2012.07.01 19:12
บันทึกจากโรงเรียนพ(ล)บค่ำ #3: การต่อต้านเชิงสร้างสรรค์/การต่อต้านเชิงวัฒนธรรม: เวิร์กช็อปเชิงยุทธวิธีสำหรับศิลปินและนักกิจกรรม วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ที่ห้องสมุดเดอะรีดดิ้งรูม สีลม 19 ถ่ายทอดโดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และ เอมิลี ฮอง บันทึกโดย ณัฐเมธี สัยเวช
จินตนาการตัวเองในการเคลื่อนไหว
เวิร์กช็อปเริ่มต้นด้วยกิจกรรมทำความรู้จักผู้เข้าร่วม โดยวิทยากรให้จินตนาการว่า แต่ละคนคิดว่าตัวเองเป็นอะไรในส้มตำไทย โดยตัดกระดาษสีที่แจกให้เป็นรูปส่วนประกอบที่คิดว่าเป็น แล้วเขียนชื่อตัวเอง แนวทางคือ คิดว่าตัวเองมีความสามารถอะไร ทำอะไรได้ และสิ่งนั้นเทียบเคียงได้กับส่วนประกอบไหนในส้มตำไทย
เช่น วิทยากรเอมิลี คิดว่าตัวเองเป็นจาน เพราะในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้อำนวยกระบวนการ (facilitator) จึงมีหน้าที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนสามารถนำทักษะที่ตัวเองมีมาแลกเปลี่ยนและใช้ร่วมกันได้
หลังจากทุกคนเลือกแล้ว เมื่อพิจารณาดูพบว่า หลายคนคิดว่าตัวเองเป็นกุ้งแห้งหรือถั่วลิสง เมื่อถามว่าเพราะเหตุใด คำตอบก็คือ มันเป็นจุดเล็กๆ ที่ไม่สำคัญ มีหรือไม่ก็ได้ วิทยากรเกรียงศักดิ์ สรุปว่า จินตนาการดังกล่าว อาจสะท้อนความคิดว่า ตัวเองไม่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนหรือกลุ่มที่สังกัดอยู่ แต่ก็ช่วยเพิ่มรสชาติ ไม่ให้น่าเบื่อ หลายคนที่ค่อนข้างกระตือรือร้นต่อการเคลื่อนไหวจะคิดว่าตัวเองเป็นพริก ช่วยเพิ่มสีสัน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นฐานของส้มตำ ไม่ค่อยมีใครบอกว่าตัวเองเป็นมะละกอ
ส่วนใหญ่ที่เป็นนักศึกษาในนี้ ที่ยังไม่เห็นบทบาทของตัวเอง มักจะบอกว่าตัวเองเป็นอะไรที่ไม่ได้อยู่ในส้มตำเลย มีคนเป็นขี้ด้วย ผมเป็นขี้ครับ เพราะผมเป็นนักศึกษา ต้องคอยรองรับทุกอย่าง นักศึกษาอีกคนบอกว่าตัวเองเป็นกล้วย อีกคนเป็นเบียร์ คือเป็นของที่ไม่ได้อยู่ในส้มตำ อาจจะสะท้อนว่าเขาไม่มีพื้นที่ที่จะอยู่ในการเคลื่อนไหว บางคนที่เป็นอาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นช้อนส้อม เพราะมีหน้าที่คอยป้อนหรือส่งเสริมการเคลื่อนไหว ที่แปลกหน่อยคือมีคนบอกว่าตัวเองเป็นปลาร้า ซึ่งปรกติส้มตำไทยจะไม่มี แต่ถ้าอยากใส่ก็ได้ ในนี้เขียนว่า “ถ้าคนรักก็รักเลย-คนเกลียดก็เกลียดเลย”
อะไรคือการต่อต้านทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์?
ความหมายอย่างกว้างและง่ายที่สุดของ การต่อต้านทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ (Creative Cultural Resistance) คือ การควบคุมหรือใช้อำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมีกรอบแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญสามประการคือ 1) Direct Action 2) ศิลปะ และ 3) วัฒนธรรม
1. Direct Action
direct action หรือตามสำนวนแปลของภัควดี วีระภาสพงษ์ ว่า “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” ในภาษาอังกฤษเองก็ยังไม่มีความหมายที่ตกลงกันชัดเจน ความหมายที่ถูกให้ไว้ตามแนวทางของนักอนาธิปัตย์นิยมอย่าง David Graeber ที่ถือว่าใช้ได้ดีพอสมควรก็คือ “กิจกรรมรูปแบบหนึ่งซึ่งปฏิเสธการเมือง” ซึ่ง “การเมือง” ที่ว่านี้ก็คือ การเคลื่อนไหวที่ต้องพึ่งพานักการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ direct action จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ปฏิบัติด้วยตัวเราเองโดยไม่ผ่านตัวกลางแบบนั้น
โดยปรกติ เรามักเชื่อว่าถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องไปหาคนที่มีอำนาจ ซึ่งคนที่มีอำนาจนั้นก็มีหลายกลุ่มในสังคม กลุ่มหนึ่งก็คือนักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจจากเราผ่านทางการเมือง กลุ่มอื่นๆ ก็อาจเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เช่น นักธุรกิจ แต่ direct action จะปฏิเสธการไปหากลุ่มเหล่านั้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีอำนาจในตัวเอง เราต้องเพิ่มอำนาจของตัวเองแล้วทำอะไรบางอย่าง
ดังนั้น หัวใจสำคัญของ direct action จึงมี 2 ประการ คือ 1) การทำด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง ไม่ผ่านผู้มีอำนาจ เพราะเชื่อว่าเรามีอำนาจสูงสุด และ 2) ไม่เชื่อในวิธีการโน้มน้าวกลุ่มผู้มีอำนาจต่างๆ และจะไม่ใช้วิธีการที่ต้องไปพึ่งพาตัวกลางทางการเมือง
2. ศิลปะ
ศิลปะมีอำนาจที่สามารถเชิญชวนหรือโน้มน้าวให้คนคิดเรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องไปบอกตรงๆ อย่างอำนาจในทางการเมืองว่าคนต้องคิดอะไร
ตัวอย่างที่สำคัญของการใช้ศิลปะ เช่น การใช้เพลง ดังในกรณีของ Singing Revolution ในเอสโตเนีย หรือการใช้เพลงเพื่อการรวมพลของขบวนการสิทธิพลเมืองในอเมริกาช่วงปี 70 เช่นเพลง We Shall Overcome ที่หลายคนน่าจะรู้จัก
อีกลักษณะก็คือ การใช้งานศิลปะ 2 มิติ เช่น ภาพเขียน ตัวอย่างหนึ่งของความทรงพลังของงานศิลปะอย่างภาพเขียนก็คือ เมื่อปี ค.ศ. 2003 อเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช จะใช้กำลังทหารบุกอิรัก ได้ส่งนายโคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไปยังที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ ยอมรับการนำกำลังทหารเข้าโจมตีอิรัก ซึ่งในระหว่างการแถลงข่าวนั้น มีการนำม่านขนาดใหญ่มาคลุมภาพวาด แกร์นิก้า (Guernica) ที่อยู่ ณ ที่ประชุมสภาฯ เอาไว้ ภาพวาดดังกล่าวเป็นผลงานที่ ปาโบล ปีกัสโซ วาดขึ้นเพื่อนสะท้อนความโหดร้ายรุนแรงของสงครามในเสปน และเป็นภาพวาดที่มีสารต่อต้านสงครามที่ทรงพลังมาก
ปัญหา หรือ ความท้าทาย ที่เกิดขึ้นเมือนำศิลปะมาเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ต่อต้านต่างๆ ก็คือ ศิลปะเป็นสิ่งที่เล่นกับจินตนาการ ศิลปินต้องการพื้นที่ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ออกไปเล่นกับจินตนาการของผู้คน แต่การรณรงค์ในด้านการเมืองจำเป็นต้องมีข้อความที่ชัดเจน ว่ากำลังพูดถึงอะไร จะเปลี่ยนแปลงอะไร และจะทำอย่างไร ดังนั้นความท้าทายของการนำศิลปะมาใช้ในการรณรงค์ต่อต้านเรื่องใดๆ จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้สามารถหาสมดุลระหว่าง พื้นที่ที่เปิดให้จินตนาการทำงาน กับ ความชัดเจนของข้อความที่ต้องการจะสื่อสาร นั่นหมายความว่า จำเป็นที่จะต้องเข้าใจทั้ง ธรรมชาติของศิลปะ และ ธรรมชาติของการรณรงค์
ในทางกลับกัน แม้จะทำให้มีความท้าทาย แต่การใช้ศิลปะก็มีข้อดีคือ สามารถทำให้คนที่เข้ามาพบเห็นสามารถเอาประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปผูกโยงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าการรณรงค์นี้คืออะไร และเรากำลังทำอะไรอยู่ นั่นเป็นจุดแข็งที่ทำให้ควรจะเอาศิลปะเข้ามาใช้ในการรณรงค์ต่างๆ
นี่คือสิ่งที่นักกิจกรรมควรเรียนรู้จากศิลปิน ว่าการออกแบบการรณรงค์ควรจะมีพื้นที่เปิด หรืออิสระส่วนหนึ่ง ให้สาธารณชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยนำความคิดของตัวเองเข้ามาสัมพันธ์กับสิ่งกำลังเกิดขึ้น เพื่อให้การรณรงค์ประสบผล ไม่ใช่แค่ด้วยการชูป้ายประท้วง หรือตะโกนรณรงค์สิ่งที่เราต้องการ
3. วัฒนธรรม
ในส่วนของวัฒนธรรม มีหลักการใหญ่ 2 ข้อ คือ
1. เราต้องรู้จัก อาณาบริเวณทางวัฒนธรรม (Cultural Terrain) ของตัวเอง หรือพูดง่ายๆ คือรู้จักลักษณะทางวัฒนธรรมของตัวเอง อุปมาเราเป็นกองโจร ก็ต้องรู้จักภูมิศาสตร์ภูมิประเทศ เพื่อสามารถใช้สร้างความได้เปรียบในการสู้รบ
คนส่วนใหญ่ที่ทำการรณรงค์มักเป็นคนกลุ่มน้อย ก็จะคุ้นเคยแต่กับวัฒนธรรมกลุ่มน้อยที่ตัวเองสังกัดอยู่ แต่การจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้รณรงค์จำเป็นจะต้องรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ ว่าจะสามารถนำมาสร้างความได้เปรียบให้การรณรงค์ของตัวเองได้อย่างไร
เรื่องแบบนี้สามารถเรียนรู้ได้จากนักการตลาด ที่เอา “ความฝัน” หรือกระทั่ง “ฝันร้ายอันไม่พึงปรารถนา” ของผู้คนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น โฆษณาโรลออนที่มีคุณสมบัติทำให้รักแร้ขาว ที่โฆษณาสื่อออกมาว่า ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ชายทุกคนเพราะเธอมีรักแร้ขาว
2. เมื่อเข้าใจภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของสังคมแล้ว เราก็สามารถหยิบเอา “ค่านิยม” ต่างๆ ที่มีในสังคมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ (narrative insurgency) เป็นการนำเอาเรื่องเล่าเหล่านั้นมาบิดใช้โดยไม่ต้องล้มหรือเปลี่ยนมัน เป็นการตามหาสิ่งทรงพลังที่มีอยู่ในวัฒนธรรม แล้วเลือกเอาส่วนที่เราเห็นด้วย มาใช้จูงใจคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับเรามาแต่ต้น ให้เข้ามาเป็นพันธมิตรกับเรา
เช่น การรณรงค์เรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคนที่รณรงค์เรื่องนี้มักถูกตีตราว่า “ไม่เอาเจ้า” การจะรณรงค์ในเรื่องนี้ก็ต้องหาจุดร่วมคือ มุ่งไปที่คนรักสถาบันฯ แต่ไม่ได้ต่อต้านการรณรงค์นี้ เช่น อาจบอกว่ารักในหลวงพร้อมๆ กับรักเสรีภาพก็ได้ นี่คือลักษณะของการหาจุดกึ่งกลางของสิ่งที่วนเวียนอยู่ในสังคม
ตัวอย่างหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้านสงครามในอเมริกา เป็นการโยงแหวนจากภาพยนตร์เรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) ที่ในภาพยนตร์สื่อความกระหายอำนาจ กระหายสงคราม ผ่านความต้องการครอบครองแหวน เข้ากับการกระทำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งคนที่อยู่ใน “วัฒนธรรมสมัยนิยม” (pop culture) สักหน่อย ดูแล้วก็จะเข้าใจ สามารถเอาประสบการณ์และความเข้าใจที่มีอยู่ไปโยงกับข้อความทางด้านการเมืองได้
จะใช้ศิลปะและวัฒนธรรม สร้างสรรค์การรณรงค์อย่างไร?
หลักพื้นฐานสำคัญ 2 ประการสำหรับการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อช่วยการรณรงค์คือ 1) Dilemma Action และ 2) การก่อความปั่นป่วนทางวัฒนธรรม (Cultural Jamming)
1. Dilemma Action
เราทำกิจกรรมการประท้วงการรณรงค์กันบ่อย แต่มักเป็นกิจกรรมที่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเรามักเน้นข้อความทางการเมืองเป็นหลัก โดยไม่ได้คิดถึงประเด็นอื่น
dilemma action เป็นหลักการที่คิดขึ้นมาโดยคนที่อึดอัด ไม่พอใจที่การรณรงค์ไม่สามารถไปได้ไกลหรือไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ เป็นคำศัพท์ที่ จอร์จ เลกกี้ (George Lakey) คิดขึ้น ความหมายสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือปฏิบัติการที่ทำให้เป้าหมายตกอยู่ในสภาพตัดสินใจลำบาก
