Ars Technica รายงาน: ชาวไทยสัญชาติอเมริกาที่ถูก DSI กักขัง ฟ้องเว็บโฮสต์ที่บอกข้อมูลของเขาให้รัฐบาลไทย

2011.08.30 14:58

Ars Technica เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีรายงานคดีพลเมืองสหรัฐเชื้อสายไทยฟ้องบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จากกรณีบริษัทดังกล่าวส่งข้อมูลส่วนตัวของเขาให้กับรัฐบาลไทย จนทำให้เขาถูกกักขัง เอกสารคำฟ้องระบุการละเมิดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอของไทย และการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวตามกฎหมายหลายฉบับของทั้งแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

….

พฤษภาคม 2549 แอนโทนี ชัย (Anthony Chai) พลเมืองสหรัฐเชื้อสายไทย เดินทางกลับแผ่นดินเกิดของเขาเพื่อพบเพื่อนและญาติ เขาเยี่ยมหลานสาวและหลานชายและใช้เวลาช่วงหนึ่งที่หัวหิน

แต่ตามข้อมูลในคดีความล่าสุด [Anthony N. Chai vs. Netfirms.com, Inc.] ในขณะที่ชัยกำลังเดินทางกลับแคลิฟอร์เนีย ผ่านทางสนามบินที่กรุงเทพ เขาถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงห้าคนหยุดเอาไว้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานให้กับกรมสอบสอนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พวกเจ้าหน้าที่แจ้งกับชัยว่า พวกเขามีหมายจับตัวเขา จากการกระทำผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ — การกล่าวในที่สาธารณะที่จงใจละเมิด “เกียรติภูมิ” ของประมุข

กฎหมายดังกล่าวของประเทศไทย [ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112] ซึ่งถูกใช้กับยูทูป YouTube ในปี 2550 ดูเผิน ๆ แล้ว (ค่อนข้าง) มีขอบเขตจำกัด “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” มันกำหนดความผิดและลงโทษผู้ที่กระทำความผิดจากการให้วาจาหมิ่นประมาทตามที่กำหนดด้วยโทษจำคุกที่ยาวนาน แต่นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ในขณะนี้กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้กับใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

เจ้าหน้าที่ดีเอสไอนำชัยไปยังกองสอบสวน ชัยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เขากินข้าว กินน้ำ และยังไม่ให้เขานอนจนกระทั่งตีสามครึ่ง โดยระหว่างนั้นก็ได้พูดถึงข้อกล่าวหาและข่มขู่เขาตลอดเวลา “ผมรู้ว่าญาติคุณอาศัยอยู่ที่ไหนในกรุงเทพและแคลิฟอร์เนีย” ชัยกล่าวว่าตำรวจนายหนึ่งพูดกับเขาอย่างนั้น “ถ้าคุณอยากให้พวกเขามีชีวิตอย่างสงบสุข คุณต้องให้ความร่วมมือ”

รัฐประหารที่ไร้เลือด

แอนโทนี ชัย เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ในช่วงเวลาที่โกลาหลที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ในตอนที่เขาเดินทางมาถึง นายกรัฐมนตรีประชานิยม ทักษิณ ชินวัตร กำลังประสบความยากลำบากมากมาย และกำลังต่อสู้เพื่อชีวิตทางการเมือง (และชีวิตจริง ๆ) ของเขา ฝ่านตรงข้ามกับพรรคไทยรักไทยของเขา ต่างบอยคอตไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งใหม่ที่เขาประกาศให้มีขึ้น โดยกล่าวหาว่าทักษิณนั้นทุจริต ในเดือนกันยายน ท่ามกลางการก่อการร้ายและความพยายามในการลอบสังหาร กองทัพก็ได้นำทักษิณออกจากอำนาจการเมือง และแบนพรรคไทยรักไทยจากการเมือง

จากข้อมูลในคำฟ้อง ในช่วงแรกที่เขาถูกกักขังชัยได้ร้องขอทนาย เขาได้ทนายในที่สุด แต่ทนายคนดังกล่าวแทบไม่พูดอะไรเลยในระหว่างที่เขาถูกสอบสวน นอกจากแนะนำให้เขาตอบคำถาที่ตำรวจถาม เขาต้องอดทนจนกระทั่งผ่านพ้นการถามคำถามที่ยาวนานสองช่วงมาได้ ซึ่งตลอดเวลานั้นเขาไม่ได้รับอาหาร น้ำ หรืออนุญาตให้นอน

คำฟ้องระบุว่า ในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เอาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของเขาไป และ “ใช้กำลังบังคับ” ให้ชัยบอกรหัสผ่านความปลอดภัยต่าง ๆ ของเขาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าว จากนั้น “เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังบังคับเขาให้บอกที่อยู่อีเมลและรหัสผ่านของเขาทั้งหมด”

ในช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้แสดงเอกสารฉบับหนึ่งให้ชัยดู เอกสารดังกล่าวเปิดเผยที่อยู่อีเมลที่เขาและคนที่เขารู้จักใช้ในการโพสต์ความเห็นที่เว็บไซต์ manusaya.com และในตอนสุดท้าย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ใช้กำลังบังคับเขาให้เขียนแถลงการณ์ซึ่งมีข้อความว่า เขารับสารภาพว่าเขาได้ทำผิดกฎหมายหมิ่นพระเดชานุภาพของไทย เขาสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีก และเขายกย่องพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย

17:00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 ชัยถูกปล่อยตัว แต่ถูกเตือนว่าเขาอาจถูกจับได้อีกหากเดินทางกลับมาประเทศไทย เขาติดต่อครอบครัวของเขาเพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง และเดินทางกลับไปยังลองบีช แคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งเขาเปิดร้านขายและรับซ่อมคอมพิวเตอร์

ถึงเวลายอมจำนน

แต่ประสบการณ์เจ็บปวดของชัยไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เอกสารคำฟ้องกล่าวว่า ชายที่ดูแลการสอบสวนของเขาในตอนนั้น พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน ได้เริ่มติดต่อชัยในขณะที่ชัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยญาณพลขอให้ชัยส่งสำเนาของ “เอกสารสนับสนุนประชาธิปไตยหรือต่อต้านสถาบันกษัตริย์ใด ๆ ก็ตามที่เขามีในครอบครอง”

คำฟ้องระบุว่า ญาณพลไม่เพียงติดต่อเขาทางอีเมลเท่านั้น ในเดือนกรกฎาคม 2006 ญาณพลยังได้มาหาชัยที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ญาณพลเข้ารับการอบรมที่จัดโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตันดีซี สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นถูกอธิบายไว้ดังนี้:

49. เนื่องจากโจทก์ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเขาให้ความร่วมมือกับการสอบสวน เขาตกลงที่จะพบ พ.ต.อ. ยั่งยืน ที่ LAX [สนามบินนานาชาติลอสแอนเจลิส]

50. ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ พ.ต.อ. ยั่งยืน ได้บอกกับโจทก์ว่า เขาอยากให้โจทก์นำไอพอดหรือของมีค่าที่คล้าย ๆ กันมาเพื่อเป็นของฝากแก่ลูกของเขา

51. โจทก์และ พ.ต.อ. ยั่งยืน ได้พบกับเป็นเวลาประมาณสามสิบนาที ที่ร้านอาหารแมคโดนัลด์ใน LAX

52. โจทก์ไม่ได้นำไอพอดมาด้วย เขานำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาไทยมา ซึ่งเขาคิดว่า พ.ต.อ. ยั่งยืน จะสามารถอ่านมันระหว่างเที่ยวบินกลับประเทศไทย พ.ต.อ. ยั่งยืน แสดงอย่างชัดเจนกับโจทก์ว่าเขาผิดหวังเป็นอย่างมากที่โจทก์ไม่ได้นำของขวัญมีค่าอะไรมาเลย

ชัยได้ถามว่าเขาจะได้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเขาคืนหรือไม่ และได้รับคำตอบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะอยู่กับเจ้าหน้าที่ไปจนตลอดการสอบสวน หลังจากนั้น ญาณพลได้เขียนไปหาโจทก์บอกให้เขากลับประเทศไทยเพื่อสอบถามเพิ่มเติม

“ถึงเวลาสำหรับคุณแล้ว ที่จะยอมมอบตัวอย่างเป็นทางการต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนของคดีนี้” ข้อความหนึ่งอธิบาย “คุณต้องมามอบตัวที่สำนักงานของเราในวันที่ 24 สิงหาคม 2006 เวลา 10:00 น…”

ไม่ต้อนรับคำวิจารณ์

แอนโทนี ชัย ได้พูดอะไรที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ของไทยจริง ๆ หรือไม่ ? ไม่เลย โดยใช้ที่อยู่อีเมลนิรนาม เขาได้โพสต์ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse majesté) ของไทยลงในเว็บไซต์ www.manusaya.com ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยได้ประณามต่อสาธารณะว่าเว็บไซต์ดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้คน “เสียศรัทธาและความรักต่อสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเจ้าหญิงทุกพระองค์” เว็บไซต์ดังกล่าวถูกปิดในที่สุดโดยเน็ตเฟิร์ม บริษัทให้เช่าพื้นที่เว็บสัญชาติแคนาดา ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย

แต่เน็ตเฟิร์มไม่ได้เพียงปิดเว็บไซต์ ชัยและทนายของเขากล่าว

คำฟ้องระบุว่า “เวลาใดเวลาหนึ่งก่อนเดือนพฤษภาคม 2549 ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยอีกเช่นกัน Netfirms.com ได้มอบหมายเลขไอพีของนายชัย และที่อยู่อีเมลอีกสองอันซึ่งเชื่อมโยงกับหมายเลขไอพีดังกล่าว” “โดยนายชัยไม่ได้รับรู้หรือให้การยินยอม” นอกจากนี้เน็ตเฟิร์มยังถูกกล่าวหาว่า ส่งมอบข้อมูลดังกล่าวนี้โดยไม่ได้ร้องขอคำสั่งศาล หมายศาล หรือใบอนุญาตใด ๆ จากเจ้าหน้าที่ของไทย และไม่ได้ติดต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเพื่อขอคำแนะนำ

ในตอนนี้ ชัยได้ฟ้องเน็ตเฟิร์มให้จ่ายค่าชดใช้และค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรสากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (World Organization for Human Rights USA) คดีของเขายื่นฟ้องต่อศาลแขวงแคลิฟอร์เนียกลาง โดยกล่าวหาว่าเน็ตเฟิร์มได้ละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของแคนาดา (Personal Information Protection and Electronic Documents Act – PIPEDA), มาตราที่ว่าด้วยความเป็นส่วนตัว ในประมวลกฎหมายธุรกิจและวิชาชีพของแคลิฟอร์เนีย (Business and Professions Code), และคำประกาศสิทธิซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนีย

เว็บไซต์ข่าวอาร์สเทคนิกาได้ติดต่อเน็ตเฟิร์มในเรื่องคดีนี้แล้ว โดยตัวแทนของบริษัทกล่าวว่าบริษัทยังไม่มีความเห็นในขณะนี้

—-

แปลจาก Thai censorship critic strikes back at snitch Web host โดย Matthew Lasar, Ars Technica, 29 ส.ค. 2554

Tags: , , , , , , , ,
%d bloggers like this: