Thai Netizen Network

บ็องเชีย บราซิล! พาทัวร์หัวข้อน่าสนใจงาน IGF 2015 (เรียกน้ำย่อย)

พินดา พิสิฐบุตร

บ็องเชีย โจเอา เปสซัว!

นับเวลาถอยหลังอีก 7 วัน งานประชุมระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum – IGF) ครั้งที่ 10 ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว ณ เมืองโจเอา เปสซัว (João Pessoa) ประเทศบราซิล วันที่ 10-13 พ.ย. 2558 นี้

ห้องย่อยต่างๆ นับร้อยห้อง คงกำลังอยู่ระหว่างถูกปัดกวาด เช็ดถู และเช็คความพร้อมอีกรอบ ก่อนจะได้ต้อนรับผู้เข้าร่วม ทั้งตัวแทนรัฐบาล ภาคเอกชน ชุมชนนักเทคนิค นักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายที่ไม่ได้เอ่ยนามในที่นี้

จะอารัมภบทไปไย ขอตรงไปที่การแนะนำสินค้ากันเลย “วิวัฒนาการการอภิบาลอินเทอร์เน็ต: ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Evolution of Internet Governance: Empowering Sustainable Development) คือหัวข้องาน IGF ครั้งนี้ ซึ่งได้ถูกซอยย่อยต่อไปอีกเป็น 8 หัวข้อ ทั้งความปลอดภัยไซเบอร์และความเชื่อมั่น เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต การมีส่วนร่วมและความหลากหลาย ความเปิดกว้าง การขยายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และประเด็นอุบัติใหม่ (emerging issues) อื่นๆ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอหยิบหัวข้อเวิร์กช็อปที่น่าสนใจบางส่วนในงานมารีวิวให้ฟังกัน

การเมืองเรื่องการเข้ารหัส (เวิร์กช็อป 53)

(The Politics of Encription)

การเข้ารหัส (encryption) เป็นองค์ประกอบของการสร้างความเชื่อมั่นบนอินเทอร์เน็ต การเข้ารหัสเป็นสิ่งจำเป็นเพราะมันช่วยรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว และช่วยส่งเสริมการซื้อขายออนไลน์ ระดับของการเข้ารหัสมีตั้งแต่ไม่มีการเข้ารหัสเลย จนถึงระดับสูงสุดคือการเข้ารหัสแบบที่ไม่อาจถอดได้ซึ่งไม่มี “ประตูหลัง” (backdoor)

ทั้งเทคโนโลยี การเมือง และท่าทีของสาธารณชนต่างเป็นปัจจัยที่จะกำหนดระดับการเข้ารหัสที่เหมาะสมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม

ระดับการเข้ารหัสที่เหมาะสมยังไม่ใช่สิ่งตายตัว ทว่าปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บ่อยครั้ง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปในด้านที่ส่งเสริมการเข้ารหัสแบบขั้นสูง ความพยายามของรัฐที่จะทำลายการเข้ารหัสเหล่านั้นก็เพิ่มสูงตามไปด้วย อันนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า “สงครามการเข้ารหัส” (crypto war) เช่นเดียวกัน ฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนหรือต่อต้านการเข้ารหัสอย่างสุดขั้วย่อมสร้างให้เกิดฝ่ายตรงข้ามขึ้นมา

เวิร์กช็อปนี้จะพูดคุยถึงการเมืองของการเข้ารหัส เช่น จุดสมดุลของการเข้ารหัสออนไลน์ควรอยู่ตรงไหน ระบบการอภิบาลอินเทอร์เน็ตจะตอบรับกับกระแสอุปสงค์และอุปทานของการเข้ารหัสที่เปลี่ยนไปมาอย่างไร หลังการเปิดโปงหน่วยงานสอดแนมของสหรัฐฯ โดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เราควรออกแบบโปรโตคอลแบบไหนเพื่อที่จะนำความเชื่อมั่นกลับมาสู่ระบบ โดยจะมีผู้นำอภิปรายจากทั้งภาคธุรกิจเอกชน รัฐบาล นักเทคโนโลยี และองค์กรภาคประชาชน

สิทธิที่จะประท้วงออนไลน์ (เวิร์กช็อป 159)

(The Right to Protest Online)

นอกจากอินเทอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งและรายงานข่าวการประท้วงแล้ว อินเทอร์เน็ตยังถูกใช้เป็นเวทีของการประท้วงด้วย เมื่อคนหลายคนมารวมตัวกันบนพื้นที่ออนไลน์และมีปฏิสัมพันธ์กันจนนำไปสู่การประท้วงที่เรียกว่า “virtual protest”  ที่ผ่านมา แม้จะมีการเรียกร้องให้มีการยอมรับสิทธิที่จะประท้วงออนไลน์ แต่บทวิเคราะห์เรื่องสิทธิมนุษยชนกับการประท้วงออนไลน์ก็ยังคงมีน้อยอยู่ นอกจากนี้ กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ในหลายประเทศก็จัดให้การประท้วงออนไลน์เป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของมัน

เวิร์กช็อปนี้จะพูดคุยกันถึง “virtual protest” ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ และถกเถียงกันว่า virtual protest ในลักษณะไหนที่ควรได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งพูดถึงความท้าทายของการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมบนพื้นที่ออนไลน์

ผลการตัดสิน “สิทธิที่จะถูกลืม” และผลที่จะตามมา (เวิร์กช็อป 31)

(The “Right to be Forgotten” Rulings and their Implications)

เวิร์กช็อปนี้จะพูดถึงความท้าทายของการบังคับใช้ “สิทธิที่จะถูกลืม” ทั้งในทางกฎหมาย (ในและนอกเขตอำนาจศาลของประเทศ) ในทางเทคนิคและการพาณิชย์ ผลทางสังคมที่จะตามมา (อย่างผลประโยชน์สาธารณะเมื่อมีการลบข้อมูลหรือเนื้อหาบางอย่างออกจากเสิร์ชเอนจิน) รวมทั้งแง่มุมสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล ความรับผิด (accountability)

เวิร์กช็อปจะถกเถียงกันตั้งแต่เรื่องคำที่ใช้ [จะใช้คำว่า “ถูกลืม” (forgotten) การลบลิงก์ (delinking) การลบ (deletion) หรือการไม่แสดงในลิสต์ผลการค้นหา (delisting)] ใครจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้ลบหรือไม่ (ศาล ผู้ให้บริการ หรือใคร) และการตัดสินมีกระบวนการเช่นไร เนื้อหาแบบไหนถึงควรถูกลบ ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการตัดสินใจดังกล่าว รวมถึงเรื่องทางเทคนิค อาทิ ข้อจำกัดของการลบลิงก์ ความเป็นเจ้าของและการควบคุมล็อกข้อมูล (data-logs) การลบลิงก์สามารถถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้อย่างไรบ้าง และประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม เช่น ควรมีการจำกัดการใช้สิทธิที่จะถูกลืมในกรณีไหนบ้างเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล หรือเพื่อไม่ให้บันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน หรือไปขัดขวางความพยายามในการหาความรับผิดสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต

เมื่อรัฐบาลกด “ไลค์” สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (เวิร์กช็อป 125)

(When Governments Hit ‘Like’ on the ‘War on Terror’)

ปี 2015 หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในปารีส ตูนิส และเคนยา รัฐบาลหลายประเทศหันมาเข้มงวดกับการป้องกันการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น หลายประเทศเสนอกฎหมายที่จะให้อำนาจรัฐในการสอดแนมและแทรกแซงเนื้อหาบนโลกออนไลน์

มีข้อโต้เถียงเสมอมาระหว่างความพยายามป้องกันการก่อการร้ายดังกล่าวกับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน การร่วมพูดคุยกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นวิธีการที่จำเป็น เพื่อที่จะค้นพบจุดสมดุลระหว่างการรับมือการก่อการร้ายและการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในเวิร์กช็อป ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนจะมาร่วมพูดคุยและแสดงความเห็นต่อ 3  แนวทางในการจัดการกับการก่อการร้ายออนไลน์ที่กำลังเป็นกระแสหลักในช่วงนี้ อันได้แก่ 1. กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายออกจากระบบโดยไม่ต้องขอหมายศาล 2. ความพยายามของรัฐบาลและภาคประชาชนที่จะสร้างวาทกรรมอีกแบบขึ้นมาบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย เพื่อสู้กับวาทกรรมของผู้ก่อการร้าย 3. ข้อเสนอห้ามไม่ให้มีการเข้ารหัสแบบต้นทางและปลายทาง (end-to-end encryption) จากรัฐ

วัดผลบริษัทที่ทำธุรกิจด้านไอซีทีในเรื่องสิทธิดิจิทัล ด้วยเกณฑ์มาตรฐาน (เวิร์กช็อป 60)

(Benchmarking ICT companies on digital rights)

หลายปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมพยายามดึงให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านไอซีทีเข้ามาร่วมรับผิดชอบในเรื่องผลกระทบจากการประกอบธุรกิจต่อสิทธิมนุษยชน รายละเอียดเวิร์กช็อประบุว่า ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงบริษัทเอกชนด้วย ควรหันมาสนใจในเรื่องการวางมาตรฐานภายในอุตสาหกรรม เพื่อที่จะประเมินผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การมีงานวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติของบริษัทหลายๆ บริษัทจะสามารถช่วยกระตุ้นให้บริษัทแข่งขันกันเอง เพื่อที่จะพัฒนาระเบียบปฏิบัติและนโยบายเพื่อให้เคารพสิทธิของลูกค้า

เวิร์กช็อปนี้มีจุดมุ่งหมายคือระดมความเห็นจากนักวิจัยและเอ็นจีโอหลายฝ่าย เพื่อสร้างตัวชี้วัดและจัดอันดับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านไอซีที โดยมีภาคธุรกิจและรัฐบาลเข้ามาร่วมสะท้อนความเห็นว่า โครงการที่พูดคุยกันไปนั้นจะมีผลต่อระเบียบปฏิบัติของบริษัทและนโยบายของรัฐได้มากน้อยแค่ไหน

มรดกเอกสารในยุคดิจิทัล (เวิร์กช็อป 108)

(Documentary heritage in the digital age)

ทุกวันนี้ความรู้และงานที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ได้ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมหาศาลบนอินเทอร์เน็ต ความรู้จำนวนมากเหล่านี้ถูกแบ่งปัน เข้าถึง และเก็บรักษาเอาไว้ในรูปแบบดิจิทัล อันนำมาสู่คำว่า ““มรดกดิจิทัล” (digital heritage)

การแปลงความรู้ให้อยู่ในรูปดิจิทัลช่วยส่งเสริมการเข้าถึง เนื่องจากการเข้าถึงใช้ต้นทุนไม่มาก อย่างไรก็ตาม ในประเทศกำลังพัฒนา ต้นทุนในการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปดิจิทัลและการรักษาข้อมูลดิจิทัลดังกล่าวยังคงมีต้นทุนสูงอยู่

เวิร์กช็อปจะนำเสนอกรณีศึกษาโครงการ “แสกนเอกสารบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับทาสในประเทศคิวบา” ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติที่ได้ทุนสนับสนุนจากองค์กรยูเนสโก มีขึ้นเพื่อรักษาเอกสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศคิวบา

ส่งเสริมการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น เพื่อปกป้องสิทธิอินเทอร์เน็ต (เวิร์กช็อป 187)

(Promoting local actions to secure internet rights)

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ คำว่า “การอภิบาลอินเทอร์เน็ต” ยังเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจและไม่ได้มีการพูดถึงกันนัก เวิร์กช็อปนี้จะนำองค์กรท้องถิ่นจากหลายประเทศมาพูดคุยกันว่า การผลักดันกลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ตในระดับโลกสามารถช่วยเกื้อหนุนการรณรงค์ในระดับท้องถิ่นเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิได้อย่างไรบ้าง โดยจะพูดถึงการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชนจากมุมมองของท้องถิ่นและระดับรากหญ้า และเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์การผลักดันกลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ตขององค์กรท้องถิ่นในบริบทโลก

หัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ในงานยังมีหัวข้อน่าสนใจอื่นๆ อีก อาทิ Internet of Things ยานยนต์ไร้คนขับ และการอภิบาลอินเทอร์เน็ต, การเข้ารหัสและความเป็นนิรนามกับสิทธิและความเสี่ยง, การอภิบาลอินเทอร์เน็ต ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวในปี 2030, Big Data เพื่อการพัฒนา: ความเป็นส่วนตัว ความเสี่ยง และโอกาส, การชำระเงินทางมือถือจะช่วยเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจได้อย่างไรและความท้าทายที่จะตามมา, การถกเถียงเรื่องความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตและระบบ “zero rating”, เทคโนโลยี Blockchain และบิตคอยน์, การเก็บภาษีธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต, ข้อดีและความท้าทายของการไหลเวียนของข้อมูลอย่างเสรี, เสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์กับช่องว่างระหว่างนโยบายและการปฏิบัติ, การอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการควบคุมข้อมูลข่าวสาร: บทเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดู หัวข้อเวิร์กช็อปและห้องย่อยทั้งหมด

สำหรับหลายคนที่ไม่ได้ไปร่วมงาน ก็สามารถเข้าร่วมแบบทางไกล (remote participation) ได้ โดยทุกเวิร์กช็อปและห้องย่อยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ หรือใครถนัดอ่านก็มีสคริปต์สดขึ้นมาให้อ่านกัน เราจะส่งลิงก์การเข้าร่วมแบบทางไกลมาให้ โปรดคอยติดตาม

 

Exit mobile version