ที่มา
ขณะที่เรากำลังใช้เน็ต รู้หรือไม่ว่าที่ข้างหลังจอนั้นไม่มีแค่คอมพิวเตอร์และสายส่งข้อมูลเท่านั้น แต่มีผู้คน องค์กร และอุปกรณ์หลายสิ่งหลายอย่างกำลังทำงานอยู่อย่างเงียบๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เราเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย หรือบางทีก็กำหนดว่าเราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้บ้าง
ผู้คนทั่วโลกใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ต่างๆ กัน ทั้งเพื่อการสื่อสาร สืบค้นข้อมูล สร้างและรักษาเครือข่ายทางสังคม ประกอบธุรกิจ ร่วมกิจกรรมสันทนาการและความบันเทิง แสดงความคิดเห็น หรือเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลง และไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่คุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆ ก็เริ่มคุยกันเองผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยไม่ได้มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป
เมื่อมีผู้คนและองค์กรต่างๆ มาร่วมใช้พื้นที่อินเทอร์เน็ตนี้มากขึ้น มีประเด็นขัดแย้งกันหรือประเด็นเป็นห่วงร่วมกันมากขึ้น ก็มีความพยายามมีข้อตกลงและการจัดการบางอย่าง ไม่ว่าจะบังคับใช้โดยปัจเจกบุคคล หน่วยงาน หรือโปรแกรมอัตโนมัติ เพื่อรักษาพื้นที่อินเทอร์เน็ตให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้อย่างสะดวกใจ ปลอดภัย มั่นใจว่าจะไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในราคาที่จ่ายไหว อันเป็นที่มาของมาตรการและข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น การควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก การป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ การรับประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยไม่เลือกปฏิบัติ มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านั้น ในหลายเรื่องมีความเชื่อมโยงและทับซ้อนกัน แต่ใครล่ะที่เป็นผู้วางมาตรฐานหรือเป็นผู้คุมกฎ และมาตรฐานและกฎดังกล่าวนั้น มีที่มาอย่างไร
โรงเรียนพลเมืองเน็ต เกิดจากความคิดที่อยากให้พลเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน มีความเข้าใจต่อแนวทางการกำกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นอยู่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นถึงนโยบายที่อยากให้เป็น ผ่านการเรียนรู้ประเด็นกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่ออินเทอร์เน็ต และประเด็นที่อินเทอร์เน็ตส่งผลต่อสิ่งเหล่านั้น การอบรมระยะสั้นนี้ จะหยิบยกตัวอย่างทางเลือกในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตขึ้นมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อวางพื้นฐานให้ทุกคนสามารถไปขบคิดต่อไปได้ว่า ทางเลือกที่เหมาะสม ในสายตาของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร
สาระการอบรม
- วาดแผนที่นโยบายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน — อะไรคือการอภิบาลอินเทอร์เน็ต?
- ตัวแบบในการวิเคราะห์นโยบายอินเทอร์เน็ต: ด้านกฎหมาย, สังคมวัฒนธรรม, เทคโนโลยี, และเศรษฐกิจ
- การกำกับดูแลเนื้อหาและเนื้อหาที่อาจเป็นอันตราย
- อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
- ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
- ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายอินเทอร์เน็ต และ ASEAN ICT Masterplan
- สื่อสังคมกับขบวนการทางสังคม
- การคุ้มครองเด็กและเยาวชน
- การสอดส่องออนไลน์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- มุมมองสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายอินเทอร์เน็ต
ระยะเวลา
29-31 พฤษภาคม 2558
สถานที่
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์
จัดโดย
มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง และมหาวิทยาลัยเครือข่าย
คุณสมบัติผู้สมัคร
- ร่วมการอบรมได้ต่อเนื่องทั้ง 3 วัน (ทางโครงการจัดที่พักใกล้มหาวิทยาลัยให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนหากต้องการ)
- เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป (คณะใดก็ได้) หรือกำลังทำงานอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง หรือมีความสนใจทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องในอนาคต
- อายุไม่เกิน 35 ปี
- สามารถขอรับทุนสนับสนุนการเดินทางได้
การสมัคร
กรอกใบสมัครออนไลน์ที่ http://goo.gl/ehpJwB ภายใน 25 พฤษภาคม 2558
สอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2279-8934 และ 0-897-894-845
ประกาศนียบัตร
ผู้เข้าร่วมที่มีส่วนร่วมในการอบรมตามเกณฑ์ จะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการ