ตัวแทนอียูให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุ หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมต้องเป็นอิสระ ด้านตัวแทนนักธุรกิจต่างชาติระบุ นักธุรกิจต้องมั่นใจว่าจะทำธุรกิจได้โดยไม่ถูกสอดแนม การเก็บข้อมูลต้องขอความยินยอม ชี้ควรปรับปรุงกฎหมายด้านการแข่งขันและปฏิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เป็นเพียงกระดูกสันหลังของเครือข่ายบรอดแบนด์ ทั้งสองยังเห็นต้องกันว่า การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตไม่ควรใช้ระบบสั่งการจากบนลงล่าง แต่ต้องเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 58 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนา “Digital Economy: The Industry Speaks” โดยหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และสมาคมการค้ายุโรป (EABC) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
ตัวแทนอียูให้ความเห็น ในเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานกำกับดูแลต้องเป็นอิสระ
หลุยซา ราเกอร์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกล่าวในงานว่า ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (hard infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับดูแล (soft infrastructure) ที่ดี ซึ่งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพนั้น หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมจะต้องมีความเป็นอิสระ ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค และดำเนินการโดยยึดประโยชน์สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างให้เกิดตลาดแข่งขันอันจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคด้วย
ราเกอร์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์เป็นความกังวลของคนทั่วโลก โดยรัฐบาลได้ร่วมมือกับเอกชนเพื่อเฝ้าระวังปัญหานี้ แต่คำถามก็คือเราควรลดเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตเพื่อความมั่นคงหรือ โดยเธอกล่าวต่อไปว่า ในข้อนี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพและความมั่นคงให้ได้
ราเกอร์กล่าวต่อด้วยว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการสั่งการจากส่วนบน แต่จำเป็นต้องใช้วิธีการให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมออกแบบการกำกับดูแลร่วมกัน (multi-stakeholder model) ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันอยู่ในสหภาพยุโรป โดยภาคส่วนดังกล่าวนอกจากรัฐแล้ว ยังมีภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการรวมอยู่ด้วย
นักธุรกิจต่างชาติมอง ในเศรษฐกิจดิจิทัล นักธุรกิจต้องมั่นใจได้ว่าจะทำธุรกิจโดยไม่ถูกสอดแนม
ทางด้านบ็อบ ฟอกซ์ ประธานกลุ่มไอซีที หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่า การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตควรต้องใช้วิธีการแบบ multi-stakeholder และการตัดสินใจออกนโยบายใดๆ ก็ควรเป็นไปแบบมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ ในยุคที่ข้อมูลมีจำนวนมหาศาล การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลควรจะต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน ฟอกซ์กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเรื่องความเป็นอิสระของกสทช. ส่วนเรื่องคลื่นความถี่นั้นควรจะต้องทำให้มีการประมูลเกิดขึ้น
ฟอกซ์ยังพูดถึงปัจจัยที่จะดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติด้วยว่า ปัจจัยที่จะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศคือ การที่นักธุรกิจมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินไปได้โดยปราศจากการสอดแนมโดยไม่มีเหตุอันควร การมีบริการและระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ การมีแรงงานที่มีทักษะเพียงพอ และมีกฎเกณฑ์สำคัญๆ ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ ฟอกซ์กล่าวด้วยว่า กฎหมายที่จะมาสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลยังมีกฎหมายที่ขาดไป 2 ฉบับ นั่นคือ 1. กฎหมายด้านการแข่งขัน ซึ่งต้องได้รับการปรับปรุง 2. ต้องมีกฎหมายการปฎิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ โดยควรให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลัง (backbone) ของเครือข่ายบรอดแบนด์
ทั้งนี้ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และสมาคมการค้ายุโรป (EABC) ยังได้จัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจัดทำเป็นตารางในเอกสารประกอบการประชุม (หน้า 10-11)