ถ้าให้เลือกระหว่างอินเทอร์เน็ตกับฟาสต์ฟู๊ด คนอเมริกันและคนเยอรมันเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยอมไม่กินฟาสต์ฟู๊ด คนจีนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยอมสละช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้มีเน็ตใช้ (อย่างไรก็ตาม แต่พอมาถึงเรื่องเซ็กซ์ ยังไงเซ็กซ์ก็ยังเป็นเรื่องเย้ายวนใจอยู่ดี เห็นได้จากเปอร์เซ็นการยอมสละเซ็กซ์เพื่ออินเทอร์เน็ตอยู่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทั้งในบรรดาคนอเมริกัน จีน เยอรมัน และบราซิล)
ดร.โจวาน เคอร์บาลิจา (Dr. Jovan Kurbalija) ยกผลสำรวจดังกล่าวในปี 2012 ที่จัดทำโดยบอสตัน คอนซัลทิง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน คนเราต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากเพียงใด
ในการบรรยายสาธารณะ “การอภิบาลอินเทอร์เน็ต: ความท้าทายทางกฎหมายและนโยบาย” (Internet Governance: legal and policy challenges) ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา เคอร์บาลิจา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิดิโพล และผู้เขียนหนังสือ “เปิดประตูสู่การอภิบาลอินเทอร์เน็ต” (An Introduction to Internet Governance”) กล่าวว่า ในอีก 5 ปีต่อจากนี้ กว่าครึ่งของประเด็นต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ไม่ว่าจะไหนศาล ในวงการธุรกิจ หรืออะไรก็ตาม
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไม การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอภิบาลอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญ
เคอร์บาลิจากล่าวว่า การจะเข้าใจกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตได้นั้น เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า โดยพื้นฐานแล้วอินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร อินเทอร์เน็ตแบ่งเป็น 3 เลเยอร์ด้วยกัน ได้แก่ ระดับแรกคือระดับโครงสร้างพื้นฐาน ระดับต่อมาคือระดับมาตรฐานทางเทคนิค (TCP/IP) และระดับสูงสุดคือระดับเนื้อหาและแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นระดับที่สื่อสารกับผู้ใช้
การรู้ว่าอินเทอร์เน็ตแบ่งเป็น 3 เลเยอร์ดังกล่าวทำให้เราเข้าใจว่า เมื่อรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งต้องการตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พวกเขาสามารถทำได้โดยตัดการเชื่อมต่อระดับใดระดับหนึ่งใน 3 ระดับนี้ เช่น รัฐบาลเกาหลีเหนือตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่รัฐบาลจีนนั้นซับซ้อนกว่าด้วยการปิดกั้นที่ระดับแอปพลิเคชัน และบางครั้งก็ที่ระดับ TCP/IP เป็นต้น
ของฟรีไม่มีในโลก
เคอร์บาลิจากล่าวว่า เวลาที่เราใช้บริการเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ ฯลฯ เราไม่ได้ใช้บริการเหล่านั้น “ฟรี” อย่างที่คิด แต่เราต้องมอบข้อมูลของเราให้กับผู้ให้บริการที่จะเอาข้อมูลของเราไปขายให้กับคนขายสินค้า (vendor) อีกที จะเห็นได้ว่า การแลกเปลี่ยนในระบบนิเวศของอินเทอร์เน็ตไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวแลกเปลี่ยน แต่ใช้ “ข้อมูล” ต่างหาก
เขากล่าวถึงอิทธิพลของบริษัทผู้ให้บริการเหล่านี้ด้วยว่า การที่เราต้องพึ่งพาบริการออนไลน์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจมาก ในประเทศไทยเอง มีตัวเลขแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ใช้เว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิลมีจำนวนมาก กูเกิลจึงกลายเป็นผู้ควบคุมว่าคนจะเข้าถึงเนื้อหาใดในอินเทอร์เน็ตได้บ้าง
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการออนไลน์ เคอร์บาลิจาหยิบยกประเด็น “สิทธิที่จะถูกลืม” (right to be forgotten) ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายให้กับบุคคลที่เห็นว่า ข้อมูลใดของตนในเสิร์ชเอนจิ้นที่ไม่ตรงกับความจริงในปัจจุบัน ข้อมูลนั้นต้องถูกลบออกไป โดยบุคคลต้องยื่นคำร้องไปที่กูเกิลนั้น เขาตั้งคำถามชวนคิดว่า หากมีคำร้องจำนวนมหาศาลไปสู่กูเกิล บริษัทจะทำอย่างไร และเป็นเรื่องดีหรือไม่ที่เราปล่อยให้การตัดสินใจเรื่องนี้อยู่ในมือของบริษัทเอกชน
อธิปไตยของประเทศกำลังถูกท้าทาย
เนื่องจากลักษณะข้ามพรมแดนของอินเทอร์เน็ต ทำให้ปัจจุบันเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเริ่มพร่าเลือน เคอร์บาลิจากล่าวว่า อธิปไตยของประเทศถูกท้าทาย ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า เมื่อมีคดีความที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น คดีเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับผู้เล่นที่อยู่ในหลายประเทศ ควรจะบังคับใช้กฎหมายของประเทศใด
อำนาจที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยังทำให้อำนาจของรัฐบาลก็ถูกสั่นคลอนเช่นกัน เขายกตัวอย่าง กรณีการบุกยิงนักวาดการ์ตูนนิตยสารชาร์ลี เอปโดในฝรั่งเศส แถลงการณ์แรกที่ออกมาจากทางการฝรั่งเศสหลังจากที่เกิดเรื่องคือการร้องขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล ส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายให้ “รัฐบาลกำลังสูญเสียเครื่องมือที่ใช้สืบสวนสอบสวน” เคอร์บาลิจากล่าว
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องอธิปไตย ยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ของสายเคเบิลใต้น้ำ (cable geo-strategy) ซึ่งเป็นท่อส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในทางการเมือง “ถ้าคุณเป็นนักการทูต คุณต้องตระหนักด้วยว่าสายเคเบิลเชื่อมจากประเทศของคุณไปที่ไหนบ้าง เพราะถ้าสายนั้นถูกตัด ประเทศก็จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้”
เขายกตัวอย่างประเทศในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยพึ่งพาสายเคเบิลที่มาจากรัฐไมอามี สหรัฐฯ ซึ่งถ้าสายเคเบิลนั้นถูกตัด ประเทศเหล่านี้ก็จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ขณะที่รัสเซียมีเคเบิลหลายสายที่เชื่อมจากไมอามีไปยังประเทศของตน
เคอร์บาลิจายังพูดถึงยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ของอารมณ์ (emotional geo-strategy) ด้วยว่า ได้มีการนำข้อมูลดิบจำนวนมหาศาลจากเครือข่ายเพื่อนในเฟซบุ๊กของผู้ใช้ในแต่ละประเทศมาวิเคราะห์ และทำออกมาเป็นแผนภาพที่แสดงเครือข่ายเพื่อนระหว่างคนสองประเทศ เช่น พบว่าประเทศไทยและเกาหลีใต้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนก็มีผลในทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย
ICANN
ในการบรรยายครั้งนี้ เคอร์บาลิจากล่าวถึงผู้เล่นหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต นั่นคือองค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers – ICANN) ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจดทะเบียนชื่อโดเมนและมีอำนาจตัดสินใจว่าจะให้ชื่อโดเมนหนึ่งๆ แก่ใคร เขายกตัวอย่างกรณีของบริษัทอเมซอน ที่ชื่อเครื่องหมายการค้าอเมซอนเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองในกฎหมายระหว่างประเทศ อเมซอนต้องการได้ชื่อโดเมน .amazon ทว่าความพยายามนี้ของอเมซอนทำให้ประเทศในลุ่มน้ำอเมซอนในอเมริกาใต้ลุกขึ้นมาคัดค้าน นี่คือการเมือง แล้วใครจะมาเป็นคนตัดสินใจเด็ดขาดในเรื่องนี้ ก็ ICANN อย่างไรเล่า ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า การจัดสรรชื่อโดเมนก็เป็นการเมืองเช่นกัน
สร้างสมดุล: ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นวัตกรรม และสิทธิมนุษยชน
สุดท้ายนี้ เคอร์บาลิจากล่าวว่า ความท้าทายของการอภิบาลอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันคือการหาจุดสมดุลในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นวัตกรรม และสิทธิมนุษยชน โดยเราจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ดี แต่ก็ต้องไม่ไปฉุดรั้งการพัฒนาของนวัตกรรมใหม่ๆ และยังเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
“ผมคิดว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอภิบาลอินเทอร์เน็ตนะครับ” เคอร์บาลิจากล่าวจบการบรรยายในครั้งนี้
เกี่ยวกับผู้บรรยาย
นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิดิโพล และผู้เขียนหนังสือ “เปิดประตูสู่การอภิบาลอินเทอร์เน็ต” แล้ว ดร.โจวาน เคอร์บาลิจา ยังเป็นประธานของเวทีอินเทอร์เน็ตเจนีวา (Geneva Internet Platform) และเป็นผู้วางรากฐานแนวคิดและบริหารงานโครงการสร้างศักยภาพด้านการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของมูลนิธิดิโพล (2005–2014) เขาสนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการใช้อินเทอร์เน็ตในแง่การทูตและการเจรจาสมัยใหม่ และผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกสมัยใหม่
เคอร์บาลิจามีผลงานตีพิมพ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือ บทความ และบทย่อยของหนังสือต่างๆ อาทิ Internet Guide for Diplomats, Knowledge and Diplomacy, The Influence of IT on Diplomatic Practice, Information Technology and Diplomatic Services of DiploFoundation’s Developing Countries, Modern Diplomacy และ Language and Diplomacy เขาร่วมมือกับสเตฟาโน บาลดิ และเอดูอาร์โด เกลบ์สไตน์ ในการเขียนหนังสือชุด Information Society Library ซึ่งเป็นชุดหนังสือขนาดเล็กจำนวน 8 เล่ม เนื้อหาครอบคลุมแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาอินเทอร์เน็ต
ดาวน์โหลดหนังสือ
- “เปิดประตูสู่การอภิบาลอินเทอร์เน็ต” (ฉบับแปลไทย)
- “An Introduction to Internet Governance” (original English version)