วิทยุออนไลน์ สู้ตายค่ะ

2009.01.29 16:32

"ดีเจ เสียงใสๆ คนนั้นเป็นใคร ฉันถามหา…" จำเพลงฮิตของนันทิดา แก้วบัวสาย เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วกันได้หรือเปล่า

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : คุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยหลงเสียงหล่อของดีเจ น้ำเสียงพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เหมือนมีเพื่อนแก้เหงาจิตพิชิตอกหัก

ดีเจชายในฝันเสียงหล่อ คุยเก่ง เป็นมิตร เคยได้ยินแต่เสียงทางวิทยุ โถ…พอเจอตัวจริง หล่อค่ะ หล่อยังไม่เสร็จ เลยไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นพระสังข์ หรือสังข์ทองกันแน่

ยุคอินเทอร์เน็ตเบ่งบานยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โลกมันกลับตาลปัตรแล้ว ดีเจเขาไม่ได้นั่งเก๊กเสียงหล่ออยู่แต่ในห้องออกอากาศ แต่พวกเราแฟนรายการสามารถพบเห็นหน้าพวกเขา ฟังเสียงพวกเขา คุยกับพวกเขา ขอเพลง ผ่านสถานีวิทยุออนไลน์กันหน้าสลอน พวกเขาไม่ได้อยู่หลังไมค์แค่นั้น แต่ยังอยู่หลังจออีกด้วย

รายการวิทยุหลายสถานีเริ่มเปิดช่องทาง ติดต่อสื่อสารกับผู้ฟังทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมจากสถานีคลื่นวิทยุ ใครจะขอเพลง ฟังเพลง แชตออนไลน์ได้หมด เพื่อดึงแฟนรายการให้ติดหนึบไม่หมุนคลื่นไปช่องอื่น หนึ่งในนั้นคือ คลิก เรดิโอ รวมถึงคลื่นวิทยุน้องใหม่อย่าง ซี้ด เรดิโอ ที่กลุ่มเป้าหมายของสถานีเป็นคนรุ่นใหม่เหมาะกับช่องทางสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ยอดผู้ฟังทางเน็ตของคลื่นมาแรงโดยไม่ต้องอาศัยลมมรสุมจากทะเลจีนใต้

บางคลื่นขยับยุทธการแรงกว่า ไม่ใช่วิทยุออนไลน์แต่ฉายหน้าดีเจ ห้องออกอากาศให้เห็นกันสดๆ ไม่ปิดบัง ไม่อำพราง ใครหล่อ ใครสวย ใครกวน ได้เห็นกัน หนึ่งในนั้นคือ เวอร์จิ้นเรดิโอ (http://www.virginradiothailand.com) ที่ติดกล้องเว็บแคมแอบดูดีเจจัดรายการสด คุยไป มือไม้ปีนป่ายไปตามคีย์บอร์ด และปุ่มควบคุม เป็นระวิง จะมีเวลาส่วนตัวบ้างก็ตอนเปิดเพลง ดอดไปเข้าห้องน้ำ จิบโอวัลติน ให้คอหายแห้งแล้วค่อยมาจ้อกันต่อ

นอกจากจุดเปลี่ยนของกระแสวิทยุคลื่น หลักแล้ว อินเทอร์เน็ตยังเป็นช่องทางเกิดของสถานีวิทยุทางเลือก เนื่องจากเป็นสื่อที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก โดยใครๆ ก็สามารถจัดรายการวิทยุได้ หากจริงจังหน่อยก็สามารถทำรายการเป็นล่ำเป็นสัน มีกิจกรรมผ่านคลื่นบนหน้าเว็บไซต์ หารายได้ผ่านแบนเนอร์โฆษณา ดังเช่น www.radio.in.th

นอกจากเกมออนไลน์ เพลงออนไลน์ คลิปวีดิโอออนไลน์แล้ว สถานีวิทยุออนไลน์ยังเป็นสื่อทางเลือกใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนรักเสียงเพลง และไม่อยากแค่ฟังอย่างเดียว อยากจัดรายการเอง อยากเป็นดีเจเอง

ในอินเทอร์เน็ตยุค 2.0 ผู้ฟังก็เป็นผู้จัดได้เหมือนกัน ดังเช่นสถานีวิทยุออนไลน์ส่งตรงจากห้องนอนบนเว็บไซต์วิทยุของคุณที่ www.uradio.in.th

นอกจากนี้ สถานีข่าว สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุของสถาบันการศึกษา รวมถึงสถานีวิทยุขนาดเล็กอีกมากมายก็เลือกสื่อออนไลน์เป็นช่องทางถ่ายทอด เสียง จนปัจจุบันมีสถานีวิทยุขนาดเล็กเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด (ดอกอื่นเป็นไม่ได้เด็ดขาด) ไม่ว่าจะเป็น สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมเนเจอร์เรดิโอดอทคอม ไอเรดิโอคลับ สมาร์ทเรดิโอ พัทยา มูฟ สเตชั่น เรดิโอ ออนไลน์ เป็นต้น

วิทยุออนไลน์เปิดโอกาสให้ดีเจหน้าใหม่ ขยับไมค์ออกอากาศสด กันแบบฟรีๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนติดตั้งระบบสตรีมมิ่งถ่ายทอดเสียงผ่านเน็ต ดูท่าจะไปได้สวย เพราะแม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาระบบวิทยุออนไลน์ แต่ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ยูเรดิโอก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว

เพื่อประชาชน โดยประชาชน

“เมื่อคนรุ่นใหม่ใช้เวลาต่อวันอยู่หน้า จอคอมพิวเตอร์ ท่องโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สื่อเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน” มงคล ผอบนาง ผู้พัฒนาเว็บไซต์ http://www.uradio.in.thสถานีวิทยุออนไลน์ เริ่มต้นสนทนา

ปัจจุบัน ยูเรดิโอมีสมาชิกประมาณ 355 คน และเพิ่มขึ้นทุกวัน บ้างเลือกที่จะเป็นคนฟัง ขณะที่ 1 ใน 3 ของสมาชิกเว็บยูเรดิโอขอเป็นดีเจเอง ตัวระบบวิทยุออนไลน์พัฒนาขึ้นโดยระบบเมททริกซ์เรดิโอ บนพื้นฐานของโปรแกรมแฟลชแนวยูทูปทำให้การใช้งานง่าย สามารถถ่ายทอดเสียงสดๆ ไปถึงกลุ่มคนฟังบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากได้โดยที่คุณภาพเสียงไม่ลดลง

นอกจากนี้ ทีมพัฒนายังออกแบบให้มีห้องคุยกันสดๆ โต้ตอบระหว่างคนฟังและดีเจ รวมถึงกล้องวีดีโอ หรือ เว็บแคม ที่ช่วยสร้างอรรถรสในการฟังเพลงได้มากกว่ารายการวิทยุทั่วไป

“ดีเจหน้าใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้จัก กลุ่มหนึ่ง กำลังเปิดสถานีวิทยุออนไลน์บนเว็บไซต์ยูเรดิโอ บางคนเลือกเปิดเพลงแจ๊ซ เพลงร็อก เพลงเพื่อชีวิต เพลงลูกทุ่ง ไปจนถึงสถานีเพลงเกาหลี แบบว่างเมื่อไหร่ก็ออนไลน์เปิดสถานีกันเมื่อนั้น” หนุ่มมงคล นามสกุลออนไลน์บอกกับเรา

สถานีวิทยุออนไลน์ถือเป็นรูปแบบของ เว็บ 2.0 ที่รองรับการใช้งานมัลติมีเดียมากขึ้น เปิดให้ชุมชนคนอ่าน คนฟังเข้ามาร่วมสร้างเนื้อหา กำหนดชะตากรรมมากขึ้น เข้าทำนองเดียวกับเว็บสังคมออนไลน์แนว hi5.com และ Myspace.com สมาชิกค่อยๆ ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นโดยวัดจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในหน้าโปรไฟล์ของ สมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มดีเจอาสา

ยูเรดิโอเปิดให้สมาชิกที่เป็นปวารณา ตัวขอเป็นดีเจกับเขาสักวัน (หรือนานกว่านั้น) สร้างสถานีวิทยุของตัวเองขึ้นมา แล้วยังเอาไปปะที่เว็บอื่น เพื่อขยายชุมชนยูเรดิโอให้กว้างขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับเว็บคลังวีดิโอยอดฮิตอย่างยูทูป ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปนำโค้ดของวีดิโอที่ต้องการไปใส่ไว้ที่เว็บอื่นได้

ธานินทร์ วงษ์ศิริ ดีเจหนุ่มรุ่นใหญ่วัย 31 ปี จากเมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ หนึ่งในสมาชิกดีเจยูเรดิโอ บอกว่า ก่อนหน้าที่จะมาเปิดสถานีเพลงออนไลน์ ดีเจหนุ่มเคยออกอากาศสดอยู่ที่สถานีวิทยุชุมชนปากน้ำโพ คลื่นเอฟเอ็ม 89.75 เมกะเฮิร์ซ รายการดนตรีกล่อมเมือง เปิดเพลงแนวแจ๊ซ และรายการดนตรีเพลงร็อก “ Learning by ears” ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน จัดไปจัดมา สุดท้ายปลายทางก็เลิก เพราะมีภาระหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบมากขึ้น

ด้วยความที่หลงใหลในดนตรีร็อกหลาก หลายสไตล์ ตั้งแต่ร็อกเบาๆ ฟังสบาย ไปจนถึงดนตรีหนักกะโหลกร้าว ชายหนุ่มผู้มีชื่อเหมือนวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อธานินทร์มีโอกาสได้ทำความ รู้จักกับสถานีวิทยุออนไลน์ โดยการชักชวนของเจ้าของสถานี แจ๊ซ บูลส์ ร็อก ในยูเรดิโอ ที่ออกอากาศส่งตรงจากกรุงลอนดอน อยู่ก่อนแล้ว คุยกันได้ไม่กี่คำ หนุ่มปากน้ำโพตกลงใจขอเป็นดีเจอีกครั้ง แต่คราวนี้ทำด้วยใจ ไม่ได้ค่าแรง จัดรายการอยู่ที่บ้าน เปิดเพลงที่ชอบให้กับคนคอร็อกเหมือนกัน

"คือผมมีธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว แต่แบ่งเวลามาจัดรายการเป็นช่วงก่อนและหลังจากการทำงาน ปกติเปิดเพลงฟังเองอยู่แล้ว พอได้มาพบยูเรดิโอ ก็รู้สึกว่า ใช่ อยากแชร์เพลงที่เราชอบให้คนอื่นฟัง " เขาเล่าและบอกว่า ความพิเศษของสถานีวิทยุออนไลน์ที่ยูเรดิโออยู่ที่ ดีเจสามารถมองเห็นหน้าตาคนฟังและคุยกันสดๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับตัวเขา

หนุ่มปากน้ำโพผู้หลงรักชีวิตหลังไมค์ ยอมรับว่า เทคโนโลยีช่วยให้เขาได้ทำสิ่งที่ชอบ และไม่ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อนที่ต้องหอบแผ่น ไปจัดรายการเองที ละ 20-30 แผ่น ตอนนี้แค่เปิดคอมพิวเตอร์ คลิกชื่อเพลง ก็สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ พูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารประสบการณ์ มีแฟนประจำที่เวียนมาฟังอยู่เป็นประจำที่ http://blueframe.uradio.in.th

เลิกฟังความข้างเดียว

มงคล หุ้นส่วนบริษัท ลีโอนิกส์แล็ป และเป็นผู้พัฒนายูเรดิโอ เล่าที่มาของระบบเมทริกซ์เรดิโอที่ใช้ทำสถานีออนไลน์ว่า ทีแรกทำเพื่อสนองความต้องการของเว็บ rockonlinebysingha.com ที่ต้องการจัดรายการวิทยุสดๆ และถ่ายทอดเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าทำให้เต็มรูปแบบจะต้องซื้อระบบราคาแพงมาตั้งที่บ้าน

ต่างจากยูเรดิโอที่ออกแบบให้ใช้งาน ง่าย ผู้จัดสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนฟังผ่านทางกล่องแชตทันที ส่งสัญญาณเสียงให้กับคนฟังพร้อมกันมากกว่า 50 คนได้โดยที่คุณภาพเสียงไม่ลดลง

หลังจากที่ทดลองถ่ายทอดเสียงมาพอ สมควร เจ้าของระบบเมททริกซ์เรดิโอได้เปิดให้บริการวิทยุออนไลน์สำหรับคนทั่วไปที่ ต้องการจัดรายการที่บ้าน ฟรี โดยไม่ต้องมีค่าบริการรายเดือน เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีที่กลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์คนไทยพัฒนาขึ้นเองและใช้งาน ได้จริง ที่สำคัญต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับระบบถ่ายทอดเสียงบนอินเทอร์เน็ตที่ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

อุปกรณ์ของดีเจก็ไม่มีอะไรมาก แค่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสัก 1 เมกะบิต เพื่อถ่ายทอดสัญญาณเสียงได้อย่างราบรื่น ไม่แกว่ง และกระตุก ให้ขัดอารมณ์คนฟัง ดีเจบางคนหาไมค์มาต่อพูดสดออกอากาศ บางคนถึงกับลงทุนซื้อเครื่องมิกซ์เสียงมาใช้เพิ่มอรรถรสตอนจัดรายการ เสมือนว่าเป็นดีเจตัวจริงออกอากาศสดตามคลื่นวิทยุ

วิทยุออนไลน์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การถ่ายทอดเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดเท่านั้น เพราะพวกเขากำลังมองไกลไปถึงการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้งานบนโทรศัพท์ เครือข่าย 3จี ซึ่งแน่นอนในอนาคตการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เดินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยส่วนตัวของผู้พัฒนาระบบเมทริกซ์เรดิโอมองว่า สถานีวิทยุจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการจัดรายการ ตลอดจนกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างดีเจและกลุ่มคนฟัง วิทยุออนไลน์เป็นแค่ช่องทางหนึ่งในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

“ปัจจุบันสถานีวิทยุคลื่นหลักส่วนใหญ่ เต็มใจที่จะเพิ่มช่องทางถ่ายทอดเสียง รวมถึงเว็บแคม บางค่ายมองว่าช่วยให้สถานีดูทันสมัย แต่เอาเข้าจริงยอดผู้ฟังทางอินเทอร์เน็ตมีน้อยมาก” เขากล่าว

ตรงกันข้ามกับ บางสถานีวิทยุออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับฟังจากหน้าปัดวิทยุ ขึ้นอยู่กับฐานคนฟังและกิจกรรมที่ทำผ่านวิทยุออนไลน์เป็นหลัก วิทยุออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่กลุ่มคนฟังมักเป็นวัยรุ่น ที่ชื่นชอบการเล่นอินเทอร์เน็ตอยู่ก่อนแล้ว

สำหรับคนที่กำลังมองหาประสบการณ์ใหม่ นอกเหนือจากการเล่นอินเทอร์เน็ต คลิกเปิดเว็บค้นข้อมูลแล้วล่ะก็ ลองเปลี่ยนมาเป็นนักฟังเพลง หรือดีเจจัดรายการสด ถ่ายทอดสัญญาณเสียงจากวินแอมป์ ไอจูน หรือโปรแกรมเปิดเพลงสามัญประจำคอมพิวเตอร์ ให้คอดนตรีได้ฟังกันบ้างก็ไม่ว่ากัน

โดย จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

Tags:
%d bloggers like this: