2014.01.21 22:37
ลีลา สัตยมาศ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ ได้มีการสัมมนาหัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกและอนาคตของเศรษฐกิจฐานความรู้: ความหวังของประเทศไทย” (Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) and the future of the Knowledge Economy: Prospects for Thailand) ซึ่งจัดโดยสมาคมอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (Internet Society) โดยมี ซูซาน ชาลเมอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและคณะทำงานเรื่อง TPP จาก InternetNZ ซึ่งเป็นองค์กรดูแลชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ตของนิวซีแลนด์ร่วมแลกเปลี่ยนถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระบบทรัพย์สินทางปัญญา และข้อดีข้อเสียที่ประเทศไทยอาจได้รับจากการเข้าร่วมเป็นภาคีในความร่วมมือดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของนิวซีแลนด์
ชาลเมอร์สกล่าวว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นภาคี TPP จะทำให้ไทยต้องปรับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของให้เข้ากับกฎหมายของสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งมีข้อดีเช่น จะทำให้มีความคุ้มครองกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า “safe harbor” หรือการคุ้มครองผู้ให้บริการจากความรับผิดในกรณีมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยผู้ใช้บริการ หากผู้ให้บริการลบเนื้อหาที่ถูกละเมิดนั้นออกภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหลังได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหลักความคุ้มครองดังกล่าว
แต่การเข้าร่วม TPP ก็มีข้อเสียเช่นกัน เนื่องจากบทที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้รับอิทธิพลมาจากจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา คือ Digital Millennium Copyright Act (DMCA) ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1998 กฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาไม่ยืดหยุ่นและออกจะล้าสมัยแล้ว อาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในสหรัฐเองก็ยังเป็นปัญหา
สำเนาชั่วคราว ปัญหาใหญ่สำหรับยุคดิจิทัล
ตัวอย่างหนึ่งที่ DMCA ค่อนข้างล้าสมัยคือ เรื่องการจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวหรือสำเนาชั่วคราว (temporary copy, buffer, cache) ใน DMCA นั้น ความคุ้มครอง safe harbor ครอบคลุมแค่สี่กรณีคือ การติดต่อสื่อการ การจัดเก็บข้อมูลระบบ ระบบการจัดเก็บข้อมูล และเครื่องมือระบุตำแหน่งข้อมูล ปัญหาเกิดขึ้นว่าจะตีความการจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปในระบบเครือข่ายอย่างไร ถือเป็นการละเมิดหรือไม่ ชาลเมอร์สยกตัวอย่างคดีการ์ตูนเน็ตเวิร์ค (Cartoon Network, LP v. CSC Holdings, Inc., 536 F.3d 121 (2d Cir. 2008)) และคดีเอ็มเอไอ (MAI Systems Corp. v. Peak Computer, Inc., 991 F.2d 511 (9th Cir. 1993)) มาประกอบ ทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงทางคดีเหมือนกันคือเป็นการเก็บข้อมูลชั่วคราว ซึ่งคำพิพากษาของศาลสหรัฐก็ยังไม่แน่นอนว่าการจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวที่สั้นเพียงไม่กี่วินาทีนั้นถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เพราะในสองคดีที่ยกตัวอย่างก็มีคำตัดสินที่ออกมาแตกต่างกัน (ในสหรัฐอเมริกา คำตัดสินของศาลจะถูกใช้เป็นกฎหมายต่อไป)
ในประเด็นการทำสำเนาชั่วคราวนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้สอบถามกับผู้บริหารโทรทัศน์เคเบิลของไทยรายหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ทราบถึงประเด็นกฎหมายและความตกลงดังกล่าว ก็ได้แสดงความเป็นห่วงว่า อาจกระทบกับบริการตั้งโปรแกรมเพื่อดูย้อนหลัง หรือ “time shifting” ซึ่งเป็นการบันทึกรายการโทรทัศน์เอาไว้ในกล่องรับชั่วคราว เพื่อให้ผู้ชมสามารถดูรายการย้อนหลังได้ โดยการกระทำดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายได้ ผู้บริหารคนดังกล่าวบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและสมาคมผู้ประกอบการเคเบิลต่อไป ว่าควรมีท่าทีอย่างไร
ขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ห้ามนำเข้าซ้อน เสี่ยงผูกขาดการค้า
นอกจากปัญหาเทคนิคทางกฎหมายแล้ว การเข้าร่วม TPP อาจทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เช่นมาตราที่ว่าด้วยการนำเข้าซ้อน (parallel import) ระบุว่า เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิในการขอให้ประเทศสมาชิกห้ามนำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์อย่างเดียวกันจากประเทศอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาหนังสือ สื่อการสอน ภาพยนตร์ เพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และงานอันมีลิขสิทธิ์อื่นมีราคาแพงขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยไทยที่ต้องการสั่งซื้อหนังสือเรียนชื่อเรื่องหนึ่ง จำเป็นต้องซื้อหนังสือดังกล่าวจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น มหาวิทยาลัยไม่สามารถซื้อหนังสือชื่อเรื่องเดียวกันจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นที่อาจมีราคาถูกกว่าได้ แม้จะเป็นสินค้าถูกต้องตามลิขสิทธิ์เหมือนกัน เนื่องจากจะเป็นการละเมิดข้อห้ามเรื่องการนำเข้าซ้อน