เช่น การที่อองซานซูจีประกาศว่าจะเดินทางไปต่างประเทศ หลายคนอาจคิดว่าเป็นการตัดสินใจชั่ววูบหรือเพิ่งตัดสินใจ แต่จริงๆ อองซานซูจีคิดเรื่องนี้มานานแล้ว และการกระทำในครั้งนี้ถือเป็น dilemma action เพราะไม่ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่ยอมให้ไป หรือจะยอมให้ไปแล้วไม่ให้กลับมาอีก หรือจะยอมให้ไปและกลับมาโดยดี ก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่ออองซานซูจีทั้งนั้น กล่าวคือ ถ้าไม่ให้กลับ ก็เป็นการเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยดังเช่นที่ทุกคนกล่าวหา แต่ถ้ายอมให้ไปและกลับมา อองซานซูจีก็สามารถไปรับรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการ และกลับมาทำให้สถานะของตัวเองในแง่ของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสูงขึ้นมาด้วย นี่คือ dilemma action ปฏิบัติการที่ทำให้เป้าหมายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง
อีกตัวอย่างคือ ที่นักเคลื่อนไหวในเซอร์เบียที่ชื่อ อิวาน มาโรวิช (Ivan Marović) ใช้ในการรณรงค์ขับไล่ประธานาธิบดี สโลโบดัน มิโลเชวิช (Slobodan Milošević) เป็นการใช้ dilemma action ที่นำความตลกขบขันมาเป็นประเด็นหลัก โดยนำถังน้ำมันใบใหญ่ตั้งไว้ที่ถนนแล้วเขียนข้อความบนถังว่า “ผู้นำของเราอยากเกษียณแล้วแต่ทำไม่ได้เพราะมีเงินไม่พอ เพราะฉะนั้น ให้ช่วยกันบริจาคโดยหยอดเหรียญเข้าไปในถัง ถ้าไม่มีเหรียญ ก็ให้ตีถังแทน” นโยบายเศรษฐกิจของเซอร์เบียตอนนั้นทำให้คนยากจน จึงไม่มีใครโยนเหรียญและที่จะตีถังแทน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจำนวนมากลงมายังท้องถนนและตีถัง สิ่งที่ตำรวจทำได้ก็คืออุ้มถังขึ้นรถไป ภาพตำรวจอุ้มถังถูกเผยแพร่ไปตามสื่อและทำให้ตำรวจกลายเป็นตัวตลก ถ้าตำรวจไม่มาจับถัง การรณรงค์ก็จะมีต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ปฏิบัติการนี้ทำให้ตำรวจสูญเสียความเชื่อถือในระบบ เพราะตัวเองต้องทำในสิ่งที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควรทำ ดูวิดีโอดังกล่าวได้ที่ Barrel of Laughs https://www.youtube.com/watch?v=vc1CcxHwypE
2. การก่อความปั่นป่วนทางวัฒนธรรม (Cultural Jamming)
Cultural Jamming เป็นสิ่งที่ศิลปินสนใจกันมาก เป็นการนำวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ผู้คนคุ้นเคยกันดี แค่เห็นก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร มาบิดใช้ ทำให้ความหมายกลับกลายเป็นตรงกันข้ามหรือเปลี่ยนแปลงจากที่คุ้นเคยไปในทางอื่น เทคนิคนี้มีเชื่อเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า ดีตูร์คเนอมองต์ (Détournement) เกิดขึ้นจาก กี เดอบอร์ (Guy Debord) นักวิชาการที่เขียนเรื่อง สังคมมหรสพ (La société du spectacle; The Society of the Spectacle)
ตัวอย่างของการสร้างความปั่นป่วนทางวัฒนธรรม เช่น เอาโลโก้ของ โค้ก (Coke) หรือ ไนกี้ (Nike) มาปรับแต่งใหม่ ทำให้สื่อความหมายในทางปฏิเสธการบริโภค หรือปฏิเสธสิ่งที่สัญลักษณ์เหล่านี้เคยสื่อความหมาย
อีกตัวอย่างที่พูดถึงกันมากก็คือ ภาพ “Pepper spraying cop” ซึ่งเป็นการเอาภาพของ จอห์น ไพค์ (John Pike) เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ฉีดสเปรย์พริกไทยใส่ผู้ประท้วงที่นั่งอยู่กับพื้น ไปตัดต่อใส่รูปอื่นๆ ซึ่งเมื่อคนเห็นภาพที่มีตำรวจคนนี้อยู่ก็จะรู้ทันที ว่าสื่อถึงการปราบปรามการประท้วงด้วยความรุนแรง
กลวิธี (Tactics)
กลวิธีเป็นรูปแบบปฏิบัติการที่แยกย่อยลงไปจากกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ (strategy) อีกที ในการรณรงค์หนึ่งๆ จะมียุทธศาสตร์ใหญ่อย่างหนึ่ง และจะมีกลวิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้งที่ออกมารณรงค์เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยกลวิธีในการรณรงค์นั้นอาจมีตัวอย่างดังนี้
การแจกใบปลิวให้น่าสนใจ (Advance Leafleting)
การแจกใบปลิวเป็นพื้นที่ฐานสำคัญ เนื่องจากเป็นวิถีทางในการให้ข้อมูลกับคนอื่นๆ ว่าเรากำลังทำอะไร แต่การแจกใบปลิวมักไม่ค่อยได้ผล เพราะมันน่าเบื่อและน่ารำคาญ เช่น ตัวเราเอง เมื่อมีคนมาแจกใบปลิวก็คงมีไม่กี่ครั้งที่จะรับ และรับมาแล้วก็อาจโยนทิ้งหรือไม่ได้อ่าน เมื่อไม่ได้ผล การแจกใบปลิวแบบที่ทำทั่วไปจึงเป็นการสูญเสียทรัพยากร เสียเวลา ไม่มีใครได้ประโยชน์
advance leafleting เป็นการพยายามเอาศิลปะและวัฒนธรรมมาช่วย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียแบบนั้น โดยมีหลักการง่ายๆ ก็คือ ทำให้สนุก แปลก และเป็นที่จดจำ มีการทดสอบที่ให้ผลว่า ถ้าเอาหุ่นยนต์ไปแจกใบปลิวจะได้ผลมากกว่าคนแจก ฟังดูตลก แต่ก็สะท้อนว่า ถ้าทำให้การแจกใบปลิวของเราแปลกและสนุก ก็จะได้ประโยชน์
เราอาจใช้ “ละคร” หรือ “การแต่งกายแบบแปลกๆ” เข้ามาร่วมในการแจกใบปลิว เช่น ในอเมริกา ครั้งหนึ่งในการรณรงค์เกี่ยวกับสงคราม มีการเอาคนใส่ชุดพนักงานเสิร์ฟอาหารพร้อมถาดและเมนู เดินไปตามท้องถนนแล้วถามผู้คนที่เดินไปเดินมาว่า “คุณได้สั่งสงครามหรือเปล่า” (Do you order war?) แล้วพอคนตอบว่า “ไม่ได้สั่ง” เขาก็จะส่งใบเสร็จให้ดู ว่าต้นทุนของสงครามที่แต่ละคนต้องจ่ายนั้นเป็นเท่าไหร่
ไม่จำเป็นต้องแต่งกายอย่างนักประท้วง
ส่วนใหญ่ เวลาออกรณรงค์เรามักแต่งตัวอย่างนักประท้วงออกไป ซึ่งทำให้มักจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะหลายคนเบื่อหน่ายและไม่ชอบนักประท้วง และเมื่อถูกจับ คนก็จะไม่รู้สึกเห็นใจ
การประท้วงเป็นสิ่งที่เราทำ แต่มันไม่ใช่อัตลักษณ์ของเรา ควรลองแต่งกายแบบอื่นๆ เช่น การประท้วงของคนขับเครื่องบินในอเมริกา ที่สวมชุดนักบินออกมาประท้วงกัน หรือการประท้วงในเมืองซีแอตเทิล ที่ผู้ประท้วงแต่งตัวเป็นเต่าทะเลออกไปเพื่อเรียกร้องเรื่องเต่าทะเลที่กำลังจะสูญพันธุ์ นอกจากได้รับความสนใจแล้วชุดเต่ายังช่วยปกป้องหากถูกตำรวจทุบตี และยังสื่อนัยความหมายที่ว่าเต่าเป็นสัตว์อายุยืนและรักสันติด้วย ตรงนี้เป็นบทเรียนสำหรับนักประท้วงว่า ถ้าไม่แต่งตัวอย่างนักประท้วง เราก็อาจได้รับความสนใจและเป็นข่าว
การยื่นรายชื่อเสนอข้อเรียกร้อง (Petition Delivery)
จริงๆ แล้วนักรณรงค์ทำการเรียกร้องออนไลน์ (online petition) ตลอดเวลา ซึ่งดีมากเพราะสามารถให้ข้อมูลคนอื่นและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เป้าหมายของการเรียกร้องมักไม่ให้ความสนใจไม่ว่าจะมีจำนวนเยอะแค่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น ก็ต้องหาวิธีการยื่นข้อเสนอที่ทำให้เป้าหมายไม่สามารถละเลยได้ คือ ทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นเห็นชัดขึ้นมา
มีหลายกลุ่มที่ทำการรวบรวมรายชื่อยื่นเสนอข้อเรียกร้อง เช่น AVAAZ.ORG ที่เวลายื่นเสนอรายชื่อก็จะแปลงตัวเลขจำนวนคนให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น รณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ตรวจสอบและควบคุมฟาร์มเลี้ยงหมูเพื่อควบคุมไข้หวัดหมู ก็ให้หมูที่ทำจากกระดาษแข็ง 1 ตัว แทนรายชื่อ 1,000 รายชื่อ ถ้า 100,000 รายชื่อ ก็เป็นคิดเป็น 100 ตัว
หรืออีกกรณีหนึ่ง กรีนพีซ (Greenpeace International) ทำการรณรงค์เรื่องการเสียพื้นที่ป่า ก็ให้คนแต่งตัวเป็นลิงเป็นสัตว์ป่า ไปยังองค์กรต่างๆ ในแต่ละท้องที่ การทำแบบนี้ ทำให้มีสิ่งที่จับต้องได้เมื่อไปยื่นรายชื่อ และทำให้เรื่องที่ต้องการเรียกร้องเป็นข่าวและพูดถึงในหน้าสื่อขึ้น
การใช้ภาพอย่างมีศิลปะ (Artistic Imagery)
การแขวนป้ายข้อความหรือใช้ป้ายข้อความมนุษย์ (Human Banner) – ตัวอย่างที่คลาสสิกและยังพูดถึงกันอยู่ก็คือ การแขวนป้ายข้อความที่ซีแอทเทิล โดยก่อนหน้าจะมีการประชุมของ WTO ก็จะมีนักกิจกรรมนำป้ายที่มีข้อความสื่อความหมายว่า WTO กำลังทำในสิ่งที่สวนทางกับประชาธิปไตยไปแขวนไว้ ซึ่งการแขวนป้ายแบบนี้จะช่วยบอกให้คนรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ตรงนั้น และนักกิจกรรมกำลังจะรณรงค์เรื่องอะไร
แต่การแขวนป้ายข้อความแบบนี้ต้องใช้ทักษะมาก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกจับ มีความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุ ก็เลยมีการใช้ป้ายข้อความมนุษย์ ใช้คนจำนวนมากมาสร้างข้อความขึ้นดังเช่นภาพการรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศข้างล่างนี้
การฉายภาพแบบกองโจร (Guerilla Projection) – เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม Occupy Wall Street ใช้อุปกรณ์กำลังไฟฟ้าแรงสูงฉายข้อความที่ต้องการจะสื่อไปบนผนังอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งข้อดีของการทำแบบนี้ก็คือความเสี่ยงต่ำ โอกาสถูกจับมีน้อย มีต้นทุนต่ำกว่าการเอาคนไปห้อยตัวแขวานป้ายข้อความ และที่สำคัญคือ เคลื่อนไหวได้ เปลี่ยนข้อความได้ เล่นกับคนได้
สิ่งสำคัญในการใช้กลวิธีเหล่านี้ก็คือ ต้อง จับต้องได้ (concrete) และ สื่อสารได้ (communicative) ต้องทำให้คนรู้ว่าต้องการสื่อสารอะไรอยู่
โรงละครล่องหน (Invisible Theater)
หลักการคือ สร้างเหตุการณ์สมมติขึ้น โดยให้กลุ่มนักแสดงเข้าไปปะปนอยู่กับกลุ่มคนทั่วไปในสถานที่ต่างๆ มักใช้กับประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ เช่น เพศ เชื้อชาติ ประเด็นที่ไม่สามารถพูดคุยเรื่องเนื้อหาได้ตรงๆ เป็นการรณรงค์ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปพูดคุยกับผู้คนโดยตรง แต่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้โดยไม่ทำให้ต้องรู้สึกคับข้องใจ
ตัวอย่างหนึ่งที่มีการทำมาแล้วคือ ใช้ร้านอาหารเป็นฉาก โดยมีคู่เลสเบี้ยน 2 คน ที่เป็นแฟนกัน เด็ก 2 คน ที่เป็นลูกของเลสเบี้ยน 2 คนนั้น และพนักงานเสิร์ฟ 1 คน ทั้งหมดเป็นตัวละครที่สมมติขึ้น ส่วนคนอื่นๆ ในร้านเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย เนื้อเรื่องของละครมีอยู่ว่า พนักงานเสิร์ฟจะเดินมาหาคู่เลสเบี้ยน พอรู้ว่าเด็กเป็นลูกที่คู่เลสเบี้ยนรับมาเลี้ยงก็พูดจาเสียงดังให้ทุกคนในร้านได้ยิน เช่น “เด็กไม่มีพ่อนี่ไม่ดีเลยนะ แล้วพวกคุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ คนอื่นๆ เค้ามองกันอยู่นะ” ซึ่งระหว่างที่แสดงละครนั้นก็มีการบันทึกภาพเอาไว้ ซึ่งจะทำให้ได้เห็นว่า คนในร้านจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร ทั้งกับคนที่เล่นเป็นพนักงานเสิร์ฟและกับคนที่เล่นเป็นเลสเบี้ยน เช่น คนในร้านบางคนเดินมาเถียงกับพนักงานเสิร์ฟ บางคนเขียนถ้อยคำให้กำลังใจไปมอบให้กับคู่พ่อแม่เลสเบี้ยน จะเห็นได้ว่า การใช้กลวิธีดังกล่าวทำให้กิจกรรมและการถกเถียงที่น่าสนใจซึ่งจะไม่เกิดขึ้นถ้ารณรงค์ในลักษณะอื่น
ชมข่าวเกี่ยวกับการแสดงดังกล่าวได้ที่ Primetime from ABC News : Gay Parents Bashed https://www.youtube.com/watch?v=Zhl9MLno424
(นอกจากคู่เลสเบี้ยนหญิงแล้ว ยังมีการแสดงโดยใช้คู่เกย์ชายเป็นพ่อแม่เด็กด้วย ซึ่งมีผลตอบรับจากคนในร้านที่ต่างออกไป เช่น ยกนิ้วโป้งแสดงความพอใจให้พนักงานเสิร์ฟ)
การขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์ (Creative Disruption)
การขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์ เป็นกลวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ต้องมีการวางแผนพอสมควร
การขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์มักจะเกิดขึ้นเมื่อเป้าหมายของการรณรงค์มีสถานะสูง มีอภิสิทธิ์ มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจสูงกว่าเรามาก ซึ่งล้วนเป็นสถานะทำให้เป็นการยากที่จะเข้าประชิดตัวเพื่อสื่อสารการรณรงค์
ตัวอย่างของการขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์ เช่น กรณีที่ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และคนอื่นๆ ชูป้าย “ดีแต่พูด” ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกำลังพูดบนเวทีงานครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2554 (งานและการชูป้ายเกิดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2554)
ความท้าทายของการขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์ก็คือ เมื่อเราไปขัดขวางการพูดของคนคนหนึ่งซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะพูด การกระทำของเราควรจะอยู่ที่ระดับตรงไหน เพื่อไม่ให้การรณรงค์นี้ไปละเมิดสิทธิในการแสดงออกของคนที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งกรณีการชูป้ายของจิตราไม่มีปัญหาตรงนี้เท่าไร เพราะไม่มีการใช้ความรุนแรงขัดขวาง ไม่ได้ตัดไฟ และอภิสิทธิ์ก็สามารถพูดต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุด เพียงแต่ความสนใจของคนในห้องไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้พูดอีกต่อไปแล้ว
การกุเรื่อง (Hoax)
หัวใจหลักของกลวิธีนี้ก็คือการหลอกลวงต้มตุ๋น นักรณรงค์ที่ใช้วิธีนี้จะแสดงตัวว่าเป็นคนอื่นแล้วทำให้เกิดความสนใจขึ้นมา เช่น กรณีของ แอนดี้ บิเชอปอม (Andy Bichlbaum) สมาชิกกลุ่มเยสเม็น (Yes Men) ในอเมริกา แสดงตัวว่าตนเป็น จู๊ด ฟินิสเทอรา (Jude Finisterra) โฆษกของบริษัทดาวเคมิคอล (Dow Chemical) ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยมหาศาลกับเหตุการณ์ก๊าซพิษรั่วไหลในเมืองโภปาล (Bhopal) ประเทศอินเดีย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) โดยใช้กลวิธีกุเรื่องผ่านเว็บไซต์ที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งแนบเนียนจนทำให้ สำนักข่าวบีบีซีก็ถึงกับติดต่อขอเชิญแอนดี้มาพูดในวาระครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมโภปาล เรียกว่ากลุ่มเยสเม็นประสบความสำเร็จที่ทำให้คนเชื่อได้ว่ามีการจ่ายเงินค่าชดเชยเกิดขึ้นจริงๆ โดยที่แท้จริงแล้วไม่มีเรื่องแบบนั้น บริษัทไม่ได้มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว ทำให้กรณีค่าชดเชยนี้เป็นที่ถกเถียงขึ้นมา
อีกกลุ่มหนึ่งที่คนรู้จักกันดีคือกลุ่มบิลเลี่ยนแนร์ฟอร์บุช (Billionaires for Bush) เป็นกลุ่มที่ต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่สนับสนุนแต่คนรวย สมาชิกชายในกลุ่มมักแต่งกายด้วยชุดทักซิโด้ ขณะที่สมาชิกหญิงจะแต่งกายด้วยชุดราตรี ข้อความในการรณรงค์พุ่งเป้าไปที่บุชและระบอบของเขา และมักใช้ข้อความที่ถูกบิดจนเกินจริงเพื่อสร้างการเสียดสี
บิลเลี่ยนแนร์ฟอร์บุชประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำให้สิ่งที่ตนพูดปรากฏตามหน้าสื่อ ขณะที่การประท้วงโดยทั่วไปแทบทุกครั้งจะมีคนจำนวนมากถูกจับ แต่กลุ่มบิลเลี่ยนแนร์ฟอร์บุชบอกว่าพวกเขาไม่เคยถูกจับเลย เพราะตำรวจนิวยอร์กไม่เคยไล่จับคนใส่ทักซิโด้
ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเข้ากับหลักการที่ว่า “เวลาประท้วง อย่าแต่งตัวเหมือนนักประท้วง”
การบุกตรวจค้นอย่างสันติ (Non-violent Raid หรือ Non-violent Search and Seizure)
เป็นกลวิธีที่ดีมากในการโจมตีหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชนที่ปกปิดเอกสาร ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในควิเบก (Quebec) ประเทศแคนาดาคือ ประชาชนกลุ่มหนึ่งในชื่อ “ซาลามี” (SalAMI) รวมตัวกันเพราะต้องการขอดูร่างข้อตกลงการค้าเสรีในอเมริกาเหนือ (FTAA) ซึ่งรัฐบาลแคนาดาปกปิดเป็นความลับ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือวุฒิสมาชิกก็ดูไม่ได้ กลุ่มซาลามีจึงออกข่าวว่า ในฐานะที่เป็นพลเมือง พวกตนจะไปขอตรวจเอกสารซึ่งถูกเก็บเป็นความลับนั่น เมื่อถึงวันที่ประกาศ กลุ่มก็พากันแบกกุญแจยักษ์ไปพร้อมประกาศว่า ตนเป็นพลเมืองของประเทศ ขอเข้าไปในสำนักงานเพื่อดูเอกสารในฐานะที่เป็นเอกสารราชการ ผลคือทุกคนถูกจับหมด แต่หลังจากนั้นเอกสารก็ถูกเปิดเผย เพราะกลายเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าสื่อ และข้อตกลงนี้ก็ไม่เคยสำเร็จในการเจรจาเลย เพราะรายละเอียดถูกเปิดเผยก่อนกำหนดไปแล้ว
เวิร์กช็อปสถานการณ์สมมติ
ช่วงสุดท้าย มีการแบ่งผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเป็น 5 กลุ่ม แล้วกำหนดสถานการณ์สมมติและสิ่งที่ต้องการรณรงค์ พร้อมระบุกลวิธีที่จะใช้ จากนั้นให้แต่ละกลุ่มออกมาอธิบาย ว่าจะออกแบบกิจกรรมอย่างไร
กลุ่มที่ 1: โจทย์คือการรณรงค์ให้เปิดเผยร่างคำประกาศของรัฐบาล กลวิธีที่กลุ่มนี้เลือกคือ ประกาศว่าจะเอาร่างดังกล่าวมาเปิดเผยให้ได้ภายในวันที่เท่านั้นเท่านี้ และเมื่อถึงวันที่บอกไว้ ก็จะมีการเปิดเผยร่างดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก มีคลิปประกาศร่างบนยูทูบ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นของปลอม โดยจะออกแบบร่างปลอมให้ดูไม่ออกว่าจริงหรือหลอก เพื่อสร้างกระแสให้คนถกเถียงกันในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อเป็นประเด็นขึ้นมา สื่อก็จะสนใจ แล้วเรื่องก็จะไปถึงรัฐบาล ซึ่งการที่ร่างที่แพร่กระจายจนเป็นที่ถกเถียงนั้นไม่ใช่ของจริง ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับความกระอักกระอ่วน ว่าแล้วจะเปิดเผยร่างที่แท้จริงหรือไม่
กลุ่มที่ 2: โจทย์คือเสรีภาพในการแสดงออก และกำหนดให้งานมอบรางวัลภาพยนตร์เป็นสถานที่ทำการรณรงค์ กลวิธีที่จะใช้ก็คือเอาหนังที่ถูกห้ามฉายไปฉายใส่กำแพงตึกจัดงาน
กลุ่มที่ 3: โจทย์คือค่าแรงขั้นต่ำ กลวิธีคือการปล่อยข่าวหลอก เป้าหมายที่ต้องการสื่อสารคือรัฐบาล สารที่ต้องการจะสื่อถึงคือคนงานไทยประเทศอื่นๆ เขาได้ขึ้นค่าแรงได้รับค่าแรงเยอะกว่านั้นหมดแล้ว ในการรณรงค์ จะทำเป็นรายการข่าวปลอม โดยทำเป็นการสัมภาษณ์แรงงานไทยในพม่า (ตัวปลอม) ถึงเรื่องค่าแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในไทย ที่ทำให้แรงงานพากันอพยพไปทำงานในพม่าจนเติบโตเป็นชุมชนคนไทย โดยอ้างว่าทราบเรื่องนี้มาจากในเครือข่ายสังคมออนไลน์
กลุ่มที่ 4: โจทย์คือรวบรวมรายเชื่อเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี กลุ่มนี้จึงเลือกวันที่ 3 พฤษภาคม ที่เป็นวันเสรีภาพสื่อโลกเป็นวันที่จะทำกิจกรรมการรณรงค์ เนื่องจากจะต้องมีคนของฝ่ายรัฐบาลได้รับเชิญไปพูดอยู่แล้ว และเป็นงานที่มีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยกลุ่มจะดูว่าตอนนี้มีนักโทษในคดีนี้คนไหนบ้าง แล้วตัดกระดาษเป็นหน้ากากรูปหน้านักโทษเหล่านั้นมาสวมไปที่งานดังกล่าว พร้อมทั้งเขียนว่านักโทษคนนี้ชื่ออะไร ติดคุกเพราะอะไร และจะบุกเข้าไประหว่างที่คนของฝ่ายรัฐบาลกำลังพูดอยู่
กลุ่มที่ 5: โจทย์คือการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาเรื่องเพศสภาวะและอุดมคติชายเป็นใหญ่ กลวิธีที่กำหนดคือโรงละครล่องหน กลุ่มนี้จึงเลือกที่จะแสดงละครสั้นๆ ที่กำหนดให้สถานการณ์เกิดขึ้นบนรถเมล์ เป็นบทสนทนาระหว่างผู้โดยสารสองคน ว่าระหว่างพระและผู้หญิงท้องที่ขึ้นรถเมล์มาพร้อมๆ กันนั้น ใครจะได้นั่ง
วิทยากร
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร — ผู้อำนวยการสร้างและพิธีกรรายการ Capitalism 101 รายการออนไลน์เกี่ยวกับผลกระทบของทุนนิยมในประเทศไทย เป็นนักเขียนที่เน้นประเด็นเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ความก้าวหน้า/การพัฒนา และแรงงาน เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
เอมิลี ฮอง (Emily Hong) — นักกิจกรรม นักอบรม และนักเขียน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Asia Training Associate ให้กับ Minority Rights Group International และ Training Adviser ให้กับ Community Organizing and Rights Education (CORE) ซึ่งเป็นโครงการร่วมขององค์กรเพื่อเยาวชน 14 องค์กรบริเวณชายแดนไทย-พม่า
เอมิลีและเกรียงศักดิ์ กำกับและผลิตหนังสั้น “Occupy Everywhere” จับประเด็นยุทธวิธีการสร้างฉันทามติของ Occupy Wall Street
ลิงก์อื่นๆ
- Facebook event
- เอกสารแนะนำก่อนชั้นเรียน: There are Realistic Alternatives by Gene Sharp (Boston: The Albert Einstein Institution, 2003)
- Creative/ Cultural Resistance – สไลด์บน Prezi
- โรงเรียนพ(ล)บค่ำ3: การต่อต้านเชิงสร้างสรรค์-วัฒนธรรม…นักรณรงค์ต้องอ่าน ! — บันทึกโดย ศิริชัย ลีเลิศยุทธ์