Thai Netizen Network

Digital Weekly: 19-25 ก.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: วิกิลีกส์แฉ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบกซื้อซอฟต์แวร์สอดแนมจาก Hacking Team 23 ล้านบาท/ อูเบอร์แจงเหตุปฏิเสธผู้โดยสาร/ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลฯ เตรียมเข้า สนช./ กกต. เตรียมเครื่องโหวตอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบรับประชามติร่างรธน./ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมจัด “เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย”/ กองทุนกทปส.เห็นชอบให้เงินสนับสนุน 21 โครงการ วงเงิน 100 กว่าล้านบาท ฯลฯ

19 กรกฎาคม 2558

วิกิลีกส์แฉ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบกสั่งซื้อซอฟต์แวร์สอดแนมจาก Hacking Team กว่า 23 ล้านบาท

บางกอกโพสต์เปิดเผยข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบกเคยสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สอดแนมข้อมูลจากบริษัท Hacking Team โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 286,482 ยูโร (มากกว่า 10 ล้านบาท) ในปี 2556 ขณะที่กองทัพบกสั่งซื้อเป็นจำนวนเงิน 360,000 ยูโร (มากกว่า 13 ล้านบาท) ในปี 2557 โดยอ้างจากไฟล์ Excel ที่แนบมากับอีเมลที่บริษัทส่งให้กับผู้ตรวจสอบบัญชี บางกอกโพสต์ยังพบจดหมายอย่างเป็นทางการที่หน่วยข่าวกรองทางทหารส่งถึงบริษัท ซึ่งแสดงความสนใจในซอฟต์แวร์สอดแนมที่ชื่อ “Da Vinci RCS” เมื่อเดือน ธ.ค.2555 จดหมายดังกล่าวเซ็นลงนามโดยพันเอก กนิษฐ์ ชาญปรีชญา ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหารในขณะนั้น ในจดหมายระบุให้บริษัทมาสาธิตการใช้ระบบในวันที่ 21 ม.ค.2556

ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนเงิน 360,000 ยูโร (มากกว่า 13 ล้านบาท) จากกองทัพบก ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ทางด้านพันเอกวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกระบุว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทได้โฆษณาว่า ซอฟต์แวร์สอดแนมดังกล่าวสามารถตรวจการใช้งานโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของเป้าหมายได้ทุกระบบปฏิบัติการ และสามารถจับตาเป้าหมายได้สูงสุด 1 แสนเป้าหมาย โดยนอกจากรัฐบาลไทยแล้ว รัฐบาลประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในรายชื่อลูกค้าของบริษัทได้แก่ รัฐบาลเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

ที่มา: Bangkok Post

21 กรกฎาคม 2558

กสทช.มั่นใจเปิดประมูล 4G วันที่ 11 พ.ย.นี้

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย กสทช.มั่นใจว่าจะสามารถจัดประมูลใบอนุญาต 4 จี พร้อมกันทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์รวมจำนวน 50 เมกะเฮิร์ตซ์ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ รวมทั้งคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ทั้งสองย่านได้ทันภายในปีนี้ และจะสามารถให้บริการได้ประมาณต้นปี 2559

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลฯ เตรียมเข้า สนช.

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขร่างมาตรา 22 วรรคสอง และร่างมาตรา 25 ตลอดจนได้เพิ่มกลไกการตรวจการบริหารกองทุนให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลตามที่กฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ตามที่กฤษฎีกาเสนอมีดังนี้
1. การส่งเงินกองทุนเป็นรายได้แผ่นดินตามร่างมาตรา 22 วรรคสอง ได้กำหนดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้กองทุนมีเงินและทรัพย์สินในแต่ละปีงบประมาณไม่เกิน 5 พันล้านบาท เงินและทรัพย์สินของกองทุนที่เกินจากวงเงินสูงสุดที่กำหนดไว้ ให้กองทุนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มวงเงินสูงสุดของกองทุนได้
2. องค์ประกอบคณะกรรมการบริหารกองทุนตามร่างมาตรา 25 ได้กำหนดองค์ประกอบให้เป็นไปตามร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฤษฎีกา (คณะที่1) แล้ว
3. กำหนดกลไกการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุน ได้เพิ่มบทบัญญัติให้มีการเปิดเผยรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

22 กรกฎาคม 2558

กกต. เตรียมเครื่องโหวตอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบที่เขตราชเทวี รองรับประชามติร่างรธน.

สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการเลือกตั้งได้พิจารณาเรื่องการเลือกตั้งด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะจัดทำแผนพัฒนาเครื่องลงคะแนนใน 3 ระดับ คือ ระยะสั้น 1 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 10 ปี และเพื่อให้ทันกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กกต.จะใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบในหน่วยออกเสียงประชามติ 2 หน่วยในเขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 1,600 คน เพื่อทดสอบระบบ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 100,000 บาทเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักก็จะทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเลือกตั้ง ที่ตั้งหน่วย ลำดับการใช้สิทธิ์ รวมทั้ง แผนที่นำทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง โดยจะเร่งพัฒนาแอปพลิดังกล่าวให้เสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ และหากมีการทำประชามติในเดือน ม.ค. 2559 ก็จะเป็นครั้งแรกที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจะได้ใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว

ที่มา: ประชาไท

กองทุนกทปส.เห็นชอบให้เงินสนับสนุน 21 โครงการ วงเงิน 100 กว่าล้านบาท

ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ประเภทที่ 1 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มาตรา 52 (2) จำนวน 21 โครงการ วงเงิน116,641,078 บาท ดังนี้

1. โครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในภาคตะวันออก หน่วยงานมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี จำนวนเงิน 384,900 บาท
2. โครงการอุปกรณ์สำหรับการแยกฉากหลังโดยการพิจารณาค่าสีแบบทันทีเสริมด้วยอุปกรณ์รับรู้ความลึก หน่วยงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนเงิน 8,453,000 บาท
3. โครงการพัฒนาสายอากาศปรับเปลี่ยนความถี่สำหรับระบบวิทยุรู้คิดเพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรแถบความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวนเงิน 2,402,471 บาท
4. โครงการจัดทำแผนแม่บทวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หน่วยงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวนเงิน 3,215,778 บาท
5. โครงการพัฒนานิทรรศการเชิงปฏิสัมพันธ์เรื่องการสื่อสารแบบดิจิตอล หน่วยงานมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำนวนเงิน 3,669,980 บาท
6. โครงการทดสอบแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างยานพาหนะบนความถี่ ๕.๙ GHz หน่วยงานสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย จำนวนเงิน 4,397,165 บาท
7. โครงการระบบการตรวจจับและเตือนภัยแอปพลิเคชันอันตรายบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หน่วยงานมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำนวนเงิน 3,822,100 บาท
8. โครงการก่อสร้างพื้นที่ทดสอบแบบเปิดโล่ง(Open Area Test Site: OATS) เพื่อสอบด้าน EMC และสอบเทียบสายอากาศย่านความถี่กว้าง หน่วยงานศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวนเงิน 9,300,000 บาท
9. โครงการเข็มขัดนำทางอัจฉริยะสำหรับคนพิการทางสายตา หน่วยงานมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวนเงิน 805,710 บาท
10. โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ราคาถูก ด้วยการใช้เทคนิควิศวกรรมย้อนรอยและวัสดุนวัตกรรมใหม่ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์สมาร์ตโฟน หน่วยงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนเงิน 8,960,920 บาท
11. โครงการเตือนภัยช้างผ่านระบบการสื่อสารเคลื่อนที่และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หน่วยงานภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนเงิน 3,245,020 บาท
12. โครงการดาวเทียมอัจฉริยะ ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา เพื่อกิจการวิทยุสมัครเล่นไทย หน่วยงานสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนเงิน 9,300,000 บาท
13. โครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นระบบนำทางสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ หน่วยงานมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนเงิน 4,170,004 บาท
14. โครงการ KNACKSAT โครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา หน่วยงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนเงิน 9,059,690 บาท
15. โครงการพัฒนาตัวแบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการกระบวนการเข้าถึงสื่อโทรคมนาคมของผู้สูงอายุ หน่วยงานสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย จำนวนเงิน 3,333,800 บาท
16. โครงการระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร หน่วยงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนเงิน 6,658,610 บาท
17. โครงการระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล หน่วยงานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จำนวนเงิน 9,021,500 บาท
18. โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กออทิสติกผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม หน่วยงานสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย จำนวนเงิน 5,507,290 บาท
19. โครงการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจฉริยะ สำหรับผู้สูงอายุ หน่วยงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนเงิน 5,649,400 บาท
20. โครงการ Health Monitoring Project Preventive Medicine Support System (PreMediSS) หน่วยงานคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จำนวนเงิน 6,103,740 บาท
21. โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบโทรคมนาคม (TELECOMS) ในการตรวจสอบยืนยันบุคคลด้วยใบหน้า (Face Recognition System) เพื่อความมั่นคงของชาติ (National Security) หน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนเงิน 9,180,000 บาท

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

กสทช.อนุมัติหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ 895-915 เมกะเฮิร์ตซ์/940-960 เมกะเฮิร์ตซ์

ที่ประชุม กสทช. อนุมัติร่างประกาศ กสทช. 2 สองฉบับได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 895-915 เมกะเฮิร์ตซ์/940-960 เมกะเฮิร์ตซ์” และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่านความถี่ 895-915/940-960 เมกะเฮิร์ตซ์” สาระสำคัญของร่างคือการกำหนดราคาตั้งต้น จำนวนใบอนุญาต จำนวนคลื่นความถี่ต่อใบอนุญาต และวันที่ประมูลคลื่นในย่านดังกล่าว โดยการประมูลจะแบ่งออกเป็นสองใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยราคาตั้งต้นจะใช้ราคา 70% ของมูลค่าคลื่นที่แท้จริง คือ 11,260 ล้านบาท และจะเพิ่มราคาเป็นมูลค่าคลื่นที่แท้จริง คือ 16,080 ล้านบาท ในกรณีที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติและลงประมูลได้น้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต (ซึ่งก็คือสองราย) โดยวางแผนเปิดประมูลต่อจากการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ในเดือนพฤศจิกายนทันที
สำหรับรายละเอียดในส่วนอื่นๆ นั้นเหมือนกับร่างประกาศคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ไม่ว่าจะเป็น

-ผู้เข้าประมูลต้องถือครองคลื่นความถี่ไม่เกิน 60 เมกะเฮิร์ตซ์
-ต้องดำเนินการวางโครงข่ายให้ครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 40% ภายใน 4 ปี
-ต้องปฏิบัติตนรวมถึงรักษามาตรฐานการให้บริการให้ได้ตามคำโฆษณาที่ได้เผยแพร่ต่อประชาชน
-ต้องกำหนดค่าบริการให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
-ต้องจัดทำใบแจ้งค่าบริการให้มีตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ หรือต้องมีตัวอักษรเบรลล์ (Braille) สำหรับคนตาบอด
-ต้องเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคร้องเรียนมาตรฐานการให้บริการ และต้องรับเรื่องร้องเรียนทุกกรณีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ในวันที่ 23 ก.ค.จะมีการทำประชาพิจารณ์ร่างดังกล่าวบนเว็บไซต์

ที่มา: Blognone โดยอ้าง ฐานเศรษฐกิจ

กระทรวงไอซีทีเล็งยื่นศาล รธน. ตีความสิทธิใช้คลื่น 900–1800 เมกะเฮิร์ตซ์ของทีโอที-กสท โทรคมนาคม

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเตรียมศึกษาแนวทางการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ที่อยู่ภายใต้สัมปทานของบมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งสองรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการกิจการ กสทช.ยังตีความเรื่องสิทธิในการใช้คลื่นภายใต้สัมปทานซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 80 ไม่ตรงกัน โดยฝั่งรัฐวิสาหกิจเห็นว่า คลื่นโทรคมนาคมที่ได้รับสิทธิการใช้งานมาก่อนที่จะมี กสทช. ควรจะต้องได้สิทธิใช้งานต่อตามใบอนุญาตจนถึงปี 2568 แม้ว่าสัมปทานที่ให้กับเอกชนจะสิ้นสุดไปก่อนแล้ว ขณะที่กสทช. เห็นว่า สิทธิในการใช้คลื่นย่อมสิ้นสุดลงพร้อมกับการหมดสัญญาสัมปทาน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องกัน ในขณะที่ทาง กสทช. กำลังเตรียมการประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานอย่าง 900 เมกะเฮิร์ตซ์และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จึงน่าจะให้ทางศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัยให้ชัดเจนว่ากรอบความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญครอบคลุมแค่ไหน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

23 กรกฎาคม 2558

อูเบอร์แจงเหตุปฏิเสธผู้โดยสาร

จากที่มีผู้ใช้บริการรถแท็กซี่อูเบอร์ (Uber) เข้ามาแสดงความคิดเห็นเรื่องถูกคนขับรถปฏิเสธการเดินทางหลังจากที่คนขับกดรับในแอปแล้วนั้น ตัวแทนของอูเบอร์ประเทศไทยได้ตอบในกรณีนี้ว่า ตามนโยบายของอูเบอร์ ผู้ขับรถร่วมกับอูเบอร์สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้หากจุดหมายปลายทางที่ผู้โดยสารต้องการให้ไปส่งอยู่นอกเขตพื้นที่ให้บริการ หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสุดวิสัยกับผู้ร่วมขับรถ เช่น เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน

ที่มา: Blognone

กสทช.หวั่นอนาคตใช้งานเน็ตอืด เหตุเซิร์ฟเวอร์แน่นเคลียร์เว็บเก่าไม่ได้

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยถึงปัญหาการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของ 2 หน่วยงานหลักของไทยว่า ไทยมี 2 หน่วยงานทำงานคาบเกี่ยวกัน กระทรวงไอซีทีดูด้านเนื้อหา มีหน้าที่ปิดเว็บไซต์ตามหมายศาล ขณะที่กสทช.กำกับดูแลผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต การแยกเป็น 2 หน่วยงานทำให้ไม่คล่องตัวในการบริหารงาน ส่วนเรื่องการปิดเว็บไซต์นั้น หากยังไม่เปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวในอนาคตไม่เกิน 10 ปี จะเกิดปัญหาการเข้าเว็บไซต์ได้ล่าช้า เพราะมีเว็บใหม่เกิดขึ้นทุกวัน แต่เว็บเก่าที่ปิดตัวลงหรือโดนปิดยังมีชื่อค้างอยู่ในเซิร์ฟเวอร์จนเซิร์ฟเวอร์ทำงานหนักในการค้นหาและเชื่อมต่อเว็บต่างๆ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่มีแนวโน้มจะโอนย้ายงานการดูแลอินเตอร์เน็ตทั้งหมดมาที่ กสทช. นั้น ตอนนี้ กสทช.ยังไม่มีความพร้อม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนจัด “เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย”

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนร่วมจัด “เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย” (Thailand National Internet Governance Forum) ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวทีนี้ประกอบด้วยเวิร์กช็อป 13 เวิร์กซ็อปที่พูดถึงประเด็นทางอินเทอร์เน็ต 13 ประเด็น ได้แก่ การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตภาษาไทย การป้องกันเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ความเป็นส่วนตัว การแสดงออกบนโลกออนไลน์ Cybersex การขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยข้อมูลเปิด EPUB การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์และโอกาสในการมีส่วนร่วม และสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์

ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต

ทรู อินเทอร์เน็ต เตือนลูกค้าอย่าคลิกแบบสอบถามออนไลน์ แอบอ้างชื่อบริษัท

วสุ คุณวาสี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เผยว่า ขณะนี้ได้มีการแอบอ้างชื่อบริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต ส่งแบบสำรวจความคิดเห็นลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่า แบบสำรวจดังกล่าวบริษัทไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ หากมีการสำรวจความคิดเห็นลูกค้า บริษัทจะทำโดยการจัดส่งแบบสอบถามไปยังอีเมลของลูกค้าผู้ใช้งานโดยตรงหรือโดยเจ้าหน้าที่ตัวแทนของบริษัทโทรติดต่อสอบถามโดยตรงกับลูกค้าเท่านั้น การทำแบบสำรวจดังกล่าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการโจมตีของมัลแวร์เพื่อทำลายหรือโจรกรรมข้อมูลต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

24 กรกฎาคม 2558

สมาพันธ์สื่อฯชี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.กสทช.แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และสมาคมสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) จัดเสวนา “ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.มาถูกทางหรือไม่” โดยจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมฯ เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังแก้ไขปัญหาใน พ.ร.บ.กสทช.ฉบับเดิมได้ไม่ตรงจุด ทั้งการสรรหากรรมการที่เข้ามากำกับดูแลที่ไม่ได้เน้นค้นหาคนที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ด้าน รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อทำร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อเป็นรายละเอียดตามที่องค์กรนั้นๆ ต้องการให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาว่าส่วนใดควรแก้อย่างไร ด้านสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีปัญหาในหลายประเด็น อาทิ การสรรหาผู้มาเป็น กสทช. และการเปลี่ยนจากองค์กรอิสระให้ไปอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ที่มา: เดลินิวส์

25 กรกฎาคม 2558

เด็กแว้นโพสต์ต้านคำสั่งปรามรถซิ่ง มาตรา 44 ของนายก

กลุ่มผู้รักการแข่งรถซิ่งหรือ “เด็กแว้น” ได้ออกมาแสดงการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งปรามเด็กแว้น โดยกำหนดให้ผู้ปกครองที่ปล่อยลูกหลานไปแข่งรถซิ่งต้องโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท การต่อต้านดังกล่าวทำโดยโพสต์ข้อความและทำสติ๊กเกอร์เขียนข้อความไม่เห็นด้วย และแชร์ข้อความและสติ๊กเกอร์ดังกล่าวลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก พ.อ.วีรเทพ การุณรอบดุล รอง ผบ.กกล.รส.ศรีสะเกษออกมาระบุถึงกรณีนี้ว่า เยาวชนที่ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อาจต้องเรียกมาปรับทัศนคติ

ที่มา: เดลินิวส์

Exit mobile version