Thai Netizen Network

สลาวอย ชิเช็ก: มารยาทดีในยุควิกิลีกส์

ตอนที่ 6 ของคอลัมน์ “ความจริงจากโลกเสมือน” โดย สฤณี อาชวานันทกุล (มิถุนายน 2554)

มารยาทดีในยุควิกิลีกส์

แปลจาก “Good Manners in the Age of WikiLeaks” โดย Slavoj Žižek. ตีพิมพ์ครั้งแรกใน London Review of Books, 20 มกราคม 2554

ในจดหมายทูตฉบับหนึ่งซึ่งวิกิลีกส์นำมาเผยแพร่ ปูติน (Vladimir Putin นายกรัฐมนตรีรัสเซีย-ผู้แปล) กับเมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev ประธานาธิบดีรัสเซีย-ผู้แปล) ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับแบทแมนกับโรบิน นี่เป็นการเปรียบเปรยที่เป็นประโยชน์ – จูเลียน อัสซานจ์ ผู้จัดการวิกิลีกส์ เป็นตัวจริงนอกจอของโจ๊กเกอร์ใน เดอะ ดาร์ค ไนท์ ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน มิใช่หรือ? ในภาพยนตร์เรื่องนี้ อัยการ ฮาร์วีย์ เดนท์ ศาลเตี้ยผู้หมกมุ่น กลายเป็นอาชญากรและสังหารคนด้วยน้ำมือตัวเอง สุดท้ายเขาก็ถูกแบทแมนฆ่า แบทแมนกับเพื่อนของเขา อธิบดีกรมตำรวจกอร์ดอน ตระหนักดีว่าประชาชนจะเสียขวัญถ้าหากล่วงรู้ว่าเดนท์ฆ่าใครไปบ้าง ดังนั้นจึงวางแผนรักษาภาพลักษณ์ของเดนท์ด้วยการกุเรื่องว่าแบทแมนเป็นฆาตกร สารที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทิ้งให้กับผู้ชมคือ การโกหกนั้นจำเป็นต่อการบำรุงขวัญกำลังใจของประชาชน – มีเพียงคำโกหกเท่านั้นที่ช่วยชีวิตเราได้ ไม่แปลกที่ตัวแทนของสัจจะเพียงคนเดียวในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ โจ๊กเกอร์ เจ้าจอมวายร้าย เขาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะหยุดโจมตีเมืองก็อธแฮมก็ต่อเมื่อแบทแมนยอมถอดหน้ากากและเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง เดนท์ปกป้องแบทแมนด้วยการบอกสื่อมวลชนว่า เขาเองคือแบทแมน – คำโกหกอีกแล้ว กอร์ดอนวางกับดักล่อโจ๊กเกอร์ด้วยการแกล้งตาย – เรื่องนี้ก็โกหก

โจ๊กเกอร์ต้องการเปิดเผยความจริงหลังหน้ากาก เชื่อมั่นว่าการทำอย่างนั้นจะทำลายระเบียบสังคม เราควรเรียกเขาว่าอะไรดี? ผู้ก่อการร้าย? เดอะ ดาร์ค ไนท์ ในแก่นแท้คือเวอร์ชันใหม่ของนิยายคาวบอยคลาสสิกอย่าง ฟอร์ท อาปาเช และ เดอะ แมน ฮู ช็อท ลิเบอร์ตี วาลานซ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการทำให้ตะวันตกศิวิไลซ์ เรื่องเท็จจะต้องถูกยกระดับเป็นเรื่องจริง พูดง่ายๆ คือ อารยธรรมจะต้องตั้งอยู่บนคำโกหก ภาพยนตร์เรื่องนี้ฮิตมาก คำถามคือเหตุใดการใช้เรื่องเท็จพยุงระบบสังคมถึงได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ว่าเป็น “ความจำเป็น” ณ ขณะนี้?

ลองนึกถึงความนิยมรอบใหม่ของ ลีโอ สเตราส์ ด้วย – แง่มุมในความคิดทางการเมืองของเขาที่สำคัญมากทุกวันนี้คือแนวคิดแบบชนชั้นนำว่าด้วยประชาธิปไตย คือความคิดว่ามี “เรื่องเท็จที่จำเป็น” ชนชั้นนำควรปกครองสังคม รับรู้สถานการณ์ที่แท้จริง (ตรรกะวัตถุนิยมแห่งอำนาจ) และป้อนนิทานสวยหรูให้กับประชาชนเพื่อกล่อมให้พวกเขามีความสุขกับอวิชชาอันชาชิน สเตราส์มองว่าโสกราติสทำผิดอย่างที่เขาถูกกล่าวหาจริงๆ – ปรัชญาเป็นอันตรายต่อสังคม การตั้งคำถามกับเหล่าพระเจ้าและสภาพสังคมเมืองนั้นลิดรอนความจงรักภักดีของพลเมือง และดังนั้นมันจึงบั่นทอนรากฐานของชีวิตสังคมปกติ แต่ในเวลาเดียวกัน ปรัชญาก็เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่สูงส่งและควรค่าที่สุดด้วย ทางออกคือให้นักปรัชญาเก็บงำคำสอนของพวกเขาไว้เป็นความลับ ซึ่งพวกเขาก็ทำอย่างนั้น ถ่ายทอดคำสอนด้วยการ “เขียนระหว่างบรรทัด” เท่านั้น สารแท้จริงที่ซ่อนอยู่ใน “จารีตอันยิ่งใหญ่” ของวิชาปรัชญา ตั้งแต่เพลโต ฮอบส์ จนถึงล็อค คือ ไม่มีหรอกพระเจ้าทั้งหลาย ศีลธรรมเป็นเพียงอคติ และสังคมไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรมชาติ

จนถึงตอนนี้ เรื่องของวิกิลีกส์ถูกนำเสนอว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างวิกิลีกส์กับจักรวรรดิอเมริกัน – การตีพิมพ์เอกสารลับของรัฐบาลเมริกาเป็นการกระทำที่สนับสนุนเสรีภาพของข้อมูล สิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน หรือว่ามันเป็นการกระทำเยี่ยงผู้ก่อการร้ายที่เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ? แต่ถ้าหากประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริงล่ะ? การต่อสู้ทางอุดมการณ์และการเมืองที่สำคัญกำลังดำเนินไปภายในวิกิลีกส์เอง – ระหว่างการกระทำสุดโต่ง คือตีพิมพ์เอกสารลับของทางการ กับข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำนี้ถูกผนึกลงในอุดมการณ์และการเมืองของผู้ครองอำนาจ และคนที่กำลังทำอย่างนั้นก็รวมถึงวิกิลีกส์เองด้วย

การผนึกในอุดมการณ์ของอำนาจนำที่ผมพูดถึงนั้นไม่ได้หมายถึง “การร่วมมือกับบรรษัท” เป็นหลัก นั่นคือ ข้อตกลงระหว่างวิกิลีกส์กับหนังสือพิมพ์ชั้นนำห้าฉบับ ให้พวกเขามีสิทธิพิเศษในการเผยแพร่เอกสารลับ ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นมากคือ วิถีสมคบคิดที่วิกิลีกส์ใช้ – กลุ่มลับ “ฝ่ายดี” โจมตีกลุ่มลับ “ฝ่ายเลว” ในรูปกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ในมุมมองนี้ ศัตรูคือนักการทูตอเมริกันที่ปกปิดความจริง จูงจมูกประชาชน และทำให้พันธมิตรตัวเองได้รับความอับอายในการเสาะแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเองอย่างก้าวร้าว ‘อำนาจ’ อยู่ในมือของกลุ่มผู้นำเลวๆ ไม่ได้แผ่ซ่านไปทั่วทุกองคาพยพของสังคมจนกำหนดวิธีที่เราทำงาน คิด และบริโภค วิกิลีกส์เองได้สัมผัสถึงการกระจายอำนาจที่ว่านี้เมื่อมาสเตอร์การ์ด วีซา เพย์พาล และแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วมมือกับรัฐในการบ่อนทำลายวิกิลีกส์ ราคาที่คนต้องจ่ายเวลาใช้วิถีสมคบคิดคือ จะถูกปฏิบัติตามตรรกะของทฤษฎีสมคบคิด (ไม่แปลกที่มีทฤษฎีมากมายว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังวิกิลีกส์ ‘จริงๆ’ – หน่วยข่าวกรองอเมริกันหรือเปล่า?)

สิ่งที่หนุนเสริมวิถีสมคบคิดคือสิ่งที่ดูเหมือนจะอยู่ตรงข้าม นั่นคือ การมองแบบเสรีนิยมว่าวิกิลีกส์เป็นเพียงบทใหม่เท่านั้นในประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของการต่อสู้เพื่อ ‘การไหลเวียนของข้อมูลอย่างเสรี’ และ ‘สิทธิของพลเมืองที่จะรับรู้’ (ข้อมูลข่าวสาร-ผู้แปล) มุมมองนี้ลดทอนวิกิลีกส์ให้เหลือเพียง ‘การทำข่าวสืบสวนสอบสวน’ แบบสุดโต่ง ณ จุดนี้เราอยู่เพียงก้าวเล็กๆ จากอุดมการณ์ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดฮิตอย่าง ออล เดอะ เพรสิเดนท์ส์ เม็น และ เดอะ เพลิกัน บรีฟ ซึ่งฉายภาพคนธรรมดาสองสามคนค้นพบเรื่องอื้อฉาวที่สาวไปถึงตัวประธานาธิบดี บีบบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ภาพยนตร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคอร์รัปชันไปไกลถึงผู้นำสูงสุด แต่อุดมการณ์ของมันก็อยู่ในสารสุดท้ายที่ให้ความหวัง – ประเทศของเราต้องสุดยอดจริงๆ เพราะคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ สามารถโค่นประธานาธิบดี ชายผู้มีอิทธิพลที่สุดในโลกลงได้!

ถึงที่สุดแล้ว การแสดงอำนาจของอุดมการณ์อำนาจนำคือการยอมให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีพลัง ทุกวันนี้เราไม่เคยขาดแคลนเสียงต่อต้านทุนนิยม รอบตัวเราท่วมท้นไปด้วยบทวิพากษ์ความเลวร้ายของทุนนิยม หนังสือ ข่าวสืบสวนสอบสวน และสารคดีโทรทัศน์จำนวนมากเปิดโปงบริษัทที่กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมของเราอย่างอำมหิต นายธนาคารขี้โกงที่ยังได้เงินโบนัสก้อนโตระหว่างที่รัฐเอาเงินภาษีไปอุ้มธนาคารของพวกเขา โรงงานนรกที่ใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาส ฯลฯ อย่างไรก็ตาม จุดบอดของบทวิพากษ์เหล่านี้คือ การใช้กรอบคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยในการตีกรอบต่อต้านความฟุ่มเฟือยล้นเกินเหล่านี้ เป้าหมาย (ตรงๆ หรือโดยนัย) อยู่ที่การทำให้ทุนนิยมเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ขยายอำนาจการควบคุมเศรษฐกิจให้กับประชาธิปไตย ด้วยการสร้างแรงกดดันจากสื่อ กลไกตรวจสอบในรัฐสภา กฎหมายที่เข้มงวดกว่าเดิม การสอบสวนของตำรวจที่ซื่อสัตย์ ฯลฯ แต่โครงสร้างรัฐประชาธิปไตย (แบบกระฏุมพี) ไม่เคยถูกตั้งคำถาม โครงสร้างนี้แตะไม่ได้แม้กระทั่งสำหรับนักต่อต้านทุนนิยมที่ ‘เปี่ยมศีลธรรม’ สุดโต่งที่สุด (สมัชชาปอร์โต อัลเลเกร, ขบวนเคลื่อนไหวซีแอตเติล ฯลฯ)

เรามองวิกิลีกส์จากกรอบคิดแบบนี้ไม่ได้ ตั้งแต่ต้นมันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมของวิกิลีกส์ที่ไปไกลกว่าแนวคิดเสรีนิยมเรื่องการไหลเวียนของข้อมูลอย่างเสรีหลายเท่า เราไม่ควรมองหาภาวะล้นเกินที่ระดับของเนื้อหา สิ่งเดียวที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับการเปิดโปงข้อมูลของวิกิลีกส์คือ มันไม่มีเรื่องใดเลยที่ทำให้เราแปลกใจ เรารู้เรื่องทั้งหมดอยู่แล้วมิใช่หรือ? สิ่งที่มันก่อกวนจริงๆ คือภาพลักษณ์ – เราเสแสร้งแกล้งทำไม่ได้อีกต่อไปว่าไม่รู้เรื่องที่ทุกคนก็รู้ว่าเรารู้ นี่คือความย้อนแย้งของพื้นที่สาธารณะ – ถึงแม้ว่าทุกคนจะรู้ข้อเท็จจริงที่แสลงใจเหมือนกัน การพูดถึงมันในที่สาธารณะก็เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง มาตรการแรกๆ ที่รัฐบาลบอลเชวิคทำในปี 1918 คือ เปิดเผยเอกสารการทูตลับของพระเจ้าซาร์ทั้งหมดต่อสาธารณะ สัญญาลับ เงื่อนไขลับของสัญญาที่ประชาชนรู้จัก ฯลฯ เป้าหมายของรัฐบาลบอลเชวิคตอนนั้นเหมือนกันกับวิกิลีกส์ – กลไกอำนาจทั้งหมดที่รัฐใช้ทำงาน

สิ่งที่วิกิลีกส์คุกคามคือการทำงานอย่างเป็นทางการของอำนาจนำ เป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่รายละเอียดลับของปัจเจกชนที่ทำงานให้กับรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป้าหมายไม่ใช่คนที่อยู่ในอำนาจ แต่เป็นตัวอำนาจเอง ตัวโครงสร้างของมัน เราไม่ควรลืมว่าอำนาจไม่ได้มีแต่สถาบันและกฏเกณฑ์ หากแต่ยังรวมถึงวิธีการท้าทายมันที่ชอบธรรม (วิธี ‘ปกติ’ เช่น สื่ออิสระ เอ็นจีโอ ฯลฯ) สาโรช คีรี นักวิชาการชาวอินเดียอธิบายว่า วิกิลีกส์ “ท้าทายอำนาจด้วยการท้าทายช่องทางปกติของการท้าทายอำนาจและเปิดโปงความจริง” เป้าหมายการเปิดโปงของวิกิลีกส์ไม่ใช่แค่การทำให้ผู้ครองอำนาจอับอาย แต่รวมถึงการชักนำให้เราเคลื่อนไหวสนับสนุนการทำงานของพลังอำนาจที่อาจเอื้อมเกินขีดจำกัดของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

อย่างไรก็ดี เป็นความผิดพลาดหากเราจะคิดว่าการเปิดโปงทุกสิ่งที่เคยเป็นความลับจะปลดปล่อยเรา ความคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง จริงอยู่ว่าความจริงปลดปล่อยเรา แต่ไม่ใช่ความจริงของวิกิลีกส์ แน่นอนว่าเราไว้ใจฉากหน้าไม่ได้ ไว้ใจเอกสารทางการไม่ได้ แต่เราก็ไม่พบความจริงในข่าวลือที่แลกกันเบื้องหลังฉากหน้านั้นเช่นกัน ภาพลักษณ์หรือหน้าที่พบปะประชาชน (public face) นั้นไม่เคยเป็นการเสแสร้งธรรมดาๆ ครั้งหนึ่ง อี.แอล. ด็อกโทโรว์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าภาพลักษณ์คือสิ่งเดียวที่เรามี ดังนั้นเราจึงสมควรปฏิบัติต่อมันอย่างระมัดระวัง เรามักจะได้รับการบอกเล่าว่าความเป็นส่วนตัวกำลังจะหายไป ความลับซึ่งเป็นส่วนตัวที่สุดถูกเปิดให้สาธารณชนตรวจสอบ แต่ความเป็นจริงนั้นกลับตรงข้าม – สิ่งที่กำลังหายไปคือพื้นที่สาธารณะและศักดิ์ศรีของมัน มีกรณีมากมายในชีวิตประวันของเราที่การไม่บอกอะไรๆ อย่างหมดเปลือกคือการกระทำที่เหมาะสม ในภาพยนตร์เรื่อง เบย์เซอร์ โวเลย์ส์ (จูบที่ถูกขโมย) เดลฟีน เซริก อธิบายความแตกต่างระหว่างความสุภาพและชั้นเชิงให้คู่รักหนุ่มของเธอฟังว่า ‘ลองนึกภาพว่าเธอเดินเข้าไปในห้องน้ำ พบผู้หญิงเปลือยกายยืนใต้ฝักบัวโดยบังเอิญ ความสุภาพแปลว่าเธอจะรีบปิดประตูแล้วพูดว่า “ขอโทษครับคุณผู้หญิง!” แต่ชั้นเชิงแปลว่าเธอจะรีบปิดประตูแล้วพูดว่า “ขอโทษครับคุณผู้ชาย!” มีเพียงในกรณีหลัง คือการแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นว่าคนที่กำลังอาบน้ำเพศอะไร เท่านั้นที่เราจะแสดงชั้นเชิงที่แท้จริงได้

ตัวอย่างการแสดงชั้นเชิงที่ยอดเยี่ยมในการเมือง คือการประชุมลับระหว่าง อัลวาโร คันฮาล ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โปรตุเกส กับ เออร์เนสโต เมโล อันตูเนส ทหารนักประชาธิปไตย สมาชิกกลุ่มทหารที่ทำปฏิวัติโค่นระบอบซาลาซาร์สำเร็จในปี 1974 สถานการณ์วันนั้นตึงเครียดมาก ฝั่งหนึ่งพรรคคอมมิวนิสต์พร้อมแล้วที่จะเริ่มปฏิวัติสู่ระบอบสังคมนิยม เข้าควบคุมโรงงานและที่ดิน (พวกเขาแจกจ่ายอาวุธไปให้กับประชาชนแล้ว) อีกฝั่งหนึ่งนักอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมก็พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการปฏิวัติ รวมถึงการใช้กองทัพด้วย อันตูเนสกับคันฮาลตกลงกันโดยไม่เขียนข้อตกลงใดๆ – มองอย่างผิวเผินดูเหมือนว่าพวกเขาทั้งสองขัดแย้งกันทุกเรื่อง แต่พวกเขาเลิกประชุมด้วยความเข้าใจที่ตรงกันว่า พรรคคอมมิวนิสต์จะไม่ปฏิวัติ ซึ่งเท่ากับยอมให้รัฐประชาธิปไตย ‘แบบปกติ’ ถือกำเนิด ขณะเดียวกันกองทัพที่ต่อต้านสังคมนิยมก็จะไม่ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์ผิดกฎหมาย แต่ยอมให้พวกเขาเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการประชาธิปไตย เราอาจมองได้ว่าการประชุมลับครั้งนั้นช่วยโปรตุเกสไม่ให้ถลำสู่สงครามกลางเมือง และผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนก็รักษาความลับถึงแม้จะเป็นอดีตไปแล้ว เมื่อคันฮาลถูกถามเรื่องการประชุม (โดยนักข่าวเพื่อนของผม) เขาก็ตอบว่าเขาจะยืนยันว่าประชุมกันจริงๆ ก็ต่อเมื่ออันตูเนสไม่ปฏิเสธ – ถ้าหากอันตูเนสปฏิเสธ การประชุมนั้นก็ไม่เคยมีจริง เมื่อเพื่อนของผมถ่ายทอดปากคำของคันฮาลให้อันตูเนสฟัง เขาก็รับฟังโดยไม่พูดอะไร ฉะนั้นการไม่ปฏิเสธจึงเท่ากับว่าเขาได้ทำตามเงื่อนไขของคันฮาล เท่ากับยืนยันโดยไม่พูดอะไรว่าการประชุมเกิดขึ้นจริง สุภาพบุรุษฝ่ายซ้ายเขาเล่นการเมืองกันอย่างนี้ครับ

เท่าที่เราพอจะปะติดปะต่อเหตุการณ์ทั้งหมดได้ ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ที่น่าปีติของวิกฤติขีปนาวุธคิวบาก็ถูกจัดการผ่านชั้นเชิงทำนองนี้เช่นกัน ผ่านพิธีกรรมแสนสุภาพของการแกล้งทำเป็นเฉยชา อัจฉริยภาพของเคนเนดีอยู่ที่การแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าได้รับจดหมายแล้ว ยุทธวิธีนี้ใช้ได้ผลเพียงเพราะผู้ส่งจดหมาย (ครุสเชฟ) ก็แกล้งตามน้ำเหมือนกัน ในวันที่ 26 ตุลาคม 1962 ครุสเชฟส่งจดหมายไปถึงเคนเนดี ยืนยันข้อเสนอที่ก่อนหน้านี้เขาทำผ่านตัวกลาง – สหภาพโซเวียตจะถอนขีปนาวุธทั้งหมดออกจากคิวบา ถ้าหากสหรัฐอเมริกาทำสัญญาว่าจะไม่บุกคิวบา อย่างไรก็ตาม วันรุ่งขึ้นก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะตอบจดหมายนี้ จดหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งก้าวร้าวกว่าเดิมก็เดินทางมาถึงจากครุสเชฟ เพิ่มเติมเงื่อนไขข้อเรียกร้อง ณ เวลา 20.05 น. วันนั้น คำตอบของเคนเนดีก็เดินทางไปถึงครุสเชฟ เขาตอบรับข้อเสนอลงวันที่ 26 ตุลาคมของครุสเชฟ แสร้งทำเป็นว่าจดหมายลงวันที่ 27 ตุลาคมไร้ตัวตน ในวันที่ 28 ตุลาคม เคนเนดีได้รับจดหมายฉบับที่สามจากครุสเชฟ ตอบตกลงข้อเสนอของเขา ในห้วงยามแบบนี้เมื่อทุกอย่างคือเดิมพัน ภาพลักษณ์ ความสุภาพ และการตระหนักรู้ว่ากำลัง ‘เล่นเกม’ ล้วนมีความสำคัญกว่าเคย

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเรื่องราวด้านเดียวที่ทำให้คนเข้าใจผิด มีห้วงยามอื่นเหมือนกัน – ห้วงยามแห่งวิกฤติจากมุมมองของวาทกรรมอำนาจนำ – ที่เราควรลงทุนเสี่ยงต่อการเสื่อมสลายของภาพลักษณ์ มาร์กซ์ในวัยหนุ่มอธิบายห้วงยามแบบนี้ในปี 1843 ในหนังสือเรื่อง “ร่วมวิพากษ์ปรัชญาว่าด้วยกฎหมายของเฮเกล” (Contribution to the Critique of Hegel’s Philosophy of Law) มาร์กซ์วินิจฉัยความเสื่อมโทรมของระบอบเยอรมันทศวรรษ 1830 และ 1840 ว่าเป็นการฉายหนังซ้ำอันน่าหัวร่อของการล่มสลายของระบอบนำในฝรั่งเศส ระบอบฝรั่งเศสนั้นน่าเศร้า “ตราบใดที่มันเชื่อและต้องเชื่อในความชอบธรรมที่ตัวเองอ้าง” ระบอบเยอรมัน “เพียงแต่จินตนาการว่ามันเชื่อในตัวเอง และเรียกร้องให้โลกจินตนาการอย่างเดียวกัน ถ้าหากมันเชื่อมั่นในเนื้อหาของตัวเอง มันจะ …เสาะแสวงหลุมหลบภัยในการหลอกลวงและการใช้ตรรกะวิบัติหรือ? ระบอบนำสมัยใหม่เป็นเพียงนักแสดงตลกของระเบียบโลกที่วีรบุรษที่แท้จริงตายแล้ว” ในสถานการณ์เช่นนี้ ความอับอายคืออาวุธ มาร์กซ์กล่าวว่า “เราต้องทำให้แรงกดดันทวีคูณกว่าเดิม ด้วยการสร้างการตระหนักว่ามีแรงกดดัน เราต้องทำให้ความอับอายน่าอับอายกว่าเดิมด้วยการเผยแพร่มันออกไป”

สถานการณ์เช่นนี้คือสถานการณ์ของเราในวันนี้ – เราเผชิญหน้ากับการเยาะเย้ยถากถางอย่างไร้ยางอายของระเบียบโลก ซึ่งตัวแทนของมันเพียงแต่จินตนาการว่าพวกเขาเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ความอับอาย – หมายถึงความอับอายของเราที่ทนอยู่ใต้อำนาจแบบนี้ – ถูกทำให้น่าอับอายกว่าเดิมด้วยการเผยแพร่ ผ่านการกระทำอย่างการเปิดโปงของวิกิลีกส์ เมื่อสหรัฐอเมริกาแทรกแซงอิรักเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยปลอดศาสนา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือลัทธิคลั่งศาสนาและอิหร่านกลับแข็งแกร่งกว่าเดิม มันก็ไม่ใช่ความผิดพลาดอันน่าเศร้าของตัวแทนที่ซื่อสัตย์ หากเป็นเรื่องของนักต้มตุ๋นที่ถูกต้มในเกมของตัวเอง.

Exit mobile version