ความเป็นส่วนตัว: เรื่องร้อนในเวทีอินเทอร์เน็ตภิบาลครั้งที่ 8 #IGF2013

2013.10.28 18:01

สำนวน “ Elephant in the room”  ที่อาจแปลไทยได้ว่า “มีช้างทั้งตัวอยู่ในห้อง แต่เราทำเป็นมองไม่เห็น” เป็นวลียอดนิยมที่ได้ยินตลอดที่ประชุมว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล  (Internet Governance Forum: IGF) ครั้งที่ 8  ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องมาจากผลของการเปิดโปงเอกสารของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐอเมริกาโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อผู้คนทั่วโลก แต่ในงานประชุมด้านอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งกลับไม่มีห้องสัมมนาที่สนทนาเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้วันก่อนเริ่มงาน (Pre-IGF) ซึ่งเป็นงานสัมมนาในวงจำกัดกว่า มีหัวข้องานที่ชื่อ Big Brother became reality – what is the right balance between security and freedom in the digital world? ซึ่งในกำหนดการระบุว่าสมาชิกสภาเยอรมนีเป็นผู้จัดก็ยกเลิกกะทันหันโดยไม่แจ้งเหตุผล

การประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาลก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เลขาธิการสหประชาติได้บรรลุพันธกิจในการปฏิบัติตามมติในการประชุมสุดยอดว่าด้วยสังคมสารสนเทศ (World Summit on the Information Society: WSIS) ที่จัดขึ้นในปีค.ศ. 2005 ที่เมืองตูนิส โดยการเปิดเวทีความร่วมมือที่ประกอบไปด้วยหลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องในเพื่อกำหนดนโยบายในการดูแลจัดการอินเทอร์เน็ต แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ให้คำแนะนำองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับประเด็นเน็ต โดยมีการวางกรอบของการดำเนินการภายใต้ “วาระตูนิส” (Tunis Agenda)

IGF มีการจัดงานประชุมใหญ่ขึ้นในทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา โดยการประชุมแต่ละวันจะแยกออกไปเป็นหลายห้องและหลายหัวข้อพร้อมๆกัน โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรอินเทอร์เน็ต มาตรฐานการรับส่งข้อมูล ความมั่นคง ความเป็นส่วนตัว อินเทอร์เน็ตจากแง่มุมของสิทธิมนุษยชน นวัตกรรม และเศรษฐกิจ

ในปี 2013 นี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-25 ตุลาคม หัวข้อของการประชุมคือ “Building Bridges – Enhancing Multi-stakeholder Cooperation for Growth and Sustainable Development” และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอกชน ตัวแทนรัฐบาล ประชาสังคม จากทั่วโลกกว่าพันคน เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลของไทยเลย

ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและการสอดส่องเป็นประเด็นถูกพูดถึงมากที่สุดในงานนี้ เบื้องต้นมีการประชุมวงย่อยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความเป็นส่วนตัวโดยตรง 12 ห้อง  บทความนี้จะนำเสนอส่วนหนึ่งของความเป็นส่วนตัวที่มีการพูดถึงในเวทีนี้

ความเป็นส่วนตัวในเอเชีย

หัวข้อที่ชัดเจนและกล่าวถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวมากที่สุดคือหัวข้อ “WS18 – ความเป็นส่วนตัวในเอเชีย: ต่อยอดจากหลักการความเป็นส่วนตัวของเอเปค” (WS18 – Privacy in Asia: Building on the APEC Privacy Principles) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย Hong Xue ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายอินเทอร์เน็ตและกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง (Beijing Normal University) นำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศจีนว่า ไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวโดยตรง แต่มีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลจีนเพิ่งออกแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้น (The Rules Regarding the Protection of Personal Information of Telecommunications and Internet Users)

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวสำคัญคือการขยายตัวของธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น Alibaba.com เว็บไซต์ขายส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดเทียบเท่ากับ Amazon.com และ eBay

ถึงกระนั้น รัฐบาลจีนได้ออกกฏหมายบังคับให้ใช้ชื่อจริง ทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือและบริการออนไลน์ต่างๆ เช่น ไมโครบล็อกที่ชื่อ Weibo ซึ่งเป็นส่วนผสมของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ผู้สมัครก็ต้องใช้ชื่อจริงในการสมัคร

ผู้อภิปรายในหัวข้อ No. 18 - Privacy in Asia: Building on the APEC Privacy Principles

ผู้อภิปรายในหัวข้อ No. 18 – Privacy in Asia: Building on the APEC Privacy Principles

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือได้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มงวดมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย กำลังอยู่ในระหว่างการปรับแก้พระราชบัญญัติที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อปี 2003 เพื่อให้เข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ กฏหมายของญี่ปุ่นใช้แนวทางความเป็นส่วนตัวขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Privacy Principles) ซึ่งเป็นเรื่องที่คนฟังให้ความสนใจกันมากว่า ทำไมญี่ปุ่นเลือกแนวทางของ OECD เป็นต้นแบบในการออกกฎหมาย

ขณะที่ในสายตาของผู้ประกอบการมองว่าท่ามกลางภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง หากภูมิภาคเอเชียต้องการรักษาพื้นที่ทางเศรษฐกิจของตนเองต่อไปควรปรับตัวให้ได้โดยเฉพาะการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล Jeffrey Z Yan ผู้อำนวยการด้านนโยบายเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ บอกว่าทุกวันนี้ภูมิทัศน์กำลังเปลี่ยนไปแล้ว โลกกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobility) ระบบคอมพิวเตอร์แบบกลุ่มเมฆหรือคลาวด์ (Cloud) และข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนและเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ปริมาณที่เพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งของปริมาณข้อมูลที่ไหลเวียนมาจากโซเชียล มีเดีย และอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ จนอาจจะพูดได้ว่า “ข้อมูลคือหน่วยเงินใหม่”

ขณะเดียวกันผู้ใช้ทั่วไปยังสร้างข้อมูลส่วนตัวในอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรกับมิติด้านความเป็นส่วนตัว ภูมิภาคเอเชียซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ควรจะมีโมเดลใหม่ต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะการสร้างความไว้วางใจต่อการปฏิบัติต่อข้อมูล (Trustworthy data Practices Component) ใหม่ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ เทคโนโลยี นโยบาย ผู้กำกับดูแล และธุรกิจ

ความมั่นคงไซเบอร์: โยนอคติทิ้งไป

เวลาที่มีการพูดถึงกันเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ (cyber security) คนมักคิดถึงในมิติการทหาร สงครามหรือการก่อการร้าย เห็นได้จากวิธีนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในเรื่องนี้

ในหัวข้อ “WS106 – ความมั่นคงไซเบอร์: โยนอคติทิ้งไป” (WS106 – Cybersecurity: throwing out preconceptions) John Selby นักวิชาการจาก Macquarie University บอกว่ามีความเข้าใจผิดอยู่ 2 แบบที่พบเห็นโดยทั่วไปแล้ว เมื่อผู้คนได้ยินคำนี้ อย่างแรกคือ มองจากกรอบคิดทางทหารและสงคราม อย่างที่สองคือ คิดว่ามีเครื่องมือวิเศษที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทันทีเหมือนกับเวลาที่เห็นในภาพยนตร์ ในทางวิชาการยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าความมั่นคงปลอดภัยคืออะไร และไซเบอร์คืออะไร

Laurent Bernat ตัวแทนจาก OECD เสนอให้มองคำว่าความปลอดภัยว่าน่าจะเป็นเป้าหมายที่เราต้องการไปถึง สิ่งที่เราควรพิจารณาคือ ความเสี่ยง เรามักคิดว่าความปลอดภัยคือสิ่งที่ดีเสมอ และเราต้องการความปลอดภัยไม่อย่างนั้นเราไม่ไว้ใจกัน แต่ถ้าเรามีความปลอดภัยมากเกินไปเ มันก็จะมีปัญหา ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นส่วนตัว คนถูกสอดส่องเพื่อความปลอดภัย เราไม่เคยมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ มันต้องมีความเสี่ยงบ้าง

เราจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อเราเห็นเส้นที่เป็นขอบเขตของพื้นที่ปลอดภัยอยู่ เพราะถ้าไม่มีเส้นที่กั้นไว้ เราจะรู้สึกว่าพื้นที่โล่งเปิดกว้างเป็นความเสี่ยง แต่การสร้างขอบเขตนี้ส่งผลต่อการไหลเวียนของสิ่งต่างๆ สำหรับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การกั้นเขตนี้เป็นการปิดกั้นการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร เราจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวสมดุลกัน

สิ่งที่มีส่วนอย่างมากต่อการสร้างความสมดุลของทั้งสองอย่างนี้คือ ความโปร่งใส เป็นข้อเสนอของ Alan Marcus หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม World Economic Forum เขากล่าวว่า คนมักจะคิดว่าความปลอดภัย หรือ ความเป็นส่วนตัว ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือก หรือแลกเปลี่ยนกันระหว่างฟังก์ชันกับความเสี่ยง ความโปร่งใสเป็นกุญแจสำคัญของความสมดุลระหว่างสองอย่างนี้ เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญคือ เวลา เขายกตัวอย่างว่า การล็อกประตูบ้านเป็นเวลานานกับล็อกนานเพื่อป้องกันการจู่โจมให้ผลและสะท้อนเหตุผลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เขายังไม่เห็นด้วยกับการที่พ่อแม่พยายามปกป้องเด็กๆ ให้ปลอดภัยตลอดเวลา เพราะในความเป็นจริงเด็กๆ เรียนรู้ความเสี่ยงในอินเทอร์เน็ตได้จากประสบการณ์ที่เขาเจอทีละน้อย

ข้อเสนอของ Bernat คือ ต้องมีการร่วมมือกันทั้งระดับชาติกับนานาชาติ เอกชนกับรัฐ ประชาสังคมกับส่วนต่างๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งความคิดเห็นและความเข้าใจเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกันและสร้างความโปร่งใส

“Big Data” ในงานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว

ปัจจุบันองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาหันมาให้ความสำคัญกับคลังข้อมูลขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก พวกเขารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางสาธารณสุข ภัยพิบัติ หรือสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลต่อวิธีการที่องค์กรเหล่านี้จัดการกับข้อมูลซึ่งโดยมากแล้วเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถูกสะท้อนและถกเถียงในหัวข้อ “WS203 – บิ๊กดาต้า: ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองความเป็นส่วนตัว” (WS203 – Big data: promoting development and safeguarding privacy)

ผู้อภิปรายในหัวข้อ No. 203 -- Big data: promoting development and safeguarding privacy

ผู้อภิปรายในหัวข้อ No. 203 — Big data: promoting development and safeguarding privacy

ตัวแทนจากองค์การสหประชาติ Robert Kirk Patrick ผู้อำนวยการ UN Global Pulse หน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่ใช้ข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมของโลกกล่าววว่า Big Data มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาของการพัฒนาที่มีอยู่ในโลกนี้ได้ เราใช้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ความเจ็บป่วย ภัยพิบัติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการวิเคราะห์ข้อมูลของการแพร่ระบาดไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกี่ ของกูเกิล เมื่อ ค.ศ. 2007 ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราเห็นปัญหาความยากจน ปัญหาสาธารณสุข เช่น การแพร่ระบาดของโรคมาเลเรีย แต่เราก็คิดหาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะใช้ข้อมูลเหล่านั้นพร้อมกับปกป้องความเป็นส่วนตัวไปด้วย

กระนั้นก็ดี มีข้อกังวลจาก Alexandrine Pirlot de Corbion จาก Privacy International ซึ่งทำงานส่งเสริมการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว เธอเห็นด้วยว่า Big Data มีประโยชน์ โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายด้าน ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา แต่เราก็ยังมีความกังวลเรื่องการใช้ข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเรามักจะละเลยเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศกำลังพัฒนา  นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำงานพัฒนาที่มาจากอินเทอร์เน็ตสามารถใช้แก้ปัญหาหรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้หรือไม่  เพราะการรวบรวมข้อมูลมาจากผู้ใช้ที่อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ และคนที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วย เช่น ในทวีปแอฟริกามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 10% ซึ่งหมายความว่า เราใช้ข้อมูลแค่ 10% เพื่อพัฒนาหรือไม่ นอกจากนี้บริษัทเอกชนต้องมีกฎเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อพัฒนาความยุติธรรม แก้ไขปัญหาสังคมก็ตาม

เยาวชนกับความเป็นส่วนตัว

งาน IGF มีหัวข้อสัมมนาที่จัดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนที่เรียกว่า Youth IGF หลายหัวข้อ หนึ่งในนั้นคือ “WS308 – ความเป็นส่วนตัวและนวัตกรรม: คิดใหม่กับความเป็นส่วนตัวในฐานะพื้นที่แห่งโอกาส” (WS308 – Privacy and Innovation: Rethinking privacy as an area of opportunity) มีผู้อภิปรายที่เป็นตัวแทนเยาวชนจากหลายภาคส่วนซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากกูเกิล ไมโครซอฟท์ และมีนักวิชาการด้านสื่อมวลชนกับเด็กเข้าร่วมด้วย

Vivian Lo Chuen Yee จาก Netmission.Asia ฮ่องกง บอกว่า สำหรับเธอแล้วความเป็นส่วนตัวคือการมีทางเลือกในการส่งต่อข้อมูลส่วนตัวของเรา ว่าเราอยากจะส่งต่อหรือไม่ ทุกวันนี้เราไม่รู้เลยว่าใครที่เราเชื่อใจได้หรือไม่ เราควรมีทางเลือก เช่น ถ้าเป็นการโฆษณา เราควรมีตัวเลือกว่าเราต้องการดูมันหรือไม่

ขณะที่ตัวแทนเยาวชนจากโครงการ Youth IGF ส่วนหนึ่งคิดว่า พวกเขาต้องการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและควบคุมมันด้วยตัวเอง

Gitte Stald จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ซึ่งทำวิจัยเรื่องความเป็นส่วนตัวกับเยาวชนมานานแสดงความคิดเห็นว่า ความคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันมากจากอายุ ประเทศ สิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน และบริบทที่พวกเขาอยู่ เช่น ในที่นี้เราอาจจะบอกได้ว่า คนยุโรปและจากฮ่องกง และส่วนอื่นๆ ของโลกมีภาพเรื่องความเป็นส่วนตัวแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่กลับคิดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวแตกต่างออกไป Claus Hjorth จาก The Media Council for Children and Young People สถาบันภาพยนตร์เดนมาร์ก บอกว่า จากมุมมองของคนเป็นพ่อแม่ พวกเขาเชื่อใจรัฐในการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนหนุ่มสาว เด็กกับสื่อ โดยการใช้วิธีการแบบเดียวกับการควบคุมการดูภาพยนตร์ แต่นี่เป็นสื่อแบบใหม่ บทบาทของรัฐบาลจะต้องเปลี่ยนไป อาจจะบอกได้ว่า พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ไม่รู้ว่าการถูกติดตามจากหน่วยงานรัฐเป็นสิ่งที่ไม่ดี

ด้านตัวแทนจากธุรกิจไอที Jacqueline Beauchere ตัวแทนบริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวว่าขณะที่ความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญมากในอินเทอร์เน็ต แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกซึ่งยากและใช้เวลามากจนกว่าคนจะรู้สึกว่าปลอดภัย และไว้วางใจบริการของเรา ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ต้องสื่อสารกันเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าเราจะใช้ข้อมูลต่างๆ อย่างไร

