Thai Netizen Network

เปิดผัง 11 หน่วยงานใหม่ “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลประยุทธ์

โครงสร้างใหม่(?หน่วยงานไอซีทีแห่งชาติ

สรุปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและไอซีที ทั้งที่จะตั้งใหม่และที่จะปรับปรุงจากเดิม จากข้อมูลเช้าวันที่ 7 ม.ค. 2558 (ดูข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ที่ด้านท้ายของบทความ)

Update: 22 ม.ค. 2558 ปรับปรุงผังและชื่อหน่วยงานให้สอดคล้องกับข้อมูลจากร่างกฎหมายจริง ซึ่งถูกเผยแพร่ประมาณวันที่ 9 ม.ค. 2558 (อย่างไรก็ตาม ในร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ ยังมีชื่อหน่วยงานบางหน่วยไม่สอดคล้องกันอยู่บ้าง) — อ่านเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ผู้ประกอบวิชาชีพไอที สื่อมวลชน และ กสทช. (+กฎหมายที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจาก 10 ฉบับนี้)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 10 ฉบับ ตั้ง 11 หน่วยงานใหม่ เปลี่ยนโฉมโครงสร้างการกำหนดและกำกับนโยบายไอซีทีไทย อย่างไรก็ตามยังมีข้อเป็นห่วงเรื่องอำนาจหน้าที่และความรับผิดของหน่วยงานใหม่ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน

นโยบายดิจิทัลภาพรวม

ด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ข้อสังเกตเบื้องต้น

  1. หน่วยงานจำนวนมากที่จะจัดตั้งใหม่ ถูกกำหนดให้จัดตั้งเป็น “หน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” — เป็นที่คาดว่ารายได้ของหน่วยงานจะไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และเป็นไปได้ว่า “เจ้าหน้าที่” ของนิติบุคคลดังกล่าวอาจไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (“มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”)
  2. การปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถูกดูแลโดยหน่วยงานเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ — ทำให้มีคำถามถึงการตรวจสอบคานอำนาจเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบหรือตามอำเภอใจ ว่าจะทำได้มีประสิทธิภาพเพียงใดถ้าหน่วยงานดูแลเป็นหน่วยงานเดียวกัน
  3. ยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการกสทช.และสำนักงานกสทช.จะมีอิสระจากรัฐบาลเพียงใดในการกำกับกิจการ — เนื่องจากต้องอยู่ใต้กำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
  4. การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 8 ฉบับ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ไม่ได้อยู่ในวาระปกติ และทั้งหมดได้รับมติเห็นชอบภายในวันเดียว

ดูความเห็นส่วนตัวของ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช. ต่อประเด็นการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของกสทช.

คุยเรื่องนี้ต่อได้ที่กลุ่มเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต

สรุปร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 10 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ สรุปโดย www.thaigov.go.th

ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 2 ฉบับ (เห็นชอบ 16 ธ.ค. 2557)

  1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธานกรรมการ กำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ ด้าน Hard Infrastructure ด้าน Soft Infrastructure ด้าน Service Infrastructure ด้าน Digital Economy Promotion และด้าน Digital Society and Knowledge
  2. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีมิติของภารกิจและความรับผิดชอบเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม แบ่งส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการเฉพาะด้านจำนวน 5 ด้าน

ร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ฉบับ (เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายเดิม 4 ฉบับ และเสนอกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ) (เห็นชอบ 6 ม.ค. 2558)

  1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2545)
  2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมันคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง ตลอดจนการให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และกระทรวงการคลัง (กค.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ
  3. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. กำหนดหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทุนและทรัพย์สิน ของสำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ไปเป็นของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้)
  4. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้หรือเปิดเผย และข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวบุคคลนั้นได้ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หลักเกณฑ์การร้องเรียน และการให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  5. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
  6. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. จัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  7. ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ให้ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่
  8. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ (องค์การมหาชน)

นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ที่จะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีความรับผิดเหมือนกับมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน (เท่ากับว่าที่จะแก้ไขมาตรา 15 ในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ให้มีข้อยกเว้นความรับผิดให้กับผู้ให้บริการ ก็มารับผิดตามพ.ร.บ.นี้แทน) หรือร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าถึงข้อมูลได้ตามที่ศาลอนุญาต (ซึ่งตามร่างแก้ไขวิอาญานี้ อย่างน้อยน่าจะดีกว่ามาตรา 34 ตามร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ไม่ระบุถึงการพิจารณาของหน่วยงานตุลาการที่เป็นอิสระเลย)

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รวบรวมร่างกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาไว้ที่ http://ilaw.or.th/NLAWatch เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอตัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีและสิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ดังนี้

กฎหมาย เสนอโดย สถานะ สาระสำคัญ
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมเสนอต่อ สนช. 1) กำหนดให้พนักงานสอบสวนดักรับข้อมูลเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กำหนด2) กำหนดให้ศาลมีอำนาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลย กรณีในชั้นสอบสวนผู้ต้องหา (จำเลย) ไม่ตอบคำถามและนำประเด็นที่ไม่ได้ตอบนั้นยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาอ่านความคิดเห็นจากงานเสวนา “ความจำเป็นของการมีกฎหมายดักรับข้อมูลเพื่อใช้ในการอำนวยความยุติธรรม”
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมเสนอต่อ สนช. ป้องกันและปราบปรามสื่อรูปแบบต่างๆ ที่จะกระตุ้น ส่งเสริม หรือยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมอันตราย โดยกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าตรวจค้น ยึด หรืออายัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกำหนดความผิดของผู้ให้บริการ (ร่างมาตรา 22 มีลักษณะเดียวกับมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯปัจจุบัน)
ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว) สำนักงานศาลยุติธรรม เตรียมเสนอต่อ สนช. กำหนดให้ศาลหรือเจ้าพนักงานที่สั่งปล่อยชั่วคราวมีอำนาจสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ในกรณีที่ผู้นั้นยินยอม
ร่าง พ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ไม่มีข้อมูล) เตรียมเสนอต่อ สนช. (ไม่มีข้อมูล)
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. จัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการผลิต การพัฒนา และการเผยแพร่สื่อ ที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาสื่อ
ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงหนัง) 27 พ.ย. 57 มติวาระสามเห็นชอบ แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำโดยการบันทึกเสียงหรือภาพหรือทั้งเสียงและภาพ จากโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว (เพิ่มมาตรา 28/1 และมาตรา 69/1) เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการทางการมองเห็น คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางสติปัญญา (เพิ่มมาตรา 32 วรรคสอง (9))
ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ) 27 พ.ย. 57 มติวาระสามเห็นชอบ แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพิ่มบทนิยามคำว่า “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” “มาตรการทางเทคโนโลยี” และ “การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี” เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมี ลิขสิทธิ์ กรณีการทำซ้ำที่จำเป็นในระบบคอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจศาลให้สั่งริบสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอัน เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ติดตามร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ได้ที่เว็บไซต์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (senate.go.th) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (parliament.go.th) และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (soc.go.th)

ค้นหามติรัฐมนตรี | ค้นความเห็นต่อร่างกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา | ค้นหากฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา)

แหล่งข้อมูล

Exit mobile version