นอกจากนี้แล้ว ไทยยังต้องอยู่ภายใต้ความตกลงทริปส์พลัส (TRIPS+) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่จะขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปีหลังการเสียชีวิตของผู้เขียนออกไปเป็น 70 ปีหลังการเสียชีวิตสำหรับเจ้าของงานที่เป็นบุคคลธรรมดา และอาจยาวนานถึง 95 ปีหลังการตีพิมพ์หรือยาวนานถึง 120 ปีหลังการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับเจ้าของผลงานที่เป็นนิติบุคคล
การขยายเวลาคุ้มครองและกฎระเบียบที่อาจมองว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดมากขึ้นนี้ ถือเป็นข้อน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้นำเข้าสื่อมากกว่าการเป็นผู้ส่งออก
บทเรียนจากนิวซีแลนด์เตือน ไทยอาจเสียความสามารถในการแข่งขัน
ชาลเมอร์สยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้าร่วม TPP ของนิวซีแลนด์อีกด้วย โดยกล่าวว่านิวซีแลนด์เป็นสังคมซึ่งเปิดกว้างให้กับการสร้างความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวว่าจะละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือละเมิดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ง่ายๆ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานจำนวนมาก
การเข้าร่วม TPP ทำให้นิวซีแลนด์มีกฎหมายที่เคร่งครัดมากขึ้น ซึ่งการคุ้มครองเจ้าของงานนี้ ถือเป็นข้อดี แต่ก็เพียงในระยะสั้นๆ เพราะมันอาจตัดโอกาสในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันและชลอการพัฒนาในระยะยาวของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในนิวซีแลนด์
แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้มีเพียงข้อเสีย ซูซาน ชาลเมอร์ส ให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า ผลดีต่อประเทศไทยที่จะมีอยู่บ้างคงเป็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะเป็นระบบระเบียบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังมีมาตรการรับประกันการเข้าถึงความรู้เหนือพรมแดน ซึ่งจะเปิดให้ประเทศสมาชิกเข้าถึงความรู้ในรูปแบบดิจิทัล เช่น ชั้นเรียนออนไลน์ บทความวิชาการ ฯลฯ โดยไม่มีอุปสรรคด้านพรมแดน
เธอได้ตอบคำถามสุดท้ายว่าประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือไม่หากไม่เข้าร่วม TPP เมื่อประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยตัดสินใจเข้าร่วมเกือบหมด ชาลเมอร์สตอบว่า เธอไม่อาจฟันธงได้ เพราะเธอเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ แต่โดยทัศนะส่วนตัวแล้ว เธอไม่เห็นว่าการเข้าร่วม TPP เป็นเรื่องจำเป็น สำหรับเธอแล้ว ลำพังการสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการสร้างสรรค์ การมีนโยบายอินเทอร์เน็ตและนโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ดี ก็เป็นกลไกที่เพียงพอแล้วต่อการสร้างสรรค์ในประเทศและการแข่งขันในระดับสากล
อะไรคือ TPP?
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) หรือ ทีพีพี (TPP) เป็นความพยายามในการสร้างความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี ปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อสิงหาคม 2013) มี 12 ชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลดน์ เปรู สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยประเทศไทยกำลังพิจารณาเข้าร่วม
แม้ TPP จะครอบคลุมในหลายเรื่อง แต่เรื่องหลักที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและกลไกอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสหรัฐอเมริกา และถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจมากเกินไป ทั้งนี้การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองลิขสิทธิ์เนื้อหา อาจกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงความรู้ของประชาชนในประเทศสมาชิก รวมถึงเป็นการตัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย
นอกจากนี้ TPP ยังมีปัญหาทางเทคนิคอื่นอีกมาก เช่น ความไม่โปร่งใสของการเจรจา การไม่เปิดเผยเอกสารที่ใช้ในการเจรจา รวมถึงการที่ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมภายหลังจะไม่สามารถขอแก้ไขเนื้อหาของความตกลงส่วนที่ได้ตกลงไปแล้วได้ และการมี “ค่าผ่านประตู” หรือข้อแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการ ว่าประเทศที่กำลังจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกต้องแก้ไขกฎหมายบางอย่างภายในประเทศก่อนจึงจะสามารถถูกรับเป็นสมาชิกได้ เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังจะเจรจาเข้าเป็นสมาชิก TPP โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TPP ได้ที่เว็บไซต์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอทช์) www.ftawatch.org สำหรับประเด็นผลกระทบจาก TPP ต่อผู้บริโภคและพลเมืองในยุคดิจิทัล องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumer International) และมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation) มีสรุปไว้ที่ a2knetwork.org/tpp และ www.eff.org/issues/tpp และสามารถติดตามเอกสารล่าสุดในการเจรจา ซึ่งหลุดออกมาจากประเทศสมาชิกต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ tppinfo.org
Tags: Asia Internet Symposium, copyright, free trade agreements, intellectual property, Internet Society, New Zealand, Susan Chalmers, Thailand, Trans-Pacific Partnership