เครือข่ายพลเมืองเน็ตรายงานภาพรวมเวทีประชุมระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2015 (Internet Governance Forum – IGF) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโจเอา เปสซัว ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. 58 ที่ผ่านมา
เวทีประชุมระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตเป็นเวทีที่มีผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตได้มาพูดคุยและถกเถียงกันถึงนโยบายที่จะมากำกับดูแลอินเทอร์เน็ต
หัวข้อหลักในเวที IGF ปีนี้คือ “วิวัฒนาการการอภิบาลอินเทอร์เน็ต: ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Evolution of Internet Governance: Empowering Sustainable Development) ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อย่อย 8 หัวข้อ ได้แก่ความปลอดภัยไซเบอร์และความเชื่อมั่น เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต การมีส่วนร่วมและความหลากหลาย ความเปิดกว้าง การขยายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และประเด็นอุบัติใหม่อื่นๆ
ในห้องย่อยว่าด้วยเรื่อง Big Data และความเป็นส่วนตัว มีข้อเสนอว่าควรจะต้องมีการจัดตั้งแนวปฏิบัติที่เป็นสากลเพื่อที่ทุกประเทศจะได้เข้าใจตรงกัน การใช้งาน Big Data ควรจะต้องโปร่งใสและได้สัดส่วน การจัดเก็บ Big Data ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย นอกจากนี้ แม้ Big Data ที่นำมาใช้งานจะเป็นข้อมูลแบบรวมที่ผ่านการทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้แล้วก็ตาม แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า มีโอกาสที่ข้อมูลดังกล่าวอาจสามารถนำมาระบุตัวตนกลับ (re-identification) ได้ (อ่านรายงาน)
ในประเด็นสิทธิที่จะถูกลืม (Right to Be Forgotten) มีการถกเถียงกันถึงการใช้คำ โดยมีผู้เสนอให้ใช้คำว่า “de-listing” (การลบไม่ให้เนื้อหาอยู่ในลิสต์ผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจิ้น) น่าจะตรงกว่าคำว่า “forgotten” มีผู้เห็นว่าสิทธิดังกล่าวจะสร้างภาระต่อตัวกลาง และอาจถูกใช้ไปในทางที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบแจ้งเตือนและนำออก มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ด้วยว่า หากถูกใช้อย่างไม่เหมาะสม สิทธิที่จะถูกลืมนี้อาจส่งผลลบต่อสิทธิมนุษยชนด้านอื่น เช่น สิทธิในการรับรู้ความจริง สิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพของสื่อ ซึ่งสิทธิเหล่านี้เหล่านี้เป็นสิทธิที่จำเป็นของการดำรงอยู่ของประชาธิปไตย (ยกตัวอย่างเช่น นักการเมืองอ้างสิทธิที่จะถูกลืมเพื่อขอลบประวัติที่ไม่ค่อยขาวสะอาดของตัวเอง ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ)
ในประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล มีการถกเถียงกันถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลต่อการจ้างงาน โดยหลายคนเห็นว่า แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทำงานอาจส่งผลต่อการลดการจ้างงานในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว นวัตกรรมต่างๆ จะสร้างให้เกิดงานที่มากขึ้นในอนาคต
เรื่อง zero rating เป็นประเด็นร้อนในเวที IGF ครั้งนี้ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าบริการแบบ zero rating (การให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงบางบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น บริการ Free Basics ของเฟซบุ๊กซึ่งเพิ่งเข้ามาในไทยเช่นกัน) ละเมิดหลักความเป็นกลางทางเครือข่าย (net neutrality) ขณะที่อีกฝ่าย (ซึ่งก็คือเฟซบุ๊กนั่นเอง) ให้เหตุผลว่า นี่จะเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศกำลังพัฒนา มีผู้วิจารณ์กลับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับบริการ zero rating ด้วยว่า ไม่ต่างอะไรกับการที่คนที่มีทรัพยากรพร้อมอยู่แล้วบอกคนที่ไม่มีทรัพยากรว่า การอยู่แบบไม่มีทรัพยากรอะไรเลยต่อไปดีกว่า และรอไปอย่างนี้จนกว่าคุณจะได้ทรัพยากรครบ ฝ่ายตัวแทนจากวิกิมีเดีย (ซึ่งมีบริการ zero rating เหมือนกันที่ชื่อ Wikimedia Zero) บอกว่า เราไม่ควรเถียงกันอยู่ถึงแค่ว่า zero rating ดีหรือไม่ดี แต่ควรคุยกันว่าเราจะสามารถทำ zero rating อย่างมีความรับผิดชอบได้อย่างไร โดยวิกิมีเดียอ้างว่าบริการ Wikimedia Zero ของตนสอดคล้องกับหลักการความเป็นกลางทางเครือข่าย ท้ายสุดมีผู้ให้ความเห็นด้วยว่า การเถียงกันเรื่องนี้ควรเถียงกันให้เป็นระบบ โดยเสนอให้มองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของตลาด และดูว่า zero rating ทำให้ตลาดบิดเบือนแค่ไหน มีผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร (อ่านรายงาน)
นอกจากประเด็น zero rating แล้ว ในเรื่องการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการพัฒนา ยังมีการพูดถึงว่า การเพียงเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังไม่เพียงพอ แต่การจะทำให้คนได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าถึงคือผู้ใช้ต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องด้วย การเข้าถึงยังมีแง่มุมเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยพบว่าผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำกว่าเพศชายอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ ในการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มการเข้าถึง ปัจจุบันยังมีปัญหาการขาดแคลนข้อมูลที่เกี่ยวกับขนาดและต้นทุนของการเคลื่อนที่ของอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ออกแบบนโยบายในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถวางแผนในเรื่องนี้ได้
สำหรับประเด็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ งาน IGF ครั้งนี้เน้นไปที่ IXP (Internet Exchange Point) และ IPv6 โดยเนื้อหาในการพูดคุยมีอยู่ว่า การจะขยายจำนวน IXP ควรใช้ระบบตลาด โดยมีรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลควรเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น
ในเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ เวทีให้ความเห็นว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงมีบทบาทสำคัญมากในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และว่าตอนนี้แนวทางการดูแลรักษาความปลอดภัยไซเบอร์มุ่งเน้นไปในทางเทคโนโลยีมากเกินไปจนละเลยเรื่องของคน (เช่น ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์) ในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ รัฐบาลควรต้องทำงานร่วมกับเอกชน องค์กรกำกับดูแล และรัฐบาลประเทศอื่นๆ ส่วนการทำให้กฎหมายในภูมิภาคมีความสอดคล้องกันและความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างรัฐบาลมีความสำคัญต่อการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์
ประเด็นการเข้ารหัสเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในเวทีนี้ โดยข้อถกเถียงยังคล้ายเดิม คือฝ่ายสนับสนุนสิทธิมนุษยชนบอกว่าการเข้ารหัสเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะที่ฝ่ายรัฐก็ให้เหตุผลว่ารัฐจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสได้เพื่อป้องกันอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอในเวทีด้วยว่า เราควรจะมีกรอบสากลระหว่างประเทศขึ้นมากำกับดูแลการเข้ารหัส
เรื่องความเป็นส่วนตัวและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประเด็นที่พูดถึงมากเช่นกันสืบเนื่องจากงาน IGF ปีที่แล้ว โดยข้อถกเถียงยังเป็นแนวเดิม คือเราจะหาแนวทางสายกลางที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวแต่ในขณะเดียวกันก็ดูแลความปลอดภัยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หลายคนเห็นตรงกันว่า การจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องมีความโปร่งใส อีกหนึ่งคำถามที่มีการถามขึ้นในเวทีนี้คือ การปกป้องความเป็นส่วนตัวควรถูกจัดการในระดับประเทศหรือในระดับระหว่างประเทศกัน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในเวทีบอกว่าควรจะเป็นไปในระดับประเทศ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีกรอบแนวทางหรือกฎหมายที่จะดูแลคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในระดับระหว่างประเทศ
ในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หลายคนเรียกร้องให้มีการสร้างกรอบแนวทางในเรื่องนี้ที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้ในระดับสากล
ในงานยังมีเวิร์กช็อปที่น่าสนใจอีกหนึ่งเวิร์กช็อปคือ “ความตายและอินเทอร์เน็ต” (Death and the Internet) ซึ่งถกเถียงกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลอันมหาศาลที่กระจายอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อเราจากโลกนี้ไป นี่เกี่ยวพันกับประเด็นความเป็นส่วนตัว เรื่องนโยบายและการกำกับดูแล เขตอำนาจศาล บทบาทของผู้ออกแบบนโยบาย ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ยังเถียงกันไม่ตกและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ส่วนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ออกมาจากเวที IGF 2015 คือ เอกสารข้อเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) 6 ฉบับ ข้อเสนอจำนวนจากคณะทำงาน (Dynamic Coalition) 8 กลุ่มที่พูดถึงอาทิ เรื่อง เพศ, สิทธิอินเทอร์เน็ต, ความเป็นกลางทางเครือข่าย, Internet of Things, การเข้าถึง นอกจากนี้ยังมีเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการทำให้คนอีกกว่าพันล้านคนมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต “Connecting the Next Billion” ซึ่งมาจากการร่วมร่างจากผู้มีส่วนร่วมกว่า 80 บุคคลและองค์กร ทั้งที่มาจากเวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตระดับภูมิภาคและระดับชาติ รวมถึงบุคคลและองค์กรอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องนี้ด้วย
ในช่วงเปิดไมค์ก่อนพิธีปิด มีผู้ให้ความเห็นว่า IGF ควรจะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมออกมา โดยแนะให้ดูตัวอย่างจากเวที Net Mundial มากกว่าจะเป็นเวทีที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันเฉยๆ อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่เห็นว่าควรคงรูปแบบ IGF แบบที่เป็นอยู่เช่นนี้ไว้ เพราะการมีข้อเสนอหรือเอกสารทางการออกมาจะเป็นไปได้อย่างไรว่าข้อเสนอนั้นจะเป็นข้อเสนอที่มาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และก็อาจทำให้ในคนที่สนใจก็อาจเลิกมางาน IGF ในที่สุด
เวที IGF 2015 นี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดที่อยู่ที่โจเอา เปสซัว กว่า 2,400 คน (ตัวเลขอ้างจากข่าวประชาสัมพันธ์ของ IGF) และอีก 4,000 คนที่เข้าร่วมแบบทางไกล เวทีประกอบด้วยเวิร์กช็อปและเวทีทั้งหมดกว่า 150 ห้อง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ดูรายงานเวที IGF 2015 จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต
- บ็องเชีย บราซิล! พาทัวร์หัวข้อน่าสนใจงาน IGF 2015 (เรียกน้ำย่อย)
- ฟรีดอมเฮาส์นำคณะผู้แทนสู่เวทีการอภิบาลเน็ต 2015 ร่วมผลักดันเสรีภาพออนไลน์
- Big Data ต้องใช้อย่างมีการกำกับดูแล โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล (IGF 2015)
- สิทธิที่จะประท้วงออนไลน์ & Zero Rating ในประเทศกำลังพัฒนา: รายงานเวที IGF 2015
- “วันหน้าเราจะครองอินเทอร์เน็ต” เยาวชนใช้ช่วงเปิดไมค์ร้องให้ IGF เปิดกว้างต่อคนรุ่นใหม่
พินดา พิสิฐบุตร รายงาน