Thai Netizen Network

NSA สอดแนมมวลชน-ดักฟังข้อมูล เกี่ยวอะไรกับเราด้วย?

8 มีนาคม 2557 – เจ้าหน้าที่จากองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล (Privacy International) ร่วมเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ NSA สอดแนมมวลชน- ดักฟังข้อมูล เกี่ยวอะไรกับเราด้วย? (What and Why do we need to know about NSA spying?) ณ ห้องสมุดศิลปะ The Reading Room  สรุปเป็นภาษาไทย โดย สฤณี อาชวานันทกุล

แมทธิว ไรซ์  (Matthew Rice) เจ้าหน้าที่จากองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล ชวนคุยย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของข่าวใหญ่เกี่ยวกับการสอดแนมประชาชน ก่อนมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลโครงการของสำนักความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ เอ็นเอสเอ (NSA) โดยแบ่งยุคเป็น 2 ยุค คือ “ยุคก่อนสโนว์เดน” และ​ “ยุคหลังสโนว์เดน”

Pre-Snowden: ยุคก่อนสโนว์เดน เรารู้อะไรบ้าง?

  1. เรารู้ว่ารัฐบาลต่างๆ มีองค์กรข่าวกรองเป็นของตัวเอง
  2. กลุ่มองค์กรข่าวกรองเหล่านั้นเป็นพันธมิตรกัน นั่นคือ กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก หรือไฟว์อายส์ (Five Eyes) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และมีการปฏิบัติงานบางอย่างด้วยกัน เช่น มีการสร้างโปรแกรมเอชเชอรอน (ECHELON) คือ โปรแกรมดักข้อมูลที่ดักผ่านการส่งอีเมล และดาวน์โหลดไปยังคอมพิวเตอร์
  3. บริษัทเอกชนต่างๆ มีภาระหน้าที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบังคับกฎหมาย ฝ่ายความมั่นคง ข่าวกรอง และถูกกำกับด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้
  4. อินเทอร์เน็ตมีโครงสร้างหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

Post-Snowden: ยุคหลังสโนว์เดน เราเรียนรู้อะไรบ้าง?

  1. หน่วยงานข่าวกรองต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่พันธมิตรกัน แต่ร่วมกันสอดแนมให้กันและกัน เช่น สมมติว่าพลเมืองของอังกฤษคนหนึ่งเดินทางออกนอกประเทศ หากรัฐบาลอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพลเมืองคนนั้น ก็จะมีการขอให้สหรัฐฯ ส่งข้อมูลของคนอังกฤษให้
  2. เอ็นเอสเอทำให้มาตรฐานทางเทคนิคด้านความปลอดภัยอ่อนแอลง เมื่อก่อนเรามั่นใจว่าการส่งอีเมลของเราปลอดภัย แต่เอ็นเอสเอเข้าไปแทรกแซงการทำงาน ทำให้ถอดรหัสได้ง่ายขึ้น
  3. บริษัทเอกชนมีข้อตกลงกับหน่วยงานข่าวกรองต่างๆ คือ บริษัทเอกชนเหล่านั้นยอมให้เอ็นเอสเอเข้าถึงระบบเซิร์ฟเวอร์ได้ ทั้งแบบที่บริษัทรับรู้และไม่รับรู้
  4. โครงสร้างทางกายภาพของอินเทอร์เน็ตทำให้เราตกเป็นเหยื่อของการสอดแนม

นอกจากนี้ยังมีระบบของหน่วยงานข่าวกรองของสหราชอาณาจักร​หรือจีซีเอชคิว (GCHQ: Government Communications Headquarters) เป็นโครงการที่มีการเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ระบบการดักข้อมูลที่ระบบใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เพื่อดูดข้อมูลการสื่อสารโดยตรง เน้นการสื่อสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและที่อื่นๆ จุดขายของโครงการนี้คือกฎหมายและการกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรค่อนข้างอ่อน​เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา​

แมทธิวท้าวความไปเมื่อทศวรรษ 1990 มีการต่อสู้ระหว่างนักเข้ารหัสกับหน่วยงานข่าวกรองที่ไม่อยากให้มีการเข้ารหัสที่แข็งแรงนัก ซึ่งผลของสงครามนี้คือหน่วยงานข่าวกรองแพ้ ทำให้มีมาตรฐานการเข้ารหัสที่แข็งแรงมากขึ้น ได้มาตรฐาน หลายคนก็มั่นใจมากขึ้น​

แต่ก็มีโครงการใต้ดินของเอ็นเอสเอที่เข้าไปแทรกแซงองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานเทคนิคด้านความปลอดภัย ซึ่งทำให้วิธีการเข้ารหัสอ่อนแอ ไม่ให้มันแข็งแรงกว่าเดิม และยังได้เข้าไปในระบบ วิธีการแบบนี้ เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบมาก ทำให้คนอื่นสามารถเข้าไปต่อได้ เช่น รัฐบาลสามารถเข้าไปดูข้อมูลต่อได้หลังจากการเข้าไปเจาะระบบของเอ็นเอสเอ ซึ่งเอ็นเอสเอเองก็รู้ว่าจะเกิดผลพวงแบบนี้ขึ้น

ปริซึม (PRISM) เป็นโครงการที่โด่งดังมากที่สุดของเอ็นเอสเอ โดยสามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้มากมาย บริษัทเหล่านี้ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเอ็นเอสเอ แต่หลักฐานที่ออกมาคือไม่ใช่ มีข่าวว่าค่าใช้จ่ายของโครงการนี้กับบริษัทเอกชนต่างๆ คือ 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มันอาจจะเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการก็ได้

ดังนั้น สิ่งที่เรารู้แล้วคือเอ็นเอสเอเข้าไปแทรกแซง แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน คือ ผู้บริหารอาจจะไม่รู้เห็นหรือไม่รู้เห็น แต่ถูกแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว และเรารู้แล้วว่ามีบางโครงการที่บริษัทเอกชนให้ข้อมูลบางอย่างกับเอ็นเอสเอ แต่ก็มีบางโครงการที่เอ็นเอสเอเข้าไปดักฟัง เจาะระบบ หรือเข้าไปดักการเชื่อมต่อภายในเอง เช่น การเข้าไปเจาะระบบ 1 ในฐานเก็บข้อมูลของกูเกิลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งกูเกิลอาจจะชะล่าใจและไม่ได้เข่ารหัสโครงข่ายนี้ไว้

เอ็นเอสเอใช้วิธี “man in the middle attack” หรือการคั่นกลางการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายภายในเอง กล่าวคือ เจอช่องโหว่ตรงไหนก็เข้าตรงนั้นนั่นเอง

Why should we care about this?: แล้วเราจะสนใจเรื่องนี้ทำไม?

แมทธิวตอบว่า ต่อให้เราไม่ได้ใช้โปรแกรมแชทต่างๆ แค่อยู่บนอินเทอร์เน็ตก็ตามเราก็ถูกสอดแนมได้เหมือนกัน สมมติเราจะส่งอีเมลจากเอเชียไปแอฟริกา มันก็จะถูกดึงข้อมูลไปสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วค่อยเด้งกลับไปที่ปลายทาง หรือแม้กระทั่งการส่งภายในเอเชียเองก็ตาม ก็ยังมีการเก็บข้อมูลที่ส่งผ่านไฟเบอร์ออฟติค

เหตุผลที่เราต้องสนใจและเป็นกังวลนั้นก็เพราะระบบการเข้าสอดแนมทั้งหมดทำให้สถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ตอ่อนแอลง ตอนที่เราใช้อีเมล เช่น จีเมล ยาฮู ฯลฯ เราเชื่อมั่นว่ามันปกป้องความปลอดภัยของเราได้ นักเทคนิคหลายคนตกใจไม่คิดว่ามันจะทำให้มาตรฐานความปลอดภัยของการเข้ารหัสอ่อนแอลงได้ถึงเพียงนั้น

ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการสอดแนมนี้ คือ มันเป็นการละเมิดสิทธิของเราทุกคนโดยตรง ละเมิดปฏิญญาสากลว่าสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสื่อสาร การสอดแนมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจำเป็น แต่มันดักข้อมูลทั้งหมดของเราเท่าที่มันทำได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคง ซึ่งเราทุกคนไม่น่าจะต้องถูกละเมิดสิทธิขนาดนี้

แต่แมทธิวแนะนำให้เราใช้บริการของผู้ให้บริการเหล่านี้ต่อไป อย่างน้อยก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแม้ว่าจะถูก เอ็นเอสเอเข้าแทรกแซง ก็ยังมีการเข้ารหัสแบบ PGP (Pretty Good Privacy)  กับเบราว์เซอร์​ Tor ที่เราสามารถใช้บริการได้ แต่ก็ต้องระวังไว้ว่ามันไม่ได้ปลอดภัย 100% เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่พอรัฐบาลมาสอดแนมเราจะเปลี่ยนหรือเลิกใช้

ประเด็นที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบเดียว ที่ผ่านมาเราคิดว่าประเด็นความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องของนักเทคนิคที่มีหน้าที่คิดทำให้มาตรฐานความปลอดภัยมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องหลายมิติ เข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น การจัดการในสังคม การสร้างความตระหนักของประชาชน และข้อกฏหมายที่ช่วยสร้างหลักประกันว่าเรามีความปลอดภัยในความเป็นส่วนตัวได้

สุดท้ายแล้วมันเป็นปัญหาของการไม่มีความรับผิดของหน่วยงานข่าวกรอง รัฐบาลไม่มีกฎหมายที่เคร่งครัด หน่วยงานบางหน่วยก็มีการโกหกต่อรัฐบาลและต่อสภา อย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถไปขอข้อมูลจากสหราชอาณาจักร​ซึ่งมีการกำกับดูแลที่อ่อนแอกว่า โดยที่ไม่ต้องไปถึงศาล แต่ไปถึงแค่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีต่างประเทศได้เลย มันเป็นประเด็นการเมืองไปหมด ฉะนั้นวิธีที่จะเริ่มผลักดันความรับผิดให้เกิดขึ้น เราต้องสร้างกระบวนการของเราเองขึ้นมา เริ่มจากการตั้งคำถามต่อหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น

อยากให้ทุกคนแสดงจุดยืนออกมา เพราะว่ามันกระทบต่อทุกคน ไม่ใช่แค่ประชากรของสหรัฐหรือสหราชอาณาจักร​ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เป็นเรื่องของคนทั่วโลกที่ต้องตั้งคำถามต่อหน่วยงานข่าวกรองของประเทศตัวเอง และจริงๆ แล้วหน่วยงานเหล่านั้นมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้แค่ไหน

นอกจากจะต้องแสดงจุดยืนแล้วจะต้องร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีหลักสิทธิมนุษยชน ด้วยการปรับใช้ “หลักความจำเป็นและได้สัดส่วน” (Necessary and Proportionate Principles) เนื่องจากหน่วยงานสอดแนมต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเลย ซึ่งหลักการนี้มี 13 ข้อ พูดถึงการสอดแนมว่าควรจะมีความชอบธรรม มีกระบวนการที่ยุติธรรม มีความชัดเจน มีหลักสัดส่วนที่สมเหตุสมผล มีความจำเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น มีความโปร่งใส และต้องมีการกำกับจากสาธารณะ

แมทธิวย้ำว่าองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนลไม่ได้ต่อต้านการสอดแนม แต่ต่อต้านกฏหมายแย่ๆ ที่ไม่เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว เราต้องตระหนักว่าสิทธิมีความสำคัญ การสอดแนมที่เกิดขึ้นจำเป็นแค่ไหนกับสังคมประชาธิปไตย เป้าหมายของประชาธิปไตยคือการดักจับข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหรือเปล่า

ถาม-ตอบ

คำถาม: ในระดับบุคคล บางคนก็ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วในบริษัทเอกชนต่างๆ มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมันคงมีเรื่องผลประโยชน์ ประชาชนมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบอย่างไร เพราะแม้แต่นักการเมืองเองก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ของตัวเองทำงานอะไร

ตอบ: องค์กรเอกชนค่อนข้างตกใจเมื่อมีข่าวการสอดแนมเกิดขึ้น ก็มีการออกแถลงการณ์มีการออกมาต่อต้าน เช่น​ผู้ให้บริการบางเจ้าก็ปิดเซิร์ฟเวอร์และหยุดให้บริการไปเลย เนื่องจากตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการมาก

คำถามที่ 2 กฎหมายที่เป็นอยู่ก็มีข้อยกเว้นเรื่องความมั่นคงของชาติ การสอดแนมหลายอย่างไม่น่าจะเข้าข่ายความมั่นคง แต่มันเป็นการละเมิดสิทธิแล้ว ความที่นักการเมืองเองก็เข้าไม่ถึงกระบวนการนี้ ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการผลักดันให้การทำงานของหน่วยงานเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายในการทำงานของรัฐและสาธารณะมากขึ้น

คำถาม: อยากให้พูดเรื่องปฏิกิริยาของเอกชนเพิ่มมากขึ้น และเรื่อง​รายงานความโปร่งใส (Transparency Report) ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย

ตอบ: กฎหมายที่กำหนดให้มีศาลเกี่ยวกับหน่วยงานข่าวกรองโดยตรง เมื่อสักครู่ที่เล่าว่าอังกฤษนั้นอ่อน เพราะไม่มีศาลนี้ แต่ศาลที่สหรัฐฯ มีศาลนี้อยู่แต่ก็ไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไรบ้าง มันเลยยังไม่เห็นความยุติธรรมว่าเกิดขึ้น และเกิดขึ้นได้อย่างไร มันต้องมีช่องทางให้คนเข้าถึงได้ ร้องเรียนศาลนี้ได้

ส่วนเรื่องรายงานความโปร่งใสของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ว่ารัฐขอให้เซ็นเซอร์และขอข้อมูลอะไรไปบ้าง จะมีงานรายงานออกมาทุกปี โดยกูเกิลและยาฮูเป็นตัวตั้งตัวตี เฟซบุ๊กเพิ่งจะเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รายงานนี้บางส่วนก็ช่วย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการปกปิดข้อมูลบางอย่าง เพราะก็ต้องทำตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเราก็ต้องระลึกว่าเขาบอกเราได้เฉพาะสิ่งที่เขารู้เท่านั้น

คำถาม: มีแนวโน้มที่แต่ละประเทศจะสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเฉพาะภายในประเทศของตัวเองไหม โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายของประเทศอื่น อย่างในประเทศเยอรมัน พวกเขาตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวออนไลน์มาก และคิดที่จะสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเฉพาะในประเทศตัวเองหรือในยุโรปเพื่อไม่ต้องเสี่ยงต่อการสอดแนมจากสหรัฐ

ตอบ: ไม่ได้มีแค่เยอรมนีที่คิดเรื่องนี้ แม้แต่บราซิลเองก็คิดจะทำ Brazil Internet จริงๆ แล้วไม่อยากให้ไปถึงจุดที่ต่างคนต่างทำอินเทอร์เน็ตของตัวเอง เพราะถ้าเราอยากคบหาสมาคมกับคนนอกประเทศอยู่ เราไม่น่าจะยอมเรื่องนี้ได้ เราไม่ควรยอมให้มีการเสียสิทธิในการติดต่อสื่อสารข้ามพรมแดนระหว่างกันไปโดยสิ้นเชิง

คำถาม: ในขณะที่เรากังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้ข้อมูลของตัวเอง แล้วเรื่องของการก่อการร้าย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาทำอะไรกันอยู่

ตอบ: มันก็มีกระบวนการที่จะกำหนดขอบเขตของการก่อการร้าย รัฐก็ต้องชัดเจนว่ามีกฎระบุว่านี่เป็นผู้ก่อการร้าย ต้องมีมูลเหตุที่เชื่อได้ในการจะสอดแนม และเป็นเรื่องของความมั่นคงจริงๆ แต่ตอนนี้มันมองกลับหัวกลับหางไปหมด

ถ้าพูดถึงตัวมูลค่าของระบบสอดแนมนี้แล้ว มันจำเป็นต่อการก่อการร้ายแค่ไหน? ทำระบบนี้แล้วหยุดการก่อการร้ายไปได้แล้วกี่ครั้ง? คำตอบก็ยังไม่ชัดเจน อย่างในสหรัฐฯ ไม่มีใครสามารถอธิบายได้แน่ชัด และข้อมูลของศาลแต่ละศาลไม่ตรงกัน ในอังกฤษเช่นกัน ไม่มีใครตอบได้

คำถาม: คนอเมริกันดูเหมือนยังไม่ได้ตื่นตัวเรื่องเอ็นเอสเอขนาดนั้น ยังไม่เห็นการประท้วง ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มาก คนอเมริกันก็คงรู้ๆ อยู่ว่ารัฐบาลมีอำนาจ ถ้าเขาจะทำอะไรก็คงทำได้ ถ้าจะมาดูอีเมลก็ไม่มีอะไร มีแต่รูปแมวส่งกันไปมา รูปลูก ไม่เห็นมีอะไรต้องปกปิด

ตอบ: ประเด็นคือรัฐบาลจะเข้าดักฟังอินเทอร์เน็ตมันต้องขอหมายศาล ไม่ใช่เรื่องว่ารัฐบาลจะอยากรู้เรื่องแมวหรือไม่ มันต้องมีเหตุผล มีระบบ มีกฎเกณฑ์

คำถาม: ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อและยังไม่มีใครทำอะไร แนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตอบ: ถ้ายังไม่มีการผลักดันการเปลี่ยนแปลง มันก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศใครประเทศมัน แล้วอินเทอร์เน็ตจะเหลือมูลค่าอะไร ถ้าเราไม่สามารถคุยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดักฟังประชาชนต้องพุ่งสูงขึ้นแน่นอน เทคโนโลยีจะมีราคาถูกลง ประเทศไหนที่เคยทำไม่ได้ก็จะทำได้ หน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่แค่นั่งฟังอยากเดียว แต่มีการเจาะระบบเข้าไปในแชทรูม มีการปล่อยโทรจันเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เราอาจจะเห็นการกระทำที่เกินเลยมากขึ้นแน่นอน

คำถาม: เราไม่สงสัยว่าประเทศ ใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร​ จีน รัสเซีย ฯลฯ มีประสิทธิภาพในการสอดแนมประชาชน แต่ก็มีข่าวว่าประเทศเล็กๆ บางประเทศก็มีการสอดแนมนี้อยู่เช่นกัน เราจะแน่ใจได้อย่าไรว่ารัฐนั้นมีประสิทธิภาพจริงๆ

ตอบ: ไม่ต้องไปถึงรัฐบาลก็ได้ มีภาคเอกชนที่ขายอุปกรณ์สอดแนมแบบนี้อยู่ ราคาไม่สูงมาก ประมาณ 5 ล้านปอนด์ ฝึก 18 เดือน ก็สามารถสอดแนมได้แล้ว มันอาจจะเป็นเรื่องการเมือง เช่น ไปขอออสเตรเลียให้ทำให้ ก็อาจจะต้องมีข้อแลกเปลี่ยน อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

……………………………………………

วิทยากร:

แมทธิว ไรซ์ เป็นเจ้าหน้าที่จากองค์กร Privacy International ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานนานาชาติต่างๆ โดยมีเป้าประสงค์ คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพการรับมือปัญหาการสอดแนมตามช่องทางการสื่อสารของพลเมืองโลก ไรซ์เคยเป็นที่ปรึกษาของ Privacy International ในการจัดทำ Surveillance Industry Index (ดัชนีอุตสาหกรรมการสอดแนม) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสาธารณะด้านการสอดแนมประชาชนที่ใหญ่ที่สุดที่เคยจัดทำขึ้น

https://www.privacyinternational.org/people/matthew-rice

Privacy International
Privacy International ก่อตั้งขึ้นในปี 1990 เป็นองค์กรแรกของโลกที่รณรงค์ให้ประชาชนชาติต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยขุดคุ้ยเรื่องราวฉาวโฉ่ของการสอดแนมประชาชนจากรัฐ และบริษัทการค้าต่างๆ ที่ให้สนับสนุนด้วย รวมทั้งเรียกร้องให้มีการร่างกฎหมายระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของพลเมือง
https://www.privacyinternational.org/

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ฟังและดาวน์โหลดไฟล์เสียงงานเสวนาได้ที่ https://soundcloud.com/thainetizen/tnn-pi-talk-nsa-08032014

รายงานสถานการณ์ความเป็นส่วนตัวในประเทศไทย ปี​ 2012 โดย Privacy International https://www.privacyinternational.org/reports/thailand

Privacy in the Developing World โครงการรณรงค์สิทธิความเป็นส่วนตัวในประเทศกำลังพัฒนาของ Privacy International
https://www.privacyinternational.org/projects/privacy-in-the-developing-world

รายงานการละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ไทย พ.ศ. 2556 โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต
https://thainetizen.org/privacyreport2013/

Exit mobile version