ภาคประชาสังคมร่วมถกแผนแม่บทอาเซียนไอซีที ชี้แผนดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วม เน้นให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ ไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว ปัญหาเรื่องความรับผิดของรัฐ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พร้อมระดมความเห็นว่า แผนแม่บทไอซีทีที่ดีควรเป็นเช่นไร
ในปี 2011 ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Ministers – TELMIN) ได้เริ่มรับเอาแผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน (ASEAN ICT Masterplan) มาใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีพิธีการที่มีรัฐมนตรีหรือผู้แทนของประเทศอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วม แผนแม่บทนี้เริ่มนำมาบังคับใช้นับตั้งแต่วินาทีที่มือข้างขวาของรัฐมนตรีแต่ละคนได้วางทาบลงบนรูปธงชาติแต่ละประเทศ บนแผ่นกระดานที่ชื่อ “วงกลมแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว”
หนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทดังกล่าว ที่นอกเหนือไปจากการมุ่งส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ คือการสร้างการมีส่วนร่วมและให้อำนาจประชาชน ซึ่งเป็นด้านที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญ
ทว่าในอีก 5 ปีถัดมา ภาคประชาสังคมกำลังมาถกเถียงกันว่า ที่จริงแล้ว แผนแม่บทไอซีทีที่ว่าสร้างการมีส่วนร่วมและให้อำนาจแก่ประชาชนอาเซียนจริงหรือไม่
โดยเมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2015 ที่ผ่านมา ณ ที่ประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนประจำปี 2015 (ASEAN People Forum 2015) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการจัดเวิร์กช็อปในหัวข้อ “สิทธิอินเทอร์เน็ตและการกำกับดูแล” (Internet Rights and Goevernance) โดย Centre for Independent Journalism (CIJ) ร่วมกับ Women’s Legal and Human Rights Bureau (WLB), Foundation for Media Alternatives (FMA), Persatuan Kesedaran Komuniti Selangor (EMPOWER), South East Asian Press Alliance (SEAPA) และ Association for Progressive Communications (APC) เพื่อให้ภาคประชาสังคมได้มาถกเถียงกันในเรื่องนี้
Jac sm Kee ผู้จัดการโครงการสิทธิผู้หญิงของ APC และคณะกรรมการ CIJ หนึ่งในผู้ร่วมจัดเวิร์กช็อปให้สัมภาษณ์ถึง ASEAN ICT Masterplan ว่า สองปัญหาหลักของแผนแม่บทดังกล่าวคือ แผนแม่บทนี้ถูกร่างขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและขาดความโปร่งใสในกระบวนการการร่าง ทั้งยังให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจเท่านั้น โดยมองคนว่าเป็นเพียงผู้บริโภคและทุน ทำให้แผนแม่บทมุ่งเน้นเพียงเสริมสร้างทักษะด้านไอทีและสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แต่ขาดแนวทางส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน
โดยในเวิร์กช็อปครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปได้ร่วมกันระบุถึงปัญหาอื่นๆ ที่แผนแม่บทไม่ได้ให้ความสำคัญ อันได้แก่ การส่งเสริมไอซีทีและทำให้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนชายขอบ ผู้เข้าร่วมยังเห็นด้วยว่า แผนแม่บทนี้ให้ความสำคัญกับความมั่นคง (security) มาก แต่ปัญหาก็คือ ความมั่นคงที่ว่าเป็นความมั่นคงของใครกันแน่ เนื่องจากยังคงมีความคลุมเครือของนิยามเรื่องความมั่นคง (security) ซึ่งยังสับสนกันในหลายประเทศว่า ความมั่นคงดังกล่าวเป็นความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cybersecurity) หรือความมั่นคงของชาติ (national security) หรือความมั่นคงของรัฐบาล นอกจากนี้ แผนแม่บทยังไม่ได้พูดถึงปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ปัญหาเรื่องความรับผิด (accountability) ของรัฐ และการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ (freedom of information)
ส่วนปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้น Jac นำเสนอในเวิร์กช็อปว่า แต่ละประเทศในภูมิภาคมีปัญหาในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไป โดยสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน แม้จะมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จัดว่าอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องค่าอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างแพง และยังมีปัญหาเรื่องอัตราความเร็วของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เข้าไม่อินเทอร์เน็ตด้วย
ขณะที่ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับปานกลาง ราคาค่าอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับปานกลาง แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน
ส่วนอินโดนีเซีย พม่า ลาว กัมพูชา มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับต่ำ โดยต้องพึ่งพาเครือข่ายขนส่งข้อมูล (backbone network) ข้ามประเทศที่มีราคาแพงและมีจำนวนน้อย
Jac ระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนยังมีทรัพยากรอีกมากที่สามารถนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีได้ ประเทศต่างๆ จึงควรแบ่งปันทรัพยากรและต้นทุนกัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในภูมิภาค
มีผู้ร่วมเวิร์กช็อปเสนอด้วยว่า แม้ว่าพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งจะมีโครงสร้างพื้นฐานและสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่พวกเขาก็ขาดผู้ผลิตเนื้อหาที่ดี หรือไม่ทราบว่าเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับตนอยู่ที่ใดบ้าง จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้เข้าไปให้คำแนะนำเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์ด้วย
ในเวิร์กช็อปยังมีผู้ให้ความเห็นว่า ในเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้อยู่ในระดับที่รัฐจะควบคุมได้เท่านั้น
นอกจากนี้ เนื่องจากแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบริบทที่ต่างกัน จึงมีความท้าทายว่า เราจะทำให้กฎและกติกาในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตสอดคล้องกันได้อย่างไร โดยมีผู้เสนอว่า สิ่งที่เราควรทำคือตั้งมาตรฐานในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ มีผู้ตั้งคำถามขึ้นว่า ความจริงแล้ว การทำให้กฎกติกาที่กำกับดูแลอินเทอร์เน็ตมีมาตรฐานสอดคล้องกัน (harmonization) เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่กันแน่ เพราะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นสองประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สองประเทศนี้จึงมีความสามารถในการกำหนดทิศทางมาตรฐานไอซีทีในภูมิภาค ซึ่งหากสองประเทศนี้ต้องการมาตรฐานที่ต่ำ ก็เป็นไปได้ว่ามาตรฐานในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ต้องลดต่ำลงไปด้วย
ในเวิร์กช็อปยังได้มีการหารือและระดมความเห็นว่าแผนแม่บทไอซีทีควรจะเป็นเช่นไร ซึ่งความเห็นดังกล่าวมีอาทิ
แผนแม่บทไอซีทีต้อง:
- ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้
- ต้องทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างเป็นอิสระ ทำให้คนมีอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากจะต้องมีการจำกัดความคิดเห็น ก็ต้องเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล
- ส่งเสริมความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (net neutrality)
- ส่งเสริม creative common
- ต้องคำนึงว่าภาคประชาสังคมเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ
- มีการกดดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิด (accountable) โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นส่วนตัว
- หากเรามองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสินค้าสาธารณะ (public good) ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตรวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย
ก้าวต่อไป
ในการเคลื่อนไหวก้าวต่อไปของภาคประชาสังคมนั้น Jac กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ทางกลุ่มยังไม่ได้พูดคุยกับผู้มีส่วนร่างแผนแม่บทนี้ แต่จะเน้นใช้การให้ความรู้ความตระหนักแก่ประชาชนและเน้นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมโดยประสานความร่วมมือกับหลายองค์กร โดยตนเชื่อว่า การเน้นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมจะได้ผลมากกว่า
ในเวิร์กช็อปได้มีตัวแทนจากกลุ่ม Human Rights Working Group (HRWG) นำเสนอว่า ทางกลุ่มกำลังร่างแผนงาน (blueprint) เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในแผนการดำเนินงานของอาเซียนหลังปี 2015 และอยากให้ผู้ร่วมเวิร์กช็อปและผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อช่วยกันร่างแผนงานดังกล่าว โดยสามารถส่งข้อมูลและข้อเสนอมาทางกลุ่มได้
แบ็กกราวด์ ASEAN ICT Masterplan
อนึ่ง ASEAN ICT Masterplan เป็นแผนแม่บทที่ร่างโดยรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Asean Telecommunications and Information Technology Ministers – TELMIN) ในปี 2010 และเริ่มนำมาใช้จริงในปี 2011 แผนแม่บทดังกล่าวเป็นแผนในระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2011-2015
แผนแม่บทนี้มียุทธศาสตร์ 6 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การส่งเสริมศักยภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินงานตามแผนแม่บทคือ ที่ประชุมอาวุโสของอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Asean Telecommunication and Information Technology Senior Officials Meeting – TELSOM) และสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน (Asean Telecommunications Regulators’ Council – ATRC)
คาดกันว่า แม้ว่า ASEAN ICT Masterplan 2015 จะหมดลงไปในปีนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการต่ออายุแผนแม่บทดังกล่าวออกไป หรือจะมีการพูดคุยถึงแผนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
บทบาทของภาคประชาสังคม
หากเรามองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะต่อเศรษฐกิจหรือสังคม คำถามสำคัญที่เราจะต้องถามก็คือ ใครกันควรมีบทบาทในการกำกับดูแลพื้นที่แห่งนี้
และหากเราเชื่อดังที่อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ว่าไว้ว่า “อินเทอร์เน็ตไม่สามารถถูกกำกับจากบนลงล่าง ทว่าควรวางอยู่บนกระบวนการที่มีส่วนร่วมและถูกขับเคลื่อนด้วยฉันทามติของคนส่วนใหญ่” เราก็หวังว่า ในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีของอาเซียนครั้งหน้า เราจะได้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคมร่วมออกแบบทิศทางแผนดังกล่าว และได้เห็นมือข้างขวาของภาคประชาสังคมร่วมทาบอยู่บนแผ่นกระดาน “วงกลมแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว” เช่นเดียวกัน