ส่วนกูเกิลซึ่งได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในการละเมิดความเป็นส่วนตัวอยู่บ่อยครั้ง Max Senges ตัวแทนจากกูเกิลอธิบายว่า กูเกิลคุ้มครองความเป็นส่วนตัวมากกว่าบริการอื่นๆ การที่กูเกิลเป็นแหล่งรวมข้อมูลและถูกมองว่าทำลายความเป็นส่วนตัว เป็นเพราะกูเกิลต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ของเรา กูเกิลมีคณะทำงานที่กำลังหาวิธีจัดการกับความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวอยู่ เช่น ตอนนี้กูเกิลก็กำลังทดสอบเรื่องนี้กับประเทศเยอรมนี ก่อนหน้านี้ที่กูเกิลอยู่ในกระบวนการทำกูเกิลสตรีทวิว เราได้รับจดหมายมากมายจากคนเยอรมันซึ่งส่วนมากแล้วบอกว่าให้เอากล้องออกไปจากบ้านของฉัน

คุ้มครองความเป็นส่วนตัวจากนอกประเทศ

ความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีความหมายตายตัว และขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ตรงไหนในโลกนี้ ขณะนี้ความสำคัญของปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราจะสร้างความไว้วางใจกันได้อย่างไร หลังจากการเปิดโปงว่าหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาลอบสอดแนมการสื่อสาร

ในแง่หนึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้คนทั่วโลกรับรู้ว่ามีการสอดส่องจากรัฐบาลจริงและเริ่มตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวมากขึ้นในสายตาของ Alexandrine จาก Privacy International อย่างไรก็ตามเราต้องจับตาดูรัฐบาลว่ามีความโปร่งใสมากเพียงใดต่อเรื่องนี้ และนี่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและพลเมืองของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องระดับรัฐกับรัฐด้วย เพราะมีรัฐบาลอีกหลายประเทศไม่รู้ว่าตนเองถูกสหรัฐอเมริกาสอดแนมอยู่

โปแลนด์เป็นตัวอย่างหนึ่งของปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์นี้ Malgorzata Steiner จากกระทรวงมหาดไทยและกิจการดิจิทัล (Ministry of Administration and Digital Affairs) ของโปแลนด์ บอกว่าการเปิดเผยของสโนว์เดนทำให้เอ็นจีโอในโปแลนด์ตื่นตัวเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พร้อมกับพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอดส่องให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีที่พวกเธอเลือกใช้คือ ไม่ไปปะทะความหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยตรง เพราะไม่อยากให้ตำรวจรู้สึกว่าพวกเขาต้องทำงานยากขึ้น แต่มุ่งไปที่สร้างความตื่นตัวในหมู่คนทั่วไปแทนว่าเราต้องการกฎหมายป้องกันการสอดส่องที่ชัดเจน

อินเดียเป็นอีกแห่งหนึ่งที่แรงกดดันจากประเทศอื่นทำให้รัฐบาลอินเดียปรับเปลี่ยนกฎหมายในประเทศ การที่สหภาพยุโรปออกกฎหมายแม่บทเรื่องความเป็นส่วนตัวและการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ (EU Directive on Privacy and Electronic Communications) ทำให้พลเมืองอินเดียได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ยุโรปเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ของอินเดีย รัฐบาลอินเดียจึงยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎนี้

มองไม่เห็นไม่เท่ากับไม่มี

นอกจากหัวข้อในห้องประชุมย่อยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังมีอีกหลายเวทีในงานนี้ที่การสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ เป็นประเด็นร้อน มีคำถามถึงตัวแทนจากรัฐบาลสหรัฐมากมายว่าจะสร้างความไว้วางใจระหว่างกันต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อชาติที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากที่สุดกลับละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชาติอื่นๆ และจากกรณีนี้อะไรคือความแตกต่างของชาติประชาธิปไตยและชาติที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มีการโต้ตอบจากตัวแทนรัฐบาลจีนต่อการที่สหรัฐฯ อ้างว่ารัฐบาลจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าตนเอง ขณะเดียวกันมีในเวทีเปิดอภิปรายทั่วไป วันสุดท้ายของงานประชุมนี้ มีการถกเถียงในหัวข้อการสอดแนมซึ่งมีตัวแทนจากหลายประเทศและหลายภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น รวมทั้งบราซิลและเยอรมนีซึ่งถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดักฟังโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอหลักการว่าด้วยการสอดส่องจากสวีเดนด้วย

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , , , , ,
%d bloggers like this: