Thai Netizen Network

หลายภาคส่วนร่วมถก 13 ประเด็นอินเทอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2558 มีการจัด “เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย” (Thailand National Internet Goveanance) ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้ร่วมจัดโดยผู้มีส่วนได้เสียหลากหลาย อันได้แก่ มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) , สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย, ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน, ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สถาบันเชนจ์ฟิวชัน, สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย

ในเวทีครั้งนี้มีผู้ร่วมงานกว่า 300 คน ทั้งจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

ในการกล่าวเปิดงาน สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (สพธอ.) กล่าวว่า ในเรื่องการกำกับดูแล สพธอ.มีบทบาทในการดูแลกฎหมายที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัว รวมทั้งเป็นตัวแทนหลักของประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในองค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก (ICANN)

ส่วนเวทีในวันนี้ ตนเห็นว่าจะเป็นการสะท้อนสิ่งที่ประเทศไทยต้องการไปยังเวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตระดับโลก

ทางด้านมณเฑียร บุญตัน จากสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยกล่าวว่า คนพิการให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งตนมองว่าควรจะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังทำให้คนพิการมีโอกาสมีส่วนร่วมในกลไกต่างๆ ของสังคม โดยตอนนี้กลุ่มคนพิการกำลังให้ความสำคัญกับหลักการออกแบบที่เป็นสากล (universal design) และต้องการให้ประเทศไทยเร่งทำมาตรฐานการเข้าถึง (accessibility standard)

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ตนดีใจที่ได้เห็นว่างานวันนี้มีองค์กรร่วมจัดจำนวนมาก จากหลายภาคส่วน ซึ่งสะท้อนให้เห็นธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่มีผู้เล่นหลากหลาย และไม่มีใครประกาศตนว่าเป็นผู้ดูแลได้ ตนคาดว่าเวทีครั้งนี้จะเน้นพูดคุยเรื่องการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต

ประวิทย์กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งพื้นฐานเหมือนไฟฟ้าหรือน้ำประปาที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นี่เป็นเหตุผลที่ กสทช.เข้ามาเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัดในวันนี้

ทางด้านสุภิญญา กลางณรงค์ สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีคนกำกับดูแลชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเรื่องดีในแง่สิทธิเสรีภาพ แต่แง่ลบก็อาจทำให้ผู้ให้บริการไม่มีความรับผิดได้ ขณะที่ภาครัฐก็ต้องการเข้ามากำกับดูแลอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่วนประชาชนก็ต้องการเสรีภาพ ความท้าทายคือเราจะหาจุดตรงกลางได้อย่างไร ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราจะได้มาคุยกันในเวทีนี้

สุภิญญากล่าวว่า การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตควรใช้หลักความเป็นสากล และรัฐไม่อาจอ้างว่าต้องใช้กฎหมายแบบไทยๆ หรือค่านิยมแบบไทยในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต

สุภิญญากล่าวด้วยว่า ตนอยากให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกันส่งเสียงและติดตามองค์กรกำกับดูแล รัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้การใช้อินเทอร์เน็ตมีความเป็นธรรม หลากหลาย และมีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเวทีนี้เป็นเวทีสำคัญของภาคประชาสังคมที่รัฐต้องรับฟัง

สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองกล่าวว่า สังเกตได้ว่าเวทีนี้ใช้คำว่า “การอภิบาล” (governance) ซึ่งไม่ใช่การใช้กฎหมายควบคุม เพราะการจัดการกับอินเทอร์เน็ตไม่อาจทำได้โดยใช้ “เครื่องมือแข็ง” หรือกฎหมายอย่างเดียว แต่การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตประกอบด้วยปัจจัยทั้งค่านิยม โค้ด กลไกตลาดร่วมด้วย นอกเหนือไปจากกฎหมาย

สฤณีกล่าวว่า ตนอยากให้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต่อไป และในเวทีนี้ ตนอยากให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มาก เพราะสเน่ห์อย่างหนึ่งของเวทีการอภิบาลอินเทอร์เน็ตคือการให้โอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

ทางด้านยรรยง เต็งอำนวย กรรมการมูลนิธิศูนย์กล่าวว่า มูลนิธิพยายามทั้งส่งเสริมและกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตโดยพยายามให้อินเทอร์เน็ตมีความเป็นกลางมากที่สุด ทั้งยังกล่าวด้วยว่าการจัดเวทีครั้งนี้มีประโยชน์มาก เพราะแสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องของนักวิชาการ รัฐ หน่วยงานต่างๆ หรือเอกชน แต่เป็นเรื่องของทุกคน

ถก 13 ประเด็นอินเทอร์เน็ต

เวทีนี้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต 13 ประเด็น ได้แก่ การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตภาษาไทย การป้องกันเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ความเป็นส่วนตัว การแสดงออกบนโลกออนไลน์ Cybersex การขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยข้อมูลเปิด EPUB การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์และโอกาสในการมีส่วนร่วม และสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์

ในเวิร์กช็อป “อินเทอร์เน็ตภาษาไทย: ก้าวข้ามช่องว่างทางภาษา เพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต” มีการพูดคุยกันว่าภาษาเป็นเครื่องกีดกันให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงข้อมูล มาตรการคือหาวิธีที่จะทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นโดยที่ข้อจำกัดทางภาษาไม่ควรเป็นอุปสรรค นอกจากนี้ยังมีการเสนอว่า อินเทอร์เน็ตภาษาไทยสามารถเป็นวาระแห่งชาติได้หรือไม่ เว็บไซต์ภาครัฐจะสามารถนำร่องก่อนได้หรือไม่

ส่วนในเวิร์กช็อป “การเข้าถึงที่เข้าไม่ถึง (web accessibility)” มีการพูดคุยกันว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องจำกัดอยู่กับกลุ่มคนพิการเท่านั้น บางครั้งคนปกติเองก็ต้องการการช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งการใช้เครื่องมือทางสังคมเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น วิธีการ crowdsource และควรมีการฝึกอบรมการใช้อินเทอร์เน็ต

ในเวิร์กช็อป “ใคร (ควร) กำกับอินเทอร์เน็ต?” และ “กลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของทุกคน” ความเห็นส่วนใหญ่มุ่งไปในทางว่า การกำกับอินเทอร์เน็ตเป็นการกำหนดนโยบายที่มีส่วนร่วมทุกคน ไม่ใช่ภาครัฐเพียงอย่างเดียว

สำหรับเวิร์กช็อป “สถานการณ์การแสดงออกบนโลกออนไลน์” มีการพูดคุยกันว่า ช่วงหลังรัฐประหาร มีคนถูกดำเนินคดีในพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น และหลักฐานออนไลน์ก็ถูกนำมาใช้จับกุมมากขึ้น รวมทั้งมีการตั้งคำถามถึงขอบเขตของอำนาจรัฐ ว่าควรอยู่ตรงไหน

ในเวิร์กช็อป “EPUB ทางเลือกใหม่ของการทำหนังสือยุคดิจิทัล” นั้นผู้ร่วมเวิร์กช็อปเน้นมาหาความรู้เนื่องมองว่า EPUB เป็นกระแสใหม่ และมีความสามารถสูงกว่าไฟล์ pdf หลายประการ อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลจากเจ้าของเนื้อหา จึงได้รับการอนุญาตเผยแพร่ได้น้อย

ในเวิร์กช็อป “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยข้อมูล ‘Innovation with Data'” ได้มีข้อเสนอว่า ควรมีสัญญาอนุญาตการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม และประเด็นเรื่องความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะขึ้นมามีความสำคัญมาก และน่าจะต้องมีการคุยกันถึงพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และควรมีการกำหนดมาตรฐานข้อมูล

ในเวิร์กช็อป “Cybersex : เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรมแดน” วิทยากรกล่าวว่า มนุษย์ต้องการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีนานแล้ว อาทิ หนังสือโป๊ เป็นต้น อินเทอร์เน็ตช่วยให้ง่ายขึ้นเท่านั้น และการปิดกั้นเนื้อหาไม่เพียงพอ ควรจะมีการอบรมทำความเข้าใจด้วย รวมทั้งทิศทางจึงควรเปี่ยงการดูแลด้านศีลธรรมไปเป็นการคุ้มครองเยาวชนมากกว่า

นอกจากนี้ ในเวทียังมีเวิร์กช็อป “สื่อออนไลน์: ความหวัง…บทบาทในการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญ”, “สถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์และสาธิตการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย” และ “ความเป็นส่วนตัวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล : ชื่อเสียง ข้อมูล และการตลาดออนไลน์”

ผู้สนใจสามารถรับชมวิดีโอย้อนหลังได้ เร็วๆ นี้

 

Exit mobile version