สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: เฟซบุ๊กเปิดบริการ “Free Basics” ในไทย ร่วมกับดีแทค/ พบแอป “Most Used Words” บนเฟซบุ๊กนำข้อมูลผู้ใช้ไปขายต่อ/ ศูนย์ทนายความมุสลิมชี้ ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่เก็บดีเอ็นเอ/ กทม.มีกล้องซีซีทีวี 50,000 ตัว เชื่อมโยงข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ กระทรวงไอซีทีร่วมถกเวที TELMIN เตรียมรับรองแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2020/ กระทรวงไอซีทีเปิดเว็บไซต์ถวายพระพรออนไลน์ในหลวง ฯลฯ
18 พฤศจิกายน 2558
ศาลไม่รับฟ้องคดีสหภาพฯ กสท ยื่นฟ้อง กสทช. ขอระงับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีที่สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม ยื่นฟ้อง กสทช. ขอระงับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยศาลให้เหตุผลว่า สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ถ้าหาก กสท โทรคมนาคม ได้รับความเดือนร้อนจริง ก็สามารถยื่นฟ้องศาลได้ด้วยตนเอง
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
ดีแทคประกาศแผนขยายเครือข่าย 4 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ หลังแพ้ประมูล
ดีแทคประกาศแผนขยายเครือข่าย 4 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์อย่างเร่งด่วน หลังจากการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่เพิ่งสิ้นสุดลง (ดีแทคไม่ชนะการประมูล) โดยจะเพิ่ม 1,800 สถานีฐาน ใน 18 วัน (นับจากวันประมูล) รวมถึงการประกาศแผนการนำคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์อีก 20 เมกะเฮิร์ตซ์ออกมาให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มคุยแผนงานกับ กสท โทรคมนาคม ไปบางส่วน ดีแทคระบุว่า ด้วยคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ดีแทคครอบครองอยู่ 45 เมกะเฮิร์ตซ์ (นับเป็นสามเท่าของใบอนุญาต) จะทำให้ดีแทคยังคงมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดได้นานพอสมควร
ที่มา: Blognone
21 พฤศจิกายน 2558
กทม.มีกล้องซีซีทีวี 50,000 ตัว เชื่อมโยงข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รักษาความปลอดภัยประชาชน
สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) จำนวนกว่า 50,000 ตัว และเชื่อมโยงข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนในภาวะการณ์ปัจจุบัน สุขุมพันธุ์ยังระบุในการประชุมพิเศษหัวข้อ “ความก้าวหน้าสู่การพัฒนาเมือง” ของงานประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่โลกปี 2016 ถึงแผนระยะยาวของการพัฒนากรุงเทพด้วยว่า ต้องการทำให้กรุงเทพเป็นสมาร์ตซิตี้ (Smart City)
ที่มา: มติชนออนไลน์
23 พฤศจิกายน 2558
เฟซบุ๊กเปิดบริการ “Free Basics” ในไทยร่วมกับดีแทค
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ร่วมมือกับเฟซบุ๊กเปิดบริการ “Free Basics” ให้กับกลุ่มลูกค้าดีแทค ดีแทคระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตน้อยและยังไม่มีประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตเลยรวมแล้ว 14 ล้านราย หรือคิดเป็น 56 % โดยบริการเนื้อหาที่ให้บริการใน Free Basics แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยประถมปลายถึงมัธยมต้น กลุ่มคนทำงานและเกษตรกร กลุ่มผู้สูงอายุ และเนื้อหาทั่วไป โดยบริการดังกล่าวมีอาทิ Facebook, Facebook Messenger, Bing, Accuweather, Dek-D, Wikipedia, WikiHow, Sanook, Translator, ไทยรัฐ, Pantip, JobThai.com, Unicef อนึ่ง ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับทรูมูฟเปิดให้บริการ Free Basics กับลูกค้าทรูมูฟไปแล้ว
ที่มา: Blognone, อีเมลประชาสัมพันธ์ดีแทค
กระทรวงไอซีทีเปิดเว็บไซต์ถวายพระพรออนไลน์ในหลวง
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ภายใต้กระทรวงไอซีทีจัดทำระบบถวายพระพรออนไลน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2558 ผ่านเว็บไซต์ โดยอยู่ผู้ถวายพระพรจะต้องเลือกคำถวายพระพรที่ระบบกำหนดไว้ให้ แล้วกรอกชื่อ-นามสกุล และรหัสเพื่อป้องกันความปลอดภัย ซึ่งเมื่อถวายพระพรเสร็จแล้วสามารถแบ่งปันไปยังสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ได้ด้วย
ที่มา: เดลินิวส์
สำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ให้ผู้ใช้โดรนมาลงทะเบียน
สำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration – FAA) ออกมาตรการให้ผู้ใช้โดรนมาลงทะเบียน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.58 เป็นต้นไป โดยผู้ใช้ที่อายุมากกว่า 13 ปี และซื้อโดรนน้ำหนักมากกว่า 250 กรัม ต้องมาลงทะเบียนกับ FAA โดยทางการจะบันทึกชื่อและที่อยู่ของผู้ลงทะเบียนไว้ กระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านออนไลน์ ส่วนในประเทศไทย ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558” เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 58 ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้ใช้โดรนต้องขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศเช่นกัน ดูรายละเอียด
ที่มา: Blognone 1, 2, Gizmodo
24 พฤศจิกายน 2558
กระทรวงไอซีทีร่วมถกเวที TELMIN เตรียมรับรองแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2020
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting : TELMIN) ครั้งที่ 15 วันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2558 ที่เวียดนาม ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศสมาชิกอาเซียน หัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “Towards a Digitally-enabled, Inclusive, Secure and Sustainable ASEAN Community” ในการประชุมครั้งนี้จะมีการ:
- ประกาศแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน 2020 (ASEAN ICT Masterplan 2020)
- รับรองแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2020
- พิจารณาการอนุมัติงบประมาณจากกองทุน ASEAN ICT Fund สำหรับปี 2559
- รับรองผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015
- รับรองปฏิญญาดานัง (Danang Declaration)
- ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านไอซีที
- หารือกับประเทศคู่เจรจาอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และ ITU
- ไทยยังจะหารือระดับทวิภาคีกับ 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสาธารณรัฐเกาหลี
ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย
ศูนย์ทนายความมุสลิมชี้ ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่เก็บดีเอ็นเอ
อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และหน่วยอื่นๆ เข้าเก็บตัวอย่างสารทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) และพิมพ์ลายนิ้วมือของเจ๊ะปาติเมาะ แวกะจิ และมาอุเซ็น แวจิ ผู้ต้องสงสัยในจังหวัดปัตตานี หลังไม่พบพฤติกรรมต้องสงสัยหรือสิ่งผิดกฎหมายว่า การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอสามารถเก็บได้เฉพาะผู้ต้องหาเท่านั้น เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและมีพยานหลักฐานอื่นประกอบการพิจารณาคดีก่อน กระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการหว่านล้อม กดดัน เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยเซ็นยินยอม อับดุลกอฮาร์เสนอว่า การเก็บดีเอ็นเอต้องมีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดเป็นผู้เก็บ เก็บแล้วนำไปไว้ในฐานข้อมูล คนที่ถูกเก็บมีสิทธิที่จะขอตรวจสอบได้ พร้อมย้ำว่าถ้ายังยืนยันที่จะเก็บดีเอ็นเอก็จำเป็นต้องให้มีกฎหมายมารองรับอย่างชัดเจน
ที่มา: ประชาไท, Bangkok Post
เอไอเอสร่วมกับกสิกรเปิดระบบชำระเงินออนไลน์สำหรับเอสเอ็มอี (mPay)
บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ (ในเครือเอไอเอส) เจ้าของบริการเอ็มเปย์ (mPay) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยเปิดให้บริการ “เอ็มเปย์ เกตเวย์” (mPAY Gateway) ระบบชำระเงินออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าทั้งแบบที่มีหน้าร้านอยู่บนออนไลน์หรือตามตลาดนัดทั่วไป การทำงานของระบบคือ เมื่อผู้ขายสมัครใช้บริการ ตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านแล้วก็สามารถเริ่มรับชำระได้ทันที ในการชำระเงินแต่ละครั้งผู้ขายจะใส่จำนวนเงินของแต่ละคำสั่งซื้อ ระบบจะสร้างลิงก์ชำระเงินขึ้นมาเพื่อให้ผู้ขายส่งไปให้ลูกค้าผ่านหลายช่องทาง เช่น เอสเอ็มเอส แอปพลิเคชั่นไลน์ วอทซ์แอป (WhatsApp) เฟซบุ๊ก
ที่มา: เดลินิวส์
แอป “แท็กซี่อัจฉริยะ” ชนะรางวัลดีเด่น “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ”
มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) จัดประกวด “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 10 ซึ่งผู้ชนะรางวัลดีเด่นประเภทนักเรียน นักศึกษา ได้แก่ แอป “แท็กซี่อัจฉริยะ” (Smart Taxi) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่ แอปสามารถระบุสถานที่ปลายทางจากรูปถ่ายได้ เช่น กรณีที่เคยไปทานอาหารที่ร้านหนึ่งแล้วถ่ายภาพเก็บไว้ เมื่อต้องการไปร้านนั้นด้วยแท็กซี่ก็สามารถใช้รูปในการระบุปลายทาง คนขับยังต้องมาลงทะเบียนกับระบบเพื่อคัดกรองคนขับ โครงการนี้เตรียมนำไปเสนอให้กับสหกรณ์และอู่แท็กซี่ ส่วนอนาคตยังสามารถต่อยอดไปใช้กับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรถตู้สาธารณะ
ที่มา: เดลินิวส์
25 พฤศจิกายน 2558
พบเฟซบุ๊กแอป “Most Used Words” นำข้อมูลผู้ใช้ไปขายต่อ
หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ (The Independent) ตีพิมพ์รายงานว่า แอปพลิเคชัน “Most Used Words” บนเฟซบุ๊ก ซึ่งช่วยวิเคราะห์ว่าผู้ใช้พิมพ์คำอะไรมากที่สุดตั้งแต่ใช้งานเฟซบุ๊กมา ได้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปขายต่อ ทั้งข้อมูลส่วนตัว รายชื่อเพื่อน รูปภาพ ประวัติการไลก์ หมายเลขไอพี และข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้งาน แอปนี้เป็นของบริษัทเกาหลีใต้ที่ชื่อ Vonvon.me ทางบริษัทได้ออกมาตอบโต้ว่าไม่ได้นำข้อมูลไปขาย แม้ในเอกสารนโยบายความเป็นส่วนตัวของบริษัทจะระบุว่ามีสิทธินำข้อมูลบางส่วนไปใช้งานก็ตาม
ที่มา: Blognone
สพธอ.ระบุ ยอดขายอีคอมเมิร์ซสูงต่อเนื่อง
สุรางคณา วายุภาพ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผย การสำรวจของสพธอ. ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) อยู่กว่า 5 แสนราย มูลค่าตลาดกว่า 2 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,107,692.88 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการคาดการณ์มูลค่าในปี 2558 มากที่สุด 3 อันดับแรก คือหมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร, หมวดอุตสาหกรรมการผลิต และหมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง พร้อมระบุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยว่าประกอบด้วย 1.ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ 2. ต้นทุนการขนส่งที่ยังสูง 3. ค่าใช้จ่ายในเรื่องของระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซึ่งรัฐบาลจะเข้ามาช่วยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 4. ปัจจัยในเรื่องของภาษี และ 5. ยังคงกังวลในภาวะเศรษฐกิจโลก
ที่มา: เดลินิวส์