Thai Netizen Network

[16 ธ.ค.] Thai Media Forum: 2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เวทีสื่อไทย: 2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม

เสวนาเวทีสื่อไทย “2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม”

จันทร์ 16 ธันวาคม 2556 9:00-12:30

ณ โรงแรมเดอะสุโกศล (BTS พญาไท) [แผนที่] [Facebook event]

กำหนดการ

ที่มา

ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เรื่องการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มี 2 หมวดที่สำคัญคือหมวดที่ 5 ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ระบุไว้ในมาตราที่ 68 ให้กสทช.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบด้านการเงิน การบัญชีและการพัสดุ และในหมวดที่ 6 ว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารงาน โดยในมาตรา 70-73 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานกสทช. เพื่อทำหน้าที่ตามมาตรา 72 แล้วให้นำรายงานเสนอต่อรัฐสภาพร้อมรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี และเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อประชาชน

นอกเหนือจากข้อกำหนดด้านกฎหมายแล้ว ยังมีการติดตามงานและประเมินผลงานกสทช. โดยเครือข่ายภาคประชาชน เริ่มจากกลุ่ม NBTC Watch ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวและสมาคมวิชาชีพสื่อ เปิดตัวกับสังคมครั้งแรกในปี 2555 เมื่อกสทช.จัดให้มีการประมูล 3 G คลื่น 2.1 MHz และมีการจัดงาน “Countdown การประมูล 3G ร่วมสานฝันภารกิจเพื่อชาติ” กลุ่ม NBTC Watch ได้ออกรายงาน “การประมูลคลื่น 3 G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร?” ตั้งคำถามต่อกสทช. ในเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการกำหนดนโยบาย การปรับเพดานการประมูลจาก 20 MHz เหลือ 15 MHz และราคาตั้งต้นของการประมูล เพื่อให้แน่ใจว่าการประมูลครั้งนี้ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้กลุ่ม NBTC Watch ได้ออกรายงานเปิดเผยการใช้งบประชาสัมพันธ์กสทช. และประเด็นการออกใบอนุญาตดาวเทียม

ในเดือนพฤษภาคม 2556 มีการเปิดตัวกลุ่ม NBTC Policy Watch ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มนักวิชาการสื่อและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ติดตาม และตรวจสอบนโยบายและกระบวนการทำงานของ กสทช. รวมถึงทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ด้วยรายงานที่นำเสนอสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง กลุ่ม NBTC Policy Watch มักได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อการติดตามและประเมินผลการทำงานกสทช.

นอกจากความร่วมมือในรูปแบบของคณะทำงานแล้ว เครือข่ายภาคประชาชนยังรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อขับเคลื่อนเชิงประเด็นสำคัญๆ เช่น เกณฑ์การออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะ การจัดสรรเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หรือประเด็นการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ความร่วมมือเหล่านี้ออกมาในรูปแบบการจัดเวทีระดมความคิดเห็น สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนและต่อรองกับตัวแทนกสทช.

ในวาระครบรอบ 2 ปีกสทช. เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เครือข่ายภาคประชาชนจะเปิดเวที ร่วมทบทวนการทำงานติดตามและประเมินผลงานกสทช. ที่ผ่านมา ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาการทำงานในอนาคตและหาทางขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้งานติดตามกสทช. มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เวทีสื่อไทยครั้งนี้ จึงเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “2 ปีกสทช.กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาชน”

สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานประเทศไทย และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Exit mobile version