2015.02.19 11:29
ไอลอว์เปิดรายงาน สถิติคนถูกจับจากความผิดบนอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหารพุ่ง มีการใช้แนวคิดใหม่ “บนโลกออนไลน์ หากโพสต์ยังอยู่ ถือว่ากระทำผิดต่อเนื่อง” หวั่น ร่างกฎหมาย “มั่นคงไซเบอร์ฯ” แปรกฎอัยการศึกให้เป็นกฎหมายถาวร
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ผลกระทบทางการเมืองต่อบรรยากาศในโลกออนไลน์” ณ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น โดยการสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” จัดโดยมูลนิธิเอเชีย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนันภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรเครือข่าย
เกตน์สิรี ทศพลไพศาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนเปิดเผยรายงานการจำกัดเสรีภาพบนโลกออนไลน์หลังรัฐประหารว่า หลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีความพยายามควบคุมสื่อออนไลน์โดยใช้กลไกทั้งกฎหมายและคำสั่งของคสช. โดยมีเว็บไซต์อย่างน้อย 29 เว็บไซต์ที่ถูกปิดหลังรัฐประหาร ซึ่งสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในโลกออนไลน์ ส่งผลให้มีการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักวิชาการ และนักกิจกรรม
นอกจากนี้ คสช.ยังมีการใช้วิธี “ขอความร่วมมือ” ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากเจ้าหน้าที่จะ “ขอความร่วมมือ” ให้งดโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียแล้ว ยังพบว่ามีการขอความร่วมมือให้โพสต์ข้อความตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการด้วย เช่น การที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งถูกเรียกตัวไปที่ค่ายทหาร และถูกเจ้าหน้าที่ทหารขอให้โพสต์ข้อความว่า การถูกเชิญตัวมาคุยกับทหารไม่ได้มีความรุนแรงและต่อไปนี้จะไม่โพสต์ข้อความที่แสดงการต่อต้านคสช.อีก เกตน์สิรีกล่าว
ทางด้าน วีรวรรธน์ สมนึก เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มักถูกนำมาใช้ฟ้องเรื่องการหมิ่นประมาทในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว แต่หลังการรัฐประหารได้พบว่ามีการใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวในการฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย โดยเป็นการฟ้องควบคู่กับการฟ้องมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความไม่สงบสุข
ถัดมา อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้กล่าวถึงคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (กฎหมายอาญามาตรา 112) กับโลกออนไลน์ว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา สถานการณ์การจับกุมผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรมมีแนวโน้มดีขึ้น และความผิดส่วนใหญ่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นออฟไลน์ เช่น ความผิดจากการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ โดยมีเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่เป็นการโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ต
ทว่าหลักการรัฐประหาร สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการจับกุมผู้กระทำผิดบนพื้นที่ออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคดีที่เกิดออนไลน์มีจำนวน 26 คดี และคดีที่เกิดออฟไลน์มี 6 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 32 คน (ไม่รวมคนที่ไม่สามารถจับตัวได้และไม่นับกรณีที่มีการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น) และมีคนที่อยู่ในเรือนจำ 24 คน
อานนท์กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ การที่พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้กว้าง ทำให้ข้อมูลข่าวสารของผู้ส่งสามารถเดินทางไปได้ไกลขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสมากขึ้นที่สารนั้นจะไปกระทบกับคนที่ไม่เห็นด้วยและสร้างให้เกิดความไม่พอใจจนอาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องคดี โดยใช้สื่อออนไลน์ดังกล่าวมีอาทิ เฟซบุ๊กที่ใช้โพสต์ข้อความ ยูทูบที่ใช้อัปโหลดคลิปวิดีโอ เว็บไซต์ 4shared.com ที่เป็นแหล่งฝากไฟล์ รวมทั้งการส่งอีเมลลิงก์เว็บไซต์ไปให้ผู้อื่น
อานนท์ตั้งข้อสังเกตว่า หากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สอดแนมการสื่อสารของประชาชน หรือ “แฮ็กอีเมลได้” ก็อาจส่งผลให้มีผู้ที่จะถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น
อานนท์กล่าวต่อว่า ความน่ากังวลใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังรัฐประหาร คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 37 ระบุให้ผู้กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งรวมถึงคดีมาตรา 112 ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งที่น่าเป็นห่วงก็เพราะ ศาลทหารเป็นการการพิจารณาลับ จำเลยไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ ศาลมักตัดสินให้โทษสูงกว่าศาลพลเรือน รวมทั้งศาลทหารยังมีปัญหาในเรื่องความพร้อมของศาล
วิธีคิดใหม่ “บนโลกออนไลน์ หากโพสต์ยังอยู่ ถือเป็นการกระทำต่อเนื่อง”
อานนท์กล่าวว่า ยังมีการพบด้วยว่า หลังจากที่มีประกาศฉบับดังกล่าวออกมา ได้มีการจัดการกับผู้ถูกดำเนินคดีโดยใช้วิธีคิดที่ว่า “บนโลกออนไลน์ หากโพสต์ยังอยู่ ถือเป็นการกระทำต่อเนื่อง” เห็นได้จากตัวอย่างของคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันก่อนหน้าวันที่มีประกาศฉบับดังกล่าว ทว่าเมื่อมีการใช้วิธีคิดว่า “หากโพสต์ยังอยู่ ถือเป็นการกระทำผิดต่อเนื่อง” ก็แปลว่าจำเลยกระทำผิดหลังวันที่มีประกาศฉบับที่ 37 ด้วย ทำให้ต้องมีการย้ายตัวจำเลยจากศาลพลเรือนไปตัดสินยังศาลทหาร โดยกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 4 คดี นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า วิธีคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้อย่างเลือกปฏิบัติ
ร่างพ.ร.บ. “มั่นคงไซเบอร์ฯ” แปรกฎอัยการศึกเป็น “กฎหมายถาวร”
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนกล่าวสรุปว่า จากที่ผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มีปัญหาอย่างมากในการนำมาบังคับใช้ ซึ่งในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ก็ยังคงมีปัญหาเดิมอยู่ นั่นคือแทนที่กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้กับเรื่องทางเทคนิคคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่กลับนำมาบังคับใช้ในเรื่องของเนื้อหาด้วย
นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับอื่นๆ โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ ซึ่งในตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็ทำเช่นที่ว่าได้อยู่แล้วภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายชั่วคราว แต่การที่ออกกฎดังกล่าวออกมาเป็นพ.ร.บ.จะทำให้สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นกฎหมายถาวร ซึ่งแปลว่าเงื่อนไขเหล่านี้จะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน
เอกสารเพิ่มเติม
- สรุปสถานการณ์ปี 2557: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชนที่ปูทางสู่การยึดอำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
- ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….