ฟรีดอมเฮาส์จัดระดับเสรีภาพออนไลน์ไทย “ไม่เสรี” ตกไปต่ำกว่าพม่า

2014.12.05 22:51

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี"

ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) เผยแพร่รายงานระดับเสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลก Freedom on the Net 2014 ไทยตกไปอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” (62 คะแนน) ต่ำกว่าพม่าซึ่งอยู่ในกลุ่ม “กึ่งเสรี” (60 คะแนน) ชี้แนวโน้มรัฐบาลทั่วโลกควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้นและซับซ้อนขึ้น

รายงานดังกล่าวพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม 2556 – พฤษภาคม 2557 โดยแบ่งการวิเคราะห์เป็นสามส่วน ได้แก่ อุปสรรคในการเข้าถึง (Obstacles to Access), การจำกัดเนื้อหา (Limits on Content), และ การละเมิดสิทธิผู้ใช้ (Violations of User Rights) ซึ่งแต่ละส่วนจะมีการให้คะแนนและนำมาประมวลรวมกัน คะแนน 0 = มีเสรีภาพมากที่สุด คะแนน 100 = มีเสรีภาพน้อยที่สุด

ตอนที่ 1 ของสรุปรายงานประเทศไทยจากรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 โดยฟรีดอมเฮาส์

  1. สถานการณ์เด่น เสรีภาพอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหาร และวิธีวิจัย
  2. อุปสรรคในการเข้าถึง (11/25)
  3. การจำกัดเนื้อหา (21/35)
  4. การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (30/40)

สรุปสถานการณ์เด่นในประเทศไทย

  • ประเทศไทยปี 2556 การใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนมีมากขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ พื้นที่ที่มีปริมาณการใช้เน็ตต่ำสุดคือ ภาคอีสาน
  • ศาลไทยลงโทษผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนาม “เคนจิ” ในการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยความผิดฐาน “พยายาม” หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ
  • นักวิจัย อานดี้ ฮอลล์ เผยแพร่งานวิจัยการละเมิดสิทธิแรงงาน ส่งผลให้ถูกโรงงานผลไม้กระป๋องฟ้องคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลายคดี
  • กองทัพเรือฟ้องผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ที่รายงานข่าวการค้ามนุษย์กรณีโรฮิงญา
  • พบการข่มขู่คุกคามนอกกฎหมาย อาทิ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแสดงความเห็นวิจารณ์การเมืองอย่างต่อเนื่อง ถูกกลุ่มมือปืนยิงถล่มเข้าไปในบ้านพัก
  • หลังรัฐประหาร คนไทยแสดงออกทางสัญลักษณ์ ทั้ง ชูสามนิ้วฮังเกอร์เกม ชวนกันกินแซนด์วิช ร่วมกันยืนอ่านหนังสือในที่สาธารณะ โดยสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญ
  • หลังรัฐประหาร วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้บริหารไทยพีบีเอส ฝืนคำสั่งคณะรัฐประหารที่ให้สถานีโทรทัศน์ยุติการออกอากาศโดยนำรายการเผยแพร่ทาง YouTube ส่งผลให้ถูกทหารคุมตัวหลายชั่วโมง
  • หลังรัฐประหาร จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.กระทรวงศึกษาปฏิเสธรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร ส่งผลให้ถูกจับในการแถลงข่าว และถูกตั้งข้อหาละเมิดคสช.และกระทำผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะโพสต์ข้อความต้านรัฐประหารบนเฟซบุ๊ก
  • หลังรัฐประหาร เฟซบุ๊กเข้าไม่ได้ราว 40 นาที ปลัดกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ว่าคสช.สั่งปิด ก่อนแก้ข่าวภายหลังว่า นักข่าวเข้าใจผิด ก่อนโดนเด้งจากตำแหน่ง
  • หลังรัฐประหาร คสช.เข้า “จับกุม สอดส่อง” การสื่อสารของประชาชน และกำหนดให้การวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหาร หรือการกระทำใดๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ต้องขึ้น “ศาลทหาร”
  • กระบวนการยุติธรรมไทยโน้มน้าวให้จำเลยเลือกที่จะไม่สู้คดี เพราะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือในการพิสูจน์พยานหลักฐาน ตรงกันข้าม หากรับสารภาพจะทำให้คดีจบเร็วและได้ลดโทษ

สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหาร

รายงานระบุว่า ภายหลังการประกาศยึดอำนาจและทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศให้รัฐสภาพ้นสภาพ เข้ายึดอำนาจพร้อมประกาศว่า คณะรัฐประหารจะบริหารงานประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี 5 เดือน ก่อนจะจัดให้มีเลือกตั้ง

ภายใต้สภาวะการปกครองของคณะทหาร มีการออกประกาศและคำสั่งที่ห้ามการเผยแพร่สื่อ ระงับการเข้าถึงสื่อ จับกุมตัวบุคคล ล่วงล้ำในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยคณะรัฐประหารให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องควบคุมเสรีภาพการแสดงออกเพราะสภาวะบ้านเมืองปัจจุบันมีความ “ไม่ปกติ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้นโยบาย “คืนความสุขให้คนไทย”

รายงานของฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งครอบคลุมสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นระบุว่า ดูผิวเผินแล้วเหมือนว่าการปิดกั้นสื่อรัฐบาลไทยจะลดน้อยลง ในปี 2556 พบหมายศาลให้บล็อคเว็บไซต์จำนวน 5,369 ยูอาร์แอล ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งมีราวสองหมื่นยูอาร์แอล แต่คำสั่งศาลในระยะหลังมีเนื้อหาที่ต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ — คือศาลจะระบุว่า ภายหลังหากมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์และ/หรือข้อความในลักษณะเดียวกันซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อีกไม่ว่าจะใน URL ที่ระบุในคำร้องหรือ URL อื่น ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ โดยฟรีดอมเฮาส์เห็นว่าคำสั่งลักษณะนี้จะทำให้ยากต่อการติดตามการทำงานด้านเซ็นเซอร์ของรัฐบาล ซึ่งไม่โปร่งใส

สำหรับนักข่าว นักเคลื่อนไหว และผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทกษัตริย์ผ่านการสื่อสารออนไลน์ หนึ่งในคดีที่ฟรีดอมเฮาส์เน้นถึง คือ กรณีผู้ใช้นามแฝงว่า เคนจิ ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 13 ปีฐาน “พยายาม” หมิ่นประมาทกษัตริย์เพราะมีเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ฯ อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แม้ข้อความเหล่านั้นจะไม่ได้รับการเผยแพร่ก็ตาม ทั้งนี้ ข้อหา “พยายามหมิ่น” ไม่ได้ระบุเป็นฐานความผิดในกฎหมายไทยมาก่อน

ในบรรดาประเทศในอาเซียนที่ถูกจัดระดับ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่อยู่ในกลุ่ม “เสรี” ส่วนสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และพม่า อยู่ในกลุ่ม “กึ่งเสรี” และในกลุ่ม “ไม่เสรี” มีไทยอยู่ร่วมกับเวียดนาม

ที่มาของข้อมูลและวิธีวิจัย

รายงานสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตประจำปี 2556-2557 จัดทำโดยองค์กรฟรีดอมเฮาส์ เผยแพร่ต่อสาธารณะในการประชุมประจำปีของกูเกิลเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ณ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา

ในการจัดทำรายงานของแต่ละประเทศ ฟรีดอมเฮาส์ทำงานกับนักวิจัยในประเทศนั้นๆ ก่อนที่ร่างของรายงานจะถูกอ่าน ประเมิน และปรับคะแนนร่วมกันโดยนักวิจัยจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน สำหรับผู้เขียนรายงานของประเทศไทยในปีนี้ประสงค์จะไม่ออกชื่อ

คะแนนการละเมิดเสรีภาพเริ่มตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 100 คะแนน คะแนนมากหมายถึงมีเสรีภาพน้อย และแบ่งระดับเสรีภาพออกเป็น 3 ระดับคือ “เสรี” (Free, 0-30 คะแนน) “ไม่เสรี” (Partly Free, 31-60 คะแนน) และ “ไม่เสรี” (Not Free, 61-100 คะแนน)

อ่านรายงาน Freedom on the Net 2014 ฉบับเต็มได้ที่ https://freedomhouse.org/report/freedom-net/freedom-net-2014

และอ่านรายงานในส่วนของประเทศไทยได้ที่ https://freedomhouse.org/report/freedom-net/2014/thailand

Tags: , , ,
%d bloggers like this: