2009.03.04 19:53
“สังคมไทยเผชิญกับโจทย์ที่ยาก คำนิยามการหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบันเบื้องสูง แตกต่างกัน”
สุภิญญา กลางณรงค์
โลกไซเบอร์ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ หากแต่หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พื้นที่เสรีภาพในโลกเสมือนจริงก็เปลี่ยนแปลงไป..
แม้เป็นที่ยอมรับว่า ข่าวสาร ข้อคิดเห็น กระทู้ต่างๆ จำเป็นต้องมีการคัดกรองต่อการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่กระทบต่อสิทธิในการรับรู้หรือแสดงความคิดเห็นของประชาชนคนไทย “เครือข่ายพลเมืองเน็ต” จึงเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพลเมืองผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตหลากหลายอาชีพและกลุ่มสื่อพลเมืองที่สนใจในเรื่องอิสรภาพของโลกไซเบอร์ (cyber-liberty) ซึ่งเริ่มรวมตัวกันหลวมๆ เมื่อกลางปี 2551 และมีกิจกรรมจริงจังขึ้นในปีนี้
“เนชั่นสุดสัปดาห์” ได้พูดคุยกับสุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งทำงานร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) ขณะเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ เพื่อขอความชัดเจนกรณีที่รัฐบาลเตรียมจะใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามาจัดการอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน รวมถึงท่าทีการคัดค้านการประกาศสงครามกับวิทยุชุมชนและอินเทอร์เน็ต หรือวอร์รูม โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดนโยบายด้านสื่อของรัฐบาล และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับสังคมไทย
สุภิญญา มองภาพรวมกรณีการหมิ่นเบื้องสูงว่า ในช่วง 10 ปีมานี้ มีการกล่าวอ้างและพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งตัวเองก็เคยเข้าร่วมด้วยเมื่อต้นปี 2549 มาถึงการเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ก็ถูกนำไปอ้างอิงความชอบธรรมและยึดโยงสถาบันฯหรือกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อมีกลุ่มต่างๆเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ทำให้ผู้คนที่เห็นต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในโลกไซเบอร์มากขึ้น
“ขณะเดียวกัน การเมืองก็เปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายมากขึ้น คนทั่วไปก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะขึ้น หากจะมองว่าเป็นกระบวนการจัดตั้งทั้งหมด คงไม่ใช่ เพราะจากการทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มา 2 ปี เคยได้ไปคุยกับคนที่ถูกจับในคดีนี้ เขาเป็นคนโพสต์ข้อความในเว็บ ซึ่งถูกปิดไปแล้ว โดยใช้ชื่อว่านิรนาม ปรากฏว่าเขาก็คือ ประชาชนธรรมดา ไม่รู้ว่ามีความผิดแบบนี้ด้วย เมื่อมาถูกจับถึงได้รู้ว่าอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้มีเสรีภาพจริง เพราะว่าตำรวจสามารถสืบค้นไปได้ว่า ใช้คอมฯเครื่องไหน ใช้โทรศัพท์เบอร์อะไร บ้านอยู่ไหน จากกรณีนั้น เขาก็ได้รับสารภาพ และสัญญาว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก ตนเองไม่ทราบแน่ชัดว่า คดีจบอย่างไร แต่รู้ว่าเขาได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว”
“พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายมานับเป็นสิบปี กรณีลักษณะนี้น่าจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ได้คิดว่าจะมีใครมารู้ว่าเราเป็นใคร มันสามารถเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างไม่เปิดเผยตัวตน แต่อันที่จริงแล้ว ถ้ารัฐบาลจะทำเทคโนโลยีสามารถสืบสาวต้นตอได้ทั้งหมดตราบใดที่ยังมีการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์แต่ประชาชนส่วนใหญ่แต่ประชาชนส่วนใหญ่เขากลับไม่รู้ว่ามีกฎหมายที่ลงโทษในลักษณะนี้แล้ว”
“ปัญหาที่สำคัญคือ เมื่อรัฐลุกขึ้นมาจะควบคุมปราบปรามประเด็นดังกล่าว อาจมีการถูกมองว่าการกระทำนี้เชื่อมโยงเป็นขบวนการ หรือเป็นฝ่ายตรงข้าม ถ้ารัฐตีโจทย์หรือมองลักษณะปัญหาผิด การแก้ปัญหาก็อาจจะผิดทิศทางไปหมด เพราะเป็นการมองพลเมืองเป็นศัตรู ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวและหวาดระแวง”
สำหรับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเรื่องการเมือง อาทิ ฟ้าเดียวกัน ประชาไท ซึ่งหลีกไม่ได้ที่จะต้องมีการแสดงความคิด และอาจพาดพิงถึงสถาบันฯ สุภิญญา เห็นว่า “หากดูจากข้อเท็จจริงแล้ว เว็บดังกล่าวต่างมีการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว อย่างที่ได้พูดคุยกับ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการของประชาไท เขาก็พยายามตรวจสอบข้อความที่โพสต์เข้ามาอย่างเหน็ดเหนื่อย ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา”
“ขณะเดียวกัน คนทำเว็บก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งก็ต้องคอยระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีข้อความที่ล่อแหลมจนเกินไป เพื่อให้เว็บทั้งเว็บยังอยู่ได้ อาจจะต้องมีการปิดบางคอมเมนต์ บางยูอาร์แอล อีกด้านหนึ่ง เขาก็ถูกแรงกดดันจากประชาชนเพราะว่าคนที่เข้ามาใช้เว็บก็หลากหลาย และส่วนใหญ่ก็คิดว่า ทำไมต้องมาลบคอมเมนต์เขาด้วย ไม่ได้มีข้อความที่ถือว่าหมิ่นสักหน่อย มันก็เป็นปัญหาแล้วว่า ‘การหมิ่น’ คืออะไร เพราะว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกไม่เท่ากัน บางคนบอกว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย บางคนบอกว่าแรงแล้ว อีกคนบอกว่าไม่หมิ่น”
“เท่ากับว่าสังคมไทยกำลังเผชิญโจทย์ที่ยาก แต่ว่าเราจะต้องเผชิญกับมันให้ได้ ตรงคำนิยามนี่แหละ เพราะเราต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีคำนิยามการหมิ่น หรือไม่หมิ่นสถาบันฯ แตกต่างกัน”
“ดังนั้น หน่วยงานราชการจึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยสร้างกลไก เพื่อกำหนดกฎหมาย สร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลร่วมกันกับประชาชนเพื่อปกป้องสิทธิพลเมือง ที่ผ่านมา ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ในท้ายที่สุด แต่ตอนนี้กำลังจะมีการแก้ไขกฎหมาย ที่จะให้รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมกระบวนการต่างๆ อาจจะไม่ต้องไปที่ศาลแล้ว”
“พร้อมกันนั้น รัฐควรจะเป็นเจ้าภาพในการพูดคุยให้ชัดเจน ว่าขอบเขตบรรทัดฐานด้านกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร รวมถึงการบังคับใช้ที่ชัดเจนตามกระบวนการยุติธรรมด้วย”
ปัญหาเว็บหมิ่นฯ
ตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี ซึ่งเป็นโทษทางอาญา
แต่กฎหมายและการกำหนดโทษดังกล่าว ยังมีการถกเถียงกันในสังคมไทยเรื่อยมา ทั้งการตีความ คำนิยาม หรือแม้แต่การพูดคุยเรื่องสถาบันฯต่อสาธารณะเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่
“โดยเฉพาะคำนิยามที่ว่าหมิ่น หรือ อาฆาตมาดร้าย นิยามคือ อย่างไรบ้าง ประชาชนจะได้รู้ว่าประเด็นไหนจะเข้าข่ายหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายแล้วผิดกฎหมายซึ่งควรจะมีการปรึกษานักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน เพื่อทำกรอบกฎหมายและลดความสับสนคลุมเครือ สำหรับตนเอง ถ้าเป็นข้อความอาฆาตมาดร้ายจริง ก็ควรถูกกลั่นกรองออกไป ไม่ว่าจะเป็นการอาฆาตมาดร้ายใครก็ตาม เพราะมันเกินขอบเขตเสรีภาพในการแสดงออก”
“หรือในทางปฏิบัติ อย่างเช่น การพูดถึงองคมนตรี หรือคนที่ใกล้ชิดกับสถาบันฯ ก็จะมีการตีความไปหลายอย่างทำให้เกิดความไม่ชัดเจน หรือเมื่อมีการลุกขึ้นมาพูดคุยถึงเรื่องนี้ ก็อาจถูกมองว่าเป็นการหมิ่น ทั้งๆที่สังคมต้องการหากติกาที่ทุกฝ่ายรับได้ร่วมกัน และที่สำคัญ ไม่ได้หมายความว่าคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ จะเป็นปฏิปักษ์แต่อย่างใด แต่ด้วยความที่สังคมมันเปิดขึ้นและมีเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต คนก็มีโอกาสพูดกันมากขึ้น”
“เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องแสดงบทบาทเป็นคนกลางในการเป็นเจ้าภาพเพื่อประนีประนอมกับทุกฝ่ายในสังคม คือเราต้องยอมรับว่าสังคมไทยคงมีส่วนผสมของพลเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเยอะ อันนี้ก็ต้องเคารพกัน ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่มีแนวคิดเสรี ก็เยอะขึ้นมาก แล้วทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีแนวคิดในบางเรื่องแตกต่างกันไป ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องนี้ ยังมีหลายเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เช่น เรื่องโป๊เปลือยขอบเขตแค่ไหน การพูดเรื่องเพศ หรือขอบข่ายของความรุนแรง ซึ่งสังคมก็ยังมีขั้วของความขัดแย้งเรื่องเสรีภาพกันอยู่ตลอด”
“ดังนั้น สังคมไทยควรจะดึงประชาชนผู้มีส่วนร่วมเข้าร่วมถกเถียงและรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหา”
“คนรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยนี้ ก็มีวิธีการคิดในหลายเรื่องที่แตกต่างกันไปจากคนยุคก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ในการบริการจัดการพื้นที่สาธารณะที่จะไม่ทำให้เกิดการกล่าวหากัน ว่าอีกฝ่ายเป็นพวกไม่รักชาติ หรือเป็นพวกโน้นพวกนี้ เราจะต้องก้าวข้ามอคติพวกนี้เพื่อที่จะยอมรับว่า ไม่ได้มีใครไม่รักใครหรอก ทุกคนต่างก็รักแผ่นดินเกิดและประเทศของตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคนเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งมันเป็นสัจธรรม”
“หากเปรียบเสรีภาพก็เหมือนกับลมหายใจ คือ การที่รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป ก็เหมือนการเอามือไปอุดจมูกแต่ประชาชนอยากจะหายใจดังๆ ในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ซึ่งรัฐอาจจะบอกว่า การหายใจของคุณมันกระทบต่อลมหายใจของฉัน แต่เราจะทำอย่างไรให้การใช้อากาศร่วมกัน เคารพซึ่งกันและกันได้ ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองนี้ก็เช่นกัน หรือหากรัฐเลือกปฏิบัติให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเสรีภาพมากเกินไป ก็อาจจะไปมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นในสังคม หรือถ้ามีกลุ่มหนึ่งไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพเลย ก็เหมือนเอาผ้าไปอุดจมูกเขา ก็ต้องมีการทำให้เกิดความสมดุล”
เครือข่ายกับการขับเคลื่อน
“สืบเนื่องจากตัวเลขที่ประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) ว่ามีการปิดเว็บไซต์แล้วถึง 2,000 เว็บไซต์ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกอ้างว่ามีเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิสมบูรณ์กับรัฐบาล โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลให้ปิดสื่ออินเทอร์เน็ตได้โดยรัฐมนตรีมีอำนาจได้เลย มันก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองว่ารัฐจะใช้ดุลพินิจอย่างไม่แบ่งแยกแบ่งฝ่ายทางการเมืองได้อย่างไร”
“การเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของเครือข่ายพลเมืองเน็ต เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จึงถือเป็นงานเร่งด่วนของกลุ่ม ที่แม้ว่าจะเห็นด้วยกับการปรับแก้ฉบับของ สนช. แต่ประเด็นก็คือ ถ้าจะปรับแก้แล้ว ควรจะคุ้มครองสิทธิให้อยู่ในระดับพอดีและจะทำอย่างไรให้ประชาชนในวงกว้างได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”
“เพราะฉะนั้นงานของเครือข่ายฯ คือส่งเสียงของพลเมืองอินเทอร์เน็ตให้ดังขึ้น โดยเฉพาะการเสนอให้มีความชัดเจน วันนี้เราต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างอ้างถึงสถาบันฯ ดังนั้น ยิ่งมีการปราบปราม อาจยิ่งกระตุ้นประชาชนที่อยากจะพูดในมุมของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้จะปิดกั้นการเข้าถึงภายในประเทศไทย แต่เว็บที่ถูกบล็อกก็ยังเข้าถึงได้พร้อมกันทั่วโลก”
“ที่สำคัญคือ เราเสนอให้มีการแยกเรื่องอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น การปราบแฮกเกอร์ การขโมยข้อมูล การปล่อยไวรัส การโพสต์คลิปส่วนบุคคล ออกจากเรื่องเสรีภาพในการสื่อสาร เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ที่รัฐไม่ควรเหมารวมไปว่าเป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แต่หากใครโพสต์ข้อความที่หมิ่นประมาท ก็ใช้กฎหมายอาญาในการดำเนินคดีอยู่แล้ว”
แม้จะมีเสียงกล่าววิจารณ์ว่า การเคลื่อนไหวด้วยวิธีนำหนังสือมายื่นต่อรัฐบาล จะเป็นเสมือนกันให้ดาบกับรัฐไปจัดการต่อประชาชน เธอเห็นว่า
“ถ้ากลุ่มเราลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้เองโดยไม่พึ่งรัฐ สุดท้ายก็ไม่พ้นรัฐต้องเข้ามาจัดการอยู่ดี ดังนั้น การพูดคุย เจรจาต่อรอง คือ หนทางที่ดีที่สุดในการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ทางเราก็เพียงเคลื่อนไหวให้รัฐต้องเป็นเจ้าภาพ เพราะเขาเป็นตัวแทนที่เราเลือกเข้าไป ดูแลนโยบาย ควรทำให้ชัดเจนให้ประชาชนรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างเช่นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการทำได้ไหม หรือหากจะกำหนดให้ห้ามพูดเลย ดังนั้นฝ่ายที่พูดว่า สู้เพื่อในหลวง ก็ถือว่าหมิ่นหรือเปล่า ต้องห้ามพูดเลยหรือไม่เหมือนที่มีนักกฎหมายเคยตั้งคำถามประเด็นนี้”
การปกป้องสถาบันที่แท้จริง
จากเสียงก้องดังจากทุกฝ่ายที่ต่างก็อ้างว่าจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มาต่อสู้ประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม
“ในที่สุดแล้ว มันจะเป็นการสะท้อนกลับไปเหมือนบูมเมอแรง เหมือนอย่างที่หลายคนตั้งคำถามว่า อย่างเช่นการตั้งวอร์รูม จริงๆแล้วมันจะนำไปสู้การปกป้องสถาบันได้จริงหรือไม่”
ส่วนแนวทางที่ดีที่สุด เธอเห็นว่า หากจะทำเพื่อปกป้องสถาบันฯ ก็คือ ต้องไม่ดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย หรือไม่ก็ให้พูดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นที่หลากหลาย
“แต่หากสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะให้มีการพูดเชิงสร้างสรรค์อย่างที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พยายามทำด้วยความรักที่มีต่อสถาบันจริงๆ สังคมไทยก็ต้องกลับไปที่ วิธีการแรก คือ ต้องไม่ให้มีการพูดในเรื่องนี้เลย ห้ามเด็ดขาด ให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองเลย แต่เมื่อมีกลุ่มหนึ่งออกมาพูด ก็อดไม่ได้ที่อีกกลุ่มหนึ่งจะออกมาพูด เป็นสโนว์บอลไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ถูกพูดถึงเรื่อยๆ ความคิดเห็นก็ย่อมหลากหลาย”
“ในทางตรงกันข้าม หากมีการนำมาพูดเพื่อความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็มีการปิดกั้นฝ่ายหนึ่ง ก็อาจเหนี่ยวนำไปสู่แรงต้านกลายเป็นคลื่นใต้น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลสะท้อนกลับทางลบได้อีก”
ทางออกที่ยังไม่ปิด
ในสถานการณ์ที่รัฐต้องเร่งสร้างความสมานฉันท์ การสร้างจุดร่วม สงวนจุดต่างระหว่างกลุ่มคนในสังคม ที่ล้วนต้องการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
สำหรับมุมมองของเอ็นจีโอสาวที่ทำงานด้านการปฏิรูปสื่อมานับ 10 ปีเห็นว่า สังคมไทยเองได้ก้าวมาอยู่มาเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังเป็นประชาธิปไตยที่ขาดภูมิคุ้มกัน หัวใจสำคัญในบรรยากาศนี้ คือ การธำรงสิทธิพลเมืองเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และก็ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อกันด้วย
“หากว่ารัฐจะปราบเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว อาจจับกุมไม่หวาดไม่ไหว อาจต้องมีการสร้างเรือนจำเพิ่ม เพื่อรองรับกรณีแบบนี้ เพราะจะมีคดีไปที่ศาลเยอะ ดังนั้น มันควรมีทางออกที่ว่า คือ รัฐควรร่วมกับทุกฝ่ายในการพูดคุย และแสวงหากติการ่วมกัน”
“ข้อเสนอหนึ่งก็คือ อยากให้รัฐเปิดเวทีให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พูดคุยและหาทางออก สอง-ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อยู่ในจุดที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็ปกป้องอาชญากรรมหรือความมั่นคงด้วย ประการที่สาม ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ก็ขอให้แต่ละฝ่ายช่วยกันกลั่นกรองกำกับดูแลกันเองเหมือนที่สื่อหนังสือพิมพ์เขาก็เรียกร้องการกำกับดูแลกันเอง”
สุดท้าย สุภิญญา เห็นว่า จริงๆ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯกับการหมิ่นฯเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็ถูกนำมาปนเปเป็นเรื่องเดียวกัน ว่าการแสดงความคิดเห็น คือ การหมิ่นฯ ดังนั้น จึงต้องกลับไปหามาตรฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่าขอบข่ายที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ควรเป็นอย่างไร หรือถ้าไม่ได้เลยก็ต้องบอกประชาชนให้ชัดเจน
ที่มา: เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 868 วันที่ 16 มกราคม 2552 หน้า 16-17
Tags: human rights, lese majeste, Supinya Klangnarong