร์) ส่วนค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นก็ต้องไม่มากไปกว่าค่าใช้จ่ายในการทำสำเนา โดยเฉพาะการดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต

Open Government Data

ข้อมูลเปิด โดยเฉพาะข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ “Open Government Data” มีส่วนช่วยสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐ คงจะดีไม่ใช่น้อยถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าวันนี้รัฐบาลเบิกจ่ายซื้อเก้าอี้ประชุมตัวละเท่าไหร่ ภาษีของเราถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง เว็บไซต์อย่าง folketsting.dk ของประเทศเดนมาร์กทำให้ประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวในรัฐสภาและกระบวนการผ่านร่างกฎหมายได้ การที่ประชาชนรู้ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาซึ่งรัฐที่รับผิดชอบต่อประชาชน และช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ข้อมูลเปิดยังก่อให้เกิดธุรกิจและผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ อันนำไปสู่การเพิ่มอัตราการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ข้อมูลเปิดในเว็บไซต์ data.gov ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาถูกนำไปต่อยอดจนกลายมาเป็นบริการต่างๆ มากมาย อาทิ เว็บไซต์ Kayak.com ที่นำข้อมูลจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ ไปพัฒนาต่อเป็นบริการที่ให้ผู้ใช้สามารถเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน รถเช่า และที่พัก Kayak.com ได้สร้างเม็ดเงินมูลค่า 229 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานกว่า 330 คน

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลเปิดยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเรา จากการที่นักพัฒนานำข้อมูลเปิดเหล่านั้นไปพัฒนาเป็นบริการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น หญิงชาวเดนมาร์กได้สร้างเว็บไซต์ findtoilet.dk ซึ่งจะแสดงจุดที่ตั้งของห้องน้ำสาธารณะในเดนมาร์กทั้งหมด บริการ Google Translate เกิดขึ้นได้จากการสร้างอัลกอริธึมในการแปลภาษา จากข้อมูลเอกสารจำนวนมหาศาลของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรในภาษาต่างๆ

สำหรับประเทศไทย เรามีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเปิดภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2540 จากพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทว่าทุกวันนี้การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้สะดวกยังมีน้อย และการเข้าถึงข้อมูลก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ข่าวดีก็คือ ในตอนนี้รัฐบาลได้สร้างเว็บท่า data.go.th ที่ตั้งใจไว้ว่าจะให้เป็นศูนย์รวมข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศแล้ว ซึ่งนอกจากฝั่งภาครัฐ ประชาชนอย่างเราๆ ก็มีบทบาทไม่แพ้กันในการช่วยกันผลักดันอุปสงค์ของข้อมูลเหล่านี้

หวังว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็นหน้าตาผู้ประกอบการคนไทยรุ่นใหม่ ที่หยิบเอาข้อมูลเปิดมาปัดฝุ่น และรังสรรค์ออกมาเป็นธุรกิจและบริการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในประเทศ ในอนาคตอันใกล้นี้นะ :)

ไปร่วมเวทีหารือภาคประชาสังคมว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตกัน!

มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Open Government Data ได้ในเวทีย่อย “Open Government Data กับการพัฒนาร่วมภาครัฐและเอกชน” วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 9.30-10.30 น. ณ ห้องประชุมจุฬาเกษม ชั้น 1 อาคารชินโสภณพนิช มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กรุงเทพฯ ซึ่งเวทีย่อยนี้เป็นหนึ่งใน เวทีหารือภาคประชาสังคมว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต: “การอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2558 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง)

เวทีหารือภาคประชาสังคมว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต "การอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย"

ลงทะเบียนร่วมงาน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานได้ที่ igf.in.th

เอกสารเพิ่มเติม

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: