2015.01.25 14:45
นักวิชาการกฎหมายชี้ ร่างกฎหมายดักฟังไม่ได้มีแค่ “มั่นคงไซเบอร์” แต่มีทั้งหมด 4 ฉบับ เป็นห่วงเรื่องที่การดูแลข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงทำโดยหน่วยงานเดียวกัน – นักวางแผนนโยบายระบุ กระบวนการพิจารณากฎหมายไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งข้อสังเกตการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการใหม่หลายชุด – เลขาธิการกสทช.มองการแก้ไขร่างพ.ร.บ.กสทช.ควรรอรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทออกมาก่อน พร้อมคัดค้านการยกเลิกประมูลคลื่นความถี่ – ที่ปรึกษากสทช.ย้ำ การยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนาฯกระทบสื่อภาคประชาชนแน่นอน – นักวิชาการสื่อระบุ คลื่นความถี่เหมือนทะเลป่าเขา เราทุกคนเป็นเจ้าของ
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ได้มีงานสัมมนาวิชาการหัวข้อ “จับจ้องมองกฎหมายสื่อและไอซีทียุค สนช.2558” ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย สวทช., นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกสทช., นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกสทช., นายอลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น โดยมี ศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
“เรากลัวอะไร ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นกระแสขึ้นมา เพราะว่าเรากลัวจะถูกดักรับข้อมูลใช่หรือไม่”
คณาธิป ทองรวีวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ขึ้นต้นว่า เหตุที่ตอนนี้คนส่วนใหญ่กำลังสนใจร่างกฎหมายบางฉบับเป็นเพราะเรากังวลว่าจะถูกดักรับข้อมูล เนื่องจากทุกวันนี้ชีวิตของคนเราพึ่งพาเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา
ทว่าในตอนนี้ สื่อต่างพูดกันถึงร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเพียงกฎหมายเดียว ทั้งที่จริงแล้ว ขณะนี้มีร่างกฎหมายดักรับข้อมูลอยู่ด้วยกันถึง 4 ฉบับ นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับแก้ไข), ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถดักรับข้อมูลที่เกี่ยวกับความผิดทั่วไปทางอาญาได้, ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ที่ให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลที่จัดเป็น “สิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย” ซึ่งมีความคลุมเครือ และร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยร่างกฎหมายเหล่านี้มีหลักการเหมือนกัน คืออนุญาตให้รัฐเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของประชาชนได้
แต่ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งที่เราถูกเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลาในโลกออนไลน์ ซึ่งมาในครั้งนี้ได้มีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมาแล้ว ทว่าร่างกฎหมายดังกล่าวก็กลับ “โผล่มาในร่มความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” นั่นก็คือการที่กฎหมายนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย โดยคณาธิปมองว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหา
“หน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอยากจะเข้าถึงข้อมูลของท่าน แต่ถ้าเกิดท่านถูกรุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคล ท่านก็ต้องมาหาหน่วยงานเดียวกัน แล้วถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นโมเดลของยุโรป สองหน่วยงานนี้จะแยกกัน คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลจะอยู่แยกออกมาต่างหาก”
คณาธิปยังกล่าวด้วยว่า ก่อนจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต้องมีการกำหนดประเด็นก่อน ว่าเรากำลังวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ฉบับไหน เพราะตอนนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายร่าง “ร่างที่เราเห็นกันอยู่นี้เป็นร่างที่ใช่หรือไม่ ก่อนที่เราจะมาวิพากษ์กัน ตอนนี้แค่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็มีหลายร่างมาก” ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณาธิปจึงกล่าวว่า ต่อไปนี้หากมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตนจะไม่วิเคราะห์รายมาตราแล้ว แต่จะไปวิเคราะห์ในหลักการแทน
“เสียงร้องเรียนร่างกฎหมายชุดนี้จะมีน้อยกว่านี้ หากกระบวนการพิจารณากฎหมายเปิดกว่านี้”
ทางด้าน กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า หากเรามองร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับอย่างเป็นกลาง จะเห็นได้ว่าชุดร่างกฎหมายทั้งหมดเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับการทำงานใหม่ นั่นก็คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตนทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทว่าตนเพิ่งทราบว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการอื่นๆ รวมทั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านขึ้นมาอีกจำนวนมาก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า การทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการจำนวนมากนี้จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ สำนักงานที่จะตั้งขึ้นใหม่จำนวนมากทำให้มีความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้น ซึ่งคำถามอีกข้อหนึ่งคือ รัฐจะรับคนทำงานเหล่านี้มาจากไหน รัฐมีความพร้อมในเรื่องนี้มากเพียงใด
ในส่วนเนื้อหาของร่างกฎหมาย กษิติธรกล่าวว่า ตนยังเห็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างร่างกฎหมายหลายฉบับ และการที่คณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติจะมาดูแลทั้งกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ก็ยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่
“เสียงร้องเรียนร่างกฎหมายชุดนี้จะมีน้อยกว่านี้ หากกระบวนการพิจารณากฎหมายเปิดกว่านี้” กษิติธรกล่าว
ทางด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนแสดงอำนาจได้หลายทาง รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมาย โดยก่อนที่จะมีการออกกฎหมายใด จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน และหากมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนั้น ก็มีกลไกอื่นๆ ที่ให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้หลายทาง
“ทีนี้เราเกิดเหตุขัดข้องในประชาธิปไตยบางประการ สิ่งต่างๆ มันไม่ทำงานแล้ว รัฐธรรมนูญก็ไม่มี… เรามีเพียงสภาเดียวซึ่งพิจารณากฎหมายค่อนข้างรวดเร็ว การที่จะรณรงค์ต่อต้านกฎหมายด้วยการชุมนุมก็ทำไม่ได้เพราะมีกฎอัยการศึก
“ปัญหาตอนนี้ก็คือ มีกฎหมายออกมาจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่มีโอกาสแสดงความเห็น เราเปลี่ยนจากที่ประชาชนเป็นใหญ่เหนือราชการ กลับมาเป็น ราชการเป็นใหญ่เหนือประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง” จอนกล่าว
วัดการเจริญเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล วัดอย่างไร?
อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” คืออะไรกันแน่ คำว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อใหม่หรือไม่ เพราะอะไรจึงต้องตั้งชื่อใหม่ เป็นเพราะนโยบายที่มีอยู่เดิมทำงานไม่ได้ผลหรือเปล่า ตนมองว่ารัฐบาลมีความตั้งใจดี แต่ก็มีคำถามตามมาว่านโยบายใหม่ๆ เหล่านี้จะถูกนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีตัวชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ซึ่งหากเทียบกับประเทศที่อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ประเทศเหล่านั้นมีการทำตัวชี้วัดที่จับต้องได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศด้วยว่าครอบคลุมแล้วหรือยัง
“รอกฎหมายแม่ก่อน ค่อยออกกฎหมายลูก”
ฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ร่างพ.ร.บ. กสทช.) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วว่า โดยหลักการแล้ว การจะออกร่างกฎหมายใดมาควรจะต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักออกมาก่อน
“กฎหมายสิบฉบับที่รัฐบาลเสนอมานี้ ควรจะรอรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทใหญ่ที่จะกำหนดทิศทางของประเทศออกมาก่อน องค์กรอิสระอย่างกสทช.จะถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ วันนี้ยังไม่ทราบ องค์กรอิสระอื่นๆ จะถูกยุบหรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะฉะนั้น ประเด็นใหญ่คือเรายังไม่ได้พูดถึงรัฐธรรมนูญ แต่เราไปพูดถึงกฎหมายลูกต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
ส่วนในการยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่ และเปลี่ยนใช้วิธีการคัดเลือกนั้น นายฐากรกล่าวว่า ตนขอค้านหัวชนฝา และขณะนี้กสทช.กำลังเตรียมข้อมูลเพื่อไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากประชาชนมีประเด็นข้อคัดค้านใดที่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้รวบรวมประเด็นเหล่านั้นส่งมายังกสทช. เพื่อจะได้นำไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา
ร่างพ.ร.บ.กสทช. กลับไปสู่ยุค “ราชการเป็นใหญ่เหนือประชาชน”
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกสทช. กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.กสทช.ว่า เมื่อย้อนไปในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ใจความสำคัญของมาตราดังกล่าวคือ คลื่นความถี่เป็นของประชาชนทุกคน ทุกคนมีสิทธิใช้ และให้มีองค์กรรัฐที่เป็นอิสระจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแล โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนจากเดิมที่คลื่นความถี่ทั้งหมดเคยเป็นของรัฐและรัฐวิสาหกิจ
“ทว่าตอนนี้เราไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่นี้ทำให้กสทช.หมดความเป็นอิสระและต้องไปขึ้นกับหน่วยงานราชการ บังคับให้ต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้รัฐ” ซึ่งจอนมองว่า นี่จะไปลดสัดส่วนคลื่นความถี่ที่ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ จอนยังกล่าวถึงการที่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ระบุให้จัดสรรคลื่นความถี่โดยการคัดเลือกแทนการประมูลว่า การประมูลจัดว่าเป็นวิธีที่โปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด “ส่วนวิธีอื่นจะเป็นแบบไหน ก็ใช้จินตนาการเอาได้”
สำหรับการยกเลิกกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นั้น จอนกล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมา กองทุนกทปส.จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างน้อย กองทุนดังกล่าวก็ทำให้สื่อภาคประชาชน ซึ่งขาดศักยภาพและเงินทุน ได้สร้างสื่อของตนเอง การยุบกองทุนดังกล่าวทำให้หลักการของกองทุน ที่ต้องการนำเงินมาพัฒนาศักยภาพการทำสื่อของประชาชนหายไป พร้อมกันกับเงินที่อยู่ในกองทุน โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ไม่มีการพูดว่าจะสนับสนุนสื่อภาคประชาชนแต่อย่างใด
“หากร่างกฎหมายนี้ออกมา จะกระทบกระเทือนต่อเรื่องของสื่อภาคประชาชนแน่นอน” จอนกล่าว
คลื่นความถี่เหมือนป่าเขา พวกเราเป็นเจ้าของ
นายอลงกรณ์กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.กสทช.ว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ และประชาชนควรใส่ใจว่าคลื่นสาธารณะเหล่านี้จะถูกนำไปจัดสรรอย่างไร
“เวลาเราพูดถึงทะเล ป่าเขา เรามองว่าเหล่านี้เป็นทรัพยากรสาธารณะ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา แต่เวลาเราพูดถึงคลื่นสาธารณะ เรากลับมองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมีคนมาจัดการคลื่นเหล่านี้แทนเรา แต่การจะให้ใครเข้ามาจัดการ เราเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
สำหรับผู้ที่มีข้อกังวลต่อชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล 10+3 ฉบับ” ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา สามารถร่วมลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับชุดกฎหมายดังกล่าวได้ที่ http://chn.ge/15CRmiu
Tags: cybersecurity, digital economy, National Broadcasting and Telecommunications Commission, privacy, surveillance